คำเตือน: บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภายในซีรีส์
จบกันไปแล้วสำหรับมหากาพย์การล้างแค้นของพระมหาตัวแม่ ตัวมารดา ‘มุนดงอึน’ นางเอกสุดแกร่งจากซีรีส์เรื่อง ‘The Glory’ ที่เล่าถึงเรื่องราวการลงโทษคนชอบบูลี่ได้อย่างถึงใจ จนพูดได้เลยว่า ตลอด 16 ตอนที่ผ่านมา ผู้ชมอย่างเรา ๆ ต่างได้สัมผัสถึงชีวิตของตัวเอก ผู้ไร้ซึ่งอำนาจ เงินทอง หรือคนสนับสนุนใด ๆ แต่เธอกลับพาเราไปพบกับบทสรุปของการแก้แค้นสุดน่าประทับใจได้อย่างน่าเหลือเชื่อ อีกทั้งยังแสดงให้เราเห็นด้วยว่า ในประเทศที่ไร้ปืน และในมือของคนที่ไร้ทางสู้ ถ้าเรากล้าขุดให้ลึกลงไปจนถึงราก แล้วงัดเอาเบื้องหลังภายในจิตใจอันดำมืดของคนเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การแก้แค้นก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
แน่นอนว่าตามประสาคอซีรีส์แล้วไซร้ ต่อให้ซีรีส์จบ แต่แฟนคลับอย่างเรา ๆ ย่อมจบกันไม่ได้ง่าย ๆ เพราะมีเรื่องอยากเล่าและพูดคุยกันเยอะแยะไปหมด วันนี้ GroundControl เลยขอถือโอกาสตั้งตัวเป็นหัวโจกเปิดวงสนทนาแห่งเกียรติยศ เพื่อพาทุกไปตามเก็บตกฉากเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในซีรีส์ ที่ต่อให้จะมีแอร์ไทม์ไม่มาก ทว่ากลับแฝงไปด้วยความหมายอันทรงพลัง และเต็มเปี่ยมไปด้วยสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมความเป็นเกาหลี ที่ส่งผลต่อลักษณะนิสัยของตัวละคร และเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างภายในเรื่องมากมาย ไม่แน่ว่าถ้าได้รู้แล้วอาจจะเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ในซีรีส์มากขึ้นก็เป็นได้
การถอดรองเท้าและโอกาสครั้งสุดท้ายของพัคยอนจิน
รองเท้า ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญสำหรับเรื่อง The Glory เพราะนอกจากฉากเกี่ยวกับรองเท้าส้นสูงสีเขียวแล้ว ยังมีฉากเกี่ยวกับเรื่อง ‘ถอดรองเท้า’ ที่มักจะมีการตัดภาพแว้บ ๆ มาให้เราเห็นกันเป็นประจำ แม้ฉากเหล่านั้นจะดูไม่ได้สลักสำคัญอะไร แต่กลับนำพาเรามาพบกับฉากตัดเชือกครั้งสุดท้าย ที่มอบโอกาสรอดให้กับพัคยอนจิน นั่นก็คือฉากที่ ‘ฮาโดยอง’ สามีของ ‘พัคยอนจิน’ ถอดรองเท้าก่อนเข้าห้องนางเอกนั่นเอง ซึ่งหลายคนก็อาจจะเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าแล้ว ‘การถอดรองเท้า’ หมายถึงอะไรกัน? แล้วทำไมถึงกลายมาเป็นฉากสำคัญที่เปลี่ยนใจนางเอกได้?
