The Fabric of Society ภาพถ่ายผ้าใบของศิลปินอังกฤษ ที่เผยความเป็นไทยได้ถึงแก่น

Post on 28 October

“ตอนสงกรานต์อากาศมันร้อนมาก สัก 40 องศาได้ คุณเอาผ้าใบไปคลุมน้ำแข็งท้ายรถมันก็ช่วยไม่ให้ละลายไม่ได้หรอก” แบร์รี่ แมคโดนัลด์ ช่างภาพชาวอังกฤษกล่าว ระหว่างพาชมเดินนิทรรศการ ‘The Fabric of Society’ หรือเส้นใยแห่งสังคมของเขา กระตุ้นให้คนไทยอย่างเราสงสัยว่า นั่นสิ แล้วเราทำอย่างนั้นทำไมกันนะ?

คนไทยทุกคนคงเห็นผ้าใบลายฟ้าสลับขาวแบบนี้จนชินแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในไซต์ก่อสร้างไปจนถึงตลาดหน้าปากซอย กับฟังก์ชั่นอเนกประสงค์ตั้งแต่การใช้ปูพื้นรองนั่งที่พื้น สร้างอาณาเขตใสสะอาดขึ้นมาจุดหนึ่ง หรือไม่ก็ใช้กันแดดกันฝน กันไปจนถึงวัดวาอารามและสถานที่สำคัญทั้งหลาย ซึ่งก็ยิ่งย้ำคำถามอีก ว่าที่ืทำอย่างนั้นไป มันใช้งานได้ดีจริง ๆ หรอ?

“มันเหมือนการแสดงอะไรสักอย่างประมาณนั้น” แบร์รี่บอก สิ่งที่เขาค้นพบจากการทำโปรเจกต์นี้คือระยะห่างระหว่างเส้นแต่ละเส้นในผ้าใบมีความกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ในแง่นี้ ลายเส้นสีสด ๆ เหล่านั้นเป็นเหมือนญาติห่าง ๆ ของโลกโมเดิร์นอยู่เหมือนกัน ตรงที่มันแปลงโลกสามมิติให้ถูกรับรู้ผ่านรูปทรงได้ รู้กระทั่งขนาดคร่าว ๆ ของมัน เหมือนเส้นตารางบนหน้ากระดาษที่จัดระเบียบสัดส่วนภาพวาดกับโลกความเป็นจริง และมันยังทำให้ร้านข้างทางโมเดิร์นขึ้น ทำให้อะไร ๆ ดูจริงจังขึ้น แต่แน่นอนว่าเราคงไม่เอาผ้าใบแบบนี้ไปใช้งานที่จริงจังขนาดนั้นกันสักเท่าไร และจริง ๆ แล้วมันก็ยังไม่สามารถกันแดดกันน้ำอะไรได้ขนาดนั้นด้วย

ผืนผ้าใบในผลงานของแบร์รี่ เป็นภาพของความโมเดิร์นในสังคมไทย สมกับดีไซน์ที่ดูจะติดเทรนด์กราฟิกยุคนี้ได้ของมัน แต่คำถามก็คือ มันได้นำแนวคิดแบบโมเดิร์นติดตัวมากับลวดลายของมันด้วยแค่ไหนกัน?

นิทรรศการ The Fabric of Society จัดแสดงที่ TCDC กรุงเทพฯ วันนี้ - 3 พฤศจิกายน 2567