“ทำไมถึงเลือกใช้ตุ๊กตาลิง?” คำถามที่เกิดขึ้นหลังจากดูหนังเรื่อง ‘The Monkey’ ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของราชานวนิยายสยองขวัญอย่าง ‘สตีเฟน คิง’ จบ เพราะหากมองย้อนกลับไป ลิงมักจะถูกเล่าเป็นตัวแทนของความไม่นิ่ง ลิงโลด และมักจะถูกเร้าด้วยกิเลสและสัญชาตญาณดิบอยู่เสมอ หรือในแง่วรรณกรรมและตำนานอย่างราชาวานร ที่ลิงมักจะถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนแห่งการท้าทายและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใด ๆ
The Monkey เป็นเรื่องสั้นแนวสยองขวัญที่แต่งขึ้นโดยสตีเฟน คิง ในปี 1980 และถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อีกครั้งในปี 2025 โดยบอกเล่าเรื่องราวของ ‘ฮาล เชลเบิร์น’ ชายผู้ถูกหลอกหลอนด้วยตุ๊กตาลิงไขลานที่ดูเหมือนจะนำความตายและความโชคร้ายมาให้เมื่อมันตีฉาบ ซึ่งแม้ว่าจะพยายามฝังหรือทำลายมันก็ยังสามารถกลับมาได้เสมอ
แม้ภาพเบื้องหน้าของ The Monkey และเจ้าตุ๊กตาลิงไขลานจะนำเสนอความสยองแบบเลือดสาดมากแค่ไหน แต่เบื้องลึกเบื้องหลังกลับซ่อนความกลัวและความปรารถนาบางอย่างที่ถูกกดทับอยู่ในจิตใต้สำนึกเอาไว้ ทั้งของตัวละคร ตุ๊กตาลิง หรือแม้แต่ตัวของสตีเฟน คิงเองก็ตาม

‘Monsters from the Id’ สัตว์ประหลาดแห่งความปรารถนาที่ถูกกดขี่
‘Monsters from the Id’ หนึ่งในวลีที่มักถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายแนวคิดในการวิเคราะห์ภาพยนตร์ ในยุค 1950 โดยเฉพาะในภาพยนตร์แนวนิยายวิทยาศาสตร์ ที่มักจะมี ‘สัตว์ประหลาด’ ปรากฏตัวบนหน้าจออยู่เสมอ เพราะหากมองย้อนไปสัตว์ประหลาดในเรื่องมักจะถูกมองว่าเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของความกลัวและความวิตกกังวลในจิตใต้สำนึกของสภาวะสังคมในช่วงเวลานั้น โดยวลีนี้ได้รับความนิยมขึ้นมาจากภาพยนตร์เรื่อง Forbidden Planet (1956) ภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ที่ดัดแปลงมาจากเรื่อง The Tempest ของเชกสเปียร์
Monsters from the Id ถูกพัฒนาโดยได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิดเรื่อง ‘Id’ ของ ‘ซิกมันด์ ฟรอยด์’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีบุคลิกภาพของมนุษย์ที่ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนโดย Id หมายถึงจิตไร้สำนึก Ego คือ อัตตา และ Supergo คือ อภิอัตตาหรือส่วนที่คิดถึงศีลธรรมและจรรยาบรรณ เพราะฉะนั้น Monsters from the Id จึงหมายถึงความกลัวหรือความปรารถนาที่ถูกกดขี่อยู่นั้นได้หลุดพ้นจากจิตใต้สำนึกและขึ้นมาก่อความหายนะ
เช่นเดียวกันกับ The Monkey ที่ตุ๊กตาลิงชั่วร้ายนั้นได้ออกมาแสดงความหายนะและความสยองโดยที่เหยื่อไม่สามารถคาดเดาได้ เป็นดั่งสัญลักษณ์ของความกลัวที่ฝังลึก กลายเป็นความเจ็บปวดที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และแสดงออกมาในลักษณะของสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้

‘ลิง’ ตัวแทนทางกายภาพของ Id
ใน The Monkey ฮาล เชลเบิร์นตัวเอกของเรื่อง ได้ค้นพบตุ๊กตาลิงเป็นครั้งแรกในช่วงวัยเด็ก ซึ่งเขาค้นพบว่าทุกครั้งที่มันตีฉาบมักจะมีคนตายด้วยพลังเหนือธรรมชาติของตุ๊กตาลิง ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นการขยายความกลัวที่ถูกเก็บกดและความเจ็บปวดในอดีตของฮาล และมักจะกลับมาหลอกหลอนฮาลในวัยผู้ใหญ่อยู่เสมอ
นอกจากนั้นแล้วเหยื่อหรือเหตุการณ์ความสยองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบที่แน่นอนหรือตายตัว กลายเป็นการตอกย้ำความคิดที่ว่าการสังหารหรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นนั้นเกิดมาจากความไร้เหตุผลและควบคุมไม่ได้เช่นกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างฮาลกับตุ๊กตาลิงนั้น จริง ๆ แล้วมีการเชื่อมโยงกันมากกว่าที่คิด ทั้งความทรงจำหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็กของเขาเอง ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าความสยองขวัญที่ตุ๊กตาลิงก่อขึ้นนั้นได้เชื่อมโยงกับความเจ็บปวดในอดีต เช่นเดียวกับทฤษฎีของฟรอยด์ ที่มักจะบอกว่าความกลัวหรือความปรารถนาในจิตใต้สำนึกที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนั้นมักจะกลับขึ้นมาอีกครั้งในแบบที่ไม่รู้ตัวและน่ากังวลมากกว่าเดิม
เช่น ในช่วงวัยเด็กที่ฮาลพยายามจะกำจัดตุ๊กตาลิง แต่มันก็โผล่มาอีกครั้งในช่วงวัยผู้ใหญ่ของเขา ซึ่งคล้ายกับความทรงจำที่ถูกเก็บกดที่บังคับให้กลับคืนสู่จิตสำนึก หรือจะเป็นการมีอยู่ของตุ๊กตาลิงที่รบกวนชีวิตครอบครัวของฮาล แสดงให้เห็นว่าบาดแผลในวัยเด็กที่หากไม่ได้รับการแก้ไขอาจคุกคามความมั่นคงและความสัมพันธ์ในอนาคตได้
แม้ The Monkey จะไม่ได้มีการเฉลยหรือเล่าที่มาของตุ๊กตาลิงอย่างชัดเจน แต่ทั้งในแง่สัญญะหรือทฤษฎีของฟรอยด์ อาจแสดงให้เห็นได้ว่าความน่ากลัวเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาอย่างลึกซึ้ง ตุ๊กตาลิงกลายเป็นตัวแทนของจิตใต้สำนึกที่คาดเดาไม่ได้ จนกลายเป็นอดีตไม่เคยถูกฝังและแก้ไข ซึ่งอาจจะสะท้อนได้ว่าสัตว์ประหลาดตัวจริงมักจะอยู่ในตัวเรา
อ้างอิง
Audrey M. Wozniak, Forging a Lineage: Kinship, Mobility, and the Zildjian Cymbal, Journal of the Society for American Music, 10.1017/S1752196324000245, (1-28), (2024).
E. Michael Jones. Monsters From The Id: The Rise Of Horror In Fiction And Film. Spence Publishing Company, 2000
Monsters from the Id: On “Forbidden Planet” (1956) – Arena. Arena.org.au. Published 2019. Accessed March 5, 2025. https://arena.org.au/monsters-from-the-id/