20210518_GC_SQ_The Beatles Album Covers_Header.jpg

เบื้องหลัง 5 ปกอัลบั้มในตำนานของวงสี่เต่าทอง

Post on 2 May

ไม่ว่าจะเกิดทันหรือไม่ แต่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า The Beatles ตำนานวงร็อกตลอดกาลจากเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวงการดนตรีโลก และยังคงทรงอิทธิพลเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินนักร้องในยุคหลังอย่างต่อเนื่อง

ในระยะเวลากว่า 10 ปีที่ จอห์น เลนนอน (John Lennon), พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney), จอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison) และ ริงโก้ สตาร์ (Ringo Starr) ได้ทำงานร่วมกัน พวกเขาไม่ได้แชร์เพียงความสร้างสรรค์ในด้านของดนตรีเท่านั้น แต่สมาชิกวงทั้งสี่ยังเป็นผู้ริเริ่มคัลเจอร์ใหม่ ๆ มากมาย จนกลายเป็นเทรนด์ฮิตติดกระแส ไม่ว่าจะเป็นทรงผม แฟชั่น มิวสิกวีดีโอ ภาพยนตร์ ไปจนถึงงานดีไซน์ที่สะท้อนออกมาผ่านการออกแบบปกอัลบั้มต่าง ๆ ที่ติดอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

ก่อนเราจะไปตามรอยตำนาน The Beatles กันแบบเต็ม ๆ ใน Self-Quarantour EP. The Beatles Footsteps ในคืนวันพฤหัสบดีนี้ GroundControl อยากชวนทุกคนมาร่วมเปิดตำนานพูดคุยถึงเบื้องหลังและเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ซ่อนอยู่บน 5 ปกอัลบั้มในตำนานของวงสี่เต่าทองที่เรารักที่สุด สะท้อนความสร้างสรรค์ในแง่ศิลปะของสมาชิกวง ตั้งแต่งานภาพถ่ายไปจนงานลายเส้นคอลลาจ 

Yesterday & Today (1966)
Photographer: Robert Whitaker

ปกอัลบั้มที่อื้อฉาวเกินไปจนไม่วายโดนแบน

บนปกอัลบั้ม Yesterday ... and Today ช่างภาพ Robert Whitaker ถ่ายภาพสมาชิกสี่เต่าทองในเสื้อคลุมสีขาว ตุ๊กตาเด็กหัวขาด และเนื้อสดอีกจำนวนมาก จนอัลบั้มนี้ถูกเรียกในอีกชื่อว่า ปกคนแล่เนื้อ (Butcher Cover) ด้วยวิชวลสุดแรงเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่ปฏิกิริยาของคนในปี 1966 จะเป็นอาการช็อกและรับไม่ได้ แม้ว่าในภายหลัง สมาชิกวงทั้งสี่จะออกมาอธิบายว่าภาพดังกล่าวเป็นเพียงสัญลักษณ์ต่อต้านสงครามเวียดนามของพวกเขาก็ตาม

ท้ายที่สุด ค่ายเพลง Capitol Records ก็ต้องประกาศเรียกคืนอัลบั้มดังกล่าวทั้งหมด และแทนที่ด้วยการติดรูปปกอัลบั้มใหม่ที่เป็นเพียงรูปถ่ายของวง The Beatles ในอริยาบทสบาย ๆ บนหีบใส่ของทับปกเก่าลงไปแทน อย่างไรก็ดี ปกอัลบั้มคนแล่เนื้อดังกล่าวก็ยังพอมีหลงเหลือให้เหล่านักสะสมได้ตามหากันในราคาสูงลิ่ว 

