270250368_503233871319992_5212673232789626802_n.jpeg

‘ปฐมกาลภาพยนตร์ในสยาม’ นิทรรศการที่ชวนเราย้อนกลับไปสำรวจจุดเริ่มต้นเมื่อแรกมี ‘ภาพยนตร์’ ในประเทศไทย

Post on 2 May

ในบรรดาศิลปะทั้ง 7 แขนง ‘ภาพยนตร์’ น่าจะเป็นแขนงศิลปะที่เราคุ้นเคยและได้รับชมกันมากที่สุด ยิ่งในวิถีชีวิตปัจจุบัน ก็ยิ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพยนตร์ได้ผสานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา จากยุคที่ต้องเดินเข้าโรงภาพยนตร์เพื่อไปดูหนังสักเรื่องในโรงห้องมืด ๆ สู่ยุคที่เพียงคลิกเดียวก็สามารถเข้าถึงหนังได้นับพันเรื่องจากโซฟาที่บ้าน เป็นศิลปะที่ทั้งพาเราหลีกหนีออกจากชีวิตประจำวัน หรือในบางครั้งก็พาเราเข้าใกล้บางแง่มุมของ ‘ชีวิต’ อย่างที่ประสบการณ์ในชีวิตจริงก็อาจไม่สามารถมอบให้เราได้เช่นนั้น

เมื่อภาพยนตร์มีบทบาทต่อชีวิตและประสบการณ์ของเรามากขนาดนั้น แล้วเราเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า เราเริ่มเข้าไปสำรวจโลกอีกใบผ่าน ‘ภาพยนตร์’ กันตั้งแต่เมื่อใด?

ในประเทศไทย การวันที่ 10 มิถุนายนของทุกปีถูกตั้งให้เป็น ‘วันกำเนิดภาพยนตร์ในประเทศไทย’ โดยหอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน) นั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่อ้างอิงมาจากหลักฐานในหน้าหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ฉบับวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2440 ที่ลงประกาศว่าจะมีการจัดฉายภาพยนตร์พร้อมเก็บค่าเข้าชมในวันดังกล่าว เมื่อยังไม่มีการค้นพบว่ามีการจัดฉายหนังเก็บค่าดูจากสาธารณชนในสยามก่อนหน้านี้ การฉายหนังครั้งนั้นจึงเป็นครั้งแรก และได้ถือเป็นวันที่มหรสพภาพยนตร์เกิดขึ้นในสยามอย่างเป็นทางการ 

วันเกิดภาพยนตร์ในประเทศไทยได้ถูกเฉลิมฉลองเรื่อยมาที่หอภาพยนตร์ ศาลายา กระทั่งในวาระ 124 ปีภาพยนตร์ไทยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ก็ได้เฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้เป็นการพิเศษ ด้วยการจัดนิทรรศการอินสตอลเลชันและวิดีโออาร์ตในชื่อว่า ‘ปฐมกาลภาพยนตร์ในสยาม (Genesis: Video installations inspired by the birth of cinema in Siam)’ ซึ่งความน่าสนใจของนิทรรศการนี้ก็คือการชวนศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่มาช่วยกันตีความบอกเล่าจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยผ่านงานศิลปะสื่อผสม ซึ่งทำให้เราได้ไปซึมซับรับรู้เรื่องราวเมื่อแรกมีภาพยนตร์ในสยามประเทศผ่าน ‘การเล่าเรื่อง’ (Narrative) ใหม่ ที่อาจทำให้เราได้ทำความเข้าใจต้นกำเนิดของภาพยนตร์ในสยามที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าประวัติศาสตร์บนหน้ากระดาษ แต่เสมือนได้ ‘รับรู้’ และ ‘รู้สึก’ เรื่องราวของรุ่งอรุณแห่งภาพยนตร์ไทยในยุคนั้น

นิทรรศการปฐมกาลภาพยนตร์ในสยามจัดแสดงงานวิดีโอจัดวางที่สร้างสรรค์โดย 5 ศิลปินรุ่นใหม่ ซึ่งได้รับโจทย์ให้ถ่ายทอดเรื่องราววันกำเนิดภาพยนตร์ในสยามผ่านมุมมองแนวคิดของตน แล้วพวกเขาจะตีความรุ่งอรุณของภาพยนตร์ไทยอย่างไรบ้างนั้น? ตามไปดูกันเลย!

