“เวลาคนไทยทั่วไปพูดถึงพิพิธภัณฑ์ มักให้ความรู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์คือสถานที่ที่จัดแสดงสิ่งของที่ 'ตายแล้ว' ด้วยมักมีความคิดว่า สิ่งของที่หมดอายุแล้ว จะถูกส่งเข้าพิพิธภัณฑ์” - ปู - นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ประโยคข้างต้นคือจังหวะหนึ่งในบทสนทนาระหว่างเราและพี่ปู หรือ ‘นิตยา กนกมงคล’ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บุคคลที่เมื่อได้ยินชื่อตำแหน่งแล้วก็ชวนให้รู้สึกห่างไกลแปลก ๆ แต่เมื่อได้ลองนั่งลงพูดคุยกันจริง ๆ เรากลับพบว่าพี่ปูไม่ได้ห่างไกลเราขนาดนั้น เพราะหนึ่งในสิ่งที่พี่ปูทำก็คืองานภัณฑารักษ์ การจัดการศิลปะ และการเผยแพร่ความรู้ โดยโฟกัสไปที่ศิลปะจากโลกยุคเก่าอย่าง ‘โบราณวัตถุ’ ที่มักถูกผูกโยงเข้ากับเรื่องศาสนา ความเชื่อ และการอนุรักษ์ และด้วยความละเอียดอ่อนเช่นนี้ งานของพี่ปูจึงตั้งอยู่บนความท้าทาย เพราะด้านหนึ่งก็ต้องทำให้โบราณวัตถุไม่ใช่ของที่ตายแล้ว และสามารถให้สาธารณชนเข้าถึงได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมบริบทดั้งเดิม และให้ความสำคัญกับกาลเทศะ จารีต และประเพณีด้วย
โดยเฉพาะในปีนี้ เมื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายใต้การดูแลของพี่ปู ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในพาวิลเลียนหลักของ Bangkok Art Biennale 2024 เป็นครั้งแรก ภายใต้คอนเซปต์ ‘Nature Gaia’ (รักษา กายา) ซึ่งนอกจากพี่ปูและทีมภัณฑารักษ์ของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่จะให้ความร่วมมือและเปิดพื้นที่ให้ศิลปินร่วมสมัยเข้ามาทำงานบนพื้นที่จริงแล้ว ก็ยังมีเรื่องการนำโบราณวัตถุจากคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เข้ามาจัดแสดงร่วมกับงานศิลปะร่วมสมัยด้วย
ด้วยเหตุนี้ ทันทีที่เราทราบข่าวจากบก. ว่าจะได้เข้าไปสัมภาษณ์พี่ปู นอกจากความรู้สึกเกร็งและเกรงที่จะต้องพูดคุยกับคนระดับผู้อำนวยการ อีกหนึ่งเส้นเรื่องที่เกิดขึ้นในหัวตอนนั้นก็คือความดีใจ ที่จะได้ทราบเบื้องหลังโปรเจกต์นี้แบบวงในจากคนดูแลตัวจริง เพราะในฐานะที่ติดตามเทศกาลศิลปะตระกูลเบียนนาเลมาพอประมาณ เราเข้าใจดีถึงบทบาทและหน้าที่ของ ‘สถานที่’ ที่เป็นมากกว่าพื้นที่วางงานศิลปะ แต่ยังต้องส่งเสริม หักล้าง หรือสอดประสานกับเรื่องราวในงานศิลปะแต่ละชิ้นที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ด้วย และในทางเดียวกัน ศิลปะเองก็ต้องสะท้อนบริบทและประวัติศาสตร์ของพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์และบทบาทของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่เริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมิวเซียมหลวงในพระบรมมหาราชวัง มาจัดแสดง ณ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า และเปิดให้ประชาชนเข้าชมวัตถุทางวัฒนธรรม โบราณคดี และศิลปะตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 มาจนถึงยุคนี้ ก็ทำให้เราสัมผัสได้ถึงวิถีการเล่าที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษที่ทำให้ Bangkok Art Biennale 2024 บนพื้นที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีรสชาติที่ต่างออกไป เพราะนอกเหนือจากความเป็นหญิง เรายังสามารถมองเห็นเรื่องของ ‘เวลา’ ที่สะท้อนผ่านความหมายของพื้นที่ที่เคยเป็นทั้งอดีตวังหน้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และพื้นที่จัดเทศกาลศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน โดยมีโบราณวัตถุเข้ามาเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่สร้างความหมายใหม่ให้แก่กันและกันอย่างลงตัว
