ถึงจะจั่วหัวบทความว่าเป็นเรื่องของ ‘วัตถุน่าสงสัย’ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในคอลัมน์ Artist on our radar ประจำสัปดาห์นี้จะพาทุกคนไปเจอกับเรื่องอันตราย เพราะศิลปินนักปั้นเซรามิกที่เราจะพาทุกคนไปรู้จักในวันนี้ เขาออกตัวว่าตัวเองช่างสังเกตและช่างสงสัย เลยทำให้งานศิลปะทุกชิ้นที่สร้างออกมา มาจากความรู้สึกเอ๊ะกับวัตถุบางอย่าง จนหยิบมันมาทำงานด้วยเฉย ๆ
ซึ่งศิลปินที่เราพูดถึงนี้ก็คือ ‘Whalwad’ หรือ ‘ปิ๊ก - ชาคริยา เนียมสมบุญ’ ศิลปินอิสระและบัณฑิตหมาด ๆ จากคณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบเครื่องเคลือบดินเผา มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยที่มาของชื่อ Whalwad ก็มาจากคำว่า วาฬ (Whal) และ วาด (Wad) เพื่อสะท้อนถึงตัวเธอในฐานะศิลปินที่มุ่งมั่นสำรวจและทดลองศิลปะแขนงต่าง ๆ รวมถึงการนำสิ่งใหม่ ๆ มาปรับใช้กับงานประติมากรรมของตัวเอง เพื่อแสดงออกถึงสภาวะอารมณ์ในแต่ละช่วงของชีวิต
พอเห็นแนวคิดการทำงานที่เริ่มต้นมาจากความขี้สงสัย ผนวกเข้ากับความตั้งใจที่จะทดลองสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดแบบนี้ ก็ทำให้คำถามแรกที่เราถาม Whalwad เป็นการยิงตรงไปถึงเรื่องเอกลักษณ์ในการทำงานทันที ว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร ทำไมถึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับแนวทางการทำงานในฐานะศิลปิน ซึ่งเธอก็ได้บอกกับเราว่า “คงเป็นเพราะการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบของเซรามิก ทำให้เรายังได้ทดลอง ค้นหาแนวทางใหม่ ๆ มาปรับใช้อย่างไม่จำกัด”
Whalwad อธิบายเพิ่ม “ส่วนตัวเราเป็นคนชอบสังเกตมาก ๆ เมื่อก่อนเราจะชอบปั้นอะไรที่แค่รู้สึกสนุกเฉย ๆ แต่บางทีเราไม่อินกับมันขนาดนั้น ช่วงระยะหลังมานี้ในหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา เราเริ่มมองหามากขึ้นว่าเราอินกับอะไรจริง ๆ เพราะเราอยากทำงานที่เอนจอยในทุกกระบวนการ เราเลยเริ่มมองหาอะไรที่มันอยู่ในสายตาและความสงสัยมาตลอด ซึ่งสิ่งนั้นก็คือพวกเรื่องข้าวของรอบตัวเราเนี่ยแหละ ตั้งแต่ของในบ้าน ไปจนถึงสิ่งของตามข้างทาง”
“คือเราเป็นคนขี้สงสัย พอเห็นสิ่งของวางเป็นแบบนี้ ๆ ก็จะตั้งคำถามแล้วว่ามันเกิดจากอะไร ทำไปทำไม แก้ปัญหาอะไร พอสังเกตมากขึ้น ทำให้เราพบไอเดียใหม่ ๆ จนเริ่มอยากลองเอามาใช้กับงานเซรามิก เราจะชอบตั้งคำถามกับตัวเอง ถ้าลองทำแบบนี้ ๆ ล่ะ ยิ่งพอเป็นเซรามิกที่เราปั้น เราจะออกแบบยังไงก็ได้ บางทีก็ไม่ต้องนึกถึงความเป็นจริง 100% ปรับเปลี่ยน ฉีกมัน ปั้นมันแบบไหนก็ได้ ทำให้เราสนุกและยังอยากหาไอเดียใหม่ต่อไปอยู่ตลอด”
