ส่องเบื้องหลังภาพถ่ายของ ‘สวิตต์ นาคสกุล’ ศิลปินผู้มีแนวคิดแบบ ‘สตรีท’ เป็นเครื่องนำทาง

Post on 4 April

‘Waiting List’ คือชื่อโปรเจกต์ภาพถ่ายแนวสตรีทของ ‘บุ๋น-สวิตต์ นาคสกุล’ ศิลปินและช่างภาพอิสระผู้เติบโตขึ้นมาในร้านดอกไม้เล็ก ๆ นาม ‘เขียวหมื่นปี’ เขาเริ่มต้นโปรเจกต์นี้มาจากความคิดอยากทำสารคดีเกี่ยวกับสิ่งใกล้บ้านใกล้ตัว ทว่ายิ่งเขาเอาตัวเข้าไปคลุกคลี ก็ยิ่งผูกพันกับพื้นที่มากกว่าที่คิด และท่ามกลางภาพซากปรักหักพังกับสถานที่ลับแลไร้หมุดหลายร้อยใบ บุ๋นก็ได้ตัดสินใจเล่าเรื่องราว ‘การเปลี่ยนผ่าน’ ของพื้นที่ออกมา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของบทสนทนาระหว่างเราที่กระตุ้นให้อยากพูดคุยกับเขามากขึ้นกว่านี้

“โปรเจกต์ ‘Waiting List’ มีจุดเริ่มต้นจากช่วงที่ผมกำลังหาหัวข้อธีสิสอยู่ และก็อยากทำสารคดีเกี่ยวกับเรื่องอะไรที่มันใกล้บ้านเพราะไม่อยากเดินทางไกลและจะได้ง่ายต่อการเก็บข้อมูลด้วย ก็เลยเริ่มจากการหาสถานที่ละแวกบ้าน จนวันหนึ่งระหว่างทางที่ผมเดินกลับบ้านจากที่ไปออกกำลังกายที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ผมก็หันไปเจอกับจุดทิ้งขยะของ ‘แฟลตดินแดง’ ภาพที่ผมเห็นคือกองขยะที่ล้นทะลักออกมาจากตู้ที่ทิ้งพร้อมกับครอบครัวหนูประมาณหนึ่งกำลังคุ้ยขยะอย่างสนุกสนาน ในตอนนั้นผมเกิดคำถามมากมายขึ้นภายในหัวทันทีจนในที่สุดก็ตัดสินใจได้ว่าโอเค สนใจที่นี่ว่ะ พอคิดได้แบบนั้นผมก็ลองค้นหาข้อมูลให้ลึกขึ้นว่าแฟลตดินแดงมีอะไรบ้าง ซึ่งผมก็ได้เจอกับเรื่องราวมากมายระหว่างการลงสำรวจพื้นที่ แต่ในท้ายที่สุดผมก็เลือกที่จะเล่าเรื่อง ‘การเปลี่ยนผ่าน’ ของสถานที่แห่งนี้”

“ต้องเกริ่นก่อนว่าระหว่างลงพื้นที่ผมก็ได้ไปเจอโปรเจกต์ของทางการเคหะฯ ที่ชื่อว่า ‘แผนการฟื้นฟูชุมชนแฟลตดินแดง’ ที่ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการในเฟสที่สอง และถ้าไม่ผิดแผนอะไรในอนาคตข้างหน้าจากแฟลตสี่ชั้นก็จะกลายเป็นคอนโดสูง 28-32 ชั้นเลย แล้วนั่นจะทำให้ภาพลักษณ์ในพื้นที่แห่งนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง” บุ๋นเล่าต่อ