หลังจากเตรียมตัวกันมาแบบเต็มที่ ในช่วงบ่ายวันหนึ่ง ในที่สุดก็ถึงเวลาที่เราและทีม GroundControl รวมตัวกันลงพื้นที่ เพื่อไปพบกับพี่ปูตามเวลานัดหมาย และเมื่อทุกคนพร้อม พี่ปูพร้อม และเครื่องอัดเสียงก็พร้อม บทสนทนาแรกที่ดึงเราเข้าไปสำรวจโลกการทำงานในโปรเจกต์นี้ของพี่ปูก็ได้เริ่มต้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้โลกอดีตและปัจจุบันได้สนทนากันอย่างตรงไปตรงมา ผ่านงานศิลปะที่เล่นกับเวลา พื้นที่ และความเป็นหญิงในมิติต่าง ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
จุดเริ่มต้นแห่งบทสนทนาความเป็นหญิง ระหว่าง ‘โบราณวัตถุ’ และ ‘ศิลปะร่วมสมัย’ บนพื้นที่ประวัติศาสตร์
GC: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กับ Bangkok Art Biennale 2024 มาบรรจบกันได้อย่างไร
พี่ปู: จริง ๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจาก Bangkok Art Biennale เขามีแนวคิดหรือคอนเซปต์ประจำปีที่เกี่ยวกับเรื่องของไกอาและเพศแม่ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ให้กำเนิดและผู้รักษา ทีนี้พอพูดถึงเพศแม่ ทาง ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ และทีมก็นึกถึงความสำคัญของผู้หญิงผ่านการมองย้อนกลับไปหาประวัติศาสตร์และตำนานเทพเจ้าสตรีในหลายวัฒนธรรม มันเลยเชื่อมโยงเข้ากับการเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่
นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทีม Bangkok Art Biennale คิดถึงการจับคู่กันระหว่างประวัติศาสตร์และงานศิลปะร่วมสมัย โดยมองว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งมีโบราณวัตถุและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทย อาจเหมาะสมสำหรับการเล่าเรื่องในปีนี้ ทีมงานจึงได้เข้ามาหารือกับสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทำให้นอกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แล้ว ก็ยังมีการไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ด้วย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป นั้น แม้จะดูเหมือนเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะสมัยใหม่ แต่แท้จริงแล้วก็เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของเกาะกรุงรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งแนวคิดทั้งหมดนี้เกิดจากการพูดคุยร่วมกันระหว่างทีมงาน Bangkok Art Biennale และสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอดีตและปัจจุบันผ่านศิลปะ
GC: ทั้งสององค์กรมีการทำงานร่วมกันอย่างไรบ้าง เพื่อสร้างบทสนทนาระหว่างศิลปะร่วมสมัยและโบราณวัตถุ
พี่ปู: ในแง่ของหลักการทำงานของพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก ต่างมีบทบาทสำคัญในการเป็นพื้นที่ให้ความรู้แก่สังคม และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมหรือการจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทั้งโดยหน่วยงานภายในและภายนอกอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเปิดรับทุกกิจกรรม เพราะพิพิธภัณฑ์ต้องพิจารณาว่าเนื้อหาหรือกิจกรรมนั้น ๆ สอดคล้องกับพันธกิจของพิพิธภัณฑ์หรือไม่ รวมถึงต้องช่วยสนับสนุนให้พิพิธภัณฑ์สามารถถ่ายทอดความรู้สู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป
เช่นเดียวกับการนำโบราณวัตถุมาจัดแสดงร่วมกับศิลปะร่วมสมัย แน่นอนว่ากรมศิลปากรไม่ได้อนุญาตให้ใช้โบราณวัตถุในทุกกรณี แต่จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป โดยดูว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการทำสอดคล้องกับแนวทางการดูแลของกรมศิลปากรไหม ขัดแย้งกับวิถีปฏิบัติหรือภาพลักษณ์ที่เหมาะสมขององค์กรหรือเปล่า ถ้าพิจารณาแล้วว่าไม่มีปัญหา กรมศิลปากรก็ไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธความร่วมมือ
ในกรณีนี้ ทีม Bangkok Art Biennale เขาสนใจโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับเพศหญิงเพื่อเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่อง ‘เพศแม่’ แบบว่าเมื่อเราพูดถึงผู้หญิงในประวัติศาสตร์ หลายคนก็มักจะนึกถึงเทพเจ้าหรือบุคคลสำคัญในตำนาน เช่น เทพีวีนัส หรือในกรณีของบ้านเราก็นึกถึงพระแม่ธรณี หรือเทพองค์อื่น ๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของพลังแห่งการกำเนิด
เมื่อสนใจโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดนี้ ทางทีมเลยมองมาที่กรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุของประเทศไทย โดยเฉพาะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งอยู่ในสังกัดของกรมศิลปากรความร่วมมือนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนแนวคิดขอทีม Bangkok Art Biennale ที่อยากเชื่อมโยงงานศิลปะร่วมสมัยเข้ากับประวัติศาสตร์ผ่านโบราณวัตถุเหล่านี้
ยกตัวอย่างงานหนึ่งแล้วกัน เป็นงานของ นักรบ มูลมานัส งานของเขาจะเน้นมาที่นี่โดยเฉพาะเลย เพราะหัวข้อที่เขาสนใจเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยตรง ก็คือเขาอยากจะพูดถึงวิทยาการจากการเสด็จฯประพาสตะวันตกของรัชกาลที่ 5 ซึ่งการเสด็จฯครั้งนั้น เป็นต้นกำเนิดของความเป็นสมัยใหม่ ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน อย่าง ภารกิจพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หรือพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครในเวลานั้น ก็เป็นผลพวงของการเสด็จฯประพาสในครั้งนั้นด้วยเช่นกัน
ศิลปินเขาเลยน่าจะมองสถานที่แห่งนี้ว่าเป็นผลผลิตจากการเปลี่ยนแปลงหลังการเสด็จฯประพาสยุโรป ที่นี่จึงเป็นทั้งสถานที่เก่าและสิ่งใหม่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของเขา งานที่เขาเคยทำมาก่อนหน้านี้ก็ถูกขยายความเพิ่มเติมในบริบทของสถานที่แห่งนี้ด้วย
การทำงานสองฝั่งที่มาพร้อมความเข้าใจ เมื่อความถูกต้องมาก่อนความถูกใจ เพราะบริบทของสถานที่นั้นสำคัญ
GC: บทบาทของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ใน Bangkok Art Biennale 2024 เป็นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อโครงการนี้จัดขึ้นในบริบทของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พี่ปู: ในฐานะที่เราเป็นภัณฑารักษ์ เราเข้าใจบทบาทของตัวเองว่าหน้าที่ของภัณฑารักษ์คือการสื่อสารเรื่องราวผ่านนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเก่าหรือใหม่ มันก็คือการสื่อสารให้คนที่มาชมได้เข้าใจ ซึ่งในงานนี้เราไม่ใช่เจ้าของกิจกรรม และเราไม่ได้ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ได้คิดหรือลงลึกไปถึงรายละเอียดขนาดนั้น เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับผู้ที่มาคิด ผู้ที่มาใช้พื้นที่ หรือผู้ที่เป็นเจ้าของกิจกรรมอย่างทีม Bangkok Art Biennale ที่มาขอความร่วมมือจากเรา และขอนำโบราณวัตถุมาแสดงร่วมกับงานศิลปะร่วมสมัย
เราเลยเปิดพื้นที่ให้ศิลปินทำงานตามที่เขาอยากทำ เพียงแต่มีกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตาม เช่น ห้ามทำลายหรือดัดแปลงโบราณวัตถุโดยไม่เหมาะสม และการนำเสนอผลงานต้องไม่ล่อแหลมหรือกระทบต่อจารีตประเพณี เพราะที่นี่ไม่ใช่หอศิลป์ทั่วไป ผู้เข้าชมบางคนอาจไม่คุ้นชิน แต่ในส่วนของเนื้อหา เราปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศิลปิน เพราะพวกเขาคือคนที่ต้องสื่อสารเรื่องราวเหล่านั้น ไม่ใช่เรา หลังจากผลงานเสร็จสมบูรณ์ เราเองก็เดินดูหลายรอบเพื่อเรียนรู้ เพราะศิลปินทำงานไปจนถึงช่วงก่อนแถลงข่าวไม่นาน ก็ได้เห็นศิลปินเข้ามาลงมือสร้างสรรค์ผลงานในพื้นที่จริง
ทาง ดร.อภินันท์ และทีมเองก็ให้เกียรติเราตั้งแต่เริ่มการพูดคุยเหมือนกัน เขาเคารพต่อสถานที่และประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมาก ๆ โดยกระบวนการทำงานจะเริ่มต้นจากทีมของดร.อภินันท์ ซึ่งเข้าใจกระบวนการของพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างดี ได้พูดคุยกับภัณฑารักษ์และผู้ดูแลโบราณวัตถุในพื้นที่ เพื่อดูว่างานศิลปะใดเหมาะสมกับการจัดแสดงในบริบทของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ศิลปินที่ร่วมโครงการต้องเสนอแนวคิดและชิ้นงานล่วงหน้า โดยมีการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้งานเหล่านั้นไม่ขัดแย้งกับจารีตและความเหมาะสมของสถานที่
แต่ก็มีแอบเสียดายอยู่บ้าง เพราะมีงานบางชิ้นของศิลปินระดับโลกที่แรกเริ่มตั้งใจจะมาติดตั้งที่นี่ แต่เราต้องขอไว้ เพราะมีความเปลือย หรือมีเนื้อหาที่อาจขัดกับลักษณะของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ทางทีมงานเลยตัดสินใจให้ไปจัดแสดงในพื้นที่ที่เหมาะสมกว่า เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ซึ่งเน้นจัดแสดงศิลปะร่วมสมัยโดยเฉพาะ
ในกระบวนการทำงานและคัดเลือกโบราณวัตถุนั้น จึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีม Bangkok Art Biennale และทีมสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อให้แน่ใจว่างานที่จัดแสดงไม่เพียงเคารพต่อจารีตและกฎระเบียบ แต่ยังสามารถสะท้อนแนวคิดของศิลปินในขอบเขตที่เหมาะสมกับสถานที่นั้น ๆ งานนี้จึงเกิดจากความร่วมมือหลายฝ่ายที่มีเป้าหมายร่วมกันคือการสื่อสารเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านศิลปะในรูปแบบใหม่
บรรยากาศ ณ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พื้นที่จุดประกายแรงบันดาลใจ และการคัดสรรของเก่าด้วยมุมมองใหม่จนกลายเป็นงานร่วมสมัยใน Bangkok Art Biennale 2024
GC: ได้ยินว่าทีม Bangkok Art Biennale ศิลปิน และภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ ร่วมกันเลือกโบราณวัตถุที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เลยอยากให้ช่วยเล่าบรรยากาศในวันที่ทุกคนรวมตัวกันเพื่อเลือกโบราณวัตถุให้ฟังหน่อย
พี่ปู: ก่อนเริ่มงานนี้ ดร.อภินันท์และศิลปิน ได้ขอเข้าคัดเลือกโบราณวัตถุที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังโบราณวัตถุของกรมศิลปากร ภัณฑารักษ์ของคลังกลางฯ ได้สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของวัตถุแต่ละชิ้น จากนั้นศิลปินจึงได้คัดเลือกโบราณวัตถุที่ไม่อยู่ในหมวดที่อ่อนไหวหรือมีความสำคัญสูงมากนัก เพื่อนำมาเป็นองค์ประกอบในงานศิลปะร่วมสมัย ที่จะช่วยเล่าเรื่องตามแนวคิด ‘รักษา กายา’
กระบวนการสร้างงานศิลปะร่วมสมัยในครั้งนี้เริ่มต้นจากการศึกษาวัตถุที่ใช้จัดแสดง ทีม Bangkok Art Biennale ทั้งศิลปินและภัณฑารักษ์ ได้พิจารณาว่าโบราณวัตถุชิ้นใดเหมาะสมที่จะสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับ ‘แผ่นดิน’ และ ‘เทพผู้หญิง’ ซึ่งเป็นแนวคิดหลัก ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานของพวกเขาจากแรงบันดาลใจที่ได้เรียนรู้เนื้อหาของโบราณวัตถุเหล่านี้ จากภัณฑารักษ์คลังกลาง ฯ
โบราณวัตถุในคลังกลาง ฯ นั้นมีจำนวนมากทั้งที่เป็นโบราณวัตถุอายุนับพันปี และวัตถุร่วมสมัยที่มีคนมอบให้ เราเลยมีแอบคิดเหมือนกันนะว่า เขาจะเอาวัตถุเหล่านี้มาใช้ยังไง ด้วยวัตถุบางชิ้นที่ถูกเลือกมาก็เป็นของสร้างใหม่แหละ เป็นของเลียนแบบที่เรารับมาจากคดีความต่าง ๆ ไม่ได้แท้ทั้งหมด
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กับมุมมองเรื่องการเชื่อมโบราณวัตถุเข้ากับศิลปะร่วมสมัย
GC: การร่วมมือกันครั้งนี้เป็นครั้งแรกหรือเปล่าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครทำงานร่วมกับโลกศิลปะร่วมสมัย
พี่ปู: ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้เคยมีการจัดนิทรรศการ ‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ โดยท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เมื่อหกปีที่แล้ว เป็นการทำงานกับโบราณวัตถุเหมือนกัน แต่ครั้งนั้นเล่าเรื่องวังหน้าตามแนวคิดของศิลปินร่วมสมัย ก็นำโบราณวัตถุที่อยู่วังหน้ามาถ่ายทอดเรื่องของวังหน้าในมิติร่วมสมัย ดังนั้นถ้าถามว่าการทำงานกับโบราณวัตถุครั้งนี้ใหม่ไหม มันก็ไม่ใหม่ขนาดนั้น เพราะก่อนหน้านั้นก็มีจัดแบบนี้มาก่อนแล้ว
GC: ในมุมมองของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คิดว่าการเข้าร่วมเทศกาล Bangkok Art Biennale 2024 ส่งผลอย่างไรต่อความรู้สึกของผู้ชมในวงกว้างบ้าง
พี่ปู: มันก็จะมีสองด้าน ด้านหนึ่งก็คือเป็นโอกาสที่ดี เพราะในความเป็นโบราณวัตถุและพิพิธภัณฑ์ เวลาคนไทยทั่วไปพูดถึงพิพิธภัณฑ์ มักให้ความรู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์คือสถานที่ที่จัดแสดงสิ่งของที่ 'ตายแล้ว' ด้วยมักมีความคิดว่า สิ่งของที่หมดอายุแล้ว จะถูกส่งเข้าพิพิธภัณฑ์ คือคนจะคิดว่าอะไรที่ไม่ใช้แล้ว ไม่อยากเก็บไว้ ก็ส่งมาให้พิพิธภัณฑ์ ใช่ไหม? คุณมักจะส่งสิ่งที่ไม่ต้องการแล้วมาที่นี่ สิ่งที่ไม่อยากเก็บไว้ที่บ้าน แต่ก็ทิ้งไม่ได้ เพราะมันมีเรื่องราวบางอย่างผูกพันอยู่ มุมคิดแบบนี้ก็ทำให้พิพิธภัณฑ์ถูกมองเป็นที่เก็บของที่คนไม่ต้องการไปด้วย ยกเว้นในกรณีของนักสะสมที่ซื้อขายสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเขามองในแง่มุมของมูลค่าและความงาม อาจไม่ได้สนใจคุณค่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์