“ที่สำคัญคือ เราชอบทำงานที่เกี่ยวกับสิ่งของรอบตัวมาก ๆ หรือพฤติกรรมมนุษย์ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาและคุ้นเคยจนหลงลืมกันไป เราเลยคิดว่าเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งของเราคือการชอบเล่นกับความเป็นจริง ทั้งในเชิงของแนวคิด ไปจนถึงรูปร่างของชิ้นงานที่ปั้น”
“เราชอบเอาสิ่งของที่เจอมาขมวดกับความคิด ทั้งจริงจัง ทั้งขำ ๆ บางทีคนมาดูงานเราเขาก็บอกมันดูน่ารักนะ แต่มันก็แอบตลกร้าย เพราะนอกจากงานเราจะแสดงให้เห็นถึงสิ่งของธรรมดารอบตัว แต่มันก็สะท้อนถึงบางปัญหาที่เราเห็นเป็นประจำเหมือนกัน ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้มีพาวเวอร์ที่จะจัดการได้ซะทุกเรื่อง เราเลยชอบสื่อสารออกมาด้วยเซรามิก”
“ด้วยความที่ไม่อยากให้งานมันเครียดจนเกินไป เพราะส่วนตัวเราค่อนข้างชอบทำงานที่มีอารมณ์ขัน เลยจะแอบแทรกดีเทลสนุก ๆ ไว้ในชิ้นงานอยู่ตลอด คิดว่าอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของงานเราคือการต้องได้เห็นชิ้นงานด้วยตาจริง ๆ หลายดีเทลที่แทรกอยู่ มันละเอียดอ่อนและผ่านการคิด การปั้นมาอย่างตั้งใจ ถ้ามองผิวเผินบางทีอาจดูเป็นเพียงแค่เซรามิกที่มีหน้าตาเหมือนสิ่งของนั้นจริง ๆ แต่ถ้าลองสังเกตดูดี ๆ จะเห็นดีเทลต่าง ๆ ที่ทั้งล้อเลียน ทั้งสะท้อนให้เห็นประสบการณ์ผ่านมุมมองของเราปรากฏอยู่ตลอด”
นอกจากเรื่องแนวคิดเรายังถามถึงเรื่องเทคนิคในการทำงานแบบภาพรวมของเธอด้วย ซึ่งเธอก็ได้แชร์ให้ฟังว่า “งานทั้งหมดของเราจะเป็นประติมากรรมจากเซรามิกค่ะ เป็นวิธีการทำงานที่เราชอบมากที่สุด เมื่อก่อนเราชอบวาดรูปมาก ๆ แต่พอเอารูปที่วาดมาปั้นเป็นเซรามิกที่เห็นได้ครบทุกด้าน มันยิ่งทำให้เราอินไปกับงานมากกว่าเดิม เราได้จับ ได้เห็นทุกดีเทล และขึ้นรูปเองด้วยมือของเรา รู้สึกชิ้นงานในหัวของเรา มันออกมาจับต้องได้จริง ๆ”
“สำหรับเราการปั้นเซรามิกเป็นอะไรที่ใช้ความละเอียดสูง แต่ต้องบาลานซ์กับการปล่อยวาง เพราะเราไม่สามารถควบคุมมันได้ 100% ในทุกกระบวนการ บางทีดีเทลที่เกิดขึ้นแล้วเราชอบมาก ๆ มันก็ดันเกิดจากอุบัติเหตุในระหว่างกระบวนการ เซรามิกเลยเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ จนเหมือนได้ทดลองเจอเทคนิคใหม่อยู่เรื่อย ๆ เพราะการปั้นและทดลองเล่นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เราได้เจออะไรใหม่ ๆ มาจับใส่ในงานได้อยู่ตลอด”
