3 สัญลักษณ์การต่อสู้กับ ‘อำนาจ’ ที่สะท้อนผ่านฉากสำคัญในซีรีส์ The Tyrant

Post on 21 August

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญในซีรีส์

คนเหนือมนุษย์ การต่อสู้ของหน่วยข่าวกรอง และการตามล่าหาไวรัสที่หายไป แค่เกริ่นสามองค์ประกอบนี้มาก็น่าจะการันตีได้กลาย ๆ แล้วว่าซีรีส์เรื่อง ‘The Tyrant’ ที่ออกฉายใน Disney+ Hotstar ณ ขณะนี้ จะต้องตกคนดูได้อย่างแน่นอน ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับนักแสดงนำระดับแม่เหล็กแบบ ‘คิมซอนโฮ’ ที่หวนกลับสู่จอทีวีอีกครั้งในรอบสามปี แถมยังโคจรมาเจอกับซูเปอร์สตาร์ดาวค้างฟ้ารุ่นพี่อย่าง ‘ชาซึงวอน’ ก็ทำเอาคนบ่นกันอุบว่าวัตถุดิบดีทั้งบทและนักแสดงขนาดนี้พี่ปล่อยมาแค่สี่ตอนมันจะไปพออะไร๊!?

แต่หลังจากที่เราดูจนจบ (ยิงยาวสี่ตอนรวดเพราะลุ้นเกิน) ก็ต้องบอกว่าปริมาณสี่ตอนที่ทำออกมาถือว่ากำลังพอดีมาก ๆ เพราะผู้กำกับอย่าง พัคฮุนจอง (ผู้กำกับ New World และ The Witch: Part 1) เขาได้วางโครงเรื่องมาให้เราเห็นภาพอย่างชัดเจน ทั้งส่วนของนักฆ่า ภาครัฐบาล และการห้ำหั่นชิงไหวชิงพริบกันในตอนท้าย ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการผูกปมเรื่องแบบต่างคนต่างมา ไร้ความเชื่อมโยง จนแทบจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรจะจับจุดเนื้อหาจากตรงไหน แต่ในท้ายที่สุดกลับทำให้เราขนลุกได้เมื่อความจริงเปิดเผย เรียกได้ว่าถ้าใครดูจบแล้วจะต้องถูกใจกับการแสดงของคิมซอนโฮมาก ๆ อย่างแน่นอน

และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้เราอยากเม้ามอยกับทุกคนต่อในบทความนี้ ก็คือภาพสะท้อนของการท้าทายอำนาจจาก ‘ยักษ์เล็ก’ ถึง ‘ยักษ์ใหญ่’ หรือ ‘เกาหลีใต้’ ถึง ‘อเมริกา’ ที่ซ่อนนัยอยู่ในการต่อสู้แย่งชิงไวรัส ‘Tyrant’ ซึ่งนอกจากฉากเหล่านั้นจะแสดงให้เราเห็นการจิกกัดล้อเลียนฉายาตำรวจโลกของอเมริกาอย่างการตั้งคำถามว่า ทำไมอเมริกา (หรือมหาอำนาจอื่น ๆ ) ทำได้ พอเกาหลีใต้จะทำบ้างกลับเป็นเรื่องผิด? มันก็ยังทำให้เราแอบคิดต่อไปไกลกว่านั้นด้วยว่า หรือนั่นจะเป็นภาพความทะเยอทะยานและฝันครั้งใหม่ของเกาหลีใต้ ที่กำลังส่งสัญญาณใหม่ออกมาว่า ตัวเองก็พร้อมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในโลกร่วมสมัยอีกประเทศหนึ่งด้วยเหมือนกัน…

ไวรัส ‘Tyrant’ สัญลักษณ์การคัดคานอำนาจระหว่างเกาหลีใต้กับกับอเมริกา

การตั้งชื่อเรื่องว่า ‘The Tyrant’ ที่แปลตรงตัวว่า ‘ทรราช’ น่าจะไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญ แต่น่าจะมีความหมายแฝงที่สื่อถึงการต่อต้านประเทศอเมริกา ที่มีภาพลักษณ์เป็นประเทศประชาธิปไตย

ใน The Tyrant สามารถแบ่งตัวละครออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ ฝ่ายทรราช แช จาคยอง (รับบทโดย โจยุนซู) เด็กสาวที่โตขึ้นมาในสังคมนักฆ่า ปากกัดตีนถีบ ลึกลับ ป่วยเป็นโรคสองบุคลิก และเป็นคนที่ได้ครอบครองไวรัส Tyrant ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อกลายเป็นยอดมนุษย์ที่มีพลังเหนือกว่ามนุษย์ทั่วไป และเหนือกว่าทุกโครงการทดลองในมนุษย์ แม้กระทั่งโครงการ ‘super soldier’ ของอเมริกา

ฝ่ายชาตินิยมอย่าง ผอ.ชเว (รับบทโดย คิมซอนโฮ) ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองที่อายุน้อยที่สุดของเกาหลีใต้ เขาและอิมซัง (รับบทโดย ชาซึงวอน) นักฆ่าลึกลับที่ร่วมมือกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกาหลีใต้จากอิทธิพลต่างชาติ โดยเฉพาะจากอเมริกา

และฝ่ายสุดท้ายคือฝ่ายอเมริกันหัวดำ (คำที่ผอ.ชเวใช้เรียกคนเกาหลีใต้โปรอเมริกา) ก็คือ พอล (คิมคังอู) หน่วยข่าวกรองจากสหรัฐอเมริกาและ เจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ซึ่งทำงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกาในเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อเราแบ่งฝ่ายได้แบบนี้ ก็จะเห็นได้เลยว่าการแย่งชิงอำนาจใน The Tyrant ไม่ใช่แค่การต่อสู้ของหนังแอคชันแฟนตาซีทั่วไป แต่เป็นเหมือนภาพแทนของขั้วอำนาจทางการเมืองต่าง ๆ ในประเทศเกาหลีใต้ด้วย