Revolver (1966) 
Illustrator: Klaus Voormann

การมาถึงของ Psychedelic Style ในลายเส้นแปลกตาและการคอลลาจรูปถ่ายสุดล้ำ

ปกอัลบั้ม Revolver ได้รับการออกแบบและวาดโดย ‘เคลาส์ วูร์มานน์ (Klaus Voormann)’ ศิลปินและเพื่อนรักของแก๊งสี่เต่าทองที่เริ่มสานมิตรภาพกันตั้งแต่เมื่อครั้งแก๊งเต่าทองยังเป็นนักดนตรีหน้าใหม่ในเมืองฮัมบวร์ค ประเทศเยอรมนี เคลาส์ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบปกอัลบั้มนี้มาจากลายเส้นของศิลปินยุคนวศิลป์ (Art Nouveau) คนดังอย่าง ‘ออเบรย์ เบียร์ดสลีย์ (Aubrey Beardsley)’ (ที่มาปรากฏตัวภายหลังบนบกอัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ในปี 1967 ด้วย)

เคลาส์เริ่มต้นวาดใบหน้าของสมาชิกวงทั้งสี่จากจินตนาการและความทรงจำ เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เขาสามารถวาดใบหน้าของจอห์น พอล และริงโก้ได้สบาย ๆ ในขณะที่ใบหน้าของจอร์จกลับวาดออกมาได้ยากที่สุด ไม่ว่าเขาจะวาดยังไงก็ไม่สามารถถ่ายทอดลักษณะและตัวตนของจอร์จออกมาได้สมบูรณ์แบบเหมือนของคนอื่น ๆ เขาจึงเกิดไอเดียนำเอาหนังสือพิมพ์และแมกกาซีนมาตัดรูปตาและปาก ก่อนจะนำไปคอลลาจผสมเข้าไปในลายเส้นรูปใบหน้าของจอร์จ 

แม้จะมีใบหน้าของจอร์จเพียงคนเดียวที่ไม่ใช่สายเส้นทั้งหมด แต่วิชวลที่ออกมากลับแปลกตาเกินคาด เคลาส์ จอห์น และพอลจึงเริ่มมองหารูปถ่ายจากหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ มาคอลลาจเพิ่มเติม ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่เพียงเป็นที่ถูกอกถูกใจแก๊งสี่เต่าทองเท่านั้น แต่ยังได้ใจ ‘ไบรอัน เอ็ปสไตน์ (Brian Epstein)’ ผู้จัดการวงในขณะนั้นไปเต็ม ๆ 

ความสำเร็จของอัลบั้มไม่หยุดเพียงคำวิจารณ์ด้านดนตรีที่ท่วมท้นเท่านั้น แต่ Revolver ยังได้รับรางวัลแกรมมี่ประจำปี 1967 สาขาปกอัลบั้มยอดเยี่ยมประเภทกราฟฟิกอาร์ตไปครอบครองอีกด้วย 

Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band (1967) 
Designer: Peter Blake & Jann Haworth, Photographer: Michael Cooper

ถ้าการรวมตัวกันมันยากนัก ก็เอาหุ่นมาตั้งมันซะเลย!

ภาพสมาชิกวง The Beatles ในชุดทหารผ้าซาตินสีเจ็บจี๊ดน่าจะเป็นหนึ่งในภาพจำตลอดกาลในใจใครหลาย ๆ คน ซึ่งลุคสุดไอคอนิคนี้เป็นส่วนหนึ่งของปกอัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ซึ่งถูกออกแบบโดยคู่รักศิลปินป็อปอาร์ตอย่าง ‘ปีเตอร์ เบลค (Peter Blake)’ และ ‘แจนน์ ฮาเวิร์ท (Jann Haworth)’ โดยเบลคและพอลเกิดไอเดียที่จะนำรูปถ่ายบนการ์ดบอร์ดขนาดเท่าคนจริงมาตั้งเพื่อคอลลาจร่วมกับสมาชิกวงตัวเป็น ๆ ทั้งสี่ในภาพถ่าย ทีนี้ ไม่ว่าจะคนเยอะแค่ไหน จะมีชีวิตอยู่หรือไม่ พวกเขาก็สามารถเชื้อเชิญมาร่วมเฟรมได้ตามใจปรารถนาแล้ว 