“ตอนที่รับรู้เรื่องราวนั้น ผมก็รู้สึกโหวง ๆ แปลก ๆ นั่นอาจจะเป็นเพราะผมมีความทรงจำและความคุ้นเคยกับสถานที่แห่งนี้ตั้งแต่ยังเด็ก แม้ว่าจะไม่ได้รู้จักอะไรมากแต่ก็รู้สึก ถ้าจะเปรียบเทียบง่าย ๆ ผมมองว่าที่นี่เป็นเหมือนเพื่อนบ้านตัวใหญ่ในหมู่บ้านที่รู้จักกันมานาน แต่ไม่ค่อยสนิทเท่าไร หรือต่อให้เจอกันก็เจอกันเเค่ผ่าน ๆ และเมื่อรู้ว่าเพื่อนบ้านคนนั้นกำลังจะย้ายออกไป และไม่ได้เจอกันอีก ก็เลยอยากจะทำความรู้จักกับเขาอย่างจริงจังมากขึ้นเท่านั้นเอง นั่นเลยเป็นจุดที่ทำให้ผมเลือกที่จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘การเปลี่ยนผ่าน’ ของสถานที่แห่งนี้ การทำโปรเจกต์นี้จึงเสมือนเป็นการเขียนบันทึกช่วงเวลาหนึ่งจากผมก่อนที่สถานที่แห่งนี้จะเหลือแต่ความทรงจำ”

“ผมคงจะคิดถึงมันจริง ๆ นะหากมันหายไป” บุ๋นย้ำ

หลังจากไล่มองภาพถ่ายชุด ‘Waiting List’ ต่อไปอีกหลายใบ เราก็อยากรู้เบื้องหลังการถ่ายภาพชุดนี้ของเขาต่อว่ามีแนวคิดอย่างไร ซึ่งเขาก็เล่าให้ฟังว่า “ผมตั้งใจที่จะเล่ามันในมุมมองแบบผู้สังเกตการณ์ ผ่านภาพเคลื่อนไหวในบรรยากาศนิ่ง ๆ การตัดสินใจนี้เริ่มมาจากความชอบในการเเคปเจอร์เหตุการณ์ตรงหน้าให้มันหยุดนิ่งด้วยกล้องถ่ายภาพ ผมก็เลยเลือกที่จะนำจุดนั้นของการถ่ายภาพมานำเสนอเป็นภาพเคลื่อนไหวด้วยวิธีการตั้งกล้องอัดวีดิโอแบบค้างเฟรมไว้นิ่ง ๆ เพื่อสื่อให้เห็นถึง ‘การเปลี่ยนผ่าน’ อยู่ตลอดเวลา การเล่าแบบนี้จะยังทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าสถานที่นั้นยังคงตั้งอยู่ตรงนั้นดังเดิม เหมือนเฟรมภาพที่ไม่ขยับไปไหน และนั่นคือจุดประสงค์หลักที่ผมอยากให้งานของผมแสดงออกมา”

อย่างไรก็ตาม ‘Waiting List’ เป็นเพียงหนึ่งในโปรเจกต์ภาพถ่ายของบุ๋นเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเขายังคงสร้างงานอีกหลายชุดใต้ร่มของคำว่า ‘ภาพสตรีท’ เช่น การถ่ายภาพขบวนพาเหรดใน Pride Month 2022 - 2023 และภาพถ่ายในม็อบทางการเมืองอีกหลายครั้ง จนถูกคัดเลือกให้ไปลงหนังสือรวมภาพม็อบ ‘EBB Book’ ร่วมกับช่างภาพอีก 20 คนด้วย ซึ่งเขายังเล่าถึงมุมมองเกี่ยวกับภาพสตรีทสไตล์เขาให้เราฟังด้วยว่ามันเป็นเหมือนกับครูคนแรกของเขาเลย

“ถ้าจะให้สรุปภาพรวม คงต้องบอกว่าแนวทางการถ่ายภาพของผมจะเป็นการถ่ายภาพสตรีทครับ มันคือสไตล์ที่มีส่วนสำคัญในชีวิตการถ่ายภาพของผมมาก ๆ เพราะผมเริ่มต้นจากการถ่ายภาพอะไรไม่รู้เรื่อยเปื่อย ถ่ายตามความรู้สึก จนวันหนึ่งผมก็ได้มาเจอภาพจากกลุ่ม ‘Street Photo Thailand’ แล้วผมก็สนใจทันทีว่ามันคือภาพแนวอะไร? มันทั้งดูสนุก น่างุนงง น่าตั้งคำถาม แถมยังมีความสุนทรีย์แบบงง ๆ ด้วย”