สำหรับคนเอเชีย หรือคนไทยอย่างเรา ๆ แล้ว การ ‘ถอดรองเท้า’ ก่อนเข้าบ้านถือเป็นมารยาทขั้นพื้นฐานที่เราถูกสั่งสอนกันมาตั้งแต่เด็ก เพราะเรามองว่าการสวมรองเท้าเข้าบ้าน จะนำพาสิ่งสกปรกจากภายนอกติดเข้ามาในบ้านของเราด้วย ทำให้ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน ต่อให้ไม่ใช่ในบ้าน แต่ถ้าเป็นสถานที่สำคัญอย่างโบสถ์ หรือวัดวาอาราม เราก็จะมีการถอดรองเท้าก่อนเข้าไปข้างในด้วยเช่นกัน ดังนั้นในมุมมองของคนเอเชีย การถอดรองเท้าเลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความเคารพ’ และการให้ ‘เกียรติ’ สถานที่ไปโดยปริยาย
ฉากแรกที่เราเห็นการถอดรองเท้าอย่างชัดเจน คือตอนที่นางเอกกลับบ้านพักของตัวเอง แล้วกลุ่มพัคยอนจินเข้ามาดักรอในห้อง แม้บ้านของเธออาจจะไม่ใช่บ้านที่สวยงามเหมือนกับคนอื่น ๆ แต่ก็คือบ้านและพื้นที่ของเธอเอง เธอจึงถอดรองเท้าก่อนที่จะเข้ามาข้างใน ฉากต่อมาคือตอนที่นางเอกทำงานในโรงงาน ในระหว่างที่อ่านหนังสืออยู่ตรงทางเดิน เพื่อนร่วมงานที่เห็นเธออ่านหนังสืออย่างตั้งใจ ก็เลือกที่จะถอดรองเท้า แล้วย่องเข้าไปในพื้นที่ของตัวเองเบา ๆ จะได้ไม่รบกวนการอ่านหนังสือ แล้วก็มาถึงฉากสุดท้ายของฮาโดยอง ที่ถอดรองเท้าก่อนเข้ามาในห้องนางเอก ทั้งหมดนี้เมื่อเอามารวมกัน เราจะพบกับคำว่า ‘ให้เกียรติ’ อยู่
ถ้ายังจำกันได้จะมีฉากหนึ่งที่หมอโจจูยอง พูดกับฮาโดยองไว้ว่า “คุณคิดว่าในบรรดาสิ่งที่เหยื่อเสียไป มีกี่อย่างที่เรียกคืนมาได้ครับ เกียรติยศและชื่อเสียงของตัวเอง นั่นคือทั้งหมดครับ” เมื่อประกอบกับเข้ากับชื่อเรื่องอย่าง ‘The Glory’ ที่หมายถึงเกียรติยศเหมือนกัน ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ในโลกที่ทุกอย่างของนางเอก ได้พังทลายไปหมดแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งที่ยังยึดโยงเธอเอาไว้ให้เดินหน้าต่อ นั่นก็คือการทวงคืนเกียรติยศกลับคืนมา
เมื่อฮาโดยองมอบความเคารพให้กับเธอ นั่นจึงกลายเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายที่เธอมอบให้กับพัคยอนจิน เพราะเธอรู้ตัวว่าถ้ายังแก้แค้นต่อไปแบบนี้ คนที่จะพังทลายไม่ต่างกันก็คือฮาโดยอง ผู้ไม่เคยทำผิดอะไรต่อเธอเลย ดังนั้นการให้พัคยอนจินมอบตัวและล่มสลายไปในคุก อย่างน้อยเมื่อออกมา ก็ยังมีสามีและลูกคอยอยู่ข้างนอก แม้ว่าอาจจะไม่ได้รักกันเหมือนเดิม แต่ก็ไม่ใช่จุดจบที่หนักหนาเท่ากับที่มุนดงอึนตั้งใจไว้ และไม่จำเป็นต้องรับโทษเรื่องซนมยองโอที่เธอไม่ได้เป็นคนทำ (ทั้งหมด) ด้วย
แน่นอนว่าพัคฮยอนจินก็คือพัคฮยอนจิน เธอเป็นตัวละครที่เคยนิสัยอย่างไรก็อย่างนั้น ไม่ต่างจากที่นางเอกเคยจินตนาการไว้ในตอนเปิดเรื่อง ที่เคยนึกภาพวันที่พัคยอนจินจะเดินเข้ามาพร้อมรองเท้าในห้องของเธอ ในฉากนั้นมุนดงอึนได้พูดกับพัคยอนจินในจินตนาการว่า “เธอไม่เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนเลยนะ ยังมารยาททรามเหมือนเดิม เวลาเข้าบ้านคนอื่นก็ต้องถอดรองเท้าสิ” และเมื่อวันที่พัคยอนจินได้มาเห็นห้องของนางเอกจริง ๆ เธอก็ไม่ถอดรองเท้าจริง ๆ นี่จึงแสดงให้เห็นว่า พัคยอนจินไม่เคยเปลี่ยนไปเลยแม้แต่นิดเดียว เธอไม่เคยให้เกียรติมุนดงอึน และเธอก็จะไม่มีวันให้เกียรติตลอดไป
ดังนั้น นอกจากการถอดรองเท้าจะแสดงให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายในการล้างแค้นของมุนดงอึน และสัมพันธ์ไปถึงชื่อเรื่องกับนิสัยของตัวละครแล้ว ยังเป็นเหมือนเครื่องตอกย้ำตัวตนของพัคยอนจินไปในตัว และในฐานะคนดู ก็คงต้องขอบคุณพัคยอนจินด้วยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย ไม่อย่างนั้นนางเอกของเราคงขาดเชื้อไฟชั้นดีไป
ไข่ กิมจิ และสายน้ำ ว่าด้วยสายสัมพันธ์และรสชาติของความเป็นแม่ (ที่มุนดงอึนเลือกเอง)
“เมื่อฤดูใบไม้ผลิผ่านไป 18 ครั้ง ฉันถึงเพิ่งเข้าใจค่ะ ฉันเองก็มีผู้ใหญ่ที่ดีอยู่รอบตัว รวมถึงเพื่อน อากาศ และการแทรกแซงของพระเจ้าด้วย”
เชื่อว่าพอทุกคนได้ยินมุนดงอึนพูดคำนี้ขึ้นมา น่าจะรู้สึกโล่งใจกันไปตาม ๆ กัน เพราะตลอด 16 ตอนที่ผ่านมา นางเอกของเราคนนี้ถือว่าเจอศึกหนักมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่รอบกาย กระทั่งแม่ของตัวเองก็ยังไม่สามารถไว้ใจได้ และกลายเป็นตัวร้ายสุดน่าหยุมหัวประจำเรื่องไปแทน แน่นอนว่าในเมื่อมีคนใจร้าย ก็ต้องมีคนที่ใจดีให้สมดุลกันบ้าง ซึ่งในเรื่อง The Glory ก็มีตัวละครเด่น ๆ หลายคนที่มอบความรู้สึกอบอุ่นใจให้กับมุนดงอึน และทำให้เราสามารถสัมผัสได้ถึง ‘ความเป็นแม่’ ที่ไม่จำเป็นต้องพูดออกมาสักคำก็สามารถรู้สึกได้
คนแรกที่เราอยากชวนพูดถึง ก็คือป้าสายสืบคังฮยอนนัม ที่นอกจากจะเป็นผู้ช่วยนักสืบมือโปร ยังเป็นตัวละครที่สร้างรอยยิ้มให้กับผู้ชมอย่างเรา ๆ และนางเอกอยู่หลายครั้ง เราได้รู้จักตัวละครป้าฮยอนนัมในฐานะแม่ที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อลูก และเราก็ได้เห็นความเป็นแม่เหล่านั้นเผื่อแผ่มาถึงมุนดงอึนด้วย อย่างฉากการป้อนไข่ ที่แสดงให้เห็นถึงความห่วงใย เหมือนแม่ที่อยากให้ลูกอิ่มท้องและดูแลตัวเอง อีกทั้งยังมีฉากการให้กิมจิ โดยในวัฒนธรรมเกาหลี การแบ่งปันกิมจิถือว่าเป็นเรื่องปกติที่คนมีความห่วงใยให้กันจะแบ่งปันให้กัน ไม่ว่าจะจากญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน หรือพ่อแม่ส่งมาให้ลูก ซึ่งการกระทำเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นห่วงเป็นใยจากคนแปลกหน้า หรือคนนอก ที่ห่วงใยมุนดงอึนมากกว่าคนในครอบครัวเสียอีก นอกจากนี้ตลอดทั้งเรื่องป้าฮยอนนัมยังเป็นตัวละครไม่กี่คนที่มักป้อนอาหาร หรือคะยั้นคะยอให้นางเอกหาอะไรทานสักหน่อย เหมือนแม่ที่ห่วงลูกอีกด้วย
นอกจากนี้ ‘ไข่’ ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ตามความเชื่อของศาสนาคริสต์อีกด้วย เพราะพระเยซูได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งในวันอีสเตอร์ ซึ่งในวันอีสเตอร์จะมีการมอบไข่ให้กับเด็ก ๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่ระลึกถึงการฟื้นคืนชีพของพระเยซู โดยการกะเทาะเปลือกไข่ออกมา เปรียบเสมือนกับการออกมาจากสุสานหลังความตายของพระเยซู และกำเนิดใหม่อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการที่ป้าให้ไข่กับดงอึน ก็เหมือนการให้ชีวิตใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับการที่ป้าให้ความรักและเป็นคนช่วยแก้แค้น ทำให้ดงอึนหลุดพ้นจากอดีตที่ตามหลอกหลอน แล้วก็แก้ปมเรื่องแม่ในใจของดงอึนได้ด้วย
คนต่อมาคือคุณยายเจ้าของอพาร์ทเมนท์ ที่บอกว่ามุนดงอึนคือผู้ช่วยชีวิตของตัวเอง แต่ความจริงแล้วน่าจะเป็นยายมากกว่าที่ทำให้มุนดงอึนอยากมีชีวิตต่อ ด้วยความที่ซีรีส์เรื่องนีมีหลายส่วนที่ผูกโยงเข้ากับความเชื่อและสัญลักษณ์ทางคริสต์ศาสนา ผู้เขียนเลยตีความฉากการช่วยชีวิตในแม่น้ำว่า คล้ายกับการทำ ‘ศีลจุ่ม’ หรือ ‘ศีลล้างบาป’ ในศาสนาคริสต์ เพราะตามความเชื่อแล้วศาสนาคริสต์มองว่ามนุษย์ทุกคนมีบาปติดตัวมาตั้งแต่เกิด หากจะเข้ารีต ก็ต้องทำการล้างบาปออกไปให้หมดเสียก่อน
ด้วยเหตุนี้ ฉากการเดินลงแม่น้ำฮันของดงอึนและคุณยาย จึงเป็นเหมือนกับการทำศีลจุ่ม เพราะเมื่อดงอึนกลับขึ้นมาจากน้ำ เธอก็ตัดสินใจที่จะแก้แค้นทุกคน ราวกับว่าการเดินลงแม่น้ำในครั้งนั้นได้ชำระล้างทุกความหวาดกลัว พร้อมกับมอบชีวิตใหม่ และเป้าหมายใหม่ให้กับตัวละครตัวนี้ คุณยายเจ้าของอพาร์ทเมนท์เลยเป็นเหมือนผู้ที่ช่วยให้มุนดงอึนคนใหม่กำเนิดขึ้นมา แม้จะไม่ใช่แม่ด้วยสายเลือด แต่ความห่วงใย และการให้กำลังใจในฐานะแม่คนหนึ่งที่มีลูก ก็ได้ให้กำเนิดมุนดงอึนที่พร้อมต่อกรทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์
อีกตัวละครหนึ่งที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็นการเข้าฉากด้วยกัน ก็คือคุณหมอพักซังงิม ซึ่งเป็นแม่ของพระเอก คุณหมอเป็นแม่ที่มีความเป็นคนสมัยใหม่ เข้าใจลูกในทุกด้าน และพร้อมให้การสนับสนุนทุกการตัดสินใจ ไม่เคยเหนี่ยวรั้ง หรือขัดขวาง โดยหลังจากที่มุนดงอึนทำภารกิจแก้แค้นของตัวเองสำเร็จแล้ว เธอก็ไม่มีเป้าหมายที่จะอยู่บนโลกนี้อีกต่อไป เลยตัดสินใจจะฆ่าตัวตายอีกครั้ง แต่ก็ได้คุณหมอเป็นคนมอบเป้าหมายใหม่ให้ นั่นคือการช่วยพระเอกแก้แค้น แม่ของพระเอกจึงเป็นเหมือนกับอีกคนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของแม่ผู้ห่วงใยลูก และยังเป็นแม่อีกคนที่ผลักดันให้นางเอกมีชีวิตอยู่ต่อไป แม้เธอจะมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเองไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ขอให้มีอยู่เพื่อเธอและลูกชายของเธอเอง
