ถอดฝันแห่งอเมริกันดรีมใน ‘West Side Story’ ผ่านบทเพลงสะท้อนชีวิตที่ (ไม่) เป็นไปตามฝัน

Post on 23 June

เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมนี้ ทางมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ (Bangkok's International Festival of Dance and Music) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Bangkok Festivals’ เขาได้นำเอาละครบรอดเวย์สุดคลาสสิกที่ใคร ๆ ต่างก็รู้จักอย่าง ‘West Side Story’ มาจัดแสดงในงานเทศกาลให้แฟน ๆ ชาวไทยได้ชมกันแบบสด ๆ เพียง 6 รอบเท่านั้น! โดยจำลองฉากเมืองนิวยอร์คยุค 50 มาให้ทุกคนได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศอย่างจุใจด้วยการขนฉากมาถึง 8 คอนเทนเนอร์ ที่มาพร้อมเทคนิคการติดตั้งฉากสุดพิเศษกับบทเพลงอันเป็นเอกลักษณ์ ให้เราได้ร่วมลุ้น ร่วมอิน และร่วมเอาใจช่วยไปกับเรื่องราวความรักสุดตราตรึงใจที่ใครก็ยากจะลืมเลือน
.
สำหรับเนื้อหาของ ‘West Side Story’ นั้น มีจุดเริ่มต้นมาจาก ‘เจโรม รอบบินส์’ ผู้กำกับและนักออกแบบท่าเต้นระดับมือโปร ที่ร่วมมือกับนักแต่งเพลงอย่าง ‘เลนนาร์ด เบิร์นสไตน์’ และนักเขียนบทอย่าง ‘อาเธอร์ ลอเรนต์ส’ เพื่อรังสรรค์ละครเวทีเรื่องนี้ขึ้นมา โดยพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากโศกนาฏกรรมความรักในตำนานอย่าง ‘Romeo & Juliet’ ของวิลเลียม เชกสเปียร์
.
แต่ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยึดเส้นเรื่องตาม ‘Romeo & Juliet’ แต่ก็มีการดัดแปลงเนื้อหา ยุคสมัย และปมปัญหาต่าง ๆ ที่ขัดกับความเป็นมิวสิคัลของสหรัฐในยุคสมัยนั้น ที่เน้นให้ความบันเทิงกับเรื่องราวความรักที่สมหวัง เนื่องจาก รอบบินส์ เบิร์นสไตน์ ลอร์เรนส์ และ ซอนด์เฮม ต้องการให้ผลงานของพวกเราสอดคล้องกับบริบทของสังคมจริงในสมัยนั้น จึงเป็นที่มาของการปรับเนื้อหา ด้วยการเปลี่ยนความขัดแย้งระหว่างคนสองตระกูล เป็นความบาดหมางเรื่องเชื้อชาติและการแก่งแย่งพื้นที่กันแทนระหว่าง ‘แก๊งเจ็ต’ กลุ่มคนอเมริกันผิวขาว กับ ‘แก๊งชาร์ค’ กลุ่มชาวเปอร์โตริโก ผู้อพยพมาตั้งรกรากใหม่ในอเมริกาแทน
.
โดยแกนเรื่องหลักจะเป็นการฝ่าฟันอุปสรรคความรักของ ‘โทนี่’ หนึ่งในหัวหน้าแก๊งเจ็ต กับ ‘มาเรีย’ น้องสาวของหัวหน้าแก๊งชาร์ค ที่ตกหลุมรักกันตั้งแต่แรกเห็นในงานเต้นรำ และพยายามหาทางครองรักกันท่ามกลางความขัดแย้งอันรุนแรง จนเป็นชนวนให้เกิดความปั่นป่วน เปลี่ยนแปลง และแสนเศร้าอีกมากมายภายในเรื่อง
.
ด้วยเนื้อหาความรักสุดกินใจกับดราม่าการต่อสู้อันเข้มข้นที่ผสมรวมกันได้อย่างลงตัว ทำให้ ‘West Side Story’ เป็นเรื่องราวที่ครองใจคนดูมาหลายยุคสมัย จนมีการนำมาทำซ้ำและดัดแปลงเป็นละครบรอดเวย์กว่า 2,700 ครั้ง และจัดแสดงครอบคลุมกว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึงเวอร์ชันภาพยนตร์เองก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเวอร์ชันปี 1961 ที่กำกับโดย โรเบิร์ต ไวส์ และ เจโรม รอบบินส์ เพราะสามารถเข้าชิงรางวัลออสการ์ได้มากถึง 11 สาขา และคว้ากลับมาได้ถึง 10 สาขาด้วยกัน ครอบคลุมตั้งแต่รางวัลนักแสดงยอดเยี่ยม การกำกับยอดเยี่ยม ไปจนถึงภาพ การตัดต่อ และบทเพลงประกอบ เรียกว่าครบถ้วนทุกองค์ประกอบหนัง จนกลายเป็นที่จดจำและถูกยกขึ้นหิ้งไว้ตลอดกาล
.
ล่าสุด เมื่อปี 2021 สตีเว่น สปีลเบิร์ก พ่อมดแห่งวงการฮอลลีวูด ก็เพิ่งนำเรื่องราวความรักสุดซึ้งนี้มาปัดฝุ่นทำใหม่อีกครั้ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามไม่แพ้เวอร์ชั่นอื่นเลย เพราะเขาสามารถพาหนังและนักแสดงคว้ารางวัลออส์การ รางวัลลูกโลกทองคำ และรางวัล Bafta กลับบ้านกันแบบเต็มไม้เต็มมือ รวมกันมากถึง 12 รางวัล
.
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องราวความรักและความขัดแย้งของคนทั้งสองกลุ่มแล้ว ละครเวทีเรื่องนี้ยังสอดแทรกปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ ชนชั้น และปัญหาสังคมในอเมริกาอีกมากมาย ลงไปในบทเพลงและเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วย ซึ่งก่อนที่เราจะไปชมละครเวทีเรื่องนี้พร้อม ๆ กันในวันที่ 5 - 8 ตุลาคม 2023 นี้ เราก็อยากพาทุกคนไปสำรวจเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของปัญหาเหล่านั้น ผ่านบทเพลงสำคัญอย่าง ‘America’ ที่สะท้อนให้เห็นมุมมองสองด้านของชีวิตในประเทศเสรี กับภาพฝันแห่งอเมริกันดรีมที่อาจจะไม่เป็นไปดังที่วาดไว้