ซึ่งในท้ายที่สุด ในการถ่ายทำปกอัลบั้มดังกล่าวก็มีภาพบนการ์ดบอร์ดที่นำมาตั้งถึง 57 รูป และหุ่นขี้ผึ้งที่ขอยืมมาจากมาดามทุสโซ่อีก 9 ตัว ประกอบไปด้วยบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ ดารา ศิลปิน นักเขียน นักกีฬา และนักปราชญ์กูรูต่าง ๆ ตั้งแต่ ‘บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan)’ ‘มาริลิน มอนโร (Marilyn Monroe)’ ‘ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde)’ ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)’ ไปจนถึง ‘คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx)’ โดยปกอัลบั้มในตำนานนี้ก็ใช้ทุนในการสร้างไปมากถึง £3,000 (ประมาณ 120,000 บาท) ซึ่งถือว่าเป็นการถ่ายทำปกอัลบั้มที่แพงสุด ๆ ในสมัยนั้น

Yellow Submarine (1969)
Illustrator: Heinz Edelmann

จากภาพยนตร์อนิเมชั่นไซคีเดลิคหลอนประสาทสู่ปกอัลบั้มล้ำจินตนาการ

อัลบั้ม Yellow Submarine เป็นอัลบั้มซาวนด์แทรคจากภาพยนตร์อนิเมชั่นในชื่อเดียวกัน โดยวิชวลทั้งหลายจากภาพยนตร์และปกอัลบั้มนั้นก็มาจากจินตนาการและฝีมือของ ‘ไฮนซ์ เอเดลแมนน์ (Heinz Edelmann)’ นักวาดภาพประกอบชาวเช็ก

แม้การผลิตภาพยนตร์อนิเมชั่น Yellow Submarine จะอยู่ในช่วงที่แก๊งสี่เต่าทองยังไปแสวงหาตัวตนทางจิตวิญญาณที่ประเทศอินเดีย ทำให้สมาชิกทั้งสี่ไม่ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนรวมให้การผลิตมากนัก แต่ไฮนซ์ก็ยังสามารถถ่ายทอดจินตนาการสุดล้ำผ่านสีสันสดใสและลายเส้นสไตล์ไซคีเดลิคออกมาได้อย่างไม่มีที่ติ จนแม้เวลาจะผ่านมาร่วมห้าทศวรรษ ภาพของเรือดำน้ำสีเหลืองเด่นก็ยังคงอยู่ในใจของแฟน ๆ The Beatles ไปตลอดกาล

Abbey Road (1969)
Photographer: Iain Macmillan

6 ช็อต 10 นาที กำเนิดเป็นปกอัลบั้มในตำนานตลอดกาล

ถนน Abbey Road ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิตที่ไม่ว่าใครที่มีโอกาสได้ไปเยือนกรุงลอนดอนก็คงต้องขอแวะไปถ่ายรูปเดินข้ามทางม้าลายเลียนแบบแก๊งสี่เต่าทองกันสักหน่อย แต่ใครเลยจะรู้ว่าเบื้องหลังปกอัลบั้มสุดไอคอนิคนี้ ช่างภาพอย่าง ‘เอียน แมคมิลลัน (Iain Macmillan)’ ถ่ายสมาชิกทั้งสี่เดินข้ามถนน Abbey Road หน้าสตูดิโอ EMI Recording Studios พวกเขาเดินไปกลับทั้งหมด 3 รอบ ได้แชะภาพ ไปเพียง 6 รูป และใช้เวลาสิริรวมกันทั้งสิ้นแค่ 10 นาทีเท่านั้น!

หากสังเกตดี ๆ ภาพนี้บันทึกช่วงจังหวะที่พวกเขาหันหลังให้กับ EMI Recording Studios (อาคารสีขาวทางด้านซ้าย) เปรียบเหมือนว่ากำลังจะเดินออกจากสถานที่การบันทึกเสียง คล้ายกับการใบ้การสิ้นสุดของวง The Beatles ที่นำทัพโดยจอห์นหรือผู้ที่ขออกจากวงคนแรกนั่นเอง 

Abbey Road คืออัลบั้มสุดท้ายที่ The Beatles บันทึกเสียงร่วมกัน ก่อนที่พวกเขาจะแยกย้ายกันไปคนละทาง เพื่อทำดนตรีในแนวของตัวเอง

รับชมรายการ Self-Quarantour EP. 4 The Beatles Footsteps ได้ที่: