ถอดรหัสซีรีส์สยอง The Fall of the House of Usher สัญลักษณ์ ตำนาน และจักรวาล เอ็ดการ์ อัลลัน โป

Post on 18 October

(มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง)

สำหรับคอหนังสยองขวัญ สัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีเรื่องใดชุ่มชื่นใจไปกว่าการมาถึงของ The Fall of the House of Usher ผลงานกำกับล่าสุดของ ไมค์ ฟลานาแกน เจ้าพ่อหนังขนหัวลุก (Oculus, Ouija, Doctor Sleep) ผู้สร้างจักรวาลความสยอง ‘Flanaverse’ บนเน็ตฟลิกซ์ ที่ประกอบด้วยซีรีส์เปิดคฤหาสน์หลอนซ่อนปมในครอบครัวอย่าง The Haunting of Hill House และ The Haunting of Bly Manor ไปจนถึงซีรีส์ชุมชนคริสต์สุดสะพรึงบนเกาะห่างไกลอย่าง Midnight Mass (ซึ่งทั้งสามเรื่องใช้นักแสดงชุดเดิมแทบยกเซต)

แม้จะมีจุดร่วมกับซีรีส์ก่อนหน้าอย่าง Hill House, Bly Manor และ Midnight Mass ด้วยการเป็นซีรีส์ที่ใช้ความสยองขวัญในการขุดคุ้ยปมลึกของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว ความสัมพันธ์ หรือความเชื่อ แต่สิ่งที่ทำให้ The Fall of the House of Usher แตกต่างไปจากซีรีส์ Flanaverse เรื่องก่อน ๆ ก็อาจเป็นดีกรีความสยองขวัญและปมจิตวิทยาที่ถูกลดทอนลง แต่หนักแน่นเข้มข้นขึ้นในเรื่องของการ ‘คารวะ’ ต้นกำเนิดเรื่องราวสยองขวัญกอทิก และการกลับไปสำรวจองค์ประกอบความหลอนสุดคลาสสิกในจักรวาลของบิดาแห่งเรื่องสยองขวัญอย่าง เอ็ดการ์ อัลลัน โป ซึ่งชือเรื่อง The Fall of the House of Usher ก็มาจากชื่อเรื่องสั้นของโป อีกทั้งกลิ่นอายของโปก็แอบถูกสอดแทรกมาเป็นบรรยากาศในซีรีส์เรื่องก่อน ๆ ของฟลาแกน ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศของคฤหาสน์มืด ตัวละครในครอบครัวที่ไม่น่าไว้วางใจ หรือความลับดำมืดประจำตระกูล

องค์ประกอบจักรวาลเอ็ดการ์ อัลลัน โป ถูกซ่อนอยู่ตรงไหนบ้างใน The Fall of the House of Usher? และนอกจากกลิ่นอายของนักเขียนกอทิกคนดังแล้ว ยังมีเรื่องเล่า ตำนาน หรือสัญลักษณ์ใดบ้างที่ซ่อนอยู่ใน ‘การล่มสลายของตระกูลอัชเชอร์’ เราขอชวนทุกคนไปสำรวจร่วมกัน

โลกกอทิกสยองขวัญของ เอ็ดการ์ อัลลัน โป

เอ็ดการ์ อัลลัน โป

เอ็ดการ์ อัลลัน โป

คฤหาสน์มืด เจ้าของบ้านผู้น่าสงสัย ปริศนาฆาตกรรมในห้องปิดตาย เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่พบได้ในงานเขียนของ เอ็ดการ์ อัลลัน โป บิดาแห่งวรรณกรรมกอทิกและเรื่องสืบสวนสอบสวนแห่งศตวรรษที่ 19 และยังได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานวรรณกรรมสไตล์ Romanticism ที่เน้นการนำเสนออารมณ์มืดหม่น หวาดกลัว สั่นประสาท รักโลภโกรธหลง ที่ถูกขับเน้นด้วยเรื่องราวแปลกประหลาดเหนือธรรมชาติ ให้กับแวดวงวรรณกรรมอเมริกันในยุคนั้น

องค์ประกอบเรื่องหลอนของโปที่ไมค์ ฟลานาแกน ยกมาสดุดีไว้ใน The Fall of the House of Usher เริ่มตั้งแต่ชื่อเรื่องซึ่งยกมาจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของโปที่ตีพิมพ์ในปี 1939 ซึ่งเรื่องราวในเรื่องสั้นก็กลายมาเป็นโครงสร้างหลักของซีรีส์เรื่องนี้ด้วย โดยตัวเรื่องสั้นดำเนินผ่านสายตาของ ‘ผู้เล่า’ ที่ได้รับคำเชิญจากเพื่อนเก่านามว่า ร็อดดริก อัชเชอร์ ให้ไปเยือนคฤหาสน์เก่าแก่ที่อยู่ในชนบท เมื่อไปถึง ผู้เล่าก็พบว่าร็อดดริก อัชเชอร์ อยู่ในอาการคล้ายเสียสติ เขาเล่าว่าน้องสาวของเขาที่ชื่อ แมดเดอลีน อัชเชอร์ เพิ่งเสียชีวิตลง และร็อดดริกก็พร่ำเพ้อว่าชะตากรรมของเขาเชื่อมโยงกับคฤหาสน์หลังนี

ภาพประกอบจาก The Fall of the House of Usher (1919) โดย Harry Clarke

ภาพประกอบจาก The Fall of the House of Usher (1919) โดย Harry Clarke

สุดท้ายแล้วร็อดดริกก็สารภาพว่าน้องสาวของเขายังไม่ตาย เพียงแต่ถูกทำให้อยู่ในสภาพเหมือนคนตาย และเขาได้ขังเธอไว้ในห้องใต้ดิน ผู้เล่าเล่าว่า เขาเริ่มได้ยินเสียงบางอย่างที่สอดคล้องกับเรื่องเล่าสยองขวัญที่ร็อดดริกกำลังเล่า กระทั่งร่างของแมดเดอลีนปรากฏตัวขึ้นและเข้าจู่โจมพี่ชายของเธอ เมื่อผู้เล่าหนีออกมาจากบ้าน เขาก็หันหลังกลับไปมองเพื่อจะพบว่าคฤหาสน์อัชเชอร์ได้พังทลายลง

ภาพประกอบ "The Masque of the Red Death" โดย Harry Clarke, 1919

ภาพประกอบ "The Masque of the Red Death" โดย Harry Clarke, 1919

การนำโครงเรื่องจากเรื่องสั้นของโปมาใช้ก็แทบจะเป็นการสปอยล์จุดจบของตัวซีรีส์อยู่แล้ว แต่ฟลานาแกนยังหยิบเรื่องสั้นสยองขวัญอื่น ๆ ของโปมาใช้เป็นชื่อตอนทั้งแปด และยังได้หยิบโครงเรื่องของแต่ละเรื่องมาใช้บอกเล่าวิธีการตายของลูกแต่ละคนในตระกูลอัชเชอร์ในแต่ละตอน ไม่ว่าจะเป็น The Masque of the Red Death ที่หยิบเรื่องสั้นปี 1842 มาเล่าเรื่องราวปาร์ตี้สุดสยองที่คร่าชีวิตลูกคนเล็กอย่าง ‘เพอร์รี’ ร่วมกับผู้ร่วมปาร์ตี้เสพสังวาสอีกนับร้อยคน

ภาพประกอบ The Murders in the Rue Morgue (1894) โดย Aubrey Beardsley

ภาพประกอบ The Murders in the Rue Morgue (1894) โดย Aubrey Beardsley

Murder in the Rue Morgue (1841) หนึ่งในเรื่องสั้นชื่อดังของโปที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘เรื่องราวสืบสวนสอบสวนสมัยใหม่’ เรื่องแรกในประวัติศาสตร์วรรณกรรม ว่าด้วยนักสืบ ซี.ออกุสต์ ดูแปง ที่ถูกเรียกตัวมาสืบคดีการตายปริศนาของสองแม่ลูกที่ถูกฆาตกรรมอย่างทารุณ ก่อนที่จะเฉลยว่าสิ่งที่คร่าชีวิตเหยื่อหาใช่มนุษย์ แต่เป็นลิงอุรังอุตังที่หลุดออกมา

ภาพประกอบเรื่องสั้น The Black Cat (1894) โดย Aubrey Beardsley

ภาพประกอบเรื่องสั้น The Black Cat (1894) โดย Aubrey Beardsley

The Black Cat (1843) เล่าเรื่องของคู่สามีภรรยาที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นแมวสีดำชื่อ พลูโต เมื่อสามีเริ่มติดเหล้า เขาก็เริ่มใช้ความรุนแรงกับแมว กระทั่งวันหนึ่งที่แมวดำกัดสามี เขาจึงเผลอฆ่าแมวตัวนั้น ด้วยความเสียใจ เขาได้รับแมวดำตัวใหม่มาเลี้ยง แต่ตัวเขากลับเริ่มกลัวแมวตัวใหม่ขึ้นมา เมื่อภรรยาของเขาเข้ามาห้ามไม่ให้เขาฆ่าแมวตัวนี้ เขาก็พลั้งมือฆ่าภรรยา และได้ซ่อนร่างของภรรยาไว้ในผนัง สุดท้ายเมื่อตำรวจมาทำการสืบสวน พวกเขาก็พบร่างของภรรยาที่หลังกำแพง พร้อมกับแมวดำที่นั่งอยู่บนหัวของภรรยา

The Tell-Tale Heart (1843) เล่าเรื่องของชายคนหนึ่งที่ลงมือฆ่าชายแก่คนหนึ่งเพียงเพราะความ ‘รำคาญ’ ก่อนจะซ่อนศพของชายแก่ไว้ใต้พื้นไม้ กระทั่งตำรวจมาทำการสอบสวน ชายผู้ลงมือฆ่าเริ่มได้ยินเสียงประหลาดที่คล้ายเสียงหัวใจเต้น จนทำให้เขาเสียสติ ในขณะที่ Goldbug (1843) แม้จะไม่ใช่เรื่องสยองขวัญ แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นเรื่องราวแนวไขปริศนาที่โด่งดังที่สุดของโป เนื้อเรื่องว่าด้วยความคลั่งไคล้ของชายหนุ่มที่มีต่อ ‘แมลงทองคำ’ จนทำให้เขาและคนรับใช้ออกตามหาแมลงนั้น จนนำไปสู่การค้นพบสมบัติที่ถูกซ่อนไว้, The Pit and the Pendulum (1842) เล่าเรื่องราวประสบการณ์การถูกทรมานของอดีตนักโทษในคุกสเปน ผู้ถูกจับขึงพืดโดยมีใบมีดยักษ์แกว่งเฉียดเนื้ออยู่เหนือร่างของเขา

ส่วน The Raven (1845) คือหนึ่งในบทกวีชื่อดังที่สุดของโป เนื้อหาพรรณนาถึงชายคนหนึ่งที่รำพึงถึงหญิงคนรักผู้จากไปที่มีนามว่า เลอนอร์ ซึ่งชื่อนี้ก็ถูกนำมาใช้เป็นชื่อหลานสาวสุดที่รักของตัวละครร็อดดริก อัชเชอร์ ในเรื่องด้วย และอีกชื่อหนึ่งที่ฟลานาแกนดึงมาจากเรื่องสั้นของโป ก็คือชื่อของทนายประจำตระกูลอัชเชอร์อย่าง อาร์เธอร์ กอร์ดอน พิม ที่มาจากตัวละครในเรื่องสั้น The Narrative of Arthur Gordon Pym of Nantucket (1838) ที่เล่าเรื่องราวการผจญภัยของ อาร์เธอ กอร์ดอน พิม ผู้ท่องเที่ยวไปทั่วโลกและได้พบเห็นกับเรื่องราวโหดร้ายมากมาย เช่น มนุษย์กินคน เป็นต้น

ภาพประกอบจากเรื่องสั้น The Pit and the Pendulum โดย Harry Clarke, 1919

ภาพประกอบจากเรื่องสั้น The Pit and the Pendulum โดย Harry Clarke, 1919

บาปเจ็ดประการและการตายของลูกทั้งหก

นอกจากการดึงแรงบันดาลใจจากเรื่องสั้นสยองขวัญของ เอ็ดการ์ อัลลัน โป มาไว้ในซีรีส์แต่ละตอนแล้ว อีกหนึ่งลักษณะทางวรรณกรรมที่ถูกนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเรื่องราวการล่มสลายของตระกูลอัชเชอร์ ก็คือเรื่องราวของ ‘บาปทั้งเจ็ด’ อันเป็นความเชื่อสำคัญในศาสนาคริสต์ ซึ่งในซีรีส์ The Fall of the House of Usher การตายของลูกแต่ละคน รวมถึงตัวประมุขของตระกูลอย่างร็อดดริก อัชเชอร์ ก็เป็นภาพสะท้อนของบาปแต่ละประการ

ไล่มาตั้งแต่การตายของเพอร์รีลูกชายคนสุดท้อง ที่ตายด้วยฝนกรดสยองในปาร์ตี้มั่วเซ็กซ์ อันเป็นภาพแทนของการถูกลงทัณฑ์จากบาปแห่งตัณหา (Lust) ในขณะที่การตายของ คามีลล์ ก็มาจากความอิจฉาริษยา (Envy) ที่คามีลล์มีต่อพี่สาวอย่าง วิกตอรีน ซึ่งความริษยาที่วิกตอรีนได้รับคำชื่นชมและความไว้วางใจจากพ่อมากกว่า ก็ผลักดันให้เธอลอบเข้าไปในแล็บของวิกตอรีนเผื่อหาทางจับผิด จนทำให้เธอจบชีวิตลงด้วยน้ำมือของลิงคลั่งในแล็บทดลอง

ในขณะที่ลูกชายคนกลางอย่าง ลีโอ ก็เป็นตัวแทนของบาปเรื่องความขี้เกียจ (Sloth) เห็นได้จากการที่คามีลล์ก็ปรามาสลีโอว่าเขาไม่ได้ทำงานอะไร แค่ใช้เงินพ่อจ้างคนมารันบริษัทเกม ส่วนตัวเองก็พี้ยาจนเซื่องซึม และวัน ๆ ก็เล่นแต่เกม เช่นเดียวกับ วิกตอรีน ที่เป็นตัวแทนของความละโมภ (Greed) จากการที่เธอทะเยอทะยานที่จะผลักดันสิ่งประดิษฐ์หัวใจเทียมของเธอให้สำเร็จเพื่อเอาใจผู้เป็นพ่อ และเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง โดยไม่สนว่าจะคร่าชีวิตคนหรือทำผิดจรรยาบรรณแพทย์

พี่สาวคนโตอย่าง ทามาลีน ก็เป็นภาพแทนของบาปแห่งอัตตา (Pride) หรือบาปของคนที่หลงมัวเมาในอำนาจและรูปลักษณ์ของตัวเอง เห็นได้จากการที่เธอพยายามผลักดันผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์เพื่อความงาม และฉากสุดท้ายที่เธอจบชีวิตด้วยกระจกเงา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคนที่หลงในรูปลักษณ์ของตัวเอง ส่วนพี่ชายคนโตอย่าง เฟร็ดดริก ก็เป็นตัวแทนของบาปแห่งโทสะ (Wrath) เห็นได้จากการที่เขาโกรธภรรยาผู้ (เกือบ) สวมเขาให้ตนจนขาดสติ ซึ่งโทสะนั้นก็นำมาสู่จุดจบของเขาในตอนท้าย

ท้ายที่สุด บาปแห่งความตะกละ (Gluttony) จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากสองพี่น้องอัชเชอร์ ผู้ถูกความโลภเข้าครอบงำจนสามารถลงมือฆ่าคนได้ แถมยังยอมทำสัญญาปีศาจเพื่อให้ได้มาซึ่งความร่ำรวย โดยไม่สนว่าผลลัพธ์นั้นจะตกกับลูกหลานของตนเอง

ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องราวของพี่น้องอัชเชอร์ผู้เป็นเจ้าของบริษัทผลิตยาแก้ปวด ยังอ้างอิงมาจากตระกูลเจ้าของบริษัทยาชื่อดังที่มีตัวตนอยู่จริงอย่าง ‘ตระกูลแซคเลอร์’ ที่ภายหลังถูกเปิดโปงว่า ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดของพวกเขาอย่างยาแก้ปวดอ็อกซีที่กลายเป็นยาสามัญในโรงพยาบาลนั้น แท้จริงแล้วมีฤทธิ์ที่ทำให้ผู้ใช้เกิดอาการเสพติด แต่ทางบริษัทก็ใช้วิธีตุกติกและร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในรัฐบาล เพื่อทำให้ยาชนิดนี้ไม่ถูกขึ้นบัญชียาเสพติด จนนำมาสู่ความตายของคนอเมริกันนับล้าน แลกกับความมั่งคั่งของตระกูล (รับชมเรื่องราวนี้เพิ่มเติมได้ในซีรีส์ Dopesick ทาง Disney Hotstar+)

โพรมีธีอุสและการลงทัณฑ์

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมที่ถูกสอดแทรกอยู่ใน The Fall of the House of Usher ก็หนีไม่พ้นเรื่องราวของตำนานการอาจหาญท้าทายเทพเจ้าที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดี นั่นก็คือ ตำนานโพรทีธีอุสและการลงทัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับความทะเยอทะยานของพี่น้องอัชเชอร์ที่มุ่งมั่นสร้างความยิ่งใหญ่เพื่อ ‘เปลี่ยนโลก’ รวมไปถึงความหมกมุ่นในการพยายามเอาชนะความตาย ซึ่งเห็นได้จากความหลงใหลของสองพี่น้องที่มีต่อวัฒนธรรมการทำมัมมี่ และความเชื่อเรื่องโลกหลังความตายของชาวอียิปต์โบราณ

ในตำนานกรีก โพรมีธีอุสคือเทพที่สร้างมนุษย์ขึ้นมาจากดินเหนียว โดยตั้งใจสร้างรูปร่างของมนุษย์ให้เหมือนกับเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ ความทะเยอทะยานของโพรมีธีอุสที่สร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาก็เหมือนเป็นการลูบคมอำนาจของเทพเจ้าอยู่แล้ว แต่เมื่อโพรมีธีอุสกระทำการอุกอาจด้วยการขโมย ‘ไฟ’ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมมาให้มนุษย์ เมื่อนั้นเองที่เทพเจ้าซุสไม่อาจทนถูกดูหมิ่นได้อีกต่อไป จึงได้ทำการลงโทษโพรมีธีอุส ด้วยการตรึงเขาไว้กับก้อนหิน และให้นกอินทรีบินมาจิกกิดตับไตไส้พุงของเขาไปตลอดกาล

เรื่องราวการลงทัณฑ์ของโพรมีธีอุสมักถูกใช้เป็นเรฟฯ ในทางวรรณกรรมและภาพยนตร์ เพื่อพูดถึงความทะเยอทะยานของมนุษย์ที่อวดดีและท้าทายอำนาจของพระเจ้า โดยเฉพาะการพยายามเอาชนะความตาย หรือการพยายามให้กำเนิดสิ่งใหม่ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ฝืนกฏธรรมชาติ โดยเรื่องราวลักษณะนี้มักจะจบลงด้วยการที่ตัวละครเหล่านั้นต้องพบเจอกับหายนะ อันถือเป็นการโทษทัณฑ์ของการทะเยอทะยานและการกระทำฝืนธรรมชาติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ วรรณกรรมกอทิกที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีในชื่อ ‘แฟรงเกนสไตน์’ ของผู้เขียน แมรี เชลลี ซึ่งที่จริงแล้วมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Frankenstein; or, The Modern Prometheus ซึ่งสื่อถึงสารจากผู้เขียนที่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นที่ไม่ต่างอะไรกับการท้าทายอำนาจของพระเจ้าหรือธรรมชาติ ดังเช่นชะตากรรมของตัวละคร ‘ด็อกเตอร์แฟรงเกนสไตน์’ ที่พยายามใช้ไฟฟ้าในการมอบชีวิตใหม่ให้กับอมนุษย์ผู้ถูกประกอบร่างจากชิ้นส่วนต่าง ๆ ของซากศพ ซึ่งสุดท้ายแล้วอมนุษย์ตัวนั้นก็กลับมาคร่าชีวิตของผู้ให้กำเนิดตัวมันเอง

หากลองใช้ตำนานของโพรมีธีอุสในการมองความล่มสลายของตระกูลอัชเชอร์ ก็อาจกล่าวได้ว่าฉิบหายของสมาชิกในตระกูลนั้นมาจากความทะเยอทะยานเกินตัวของสองพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นการพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงโลก หรือการใช้ทางลัดสู่ความสำเร็จด้วยการทำสัญญาปีศาจ ซึ่งก็ถือเป็นการฝืนโชคชะตา หรืออาจเทียบเท่ากับการท้าทายอำนาจของพระเจ้าผู้ลิขิตชีวิตมนุษย์ก็เป็นได้