TAKE YOUR TIME ให้เวลาตัวเองได้ตกตะกอนทางความคิดไปกับ 33 ผลงานจากนิทรรศการใหม่โดย Suntur ในวัย 33 ปี

Post on 10 February

หยุดพัก แล้วให้เวลาตัวเองได้หันกลับไปทบทวนถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมาใน TAKE YOUR TIME นิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 3 จาก ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักกันดีในชื่อ Suntur ศิลปินไทยมากความสามารถที่เคยฝากผลงานดี ๆ ไว้ให้แก่แวดวงศิลปะร่วมสมัยไทยมายาวนานกว่า 10 ปี โดยเฉพาะกับผลงานจิตรกรรมสไตล์มินิมอลชวนเหงาที่กลายมาเป็นภาพจำติดตัวของเขาไปโดยปริยาย

ในครั้งนี้ Suntur ยังคงสานต่อสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ และบอกเล่าเรื่องราวในมุมส่วนตัวที่เขาได้ใช้เวลากลับไปตกตะกอนทางความคิดตลอดระยะเวลา 33 ปีของชีวิต ผ่านผลงานทั้ง 33 ชิ้นที่แต่ละชิ้นต่างก็มีเศษเสี้ยวความทรงจำที่หลบซ่อนอยู่ภายใต้ระนาบสีและพื้นที่โล่งแจ้ง รอคอยให้ผู้ชมได้ค่อย ๆ ใช้เวลาสัมผัสและเชื่อมโยงประสบการณ์ของเขากับตัวเองอย่างอิสระ

ก่อนจะไปรับชมนิทรรศการ TAKE YOUR TIME ด้วยตัวเองที่ River City Bangkok เราอยากชวนทุกคนมาร่วมพูดคุยกับ Suntur เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องทำความรู้จักกับตัวตนและผลงานของเขาในเชิงลึกมากขึ้น รวมทั้งไปร่วมตามหา ‘นาฬิกาชีวิต’ ของศิลปินหนุ่มวัย 33 ปีคนนี้ว่าจะมีหมุนไปในทางไหนต่อ

จากครีเอทีฟหนุ่มสู่ศิลปินฝีมือดีในชื่อ ‘Suntur’

Suntur: นอกจากเงินแล้ว เหตุผลที่ผมมาทำงานศิลปะก็มีหลายอย่าง จริง ๆ ชีวิตผมทำได้ดีอยู่ไม่กี่อย่าง แล้ววาดรูปมันก็เป็นหนึ่งในนั้น เหมือนกับว่า สิ่งนี้มันเป็นอาวุธของเรา ถ้าเกิดเราไปจับอาวุธอื่นที่เราไม่ถนัด มันก็จะทำออกมาได้ไม่ดี ผมแค่รู้สึกว่า การวาดรูปนอกจากมันจะให้เงินแล้ว มันก็ยังให้งานและคุณค่ากับตัวเราด้วย เพราถ้าเราไปอยู่จุดอื่นที่เราทำได้ไม่ดี เราก็อาจจะมองว่า คุณค่าของเราน้อยลงไปด้วย เพราะตัวผมเองก็ไม่ได้ถนัดทุกเรื่อง ผมแค่โชคดีที่ผมวาดรูปได้ดี มีความสุขกับมัน และอยากจะทำมันไปนานๆ

ซึ่งความจริงแล้ว ผมเริ่มจากวงการโฆษณามาก่อน เพราะผมเกิดมาในยุคที่วงการนี้มันรุ่งเรืองมาก เราก็ชอบมุก ชอบการเล่าเรื่องแบบโฆษณา ตอนมัธยมก็เลยอยากทำสิ่งนี้มาก ๆ สุดท้ายก็เลยได้ไปทำงานครีเอทีฟ ซึ่งพอมาทำจริง ๆ แล้ว ผมก็พบว่า ผมไม่ได้ชอบโฆษณามากเท่ากับการเป็นครีเอทีฟ คือผมชอบคิดมากกว่า แล้วการทำงานออฟฟิศมันก็จะมีอะไรที่เราไม่อยากทำ ไม่ว่าจะเรื่องการตื่นเช้า การพิทช์งาน หรือแม้แต่การให้คนอื่นมาตัดสินเราว่าเราทำได้ดีหรือยัง มันก็จะโดนอันนู้นอันนี้บั่นทอนในระบบออฟฟิศ

