ทำความรู้จัก ‘Skibidi toilet’ คาแรกเตอร์หัวชักโครกมหาประลัย ขวัญใจคนใหม่ของวัยรุ่น Gen Alpha

Post on 7 February

“Skibidi dop dop dop yes yes…”

คือเสียงเพลงคุ้นหูที่ดังออกมาจากปากหัวชักโครกมหาประลัย หรือ ‘Skibidi toilet’ คาแรกเตอร์สุดเซอร์เรียลขวัญใจเด็ก ๆ ยุคใหม่ ที่ลงคลิปทีไร การันตียอดวิวเกิน 10 ล้านวิวทุกคลิป ซึ่งคนที่สร้างเจ้าคาแรกเตอร์นี้ขึ้นมา ก็คือ ‘อเล็กเซย์ เกราซิมอฟ’ คอนเทนต์ครีเอเตอร์และแอนิเมเตอร์ชาวจอร์เจีย จากช่อง ‘DaFuq!?Boom!’ ผู้ใช้โปรแกรม ‘Source Filmmaker’ ในการสร้างเรื่องราวทุกอย่างขึ้นมาผ่านการเรียนรู้ด้วยตัวเอง สำหรับที่มาของชื่อ ‘Skibidi toilet’ นั้น ก็มาจากคำว่า ‘skibidi’ ในเพลง ‘Give It to Me’ ของ Timbaland’ และเพลง ‘Dom Dom Yes Yes’ โดยไบเซอร์คิง ที่ถูกนำมารีมิกซ์รวมกันจนกลายเป็นเพลงประจำตัวของ Skibidi toilet นั่นเอง

แต่ไม่ว่าทุกคนจะมองเจ้า ‘Skibidi toilet’ เป็นการ์ตูนตลก มีม เจ้าของเพลงสุดไวรัล หรืออะไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับในเรื่องของความแมสจริง ๆ เพราะนับตั้งแต่ที่ซีรีส์เรื่องนี้เปิดตัวขึ้นมาบน YouTube ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ มันก็ดันให้ช่อง YouTube ของ DaFuq!?Boom! มีผู้ติดตามสูงถึง 38.5 ล้านคน พร้อมกับยอดเข้าชมรวมกว่า 14,000 ล้านครั้ง โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นฟันน้ำนม ที่ชื่นชอบตัวละครเหล่านี้จริง ๆ จนกลายเป็นบทสนทนาติดปากเอาไว้คอยถามไลฟ์สไตล์กันและกันไปแล้วว่า “เธอ ๆ เธอชอบตัวละครไหนใน Skibidi toilet อ่ะ?”

ซึ่งสิ่งที่ทำให้เจ้า ‘Skibidi toilet’ น่าติดตาม ไม่ได้มีเพียงคลิปวิดีโอร้องเพลงรีมิกซ์สั้น ๆ เท่านั้น แต่มันยังมีเนื้อเรื่องสุดเซอร์เรียลให้เราติดตามการต่อสู้กู้โลกระหว่าง ‘Skibidi toilet’ ที่หมายจะเปลี่ยนคน(?)ทั้งโลกให้เหลือแต่หัวในชักโครก (หรืออะไรก็ไม่อาจแน่ใจได้) และฝ่าย The Cameraman ที่มีตัวเป็นคนแต่หัวเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ เช่นทีวี กล้องวงจรปิด และลำโพง ฯลฯ โดยการต่อสู้ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่การต่อยตีตุ้บตั้บคลุกฝุ่น แต่มันคือการต่อสู้ด้วยอาวุธ Sci-fi แถมยังมีการปล่อยพลังวิเศษที่แตกต่างกันไปของแต่ละคนด้วย สำหรับจุดตายของ Skibidi toilet นั้น คือการกดปุ่มชักโครกให้หัวหายไป

ในฐานะผู้ปกครอง การได้เห็นตัวการ์ตูนหน้าลุงแปลก ๆ ที่โผล่หัวออกมาจากชักโครกเขรอะ ๆ พร้อมกับปากที่ร้องเพลงแปลก ๆ และพุ่งเข้าใส่หน้าจอให้ตกใจเล่นตลอดเวลา น่าจะสร้างความลำบากใจไม่น้อยที่จะปล่อยให้เด็ก ๆ ดู แต่ก็ต้องยอมรับว่านอกเหนือจากเรื่องความน่ากลัวแล้ว งานภาพแนวเซอร์เรียลของ Skibidi toilet ก็นับว่าน่าสนใจ อีกทั้งยังมีเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ไร้กำแพงภาษา ไม่มีฉากเลือดสาด หรือคำพูดหยาบคายเลย (เพราะตัวละครไม่พูดอะไรกันเลย) แถมดนตรีประกอบยังติดหูและถึงใจ จนใครดูก็รู้สึกลุ้นตามไปด้วย

แต่ถึงแม้ว่าจะกล่าวแบบนั้น ทว่าก็ยังมีกลุ่มอาการที่เรียกว่า ‘Skibidi toilet Syndrom’ ผุดขึ้นมาเป็นเทรนด์บนโลกอินเทอร์เน็ต ที่ผู้ปกครองมักถ่ายภาพบุตรหลานของตัวเองมาให้คนอื่น ๆ ดู เพื่อเตือนเหล่าพ่อแม่ผู้ปกครองว่าระวังลูกจะเป็นแบบนี้ ซึ่งอาการที่ว่านั้นก็คืออาการซึมเศร้า หงุดหงิด และโมโห เมื่อถูกห้ามไม่ให้ดู Skibidi toilet เพราะเด็กกลุ่มนี้จะติดการดูการ์ตูนเรื่องนี้ตลอดเวลาจนไม่ทำอย่างอื่นเลย ดังนั้นโทษของ Skibidi toilet จึงอาจจะไม่ต่างจากอาการเด็กติดจอแบบอื่น ๆ มากนัก ผู้ปกครองจึงควรเฝ้าระวังและไม่ปล่อยให้เด็ก ๆ จ้องจอนานเกินไป หรือการเพ่งในฉากต่อสู้ที่มีสีสันจัดจ้านแสบตา จนอาจเกิดอาการลมชักหรือหมดสติขึ้นมาได้

สำหรับเบื้องหลังความป็อปของ Skibidi toilet ที่ใช้เวลาเพียงปีเดียวก็ไต่เต้าขึ้นมาเป็นคาแรกเตอร์ดังที่ครองใจเด็กรุ่นใหม่ได้ทั่วโลก แถมยังมีการออกไลน์สินค้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นฟิกเกอร์ เคสมือถือ เสื้อยืด กระเป๋า ฯลฯ ก็ได้มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนมาร่วมด้วยช่วยกันวิเคราะห์เอาไว้ว่า มันคือสื่อที่เข้าถึงอารมณ์ขันของเด็ก Gen Alpha ที่เรามักเรียกกันว่า ‘Ipad Baby’ ได้เป็นอย่างดี

แมดดี้ บักซ์ตัน (Maddy Buxton) ผู้จัดการฝ่ายวัฒนธรรมและเทรนด์ของ YouTube กล่าวว่า “Skibidi Toilet เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เหมือนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่เคยเห็นมาก่อน” และ “มันได้กลายเป็นหนึ่งในช่วงเวลาทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปี”

เธอกล่าวต่อ “ฉันไม่เคยเห็นอะไรที่ดังระเบิดแบบนี้มาก่อนเลย แบบว่ามันเริ่มต้นแค่จากมีมสั้น ๆ ก่อนจะพัฒนามาเป็นเรื่องราวที่ซับซ้อน พร้อมมีความหมายซ่อนอยู่ จนผู้คนกระตือรือร้นที่จะไขคำตอบและเข้าใจเรื่องราวของมัน”

“แม้ว่าเรื่องราวของ Skibidi Toilet จะดูเขียนขึ้นมาง่าย ๆ แต่มันกำลังเผยให้เราเห็นอนาคตของวงการบันเทิงว่าจะเป็นอย่างไรในแพลตฟอร์มโซเชียลหลัก ๆ อีกทั้งมันยังเป็นซีรีส์เล่าเรื่องแบบแรก ๆ ที่เล่าเรื่องราวทั้งหมดผ่านวิดีโอขนาดสั้น (60 วินาทีหรือน้อยกว่า) และเป็นมีมกระแสหลักเรื่องแรกที่เกิดจาก Generation Alpha (เด็กอายุประมาณ 10 ปีหรือน้อยกว่า) ด้วย”

“นี่จึงเป็นหนึ่งในมีมแรก ๆ ที่ได้รับความนิยมจาก Gen Alpha และเป็นหนึ่งในเทรนด์ Gen Alpha แรก ๆ ที่ปรากฏบน YouTube” บักซ์ตันกล่าวสรุป

ยังมี โซฟี บราวนิ่ง (Sophie Browning) คอนเทนต์ครีเอเตอร์ วัย 21 ปี ผู้คลุกคลีอยู่กับวงการมีมมาอย่างยาวนาน ได้ออกมาให้ความเห็นเสริมว่า “นี่เป็นครั้งแรกเลยที่เหล่า Gen Z รู้สึกว่าตัวเองแก่ หรือไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมมีมแบบนี้”

“เหตุผลที่เป็นแบบนั้น เพราะคนรุ่นเก่าน่าจะรู้สึกถูกคุกคามจากความแปลกตา” เธอกล่าว “มันเป็นภาพที่แปลกมาก ฉันสามารถดูออกเลยว่าผู้คนจะรู้สึก disturb ได้ยังไงจากสื่อนี้ เพราะมันทั้งบ้าบอและเหนือจริงมาก ๆ แต่ฝั่ง Gen Alpha น่าจะคุ้นเคยกับการเห็นสิ่งที่เหนือจริงและบ้าคลั่งบนอินเทอร์เน็ตไปแล้ว”

จากความเห็นเหล่านี้จึงสามารถสรุปได้ว่า เจ้าหัวชักโครกมหาประลัยอย่าง ‘Skibidi toilet’ นี้ คือสัญญาณสำคัญของคนทำสื่อยุคใหม่เลยก็ว่าได้ เพราะมันถือว่าเป็นมีมและเทรนด์แรกของเด็ก Gen Alpha ที่เริ่มก้าวเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในโลกโซเชียลแล้ว และเหมือนว่าเด็กที่เติบโตมากับการเสพสื่อเร็ว ๆ ใน Ipad มาตลอด จะคุ้นชินกับความเซอร์เรียล และขำขันกับอะไรบางอย่าง ที่คนรุ่นก่อนหน้ามองว่าน่ากลัวและบ้าบอ ก็ต้องมาคอยจับตาดูกันต่อไปว่าปรากฏการณ์นี้จะทะยานไปถึงจุดไหน และจะมีสื่ออะไรใหม่ ๆ จาก Gen Alpha มาทำให้เราแปลกใจกันอีกหรือเปล่า ต้องคอยติดตามกัน

อ้างอิง

How a toilet-themed YouTube series became the biggest thing online

What is Skibidi Toilet, and why is it so popular?