ล่าสุด Whalwad ก็เพิ่งมีโอกาสจัดแสดงงานในนิทรรศการกลุ่ม O.R.G.Y (Our Revolution for Greater Youth) ที่แกลเลอรี ATT 19 และเพิ่งปิดนิทรรศการไปเมื่อต้นเดือนมกราคมนี้เอง เราเลยขอให้ศิลปินช่วยเล่าถึงประสบการณ์และชิ้นงานในนิทรรศการนี้ให้เราฟังสักหน่อย
Whalwad กล่าว “งานที่เรานำไปแสดงในนิทรรศการ O.R.G.Y คือซีรีส์ The Junk ซึ่งเป็นประติมากรรมเซรามิกที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งของข้างทางตามท้องถนนในประเทศไทย เราสังเกตว่ามันมีตั้งแต่ขวดน้ำที่ถูกตั้งไว้เฉย ๆ ไปจนถึงของแปลก ๆ ที่ถูกประกอบขึ้นจากหลายชิ้นส่วน ยิ่งมองก็ยิ่งเห็นว่าเบื้องหลังของสิ่งเหล่านี้คือวิธีแก้ปัญหาแบบไทย ๆ ที่นำของเหลือใช้มาดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ใหม่ ๆ ตามความจำเป็น”
“นอกจากความเจ๋งของไอเดียและการประยุกต์ใช้แบบง่าย ๆ อีกสิ่งที่เราชื่นชมก็คือเบื้องหลังของสิ่งของเหล่านี้ เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของคนไทย ที่ต้องหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้อยู่รอบตัวเรา เห็นกันจนชินตา จนบางทีเราก็ลืมไปว่าแต่ละชิ้นมีที่มาและจุดประสงค์ยังไง เราเลยอยากให้คนที่มาเห็นงาน ได้ฉุกคิดถึงเรื่องราวเบื้องหลังของมันบ้าง”
“ทุกชิ้นในซีรีส์นี้เลยทำจากเซรามิก และถูกดัดแปลงเป็นของต่าง ๆ ผ่านมุมมองของเราเอง บางชิ้นก็คุ้นตา บางชิ้นก็ดูแปลกไปเลย อย่างงาน The Lightpole ที่ได้ไอเดียมาจากเสาไฟที่เราเคยเห็นจริง ๆ มีคนแอบต่อปลั๊กพ่วงจากเสาไฟ แล้วเอาขวดพลาสติกมาครอบไว้ เราเลยลองเปลี่ยนให้มันกลายเป็นโคมไฟแทน”
![](https://falcon.groundcontrolth.com/upload/8218c86ff708e045876bb3fc851a500c.jpg)
The Junk : The Lightpole
ชิ้นงานนี้เราได้ไอเดียมาจากเสาไฟตามข้างทางที่เราเดินเจอ เราสังเกตเห็นว่ามันมีขวดอะไรสักอย่างห้อยอยู่ พอได้เดินไปดูเลยรู้ว่ามีคนต่อปลั๊กพ่วงไว้ เสียบไว้ในขวด เราไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าเขานำขวดมากันน้ำฝน หรือเอามาซ่อนของที่อยู่ข้างใน และเราพูดได้ไม่เต็มปากว่าเราชอบไอเดียนี้ แต่ด้วยความที่มันคอนทราสต์กันมาก ๆ เราเลยเอามาทำเป็นโคมไฟเซรามิกที่ก็แอบจิกกัดนิดนึง มันอาจจะดูแปลก แต่มันก็เล่าเรื่องราวเล็ก ๆ ที่เราเจอตามข้างทาง ชิ้นนี้จะมีดีเทลเป็นพวกป้ายตามข้างทางที่จะเห็นกันเป็นประจำ แต่เราจะใช้เป็นชื่อเราเอง พร้อมประโยคกวน ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาว่างงาน หมูกระทะค่าส่งแพงมาก คิดว่าจุดดึงดูดของงานชิ้นนี้ก็เป็นพวกป้ายเหล่านี้เนี่ยแหละ มันสร้างอารมณ์ขันแม้จะอยู่ภายใต้เรื่องราวที่ชีวิตจริงมันไม่ค่อยตลกสักเท่าไร
![](https://falcon.groundcontrolth.com/upload/34adea30018bab2bf3f3636045bbfcd5.jpg)
The Junk : The Bench
ม้าหินอ่อนแทบจะเป็นหนึ่งในสิ่งของข้างทางเบสิกที่เราเห็นเป็นประจำ เราเห็นเยอะมาก ๆ ตั้งแต่ม้าหินอ่อนที่มีกระเบื้องลวดลายสีสัน ไปจนถึงม้าหินอ่อนที่ผุพังจนนั่งแทบไม่ได้ แต่เรากลับเห็นว่าพวกม้าหินอ่อนที่ผุพังมันมักจะมีของอะไรสักอย่างมาต่อเติมจนมันพอจะนั่งถูไถไปก่อนได้ ด้วยความที่มันหนักและขนย้ายไปทิ้งยาก หลายคนเลยเลือกที่จะปล่อยให้มีสภาพแบบนั้นต่อไป จากที่จะยกไปทิ้ง ก็แก้ไขด้วยยกของอย่างอื่นมาซ่อมประกอบมันเองซะเลย เราเลยทำเป็นเหมือนประติมากรรมม้าหิน ที่มีทั้งกระดาษลังและยางรถยนต์ห้อยติดอยู่เป็นเหมือนผนักพิงและที่นั่ง เป็นอีกชิ้นที่เราอยากให้เห็นของจริงมาก ๆ
ครั้งแรกที่เรานำไปจัดแสดง คนคิดกันว่าเราเอายางรถยนต์ของจริงมาติด เขานึกว่าเป็นงาน mixed media แต่ความจริงมันคือเซรามิกหมดเลย คิดว่าเป็นอีกหนึ่งในเสน่ห์ของงานเรา ที่นอกจากจะทำให้คนตั้งคำถามกับที่มา แต่วัสดุของงานเราก็ยังดึงดูดให้คนเกิดความสงสัย เราว่ามันสนุกดี
![](https://falcon.groundcontrolth.com/upload/08eb0b43bb74a90835a19272004af5f4.jpg)
The Junk: Pink Basket
ตะกร้าพลาสติกที่จะมีชื่อใครสักคนติดอยู่ ตั้งแต่จำความได้เราก็เห็นสิ่งนี้จนคุ้นชิน และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตามข้างทางจะมีวางกันอย่างเกลื่อนกลาด เมื่อตะกร้าเริ่มเสื่อมสภาพจนไม่สามารถใส่ของได้เช่นเดิม เราเห็นหลายคนชอบเอามาประยุกต์ให้เอามาใช้แบบอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็น นำมาคว่ำเพื่อทำเป็นโต๊ะวางของ หรือเอาไปวางเป็นเครื่องหมายบอกอาณาเขตที่จอดรถ และอีกอย่างที่เราคุ้นชินกันแน่นอนว่าคือท่อ PVC เป็นอีกสิ่งของที่คู่ใจคนไทยมายาวนาน จากท่อธรรมดา ๆ สามารถเอามาต่อประกอบเป็นได้ทั้งป้าย รั้ว ไปจนถึงขาโต๊ะ เราว่ามันเป็นไอเดียที่ถึงจะดูธรรมดา ทำได้ง่าย แต่มันก็เจ๋งในขณะเดียวกัน เพราะจากของพวกนี้ที่เราคุ้นชินมันสามารถพลิกแพลงไปในแนวทางอื่น ๆ ได้ไม่รู้จบ เราเลยเลือกเอาสองอย่างนี้มาขมวดรวมกันเป็นผลงาน Pink Basket ประติมากรรมโต๊ะจากตะกร้าพลาสติกและท่อ PVC
![](https://falcon.groundcontrolth.com/upload/ff0bc371ec5a995b21b25ef913c2ce19.jpg)
hoarding?
ชุดประติมากรรมชิ้นแรกที่ทำให้เราเจอสไตล์งานที่เราชอบ เริ่มมาจากการที่เราสังเกตเห็นมุมหนึ่งภายในบ้าน จะชอบมีสิ่งของค่อนไปทางเชิงขยะสะสมไว้เต็มไปหมดอยู่ตลอด ด้วยความที่เราเห็นเป็นประจำจนเคยชิน ทำให้ได้ละเลยไปอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อเราจะหยิบสิ่งเหล่านั้นไปทิ้ง จะมีประโยคที่เราคุ้นหูอยู่ตลอด “อย่าเพิ่งทิ้ง เผื่อเอามาใช้ได้“ ทำให้เราเริ่มสงสัยว่ามันคืออาการสะสมสิ่งของหรือไม่? เมื่อเวลาผ่านไปรวมกับความเข้าใจที่มากขึ้น เราเห็นว่าในสายตาของบางคนจะมองว่าสิ่งนั้นเป็นของสำคัญที่ไม่กล้าทิ้ง บ้างก็เต็มไปด้วยความทรงจำ บ้างก็ความผูกผัน ทำให้เลือกที่จะเก็บมากกว่าจะทิ้งได้ง่ายเหมือนบุคคลทั่วไป เราเลยอยากสื่อสารออกมาในรูปของประติมากรรมเซรามิก ที่แต่ละชิ้นประกอบด้วยสิ่งของทั่วไปรอบตัวเราที่คุ้นเคยมาประกอบผ่านมุมมองของเรา เพื่อจำลองการสะสมสิ่งของส่วนหนึ่งที่เราเคยพบภายในบ้าน
ความพิเศษในชิ้นนี้ที่เราอยากเล่าคือมันท้าทายมาก ๆ นอกจากคอนเซปที่เราเริ่มจะอินไปกับงานมากขึ้น ยังเป็นประติมากรรมชิ้นแรกของเราที่ทำขนาดใหญ่ ก่อนงานจะสำเร็จเราทำผิดพลาดมาเยอะมากกกกก ทำให้เราได้เรียนรู้หลายอย่างกว่าเราจะปั้นได้ในแบบทุกวันนี้ สำหรับเรางานชิ้นนี้เลยเป็นประติมากรรมที่ทั้งบันทึกเรื่องราวส่วนตัวและยังบันทึกความล้มเหลว ความสำเร็จครั้งสำคัญของเราอีกด้วย
ในอนาคต Whalwad ก็ยังมีโปรเจกต์ใหม่รออยู่อีกเพียบตามประสาคนชอบทดลอง เธอเล่าว่า “เรายังสนุกกับ The Junk อยู่ และคิดว่าน่าจะมีประติมากรรมใหม่ ๆ ในซีรีส์นี้เพิ่มขึ้นอีก เราอยากลองเล่าเรื่องในมุมมองที่แตกต่างออกไป แต่ช่วงนี้เราเริ่มสนใจเรื่อง ฟังก์ชัน มากขึ้น โดยเฉพาะ ระบบไฟ รวมถึงอยากทำงานให้มีขนาดกะทัดรัดกว่าที่เคย จากเดิมที่เน้นชิ้นใหญ่ ตอนนี้อยากลองทำไซส์อื่น ๆ ที่เปิดโอกาสให้คนได้อินเทอร์แอคกับงานมากขึ้น คือตอนนี้ในหัวมีไอเดียเยอะมาก ถ้าเป็นไปได้ อนาคตอาจจะได้เห็น The Junk ในรูปแบบใหม่ ๆ แน่นอน”
![**Traffic cone**](https://falcon.groundcontrolth.com/upload/c82c39ac11d3585bd30d64c79545fb25.jpg)
Traffic cone
![**Sound of BKK**](https://falcon.groundcontrolth.com/upload/bd39c0e307ccec2945e47ad02dd6983f.jpg)
Sound of BKK
![**Traffic cone 02**](https://falcon.groundcontrolth.com/upload/49cc705bf598e841ce7b0e4293ac50a5.jpg)
Traffic cone 02
![](https://falcon.groundcontrolth.com/upload/559e8096790eeb89a67f7cb1cd3bae1f.jpg)
![**Red plastic chair**](https://falcon.groundcontrolth.com/upload/a58f67c3eb9549b98629d95638286905.jpg)
Red plastic chair
![**O.R.G.Y. Exhibition**](https://falcon.groundcontrolth.com/upload/4de60af92797dfdd513eeb281916577e.png)
O.R.G.Y. Exhibition
สามารถติดตาม Whalwad และงานประติมากรรมเซรามิกจากมุมมองคนช่างสงสัยกันต่อได้ที่ Instagram: whalwad