ผมเคยคุยกับพี่คนหนึ่งเขาบอกว่า การเป็นครีเอทีฟไม่จำเป็นจะต้องอยู่แต่ในเอเจนซี่เท่านั้น จะขายก๋วยเตี๋ยวก็เป็นครีเอทีฟได้ ซึ่งมันจริงมาก ๆ ไม่ว่าเราจะทำอะไรมันเป็นก็ต้องใช้ความสร้างสรรค์หมด แล้วช่วงที่ยังทำโฆษณา ผมก็เป็นนักวาดภาพประกอบฟรีแลนซ์ด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็คือการทำงานวาดรูปตามบรีฟลูกค้าเหมือนกัน แต่เรากลับรู้สึกชอบเวลาที่เราได้วาดรูปแล้วมีผลงานออกมาให้คนเห็น แล้วมันดันมีคนมาชอบงานเราอีก ความสุขจากสิ่งนี้มันก็วนกลับมาที่เราอีกก็เลยเริ่มทำควบคู่ไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งรู้สึกว่า การวาดรูปมันสามารถเลี้ยงชีวิตได้ ผมก็เลยตัดสินใจออกมาวาดรูปอย่างเดียว

TAKE YOUR TIME
เพราะความเปลี่ยนแปลง.. ทำให้เรามีเวลาได้หยุดคิด

Suntur: นิทรรศการนี้ห่างจากคราวที่แล้วประมาณ 2 ปีนิด ๆ แต่ใช้เวลาในการเตรียมนิทรรศการทั้งหมดประมาณ 1 ปีเต็ม ตอนนั้นผมก็มาคิดว่า เราอยากเล่าเรื่องอะไร ณ เวลานี้ ซึ่งการผ่านช่วงโควิดก็ทำให้เราได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น มีความคิดอะไรเข้ามาในหัวเเยอะมาก เรารู้สึกว่า ภายในปี 2 ปีนี้ เราเติบโตขึ้นเยอะ คือไม่ใช่แค่อายุที่เพิ่มขึ้น แต่หมายความถึงความคิดของเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ๆเหมือนกัน เหมือนช่วงเวลานี้ทำให้เราได้ตกตะกอนอะไรบางอย่าง เราได้เห็นข่าวคนตายเยอะ ซึ่งหลายคนก็ไม่ได้เป็นคนแก่ด้วยซ้ำ ผมเริ่มเข้าใจว่า ทุกคนมีสิทธิ์ตายหมด รวมถึงคนใกล้ตัวของเราด้วยที่เป็นซึมเศร้าแล้วเลือกจบชีวิต

Suntur: สิ่งเหล่านี้มันทำให้ผมเห็นคุณค่าของเวลามาก ๆ ก็เลยอยากเล่าเรื่องเวลาในมุมมองของตัวเองในวัย 33 ปีที่มีทั้งช่วงเวลาแห่งความสุข การรอข้อความจากใครสักคน หรือแม้แต่การสูญเสีย เหมือนเป็นการบันทึกว่า ในช่วงวัยนี้ผมคิดแบบนี้ ผมมองโลกอย่างนี้ แต่เดี๋ยวผ่านไปอีก 5 ปีผมก็อาจจะเป็นเปลี่ยนไปเป็นอีกคนหนึ่งก็ได้ ที่แน่ๆ เลยคือในช่วง 1 - 2 ปีนี้มันทำให้ผมรู้สึกว่า ผมโตขึ้น นิ่งขึ้น และเห็นความสำคัญของบางอย่างมากขึ้น แล้วก็เริ่มไม่เห็นความสำคัญกับสิ่งที่ผมเคยเห็นว่ามันสำคัญมาก ส่วนในแง่ของผลงานในนิทรรศการเอง ผมรู้สึกว่า รอบนี้การเล่าเรื่องต่างจากครั้งที่แล้ว เพราะผมเล่าในมุมที่ลึกขึ้นและเป็นจริงมากขึ้น

แขกรับเชิญคนพิเศษภายในนิทรรศการ

Suntur: ไฮไลท์ของนิทรรศการนี้ นอกเหนือจากผลงานทั้ง 33 ชิ้นที่พูดถึงการใช้เวลาต่าง ๆ แล้ว ผมยังทำกับศิลปินคนหนึ่งชื่อ KORKY เขาไม่ใช่ศิลปินที่เป็นนักร้อง แต่เป็นคนทำเพลงทำโฆษณา ผมให้โจทย์เขาไปว่า ผมอยากทำเพลงที่เล่าตั้งแต่วันแรกที่เกิดจนถึงวันสุดท้ายที่ตาย มันจะเป็นเพลงที่ใช้ฟังประกอบการดูภาพทั้งหมด ซึ่งเพลง ‘Day 1 to End’ นี้ก็จะมีเปิดในงานด้วย ใครอยากตั้งใจฟังก็จะมีให้สแกนแล้วก็ใส่หูฟังได้