เริ่มต้นเส้นทางเข้าชมด้วยการจัดแสดงจากหอภาพยนตร์ เป็นการโหมโรงและเกริ่นนำผู้ชมด้วยข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวันกำเนิดภาพยนตร์ให้ได้ทราบที่มาที่ไป พื้นหลังและภาพรวม หลักฐานที่ค้นพบ ตลอดจนการประกอบสร้างข้อมูลเหล่านั้นขึ้นเป็นโมเดล จำลองบรรยากาศของการฉายหนังครั้งแรกเพื่อให้ผู้เข้าชมเห็นภาพยิ่งขึ้น ก่อนที่จะเดินเข้าไปรับชมประวัติศาสตร์ตรความใหม่ในโซนสำหรับจัดแสดงงานวิดีโอจัดวางของ 5 ศิลปิน

ที่ระลึก / Recollective Space
ศิลปิน: ณัท เศรษฐ์ธนา

การเข้ามาของประดิษฐกรรมภาพยนตร์ล้วนเกี่ยวพันกับการเดินทาง ประเด็นนี้ถูกตกตะกอนอยู่ในงานวิดีโอจัดวางของศิลปิน โดยเขาได้นำภาพยนตร์เรื่อง A Trip to the Moon (1902) กับภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรปที่สวีเดน (1897) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางเหมือนกันมาผสมผสานเข้าด้วยกัน และฉายหนังทั้งสองเรื่องเข้าไปยังอุปกรณ์พิเศษที่สร้างขึ้น จนเกิดการซ้อนทับของเศษภาพและกระจายตัวของฟุตเทจเต็มผืนผนัง ปล่อยให้ผู้เข้าชมทำหน้าที่รวบรวมปะติดปะต่อเศษชิ้นส่วนเหล่านั้นและทําความเข้าใจเสี้ยวของประวัติศาสตร์ในแบบของตนเอง

ที่ระลึก / Recollective Space
ศิลปิน: ณัท เศรษฐ์ธนา

การเข้ามาของประดิษฐกรรมภาพยนตร์ล้วนเกี่ยวพันกับการเดินทาง ประเด็นนี้ถูกตกตะกอนอยู่ในงานวิดีโอจัดวางของศิลปิน โดยเขาได้นำภาพยนตร์เรื่อง A Trip to the Moon (1902) กับภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรปที่สวีเดน (1897) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางเหมือนกันมาผสมผสานเข้าด้วยกัน และฉายหนังทั้งสองเรื่องเข้าไปยังอุปกรณ์พิเศษที่สร้างขึ้น จนเกิดการซ้อนทับของเศษภาพและกระจายตัวของฟุตเทจเต็มผืนผนัง ปล่อยให้ผู้เข้าชมทำหน้าที่รวบรวมปะติดปะต่อเศษชิ้นส่วนเหล่านั้นและทําความเข้าใจเสี้ยวของประวัติศาสตร์ในแบบของตนเอง