ตัวละครแวดล้อมทั้งหมดนี้ ทำให้เรานึกถึงคำว่า ‘ครอบครัวที่เลือกเองได้’ หมายถึงครอบครัวที่ไม่ได้สัมพันธ์กันทางสายเลือด แต่กลับดูแลกันและกันได้ดีเหมือนกับครอบครัวจริง ๆ ซึ่งความอบอุ่นรวมถึงความปรารถนาดีทั้งหมดที่มุนดงอึนได้รับ ล้วนมาจากคนที่เธอพบเจอในภายหลัง และเป็นคนที่ทำให้เธอรู้ว่าการถูกรักและเอาใจใส่นั้นเป็นอย่างไร แม้เธอจะยังไม่ชิน แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกที่ตัวละครนี้ได้พบกับคนที่ดีต่อเธอ นี่เลยเป็นเหตุผลที่คำพูดในจดหมายของมุนดงอึนอย่าง “ ฉันถึงเพิ่งเข้าใจค่ะ ฉันเองก็มีผู้ใหญ่ที่ดีอยู่รอบตัว” ทำให้เรารู้สึกโล่งใจ นั่นก็เป็นเพราะว่าเราได้รับรู้แล้วว่า ในที่สุดตัวละครที่เราคอยเอาใจช่วย ก็มองเห็นหนทางที่จะทำให้ตัวเองมีความสุข และมีชีวิตอยู่ต่อไป
คนทรงผี ลัทธิชาแมน ความเชื่อของคนเกาหลีที่ผสมปนเปอยู่ใน The Glory
นอกจากบทบาทของศาสนาคริสต์ที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง The Glory แล้ว อีกหนึ่งความเชื่อที่ปรากฏออกมาบ่อยไม่แพ้กัน ก็คือเรื่องของคนทรงเจ้าเข้าผี หรือลัทธิชาแมน ซึ่งเป็นธุรกิจของแม่พัคยอนจิน ถึงแม้ว่าโทนเรื่องของซีรีส์เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องราวแฟนตาซี ที่มีผีหรือพระเจ้าเป็นองค์ประกอบหลัก ทว่าเหตุการณ์บางอย่างที่ปรากฏขึ้นมาในหลาย ๆ ฉาก ก็ชวนให้อดคิดและนึกเชื่อมโยงไปถึงความเชื่อเหล่านั้นไม่ได้ เลยอยากให้ทุกคนลองมาพูดคุยและวิเคราะห์ไปด้วยกัน
ความจริงแล้วลัทธินับถือภูตผีและวิญญาณของคนเกาหลีนั้นมีอยู่หลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็นลัทธิมู, ลัทธิเชมัน, หรือลัทธิชิน ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร ก็มีพื้นฐานความเชื่อแบบเดียวกัน คือเชื่อในเรื่องของจิตวิญญาณธรรมชาติ การทรงเจ้า และการนับถือผี เป็นศาสนาพื้นเมืองที่ตั้งรกรากอยู่ในเกาหลีมาอย่างช้านาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือย้อนไปถึงสมัยพระเจ้าตันกุน ซึ่งเป็นบิดาของชนชาติเกาหลี การประกอบพิธีกรรมของลัทธินี้จะคล้ายกับการทำไสยศาสตร์ และการทรงเจ้าแบบบ้านเรา คือ มีการร่ายรำ เล่นดนตรี ดูดวง ปัดเป่าเคราะห์ ต่อดวงชะตา และมีการเซ่นไหว้เทพเจ้าและผี ส่วนจะเป็นเทพพระเจ้าองค์ใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าแม่หมอหรือพ่อหมอคนนั้นจะเป็นร่างทรงของเทพใด ซึ่งลัทธิชาแมนที่ปรากฏในเรื่อง The Glory ก็มีกระบวนการเหล่านี้เหมือนกัน
เหตุผลที่ผู้เขียนมองว่าลัทธิชาแมนส่งผลต่อเนื้อเรื่องหลายส่วน พอ ๆ กับที่ตัวละครมุนดงอึนมักเกี่ยวข้องกับสัญญะทางศาสนาคริสต์อยู่บ่อย ๆ เริ่มต้นตั้งแต่ฉากที่แม่ของพัคยอนจินได้เตือนพัคยอนจินไว้ว่า ห้ามคบค้าสมาคมหรือยุ่งเกี่ยวกับคนที่มีอักษร ง.งู อยู่ในชื่อ เพราะคนที่มี ง.งู ในชื่อจะมีปีศาจอยู่ในตัว หรืออธิบายแบบง่าย ๆ สไตล์ไทยว่า แม่หมอดูดวงของพัคยอนจินแล้วพบว่าดวงไม่สมพงษ์กับคนที่มีตัว ง.งู อยู่ในชื่อนั่นเอง โดยในภาษาเกาหลี ตัว ง.งู ที่ว่านี้ คือตัว ‘ㅇ’ อ่านว่า ‘อีอึม’ สามารถแทนเสียงภาษาไทยได้สองแบบคือตัว อ.อ่าง และ ง.งู หมายความว่าถ้าใครมีสองตัวนี้อยู่ในชื่อ ล้วนเป็นปรปักษ์กับพัคยอนจินทั้งหมด