คนไทยทั่วไปที่ไม่ได้มองเรื่องซื้อขาย เขาก็จะรู้สึกเบื่อ ด้วยปกติแล้วโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์จะถูกนำมาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ ถามจริง เขาเบื่อไหม? คนไทยทั่วไปคงรู้สึกว่าไม่อยากมา เพราะมันดูเป็นเรื่องในอดีตที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตปัจจุบันของเขา นี่คือมุมของคนในประเทศเรา ส่วนประเทศอื่น อย่างยุโรป อาจไม่คิดแบบนี้ แต่คนไทยส่วนใหญ่มักไม่อินกับสิ่งเหล่านี้ จะมีก็แค่บางกลุ่ม เช่น คนในแวดวงวิชาการ หรือคนที่สนใจเรื่องปาฏิหาริย์หรือสายมู ซึ่งอาจมองโบราณวัตถุเหล่านี้ในมิติที่ต่างออกไป
แต่เมื่อนำโบราณวัตถุมาจัดแสดงในงานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งมีแนวทางเฉพาะคือ คนดูเป็นผู้คิดจินตนาการในสาระโดยอิสระ ฝ่ายศิลปินมีหน้าที่สร้างงาน โดยอาจมิต้องรับรู้ว่าผู้ดูจะรู้สึกยังไง คิดยังไงก็ได้ หลักการจึงเสมือนคำถามปลายเปิด ถามว่ามันก็ดีไหม? ระหว่างการได้ดูการจัดแบบเดิม ๆ จะเบื่อไหม คนไทยนะ ไม่ใช่ฝรั่ง ก็อาจจะเบื่อ แต่พอดูการจัดแบบใหม่นี้กลับรู้สึกตื่นเต้น อย่างเช่น เอาภาชนะดินเผารูปวัวโบราณมาจัดวางคู่กับหมูเด้ง อะไรแบบนี้ ซึ่งถ้าคนไทยทั่วไปก็คงถ่ายรูปแต่หมูเด้งไปด้วยความชื่นชอบ แต่ศิลปินหรือผู้ชมชาวต่างชาติ เขาอาจจะสนใจเรื่องราวของภาชนะดินเผารูปวัวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เขาอาจจะคิดว่าความสำคัญวัวในอดีตก็คือความดังหมูเด้งในปัจจุบันก็เป็นได้ ถูกไหม? ถึงได้มีการปั้นรูปวัวขึ้นมา
พี่เลยมองว่าศิลปินที่เอาโบราณวัตถุไปเล่าเรื่องในแบบของเขา ช่วยเราได้ในแง่ของการบอกกับคนยุคปัจจุบันว่าสิ่งเหล่านี้ยังเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในปัจจุบัน หรือแม้แต่อาจเกี่ยวข้องกับอนาคตได้ยังไง จะบวกหรือลบก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ศิลปินเขาเชื่อมเรื่องราวให้เราเห็นว่า สิ่งที่ผ่านไปแล้วมีความหมายยังไงกับปัจจุบัน
การเล่าเรื่องในมุมของศิลปินร่วมสมัยต่างจากวิธีเล่าแบบพิพิธภัณฑ์ทั่วไป ที่มักถูกบล็อกหรือถูกจัดเรียงตามลำดับยุคสมัยเหมือนตำราเรียน ซึ่งบางคนอาจรู้สึกเบื่อ แต่ศิลปินจะเล่าในวิถีของเขาเอง อิสระมากกว่า เพราะเขาอินกับเรื่องราวบางอย่างในโบราณวัตถุหรือสถานที่ที่มีความเป็นประวัติศาสตร์ พอเขาเล่าแบบนี้ คนที่มาดูจะรู้สึกว่าโบราณวัตถุมีคุณค่าขึ้น ไม่ใช่แค่ในแง่ของมูลค่า แต่รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้น่าสนใจมากขึ้น
ในฐานะคนดูคนหนึ่ง พี่มองว่ามันมีอิสระในความคิด อันนี้คือมุมที่ดี คือดีตรงที่โบราณวัตถุที่ถูกมองว่าพ้นเวลาแล้ว มีแค่คุณค่าในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์ ซึ่งจับต้องไม่ได้ คนเลยไม่รู้สึกว่าเกี่ยวข้องหรือสำคัญอะไรกับชีวิตเลย แล้วสิ่งเหล่านี้ถูกนำมาจัดวางใหม่โดยศิลปิน พร้อมทั้งสื่อสารออกมา คนก็อาจจะเข้าใจมากขึ้นว่ามันเชื่อมโยงอะไรกับชีวิตของเขา