‘American Dream’ กับสังคมที่ไม่อาจเป็นไปตามฝัน

‘ความฝันอเมริกัน’ หรือ ‘American Dream’ คือแนวคิดถึงโลกในอุดมคติของชาวอเมริกัน ที่เริ่มปรากฏความหมายชัดเจนขึ้นมาในช่วงปี 1931 จากงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันอย่าง ‘เจมส์ ทรูสโลว์ อดัมส์’ ก่อนจะค่อย ๆ ซึมซับอยู่ในความนึกคิดของคนอเมริกันมาเรื่อย ๆ โดยเขาได้อธิบายถึงความฝันนี้ว่า เป็นการใฝ่ฝันถึงแผ่นดินที่ทุกคนจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ร่ำรวยขึ้น และไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหนหรือเป็นชนชาติใด ก็มีความเท่าเทียมกันหมด แต่ไม่ว่าแนวความคิดนี้จะน่าหอมหวานเพียงใด อย่างน้อย ๆ ภาพฝันที่ว่านี้ก็เกิดขึ้นไม่ง่ายนักในเรื่อง ‘West Side Story’

การดำรงอยู่ของ ‘แก๊งชาร์ค’ น่าจะเป็นตัวอย่างของภาพฝันที่ยากจะเป็นจริงได้ดีที่สุด เพราะพวกเขาเป็นเหมือนภาพแทนการอพยพครั้งใหญ่ของชาวเปอร์โตริโก ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาตามฝันในอเมริกา และตั้งถิ่นฐานกันเป็นจำนวนมากในยุค 50 จนถูกเรียกว่าเป็น ‘The Great Migration’ อันเป็นผลพวงมาจากการที่อเมริกาสามารถเอาชนะสเปนได้ในสงครามสเปน-อเมริกัน ตอนปี 1898 จนได้ครอบครองฮาวาย หมู่เกาะเวก เกาะกวม เปอร์โตริโก และฟิลิปปินส์แทนประเทศสเปน

ทว่าเมื่อพวกเขาย้ายถิ่นมาแล้ว นอกจากจะต้องอยู่ในสภาพสังคมที่เสื่อมโทรม ยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ และการถูกปฏิบัติราวกับเป็นพลเมืองชั้น 3 แถมยังต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่อยู่อาศัยกับคนขาวเจ้าถิ่นอย่าง ‘แก๊งเจ็ต’ อีกด้วย เราเลยได้เห็นภาพสังคมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างสิ่งที่วาดหวังไว้ กับโลกแห่งความเป็นจริง ดังที่เราจะได้เห็นผ่านเนื้อร้องของเพลง ‘America’ ที่ร้องนำโดยสองตัวละครหลักอย่าง ‘โรซาเรีย’ แฟนสาวของเบอร์นาร์โด ที่มองในมุมของคนที่มีความหวังในอเมริกา กับ หัวหน้าแก๊งชาร์คอย่าง ‘เบอร์นาโด’ ที่บอกเล่าภาพอีกมุมหนึ่งของโลกความเป็นจริง ที่แสดงให้เห็นว่าชีวิตนั้นไม่ง่ายดังคำขายฝัน

เช่น เมื่อโรซาเรียร้องว่า “Buying on credit is so nice” เบอร์นาโดก็จะร้องตอบกลับทันทีว่า “One look at us and they charge twice” และเมื่อโรซาเรียร้องว่า “Life is all right in America” เบอร์นาโดก็จะตอบว่า “If you're all white in America”

บทเพลงนี้ได้สะท้อนให้เราเห็นว่า ถึงแม้ในตอนนั้นประเทศอเมริกาจะกำลังเจริญรุ่งเรืองและเข้าสู่ยุคทอง ผู้คนร่ำรวยขึ้น สุขสบายขึ้น และเปี่ยมไปด้วยความคาดหวังถึงอเมริกันดรีม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีข้อยกเว้นอีกหลายอย่าง ที่คนนอกอย่างแก๊งชาร์คเข้าไม่ถึง เพราะสิ่งที่เรียกว่าความเท่าเทียมยังคงไม่มีจริง เมื่อถูกแบ่งกั้นด้วยเชื้อชาติ ความยากจน และชนชั้น

ตาอยู่ขโมยพุงปลา กับการพลาดท่าของทั้งสองแก๊ง

นอกเหนือจากเรื่องราวความต่างชั้นทางสังคม ที่แสดงถึงชีวิตอันยากลำบากของเหล่าผู้อพยพจากเปอร์โตริโกแล้ว เรายังมองเห็นอีกด้วยว่ากลุ่มคนขาวอย่างแก๊งเจ็ตเองก็มีชีวิตที่ลำบากไม่แพ้กัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่พวกเขาต้องลงเอยมาพบเจอกัน ในเขตเวสต์ไซด์อันเสื่อมโทรมของเมืองแมนฮัตตัน ที่กำลังจะถูกทุบทำลายเพื่อสร้างเป็นเมืองใหม่ที่เจริญกว่าในไม่ช้า

อย่างไรก็ตาม แม้การถูกไล่ที่จากภาครัฐจะเป็นปัญหาที่ปรากฏขึ้นตรงหน้า แต่พวกเขาทั้งสองกลุ่มกลับถูกความเกลียดชังที่ฝังรากเข้ามาเบียดบังสายตา จนต่อสู้กันอย่างไม่ลดละ และหลงลืมศัตรูตัวใหญ่ที่สุด ที่จะกลายเป็นผู้รับผลประโยชน์ทั้งหมดแทนพวกเขา นั่นก็คือเหล่านายทุนและผู้มีอันจะกินนั่นเอง

สิ่งนี้จึงยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงโลกทุนนิยมในอเมริกาที่ส่งเสริมให้ผู้คนร่ำรวยขึ้น มีชีวิตดีขึ้น และมีโอกาสมากขึ้น แต่สิ่งนั้นไม่ได้ครอบคลุมครบทุกคนตามที่ฝันกันเอาไว้ อเมริกันดรีมจึงอาจจะมีอยู่จริงในคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่ไม่ใช่กับคนทุกกลุ่ม เหมือนดังที่ละครเวทีสุดคลาสสิกอย่าง ‘West Side Story’ กำลังแสดงให้เราเห็นกัน ผ่านฉากการต่อสู้ของทั้งสองแก๊ง ที่ทำตัวไม่ต่างจากตาอินและตานา ผู้ต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ที่ไม่มีวันเป็นของพวกเขา และในท้ายที่สุดมันก็จะตกไปอยู่ในมือของตาอยู่ด้วยอำนาจเงิน

West Side Story การแสดงและเสียงตะโกนของคนตกขบวน

เมื่อเรื่องราวใน ‘West Side Story’ คือภาพสะท้อนของชนชั้นล่างที่ต้องต่อสู้แย่งชิงกันเพื่อเอาชีวิตรอด ภาพการแสดงที่เราจะได้เห็นบนเวที จึงไม่ใช่ฉากงานเต้นรำสุดอลังการ หรือบทเพลงที่มากด้วยศัพท์อันแสนหวานและไพเราะ แต่เป็นการส่งเสียงตะโกนผ่านงานศิลปะ ที่สะท้อนภาพของชนชั้นล่างผู้ตกขบวน และถูกผลักไสให้ห่างไกลจากอเมริกันดรีม

ด้วยเหตุนี้ แม้บทละครเรื่องนี้จะมีเส้นเรื่องอิงตาม ‘Romeo & Juliet’ ทว่าเราจะไม่ได้เห็นฉากงานเต้นรำอันแสนโรแมนติกแบบชนชั้นสูง หรือภาพของคฤหาสน์หลังโตของสองตระกูลใหญ่ แต่ผู้กำกับและทีมงานทุกคน จะพาเราย้อนกลับไปสัมผัสกับความบันเทิงของคนธรรมดา ผ่านฉากการเต้นรำของคนทุกชนชั้นอย่าง ‘Ballroom Dance Night’ สุดอลังการ ที่มาพร้อมกับฉากเมืองแมนฮัตตันอันแออัดในยุค 50 สุดสมจริง

และเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวทุกอย่างให้ออกมาสมบูรณ์แบบ ทางผู้กำกับอย่าง ‘ลอนนี่ ไพรซ์’ ก็ได้เข้ามายกเครื่องการแสดงชุดนี้ใหม่ ด้วยทีมงานระดับ A-List แบบยกชุด ตั้งแต่การร่วมงานกับนักออกแบบท่าเต้นอย่าง 'ฆูลิโอ มองเก' ที่ปรึกษาด้านการสร้างสรรค์ให้กับภาพยนตร์ West Side Story เวอร์ชั่น 2021 ที่กำกับโดยสตีเวน สปีลเบิร์ก มาออกแบบการแสดงให้น่าตื่นตาตื่นใจกว่าเดิม โดยยังคงท่าเต้นต้นฉบับของ ‘เจอโรม ร็อบบินส์’ เอาไว้

ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของ West Side Story ที่จะนำมาจัดแสดงในมหกรรมฯ Bangkok Festivals ในครั้งนี้ คือเหล่านักแสดงนำอย่าง ‘จาดอน เว็บสเตอร์’ ผู้รับบท ‘โทนี่’ และ ‘เมลานี เซียร่า’ ผู้รับบท ‘มาเรีย’ ที่ต้องฝ่าด่านการคัดเลือกจากผู้สมัครกว่า 3,000 คน กว่าจะได้ก้าวขึ้นมาเป็นนักแสดงหลัก อีกทั้งยังต้องซ้อมร่วมกันกับนักแสดงคนอื่น ๆ อีกมากกว่า 50 รอบ เพื่อให้การแสดงออกมาลื่นไหลและเข้าถึงอารมณ์มากที่สุด

ในส่วนของเพลงประกอบเอง จะมีการบรรเลงสดของวงออร์เคสตราจาก ‘Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO)’ ควบคุมวงโดย 'แกรนท์ สตูเรียล' วาทยกรผู้คร่ำวอดในวงการบรอดเวย์มายาวนาน นอกจากนี้ยังมีการขนทีมงานเบื้องหลังกับคอสตูมแบบทำมือกว่า 100 ชุด พร้อมรองเท้าอีก 200 คู่ มายังเมืองไทยกันแบบจัดเต็มถึง 8 คอนเทนเนอร์ ส่งตรงมาจากนิวยอร์กอีกด้วย

ทางมหกรรมฯเชิญชวนทุกคนมาสัมผัสกับความอลังการของเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักยุค 50 ที่บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของความรักท่ามกลางบริบทสังคมที่ท้าทายด้วยกัน สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้แล้วที่ https://www.thaiticketmajor.com/bangkokfestivals

รอบการแสดงทั้งหมด
วันพฤหัสที่ 5 ตุลาคม 2566 เวลา 19.00 น.
วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566 เวลา 19.00 น.
วันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 14.30 น. และ 19.00 น.
วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม 2566 เวลา 14.30 น. และ 19.00 น.

สถานที่จัดแสดง: หอประชุมใหญ่ ศูนยวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับเทศกาล Bangkok’s International Festival of Dance and Music เพิ่มเติมได้ที่:
Facebook : @bangkokfestivals
Instagram: @bangkokfestivals