ถึงแม้ว่าในช่วงแรก ๆ พัคยอนจินจะไม่เชื่อคำเตือนนี้เลย (ผู้เขียนก็ยังไม่เชื่อ) แต่พอสถานการณ์ทุกอย่างในเรื่องเริ่มเลวร้ายลง เราก็เริ่มสังเกตเห็นว่าตัวละครพัคยอนจินเริ่มนึกถึงคำเตือนของแม่ขึ้นมา ซึ่งเธอก็ได้ทักตัวละคร ‘คิมคยองรัน’ พนักงานในร้านของ ‘จอนแจจุน’ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหยื่อบูลลี่ของเธอว่า “เธอเองก็มีตัว ‘ง’ ในชื่อเหมือนกันนี่นา” ก็ทำให้เรานึกขึ้นได้ว่าหรือแม่หมอจะพูดจริง เพราะพอเราลองมาลิสต์รายชื่อดูว่ามีตัวละครไหนบ้างที่เข้าเกณฑ์คำเตือนนี้ ผลปรากฏว่าแทบทุกคนที่อยู่รอบตัวพัคยอนจิน และนำพาเธอไปสู่หายนะ ล้วนมีตัวอีอึมอยู่ในชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ซนมยองโอ, ชเวฮเยจอง, มุนดงอึน, จูโยจอง, คังฮยอนนัม, ชินยังจุน, พักซังงิม หรือแม้กระทั่งสามีของเธอเองอย่าง ฮาโดยอง ก็มีตัว ง.งู ในชื่อเหมือนกันและที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้น คนที่มีตัวอีอึมอยู่ในชื่อมากที่สุด ก็คือ ฮงยองเอ หรือแม่ของเธอนั่นเอง
พอลองมาคิดตามดูแล้ว ถ้าคำเตือนของแม่หมอเป็นเรื่องจริง พัคยอนจินก็ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คนที่มีดวงเป็นปรปักษ์กับเธอมาโดยตลอด และแม่ผู้มีตัวอักษรอีอึมในชื่อมากที่สุด และเป็นคนที่เลี้ยงดูเธอมาอย่างผิด ๆ พร้อมกับทอดทิ้งเธอไปในตอนท้าย ก็เป็นคนที่นำพาเธอไปสู่หายนะมาตั้งแต่ต้น แล้วชีวิตของเธอก็ล่มจมสมดังคำทำนายจริง ๆ
ซีรีส์ยังทำให้เราฉุกใจสงสัยถึงความศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิชาแมนอยู่ต่ออีกเนือง ๆ อย่างฉากของตำรวจที่เป็นคนช่วยให้พัคยอนจินกับแม่รอดพ้นจากความผิดมาตลอด ในฉากนั้นหมอผีได้ส่งผู้หญิงคนหนึ่งให้มานอนกับตำรวจเพื่อล้างเคราะห์ และสลัดลางร้าย แต่ตำรวจคนนั้นก็ไม่เชื่อ อีกทั้งเขายังตัดเครื่องรางที่แม่หมอมอบไว้ให้เขาเพื่อป้องกันตัวทิ้งอีก ซึ่งหลังจากที่เขาทำสิ่งเหล่านี้ สุดท้ายก็พบกับเคราะห์ร้ายและเสียชีวิตอย่างน่าอนาถ
ซีรีส์ยังกระตุ้นความเชื่อเรื่องลัทธิชาแมนให้ขมวดเข้ามาและเข้มข้นยิ่งขึ้น เมื่อมาถึงฉากที่มุนดงอึนจ้างให้หมอผีแกล้งผีเข้าเพื่อพูดถึงเรื่องราวของยุนโซฮี หนึ่งในตัวละครสำคัญที่พัคยอนจินเป็นคนฆ่า เพื่อขู่ให้พัคยอนจินสติแตก แต่เรื่องราวกับตาลปัตร เมื่อท่าทางของแม่หมอกลับเหมือนคนโดนผีเข้าจริง ๆ เพราะมีการพูดถึงรายละเอียดเรื่องเสื้อผ้าและการเผา ซึ่งเป็นสิ่งที่มุนดงอึนไม่ได้เห็นด้วยตัวเอง และไม่มีใครรู้รายละเอียดเรื่องนี้นอกจากพัคยอนจินกับยุนโซฮีเท่านั้น สังเกตได้จากอาการตกใจของมุนดงอึน ที่ไม่คิดว่าแม่หมอจะพูดเรื่องนี้ขึ้นมา และเมื่อแม่หมอพยายามขับไล่วิญญาณของยุนโซฮี ก็เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตไป ก่อนที่ภาพจะตัดไปที่แม่ของพัคยอนจินที่นอนราวกับคนตาย และมียันต์หรือเครื่องรางบางอย่างลอยมาแปะกลางหน้าผาก
ถ้าเราลองวิเคราะห์กันไปทีละอย่าง ในฉากที่แม่หมอเสียชีวิต ได้มีคำอธิบายภาษาเกาหลีขึ้นมาว่า ‘벌전’ หรือ ‘พยอลจอน’ หมายถึงการลงโทษของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ในลัทธิชาแมนของเกาหลีเชื่อว่าหมอผีต้องใช้พลังเพื่อสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น ไม่อย่างนั้นจะถูกวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ลงโทษถึงตาย ส่วนยันต์ที่ลอยลงมาแปะกลางหน้าผากนั้น สามารถแปลเป็นภาษาเกาหลีได้ว่า ‘서방경신 백호신장’ หรือ ‘เทพเจ้าเสือขาวศักดิ์สิทธิ์ ผู้พิทักษ์แห่งทิศตะวันตก’ ตามความเชื่อของคนเกาหลี เสือ คือสัตว์เทพประจำทิศตะวันตก เป็นตัวแทนของอำนาจบารมี เป็นเทพเจ้าแห่งศึกสงครามและการล่าสังหาร อีกทั้งยังสามารถขับไล่ภูติผีปีศาจและวิญญาณร้ายได้อีกด้วย การที่ยันต์ที่เขียนชื่อของเทพเจ้าเสือขาวร่วงลงมาใส่หน้าของฮงยองเอ แม่ของพัคฮีจิน จึงอาจจะสื่อเป็นลางร้ายว่า ฮงยองเอคือคนต่อไปที่จะต้องพบกับความวิบัติ
หลังจากเก็บตกฉากเกี่ยวกับลัทธิชาแมนที่กระจายอยู่ตามตอนต่าง ๆ ทั้ง 16 ตอน แล้วเอามาวิเคราะห์รวมกันดูแบบนี้ ก็พบว่าความเชื่อเรื่องนี้ได้สอดแทรกอยู่ในเรื่องเยอะมาก พอ ๆ กับความเชื่อทางศาสนาคริสต์เลยทีเดียว อีกทั้งยังมีผลต่อการดำเนินเรื่องด้วย ถ้าสมมติว่าในเรื่องนี้ แม่หมอในลัทธิชาแมนมีอิทธิฤทธิ์อยู่จริง บางทีสาเหตุที่มุนดงอึนรู้สึกเหมือนยุนโซฮีคอยอยู่เคียงข้างและปลอบประโลมเธอเสมอมา อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เธอคิดไปเอง แต่วิญญาณของเธออาจจะคอยเฝ้าเอาใจช่วยเธออยู่จริง ๆ เหมือนกับร่างของเธอที่ยังไม่สูญสลายไปไหน และถูกแช่แข็งไว้เพื่อรอวันเปิดเปิดโปงความจริง
อย่างไรก็ตามถ้าเราลองตีความขึ้นไปอีกขั้นถึงระบบโครงสร้างสังคม บางทีการนำเสนอเรื่องเรื่องศาสนาคริสต์กับความเชื่อเรื่องผี และการล่มสลายของกลุ่มคนที่ใช้ความเชื่อเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ ภายในเรื่อง The Glory อาจสะท้อนภาพความพังของสังคมเกาหลีที่เต็มไปด้วยความเชื่อต่าง ๆ มากมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางอำนาจ และหล่อหลอมสภาพสังคมในปัจจุบันให้เต็มไปด้วยการกดขี่คนที่ด้อยกว่า พร้อมทั้งเต็มไปด้วยความกดดันที่ผู้คนทุกชนชั้นต้องแบกรับ จนมีคำที่คนรุ่นใหม่ในเกาหลี ใช้เรียกประเทศของตัวเองว่า ‘นรกโชซอน’ โดยโชซอน คือชื่อของประเทศเกาหลีใต้ในสมัยก่อน เป็นยุคที่เต็มไปด้วยระบบชนชั้นวรรณะ ฉ้อราษฎร์บังหลวง นรกโชซอนในที่นี้จึงคล้ายกับสุภาษิตไทยว่า ‘ถอยหลังลงคลอง’ ที่ล้าหลังลงไปเรื่อย ๆ
