GC_MultiCover_SQ_FAAMAI_masterpiece 2.jpg

พังแค่ไหนก็ซ่อมได้! เมื่อ AI ช่วยชุบชีวิตภาพมาสเตอร์พีซในอดีต

Post on 30 June

เมื่อไม่นานมานี้หลายคนอาจจะเคยได้ยินข่าวคราวสะเทือนวงการดนตรีโลกอย่างการที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเราเรียกกันติดปากแบบสั้น ๆ ว่า AI นั้น สามารถเข้ามาช่วยประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 10 บทเพลงสุดท้ายของ บีโธเฟน (Beethoven) ต่อจนเสร็จสมบูรณ์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก จนหลายคนถึงกับต้องตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของ AI เหล่านี้ ที่นับก็ยิ่งจะฉลาดล้ำจนเกินขอบเขตความสามารถของมนุษย์ธรรมดา ๆ ไปไกล

แต่หากจะว่ากันตามจริง ไม่เพียงแวดวงดนตรีเท่านั้นที่เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นคืนชีพผลงานอันทรงคุณค่าในอดีต เพราะในโลกศิลปะเอง นอกจากช่วงหลังจะเริ่มมีกระแสการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างผลงานศิลปะไอเดียล้ำขึ้นมาใหม่แล้ว ยังมีอีกหลายครั้งที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญใช้มันเพื่อกลับไปชุบชีวิตผลงานศิลปะที่บ้างก็สูญหาย บ้างก็ถูกทำลายไปด้วยหลาย ๆ เหตุผล

ไม่เว้นแม้แต่ผลงานระดับมาสเตอร์พีซชิ้นสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะจากศิลปินชื่อดังระดับโลกที่เรา ๆ ทุกคนต่างคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี ที่หากไม่ได้ความช่วยเหลือของนวัตกรรมนำสมัยเหล่านี้ให้กลับมามีชีวิตโลดแล่นเพื่อการศึกษาของผู้สนใจอีกครั้ง ผลงานอันทรงคุณค่าเหล่านี้ก็คงต้องล้มหายตายจากไปตามกาลเวลาอย่างน่าเสียดาย

ขอบภาพที่หายไป AI ขอกู้คืน
The Night Watch (1642) โดย Rembrandt van Rijn 

หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อนว่า ในอดีต ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันอันโด่งดังจากการใช้เทคนิคแสง-เงาแบบ Tenebrism จากช่วงยุคทองของเนเธอร์แลนด์ (Dutch Golden Age) อย่างภาพ The Night Watch ของ แร็มบรันต์ ฟัน ไรน์ ศิลปินชั้นครูชาวดัตช์ จะมีขนาดใหญ่กว่าที่เห็นในปัจจุบัน

เพราะถึงแม้ผลงานชิ้นนี้จะมีขนาดใหญ่โตมโหฬารระดับที่วัดได้ถึง 363*437 เซนติเมตร แต่แรกเริ่มเดิมที ผลงานจากปี 1642 ชิ้นนี้เคยถูกตัดขอบทั้งสี่ด้านออกเพื่อให้มีขนาดพอดีกับช่องวางระหว่างเสา 2 ต้นที่ศาลากลางของกรุงอัมสเตอร์ดัมในปี 1715 โดยมุมซ้าย, บน, ล่าง และขวาถูกตัดหายไปถึง 60, 22, 12 และ 7 เซนติเมตรตามลำดับ 

อย่างไรก็ดี พิพิธภัณฑ์ ​​Rijksmuseum ในกรุงอัมสเตอร์ดัม สถานที่จัดแสดงภาพ The Night Watch ในปัจจุบันก็ได้นำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประมวลหาภาพชิ้นส่วนโดยรอบที่หายไป โดยอาศัยข้อมูลจาก 2 แหล่งสำคัญ คือ ภาพต้นฉบับ The Night Watch ของแร็มบรันต์ที่หลงเหลืออยู่ และภาพฉบับก็อปปี้ก่อนถูกเฉือนขอบออกของ เฆอร์ริตต์ ลุนเดนส์ (Gerrit Lundens) ที่ปัจจุบันถูกจัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์ London’s National Gallery 