ประเด็นสำคัญในซีรีส์นี้คือความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลี จนถึงปัจจุบันที่อเมริกายังคงมีฐานทัพในเกาหลีใต้ แม้ว่าอเมริกาจะสนับสนุนเกาหลีใต้ในหลายด้าน แต่ก็ทำให้เกาหลีใต้รู้สึกว่าตนเองอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เกาหลีใต้ไม่ต้องการแสดงให้โลกเห็นอีกต่อไป

ไวรัส Tyrant จึงเป็นตัวแปรสำคัญในเรื่อง ที่เข้ามาเปลี่ยนดุลอำนาจระหว่างฝ่ายชาตินิยมและฝ่ายอเมริกัน ไวรัสนี้ไม่เพียงแต่เป็นอาวุธที่ทำให้เกาหลีใต้อาจก้าวขึ้นมาทัดเทียมหรือเหนือกว่ามหาอำนาจอื่น ๆ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความหวังที่เกาหลีใต้จะสามารถพาตนเองขึ้นไปสู่จุดที่มีอำนาจเทียบเท่าหรือเหนือกว่าอเมริกาในอนาคต

การโต้กลับของ ‘ผู้หญิง’ กับภาพแทนการท้าทายอำนาจจากดินแดนตะวันออก

ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 19 ชาติตะวันตกมักมองชาติตะวันออกว่าเป็นชนชาติที่ล้าหลัง ป่าเถื่อน และมักเชื่อมโยงตะวันออกกับความเป็นหญิงที่อ่อนแอ ควรได้รับการปกป้อง ในขณะที่ชาติตะวันตกมองว่าตัวเองมีความเป็นชาย แข็งแกร่ง เป็นผู้นำ และมีอำนาจเหนือกว่า ความสัมพันธ์นี้ยังคงปรากฏในยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกาและเกาหลีใต้ ที่อเมริกามักจะอยู่ในบทบาทของผู้นำและผู้ปกป้อง

ผู้หญิงแบบ ‘แช จาคยอง ’ จึงอาจจะเป็นภาพแทนของเกาหลีที่ต้องการต่อต้านอเมริกา เพราะด้วยความแข็งแกร่งเหนือความคาดหมาย บวกกับสามารถครอบครองไวรัส Tyrant และกลายเป็นสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์อย่างสมบูรณ์แบบได้ ทำให้เรามองเห็นภาพของเกาหลีใต้ ชาติตะวันออกที่ต้องการลุกขึ้นมาโต้กลับชาติตะวันตก

หากสังเกตเราจะเห็นเลยว่า จาคยอง ผู้ครอบครองไวรัส Tyrant มีลักษณะนิสัยสอดคล้องกับมายาคติที่ว่านั้นอยู่ เช่น การไม่เกรงกลัวกฎหมาย ล้าหลัง และป่าเถื่อน แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปในซีรีส์เรื่องนี้คือ เธอไม่ใช่ผู้ตามอีกต่อไป แต่เป็นสัญลักษณ์ของการโต้กลับของชาติตะวันออกที่แข็งแกร่งและทัดเทียมกับตะวันตก

ในตอนท้ายของเรื่อง จาคยองที่ได้รับไวรัส Tyrant ไปต่อสู้กับตัวละครอเมริกันจากโปรเจกต์ super soldier และสามารถเอาชนะได้ ชัยชนะนี้เน้นย้ำว่า Tyrant ไม่เพียงเป็นเครื่องมือของชาวตะวันออก แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังและความฝันในการเอาชนะชาติตะวันตกได้อย่างสมศักดิ์ศรี

การปรากฏตัวของโพรมีธีอุสคนใหม่ผู้ขโมย ‘ไวรัส’ จากพระเจ้า

‘ผอ.ชเว’ คือตัวละครที่ทำให้เรานึกถึง ‘โพรมีธีอุส’ ไททันผู้ขโมยไฟจากเทพซูส (Zeus) เทพเจ้าสูงสุดของยอดเขาโอลิมปัส และมอบไฟนั้นให้แก่มนุษย์ ทำให้มนุษย์สามารถทำอาหาร สร้างเครื่องมือ และพัฒนาวัฒนธรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องร้องขอจากพระเจ้าทั้งหมด ซึ่งสำหรับซีรีส์เรื่อง The Tyrant ไฟจากพระเจ้าในที่นี้ก็คือ ‘ไวรัส’ เพราะในยุคที่คนสู้กันด้วยเทคโนโลยี ใครที่เป็นฝ่ายครอบครองวิทยาการอันล้ำหน้ามากที่สุดก็จะเป็นคนที่กุมอำนาจไว้ในมือ

ดังนั้น การที่โพรมีธีอุสคนใหม่อย่าง ‘ผอ.ชเว’ ได้เก็บซ่อนไพ่ตายชิ้นนี้เอาไว้ ไม่ยอมมอบมันให้กับพระเจ้าซึ่งก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘อเมริกา’ ที่มองว่าประเทศเล็ก ๆ แบบเกาหลีใต้ไม่สามารถควบคุมพลังอำนาจของไวรัส Tyrant ได้ ก็หมายความว่าเขากล้าที่จะท้าทายอำนาจของพระเจ้า เพื่อนำพาเกาหลีใต้ให้ก้าวขึ้นมามีอำนาจทัดเทียมกับพระเจ้าได้ในสักวันหนึ่ง