นอกจากนี้คำว่า ‘นรกโชซอน’ ยังเริ่มเป็นที่พูดถึงในช่วงปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนชาวเกาหลีใต้ออกมาประท้วงประธานาธิบดีหญิงคนแรกอย่าง ‘พัคกึนฮเย’ ที่มีส่วนพัวพันกับลัทธิหมอผีนอกรีต ที่เข้ามาควบคุมชักใยผู้มีอำนาจ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจบริหารประเทศ รวมไปถึงเป็นคนชักจูงให้ประธานาธิบดีตัดสินใจผิดพลาดในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเรือเซวอลด้วย ทำให้เห็นเลยว่าอำนาจของความเชื่อเคยควบคุมระดับผู้นำสูงสุดของเกาหลีใต้ไว้ได้ ผู้เขียนจึงมองว่าการที่ The Glory แสดงให้เห็นถึงการพังทลายของครอบครัวซาร่ากับครอบครัวของพัคยอนจิน ที่เชื่อมโยงอยู่กับสองสถาบันทางศาสนาอย่างโบสถ์และสำนักหมอผี และอาศัยอำนาจจากทั้งสองความเชื่อนั้นมาอุ้มชูตัวเองให้สุขสบายด้วยน้ำมือของมุนดงอึน ตัวแทนชนชั้นล่างสุดของสังคม (ในฐานะผู้หญิง ยากจน และเป็นชนชั้นแรงงาน) ก็อาจจะเป็นเหมือนประกายความหวังที่ทีมงานได้ใส่เอาไว้ในตัวละครมุนดงอึน เพื่อเป็นภาพแทนของคนชนชั้นล่าง ที่สักวันหนึ่งจะสามารถล้มระบบความเชื่อเหล่านั้น และพาประเทศหลุดออกจากนรกโชซอนอย่างถาวรให้ได้
ทั้งหมดนี้จึงถือว่าเป็นบทสรุปของลัทธิชาแมน ที่ชวนให้เรารู้สึกตลกร้ายอยู่บ้าง เพราะในขณะที่มุนดงอึนหมดศรัทธาในพระเจ้าไปแล้ว แต่กลับได้พบเจอเรื่องอัศจรรย์จากสิ่งที่ดูเป็นศาสนานอกรีตในมุมมองของศาสนาคริสต์ อีกทั้งยังเป็นความเชื่อที่คอยปกป้องฝั่งพัคยอนจินมาโดยตลอดอีกด้วย ถึงแม้ในท้ายที่สุดแล้วจะไม่มีการยืนยันถึงอภินิหารของแม่หมอและลัทธินี้ว่าเป็นเรื่องจริง หรือเป็นเพียงการต้มตุ๋นอีกฉากหนึ่ง แต่ทั้งหมดนี้ก็ทำให้เรานึกถึงคำพูดของมุนดงอึน ที่พูดถึงการ “การแทรกแซงจากพระเจ้า” ไว้ในตอนจบว่า “เมื่อฤดูใบไม้ผลิผ่านไป 18 ครั้ง ฉันถึงเพิ่งเข้าใจค่ะ ฉันเองก็มีผู้ใหญ่ที่ดีอยู่รอบตัว รวมถึงเพื่อ อากาศ และการแทรกแซงของพระเจ้าด้วย” ถึงแม้จะไม่รู้ว่าพระเจ้าในที่นี้จะหมายถึงพระเจ้าคนไหน แต่ก็ทำให้เราเห็นถึงความเชื่ออีกเส้นทางหนึ่งของคนเกาหลี ที่ผสมปนเปอยู่กับศาสนาอื่น ๆ ภายในเรื่อง The Glory ที่คนเขียนบทสามารถผูกปมทุกอย่างให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันไปหมด กระทั่งฉากเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สอดแทรกมาเป็นระยะ ๆ ก็ยังนำพาเรามาสู่ซีนใหญ่ที่เป็นจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างแยบยล
อ้างอิงจากเว็บไซต์
https://news.nate.com/view/20230314n33507?mid=e1200
http://isas.arts.su.ac.th/wp-content/uploads/2558/musicdrama/05550650.pdf
https://www.logically.ai/factchecks/library/ef285fb7