นอกจากนั้นก็จะมีกลอนของพ่อผมเอง ผมรู้สึกว่า ผมเล่าเรื่อง 33 รูปจากคนที่อายุ 33 ปี ผมอยากได้มุมมองคนที่ผ่านโลกมาเยอะ ซึ่งคนที่รู้จักผมดีที่สุดน่าจะเป็นพ่อ แล้วพ่อผมก็ชอบแต่งกลอนตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว คือเมื่อก่อนตอนเรียนเวลาอาจารย์ให้แต่งกลอน ผมจะให้พ่อเขียนให้ แล้วผมรู้สึกว่างานนี้มันเหมาะมากที่จะให้พ่อได้โชว์สิ่งที่พ่อทำได้ เลยไปบรีฟพ่อว่า อยากให้เขาแต่งกลอนสำหรับใช้ในงานนี้ให้หน่อย

เอกลักษณ์ความมินิมอลที่มาพร้อมกับการบำบัดจิตใจ

Suntur: ผมชอบอะไรคลีนๆ มาตั้งแต่เด็ก ๆ ครับ แค่สมัยก่อนมันก็ยังไม่มากเท่าตอนนี้ แต่พอเราโตขึ้นเราก็เริ่มลดทอนมันออกไปเรื่อย ๆ ตอนเด็กเราอาจจะเจอปัญหาอะไรเข้ามาเยอะแยะ เพราะว่าไม่รู้จักเอามันออก เราเก็บไว้หมด แต่พอโตขึ้น ผมก็พบว่า ทุกอย่างมันช่างหนักเหลือเกิน แล้วมันทำให้เราเครียดและกดดัน พอมาตอนนี้ ผมรู้สึกว่าอะไรที่ไม่จำเป็น หรือทำให้เราทุกข์ เราเองก็สามารถเอามันออกได้นะ ซึ่งการทำงานศิลปะสไตล์นี้มันก็เหมือนกับการบำบัดและช่วยปลงกับชีวิตเหมือนกัน

TAKE YOUR TIME
ถ้าย้อนเวลากลับไป.. จะขอให้เวลากับมันมากกว่านี้

Suntur: สิ่งที่อยากจะให้เวลามากกว่านี้ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ สำหรับผมอาจจะเรื่องคุณยาย ผมรู้สึกว่าตอนที่คุณยายจากไปมันเป็นการสูญเสียครั้งแรกในชีวิตที่ผมรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มาก เขาเลี้ยงผมมาตั้งแต่เด็ก แล้วช่วงมหาวิทยาลัยที่ผมต้องไปอยู่หอ ผมก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอยายเลย เหมือนเราไม่ได้ใช้เวลากับเขา เราหายไปเริงร่ากับชีวิตในมหาวิทยาลัย พอวันหนึ่งที่ผมเรียนจบและเริ่มทำงาน เราก็รู้สึกว่า เราอยากจะให้เงินยายมาก แต่มันก็ไม่ทันแล้ว เพราะตอนนั้นผมเองก็ยังไม่ได้มีเงินเยอะ เป็นแค่ first jobber คนหนึ่ง ตอนนั้นเราคิดว่า เราต้องมีเยอะกว่านี้ถึงจะสามารถให้เขาได้ แต่จริง ๆ แล้วมันไม่จำเป็นหรอก มีเท่าไหนอยากให้ก็ให้ไปเลย ตอนนี้เลยรู้สึกเสียดายที่ยังไม่ได้ทำอะไรที่อยากทำให้กับเขาเลย

บทเรียนจากศิลปินไทย
ในวันที่ก้าวเข้าสู่วัย 33 ปี

Suntur: ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงมีหลายเรื่องที่อยากจะบอกกับศิลปินรุ่นใหม่ ๆ แต่ถ้าเป็นตอนนี้ผมคงไม่กล้าบอกแล้ว เพราะผมรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่เขาเก่งครับ มันไม่สามารถเอาวิธีของผมไปใช้กับเขาได้จริง ๆ เมื่อก่อนผมก็คงจะบอกว่าทำอย่างนี้สิ อย่างนั้นสิ แต่พอมาถึงวัยนี้ ผมเรียนรู้แล้วว่า แต่ละคนมีวิธีที่ไม่เหมือนกัน คุณไปใช้เวลาของคุณแล้วหาทางในแบบของคุณ ผมจะขอเอาใจช่วยทุกคนเช่นกัน เพราะแม้แต่ตัวผมเองก็ยังหนหาทางใหม่ ๆ อยู่เสมอเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเป็นศิลปินแปลว่าเก่งแล้ว มันก็ยังอยากไปต่อ ต้องตามหนหาทางใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน ผมคิดว่า การได้ใช้เวลากับสิ่งที่เรารักมาก ๆ เดี๋ยวมันจะมีทางของมันเอง

📍 TAKE YOUR TIME นิทรรศการเดี่ยวโดย Suntur
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ - 23 เมษายน 2566
Trendy Gallery - RCB Galleria 2 ชั้น 2 River City Bangkok