แต่อีกมุมหนึ่งที่พี่แอบกังวลเล็กน้อยก็คือ คนไทยที่มาดู เขาจะเข้าใจไหม? ถ้าเป็นชาวต่างชาติ พี่ว่าพวกเขารู้แน่นอน เพราะพี่สังเกตว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมักมีความสนใจพิพิธภัณฑ์ เขาจะเข้าใจลักษณะการสื่อสารของพิพิธภัณฑ์ การเชื่อมโยงและการคิดตีความได้ดีกว่า แต่ถ้าเป็นคนไทยทั่วไป พี่ก็ยังลังเลเหมือนกันว่าจะเข้าใจไหม แต่ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็เป็นการทดสอบแนวทางใหม่ที่นี่
และก็อาจจะมีบางกลุ่มที่ตั้งคำถาม เช่น ทำไมเอาของเก่าไปวางร่วมกับของใหม่ เพราะคนไทยทุกวันนี้มีทั้งที่ไม่สนใจอะไรเลย กับอีกกลุ่มที่มีกฎเกณฑ์ในใจว่าต้องเป็นแบบนี้ ถ้าไม่เป็นก็ถือว่าผิด อะไรแบบนี้ ซึ่งมันเป็นสถานการณ์ที่พบเห็นบ่อยในโซเซียลมีเดียทุกวันนี้
อนาคตของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และความคาดหวังจากคนทำงาน ที่ต้องการสร้างภาพจำให้เป็นมากกว่าสถานที่เก็บของเก่า
GC: พันธกิจและวิสัยทัศน์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มุ่งเน้นไปที่เรื่องไหน
พี่ปู: อย่างแรกเลย พิพิธภัณฑ์ในโลกนี้มีหลากหลายประเภท ในประเทศไทยเองก็มีพิพิธภัณฑ์หลายรูปแบบ ทั้งพิพิธภัณฑ์ของเอกชน และของหน่วยงานอื่น ๆ แต่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินั้น มีภารกิจแรกเริ่มเป็นสถานที่สำหรับเก็บรักษาโบราณวัตถุสำคัญของชาติไม่ให้สูญหายหรือถูกลักลอบนำออกนอกประเทศ โดยมีกฎหมายกำหนดภารกิจนี้ไว้ชัดเจน จึงจะเห็นว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไม่สามารถเปลี่ยนไปจัดแสดงนิทรรศการที่เน้นการสื่อสารด้วยสื่อเทคโนโลยีอย่างเดียวเฉกเช่นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ของมิวเซียมสยาม หรือนิทรรศรัตนโกสินทร์ เพราะภารกิจหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคือการรักษาโบราณวัตถุที่เป็นมรดกของชาติให้ปลอดภัย ภารกิจที่สอง คือการสื่อสารให้ประชาชนรู้คุณค่าของโบราณวัตถุ โดยจัดนิทรรศการที่ช่วยถอดความรู้จากโบราณวัตถุที่ดูแลอยู่ เพื่อให้ประชาชนรับรู้ถึงความสำคัญ
ภารกิจที่สาม คือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ในการสื่อสารนิทรรศการโบราณวัตถุที่มีคุณค่า เป็นประจักษ์พยานของสายรากวัฒนธรรมในดินแดนไทย แก่ชาวต่างชาติเพื่อทำความรู้จักและเข้าใจประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังมีหน้าที่ในการสร้างประชากรที่มีคุณภาพด้วย เราอยากให้ลูกหลานของเรามีคุณภาพใช่ไหม ดังนั้น พิพิธภัณฑสถานต้องมีส่วนในการสร้างคุณภาพผ่านการเรียนรู้ โดยทำให้เป็นพื้นที่ที่คนอยากมารู้สิ่งที่อยากรู้ หรือแม้แต่สิ่งที่ไม่เคยอยากรู้มาก่อน การเปิดโอกาสนี้จะช่วยจุดประกายให้คนเกิดความรู้ และการเรียนรู้ที่นี่ไม่เหมือนในห้องเรียนที่ถูกกำหนดกรอบหรือภาคบังคับ แต่ที่นี่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้ค้นหาในสิ่งที่พวกเขาสนใจเอง ซึ่งนี่คือแนวคิดที่สำคัญ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ก็ปฏิบัติตามแนวทางพิพิธภัณฑ์สากล โดยต้องเป็นพื้นที่ของสังคม ไม่ใช่พื้นที่ปิดกั้น แต่เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้สังคมได้ใช้ประโยชน์ ทั้งในแง่ของการเรียนรู้และการส่งต่อความรู้ อย่างไรก็ตาม การเปิดพื้นที่นี้ก็ต้องมีกรอบและแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้งานที่สอดคล้องและเป็นประโยชน์ร่วมกัน