ด้วยนวัตกรรมอันทันสมัยที่สามารถจำลองขอบภาพที่สูญหายไปในลายเส้นและทีแปรงของแร็มบรันต์ได้สำเร็จ จึงเผยให้เห็นผลงานชิ้นนี้ในมุมที่กว้างขึ้น โดยในปัจจุบันทางพิพิธภัณฑ์ ​​Rijksmuseum ตัดสินใจพิมพ์ภาพรอบ ๆ ทั้งสี่ด้าน และนำมาติดตั้งเข้ากับภาพต้นฉบับที่หลงเหลืออยู่ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เห็นผลงาน The Night Watch แบบเต็ม ๆ ตาตามความตั้งแต่แรกเริ่มของศิลปินอีกครั้ง

เนรมิตสีสันที่สูญหายจากภาพภ่ายขาว-ดำ
Faculty Paintings (1900 - 1907) โดย Gustav Klimt 

ถึงแม้ในปัจจุบันจะถูกยกย่องเป็นหนึ่งในศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล แต่ในขณะมีชีวิต ตัวพ่อแห่งกลุ่ม Vienna Secession อย่าง กุสตาฟ คลิมท์ เองก็เคยถูกวิพากษ์อย่างหนักจากเหล่านักวิจารณ์ทั่วสารทิศถึงความไม่เหมาะสมในผลงานของเขาที่มักจะแสดงให้เห็นถึงร่างกายอันเปลือยเปล่าของมนุษย์ ที่ในเวลานั้นยังถูกมองว่า ไม่ควรนำมาเปิดเผยอย่างอล่างฉ่างต่อสาธารณชนหมู่มาก

ไม่เว้นแม้แต่ในผลงานชุด Klimt University of Vienna Ceiling Paintings หรือที่หลาย ๆ คนเรียกติดปากแบบสั้น ๆ ว่า Faculty Paintings ที่คลิมท์ถูกจ้างวานให้วาดขึ้นมาเพื่อตกแต่งเพดานห้องโถงของมหาวิทยาลัย University of Vienna ก็ยังไม่วายถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของภาพจิตรกรรมทั้ง 3 ชิ้นในชุด อันประกอบด้วยภาพ Philosophy, Medicine และ Jurisprudence ที่มาก่อนกาลไปไกลโข จนในเวลาต่อมา ผลงานชุดนี้ก็ต้องถูกส่งต่อเปลี่ยนมือผู้ดูแลอยู่บ่อยครั้ง จนมาลงหลักปักฐานอยู่ที่ปราสาท Schloss Immendorf ทางตอนเหนือของกรุงเวียนนา ก่อนที่จะถูกเผาทำลายไปพร้อม ๆ กับปราสาทที่พักพิงโดยกลุ่มทหารนาซีในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 ราวปี 1945 เหลือไว้เพียงภาพถ่ายขาว-ดำและสเกตช์บางส่วนเป็นหลักฐานชิ้นสุดท้ายที่ยืนยันการมีอยู่ของผลงานชุด Faculty Paintings 

อย่างไรก็ดี ในปี 2021 ที่ผ่านมา Google Arts and Culture และพิพิธภัณฑ์ Belvedere Museum ในกรุงเวียนนาก็จับมือกันพัฒนาเครื่องมือจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อทำให้ผลงานชุด Faculty Paintings กลับมาชีวิตอีกครั้งโดยอาศัยทั้งความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และการใช้ระบบ Machine Learning รวบรวมข้อมูลการใช้สีในผลงานชิ้นอื่น ๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ของคลิมท์ จนสามารถประมวลผลออกมาเป็นภาพผลงานชุด Faculty Paintings พร้อมสีสันสดใหม่ให้ชาวโลกได้ตื่นตะลึงเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะกับบริเวณท้องฟ้าของภาพ Philosophy ที่ปัญญาประดิษฐ์แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วมันมีสีเขียวมรกต ไม่ใช่สีฟ้าตามความเข้าใจทั่วไปของทุกคน จึงไม่แปลกใจเลยที่ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษ 20 ผลงานชุดนี้จะถูกตั้งคำถามจากสังคมมากเป็นพิเศษ

โดนถมสีทับจนไม่เหลือร่องรอย แต่ก็ยังหากันจนเจอ
‌Lonesome Crouching Nude / The Blind Man's Meal (1903) โดย Pablo Picasso