“พอเห็นแบบนั้นผมก็รู้สึกว่า เออ เราเองก็น่าจะสนุกกับมันได้เหมือนกันนะ ประกอบกับตอนนั้นผมกำลังคิดขึ้นมาในหัวพอดีว่าอยากหาแขนงของศิลปะที่ตัวเองสนใจอยู่พอดี และตั้งแต่วันนั้นผมก็ศึกษาแนวทางการถ่ายภาพสตรีทเรื่อยมาผ่านการเวิร์คช้อป ฟังบรรยาย ไปนิทรรศการต่าง ๆ มันก็เลยทำให้ผมได้พบเจอโลกอีกหลายใบหลังคำว่า ‘Street Photo’ ครับ จนมาถึงตอนนี้ผมก็กล้าพูดได้เลยว่าการถ่ายสตรีทไม่ได้ให้แค่เเนวการถ่ายกับผม แต่ยังให้แนวคิดมาปรับใช้ในการมองโลกด้วย”

“ในมุมของผม ‘Street Photo’ จึงเป็นเหมือนครูคนแรกในด้านการถ่ายภาพ สอนให้ผมเป็นคนช่างสังเกต สอนให้ผมรู้จักโลกการถ่ายภาพในหลาย ๆ มุม สอนให้ผมไม่กลัวที่จะแสดงไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ของเราออกไปกับสิ่งที่เรารู้สึกตรงหน้า นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจในตัวเองเป็นอย่างมาก” บุ๋นสรุปมุมมองที่มีต่อภาพสตรีทให้เราฟัง
.
“สำหรับช่างภาพผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมตั้งแต่เข้าวงการก็คือพี่ ‘หมิง-กันต์รพี โชคไพบูลย์’ ซึ่งพี่เขายังเคยมาคิวเรตภาพให้กับผมด้วย มันเป็นโมเมนต์ที่ช่างภาพมือสมัครเล่นอย่างผมประทับใจสุด ๆ เลย พอมองย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้นแล้ว ผลงานชิ้นนั้นมันคือแรงใจระดับพรีเมียมที่ยังคอยช่วยทำให้ผมมีพลังในการถ่ายภาพต่อไปมาจนถึงทุกวันนี้ ผมรู้สึกขอบคุณจริง ๆ ครับ”

และเช่นเดียวกับงานศิลปะแขนงอื่น ๆ บุ๋นเองก็ต้องตามหาสไตล์การทำงานของตัวเองเหมือนกัน ซึ่งเขาก็ได้อธิบายถึงเอกลักษณ์ในภาพถ่ายของเขาว่า “ผมคิดว่ามันคือสีสัน ความจัดจ้าน และจินตนาการ เท่าที่ผมสังเกตตัวเองมาสักระยะหนึ่ง ผมมักจะชอบใช้ความรู้สึกทิ้งไอเดียกว้าง ๆ และนำเสนอผลงานในรูปแบบที่ไม่ตายตัว คล้ายผลงานแนวนามธรรมลงไปในภาพของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เพราะผมไม่ค่อยชอบที่จะบังคับใครให้มองไปในทางเดียวกัน และจะยินดีมากด้วยซ้ำที่แต่ละคนจะตีความหมายในภาพของเราไปในคนละทิศคนละทางกับที่ตัวเองคิดไว้ จนจุดนี้อาจจะบอกได้ว่าผมหลงใหลในความเป็นได้อันไม่สุดของจักรวาลศิลปะแห่งนี้ก็เป็นได้ครับ”

หากใครสนใจในภาพถ่ายแนวสตรีท และอยากติดตามเทคนิคการเล่าเรื่องผ่านภาพแบบ Swit Narksakul ก็สามารถติดตามเขาได้ที่ Booney Narksakul และ Instragram: https://www.instagram.com/booney99/