ชีวิตหมุนไป / Rolling Life
ศิลปิน: ThaDa lab

งานที่ตั้งใจนำฟิล์มมาใช้เป็นพระเอกในการจัดแสดง เพื่อรำลึกถึงกำเนิดของภาพยนตร์ที่เริ่มต้นจากแผ่นฟิล์ม ศิลปินเลือกใช้ฟิล์มถ่ายรูป 120 ซึ่งมีขนาดเพียง 6 x 4.5 ซม. มาทำหน้าที่ทั้งแสดงภาพและรับภาพ ทำให้เสน่ห์อย่างหนึ่งในการชมผลงานชิ้นนี้ก็คือ ผู้ชมต้องเข้ามาดูผลงานใกล้ ๆ คล้ายกับการดูหนังในยุคแรกเริ่มแบบถ้ำมองที่ผู้ชมต้องส่องดูผ่านช่องทีละคน เนื้อหาเรื่องราวจะถูกเล่าผ่านแอนิเมชัน ๒ มิติที่มาปรากฏตัวอยู่บนแผ่นฟิล์ม ประกอบเสียงบรรยายของ โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์และเป็นผู้ที่ค้นพบหลักฐานการฉายหนังครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2440 โดย ธวัชชัย ดวงนภา หนึ่งในศิลปินคู่ในนาม ThaDa lab ได้ขยายความถึงผลงานของพวกเขาว่า “เหตุผลที่อยากผูก ๒ อย่างเข้าด้วยกันคือตัวแอนิเมชันที่เราวาดทุกอย่างเป็น Frame-by-Frame เหมือนกับหลักคิดของการถ่ายทำภาพยนตร์ที่เป็น Frame-by-Frame เหมือนกัน”

สะเก็ดประกาย / Spark From the Past
ศิลปิน: อชิตพนธ์ เพียรสุขประเสริฐ

งานที่ค้นหาความเชื่อมโยงกันของความรู้ ผ่านวัตถุและหลักฐานที่จับต้องได้ รวมถึงตัวสถาบันที่เป็นผู้ค้นคว้ารวบรวมและตีแผ่องค์ความรู้อย่างหอภาพยนตร์ ศิลปินได้อุปมาการอ่านองค์ประกอบเหล่านี้กับการ “ปักหมุด” โดยเลือกแขวนจอภาพยนตร์ไว้เป็นศูนย์กลางของงานจัดแสดงเพื่อรับแสงจากโปรเจ็กเตอร์ที่ฉายเข้ามาจากทั้งสองด้าน จอด้านหนึ่งปักเข็มหมุดที่เต็มไปด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์กระจายอยู่ทั่วทั้งผืน อีกด้านจึงเห็นปลายแหลมของหมุดที่ทะลุผ่านฝั่งเข้ามาและถูกตกกระทบโดยแสงจากโปรเจ็กเตอร์ อชิตพนธ์เปรียบจุดเล็ก ๆ ของข้อมูลความรู้กับสะเก็ดหมุดที่กระจัดกระจาย เมื่อผ่านการประกอบสร้างและตีความ ก็จุดประกายให้เกิดความรู้ใหม่แผ่ขยายไม่สิ้นสุด

แสงมัวบอด / Blinded by the Light
ศิลปิน: ชนสรณ์ ชัยกิตติภรณ์

ศิลปินได้ตั้งคำถามว่าหลังจากวันแรกของภาพยนตร์ที่ถูกฉายนั้น ภาพยนตร์ได้กลายเป็นอะไร และถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง ตั้งแต่วันที่แสงจากจอภาพยนตร์กระทบกับตาของผู้ชมเป็นครั้งแรก แสง ๆ นี้ก็สร้างปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมาย “แสงจากภาพยนตร์เลือกจดจำแค่คนไม่กี่คน แต่แสงเดียวกันนี้ก็เป็นเงาทับคนอีกหลายคนที่ตายไป” ผลงานถูกจัดแสดงในรูปแบบ split screen บอกเล่าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ผ่านคนทำและคนดู โดยครอบคลุมวงจรชีวิตของภาพยนตร์ตั้งแต่การสร้าง การฉาย จนถึงการชม เขาผสมผสานฟุตเทจภาพ ประกอบกับเสียงสัมภาษณ์ของกลุ่มคนที่เล่าถึงการดูหนังครั้งแรกในชีวิต และความในใจของคนเบื้องหลังที่ทั้งเย้ยหยันและยึดโยงกับงานที่รัก มีทั้งล้มเหลวและสำเร็จ ทั้งจดจำและถูกลืม

นิทรรศการ ‘ปฐมกาลภาพยนตร์ในสยาม’ จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 3 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ศาลายา จัดแสดงถึงวันที่ 31 มกราคม 2022