สีก็แพง ผ้าใบก็หลายบาท งานก็อยากทำ งั้นถมเฟรมเก่ามันซะเลย! เชื่อเหลือเกินว่า เหล่านักเรียนศิลปะทั้งหลายน่าจะเคยประสบกับปัญหานี้กันมาบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ต่างกับ ปาโบล ปิกัซโซ ศิลปินระดับมาสเตอร์ที่โด่งดังที่สุดตลอดกาลของโลก ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นเพียงศิลปินยากจนที่ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ศิลปะมากมายนัก จนต้องจำใจต้องถมสีทับเฟรมผ้าใบที่เคยปรากฏภาพของผลงานชิ้นเก่าเพื่อวาดผลงานชิ้นใหม่ขึ้นมาแทน

หลังจากต้องซ่อนตัวอยู่ใต้ชั้นสีของภาพ The Blind Man's Meal อยู่ร่วมร้อยปี ในที่สุด ด้วยเทคโนโลยีเอ็กซ์เรย์ฟลูออเรสเซ็นต์ (หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า XRF) ของบริษัท Oxia Palus ชาวโลกก็ได้ค้นพบโครงร่างของภาพเปลือย The Lonesome Crouching Nude ท่ีปิกัซโซเคยวาดไว้ก่อนตั้งแต่ช่วง Blue Period ราวต้นศตวรรษ 20 เป็นครั้งแรก 

แต่แค่นั้นคงยังไม่พอ ทีม Oxia Palus จึงไปต่อด้วยการนำเอาปัญญาประดิษฐ์มาช่วยสรรค์สร้างภาพนู้ดที่เคยสูญหายนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งด้วยการจำลองทีแปรงและการใช้สีตามแบบฉบับของปิกัซโซ แล้วนำไปพิมพ์ออกมาเป็นผลงานชิ้นใหม่ผ่านระบบการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) โดยนอกจากภาพ The Lonesome Crouching Nude ชิ้นนี้จะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังพบว่า ร่างเปลือยของหญิงสาวในภาพยังเคยปรากฏให้เห็นในภาพสเกตช์และผลงานจิตรกรรมของปิกัซโซอยู่อีกหลายครั้ง 

นี่อาจเป็นสัญญาณชี้ชัดว่า ปัญญาประดิษฐ์อาจเป็นทางออกใหม่ของการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในอนาคตก็เป็นได้

Self-Quarantour SPECIAL !
FAAMAI x Self-Quarantour EP. Digital Art Exploration
สำรวจดินแดนดิจิทัลอาร์ตในวันที่ AI ก็เป็นศิลปินได้
วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคมนี้
Live สด ที่เพจ Facebook : FAAMAI Digital Arts Hub & GroundControl 
และช่อง YouTube : GroundControl 
เวลา 19:30 น. เป็นต้นไป

อ้างอิง:

Criddle C. Rembrandt’s The Night Watch painting restored by AI. BBC News. Published June 23, 2021. Accessed June 27, 2022. https://www.bbc.com/news/technology-57588270

Sterling T. Rembrandt’s “Night Watch” on display with missing figures restored by AI. Reuters. Published June 23, 2021. Accessed June 27, 2022. https://www.reuters.com/lifestyle/rembrandts-night-watch-display-with-missing-figures-restored-by-ai-2021-06-23/

McGreevy N. A.I. Digitally Resurrects Trio of Lost Gustav Klimt Paintings. Smithsonian Magazine. Published October 12, 2021. Accessed June 27, 2022. https://www.smithsonianmag.com/smart-news/klimt-painting-restore-artificial-intelligence-color-faculty-paintings-180978843/

Suhita Shirodkar. Can AI Truly Give Us a Glimpse of Lost Masterpieces? Wired. Published November 24, 2021. Accessed June 27, 2022. https://www.wired.com/story/artificial-intelligence-reviving-lost-art/

The Klimt Color Enigma - Google Arts & Culture. Google Arts & Culture. Published 2012. Accessed June 27, 2022. https://artsandculture.google.com/story/SQWxuZfE5ki3mQ

AI Used to Reproduce “Lost” Picasso Nude. MuseumNext. Published October 20, 2021. Accessed June 27, 2022. https://www.museumnext.com/article/ai-used-to-reproduce-lost-picasso-nude/

Guy J. Hidden Picasso nude revealed and brought to life with artificial intelligence. CNN. Published October 11, 2021. Accessed June 27, 2022. https://edition.cnn.com/style/article/hidden-picasso-nude-scli-intl-gbr/index.html