"เรามักบอกคนอื่นเสมอว่าอารมณ์และความรู้สึกระหว่างคนถ่ายรูปและตัวแบบคือหัวใจสำคัญของการถ่ายนู้ด เราต้องทำให้ตัวแบบไว้ใจเรา ทำให้ตัวตนของพวกเขาหลอมรวมเข้ากับความคิดของเรา นั่นจะนำมาสู่ภาพถ่ายที่ดี ซึ่งนั่นล่ะ พอเราเริ่มตั้งกล้องถ่ายเซลฟ์พอร์เทรต มันกลับกลายเป็นอีกเรื่องเลยนะ” โอม พันธุ์ไพโรจน์ เล่า
คุณไม่ไว้วางใจตัวเอง? - ผมสงสัย
“เปล่า แค่รู้สึกว่า หลังจากที่ภาพมันถูกบันทึกและจัดแสดง เมื่อพวกมันผ่านสายตาและความคิดของคนอื่นต่อไปเรื่อย ๆ บางทีเราก็มานั่งสงสัยว่าคนในรูปนั้นอาจไม่ใช่เราอีกต่อไป” เขาตอบ
โอม พันธุ์ไพโรจน์ คือศิลปินภาพถ่าย นักทำภาพยนตร์ และอาจารย์ศิลปะชาวไทยที่ใช้ชีวิตและทำงานในหลายประเทศทั่วโลก เขาเรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะได้ทุนไปเรียนด้านศิลปะที่อเมริกา และจบปริญญาเอกด้านปรัชญาที่ Harvard University และ Media Arts ที่ Eugeniusz Geppert Academy of Art and Design ในโปแลนด์ โอมเริ่มต้นถ่ายภาพตั้งแต่ปี 1977 ครอบคลุมตั้งแต่ภาพถ่ายแฟชั่นให้นิตยสาร Vogue, GQ และอื่น ๆ
หากแต่ผลงานที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุดคือภาพถ่ายนู้ดที่สะท้อนมิติของผู้คนชายขอบในพื้นที่อันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ภาพถ่ายคนข้ามเพศ “Identity Crisis: Transexual Series” (2011), ภาพถ่ายและภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับเซ็กส์เวิร์คเกอร์เด็กผู้ชายในไทยอย่าง “Underage” (2010 - 2016) รวมถึงการเดินทางไปทั่วโลกเพื่อถ่ายภาพนู้ดผู้ชายและ LGBTQ+ ให้สำนักพิมพ์ Bruno Gmuender จากเยอรมนี ซึ่งยังเป็นผู้ตีพิมพ์หนังสือให้เขา (ภายใต้ชื่อ Ohm Phanphiroj) มากถึง 18 เล่ม (2007 - 2019) และ
ใช่ เขาน่าจะเป็นช่างภาพที่มีโอกาสถ่ายรูปเปลือยของผู้ชายจากทั่วทุกมุมโลกมากที่สุดเท่าที่ผมเคยรู้จักแล้ว
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางร่างเปลือยนับพันที่เคยผ่านกล้องของโอม You Will Be There “คุณที่จะอยู่ตรงนั้น” นิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของโอมซึ่งกำลังจัดแสดงที่ Head High Second Floor ในย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ (ภัณฑารักษ์โดย ไรน์นี ไรน์ฮาร์ด ) กลับมีแง่มุมที่ต่างออกไป เพราะภาพถ่ายทั้งหมดที่จัดแสดงบนชั้นสองของบ้านไม้ที่เต็มไปด้วยงานศิลปะแห่งนี้ มีเพียงโอมคนเดียวที่เป็นตัวแบบ
“เราเริ่มถ่ายรูปตัวเองเปลือยครั้งแรกตอนปี 2015 ก่อนหน้านี้ โปรเจกต์ส่วนตัวของเราคือการถ่ายภาพนู้ดผู้ชายมาตลอด เราถ่ายรูปคนมาเป็นพัน ๆ รูป โดยพยายามเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเขาก่อนกดชัตเตอร์ แต่นั่นล่ะ เราไม่มีทางเข้าใจได้จริง ๆ หรอก หากเราไม่ได้เป็นแบบเอง” โอมกล่าว
ชุดภาพถ่าย You Will Be There จัดแสดงครั้งแรกที่ Rooftop Gallery กรุงเทพฯ ในปี 2015 ก่อนที่จะถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการกลุ่มที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะใน Memphis College of Arts สหรัฐอเมริกาในปีต่อมา และ RMA Gallery กรุงเทพฯ ในปี 2018 อย่างไรก็ดี ตลอดเกือบสิบปีที่งานชุดนี้ได้จัดแสดง โอมก็ยังคงบันทึกภาพถ่ายร่างเปลือยของเขาเองเก็บไว้อย่างต่อเนื่องทั้งบ้านที่อเมริกา และที่พักในจาเมกา คอสตาริกา รวมถึงโปแลนด์ ภาพถ่ายร่างกายเปลือยเปล่าต่างวาระและมากด้วยอารมณ์ความรู้สึกถูกสะสมกว่าหลายร้อยรูป ก่อนจะถูกคัดสรรให้เหลือ 50 รูป มาจัดแสดงที่ Head High Second Floor เชียงใหม่ในขณะนี้
“อีกเรื่องที่เราคิดได้ตอนเริ่มถ่ายรูปชุดนี้คือเราแก่แล้ว” โอมหัวเราะ “เราคิดว่าทุกคนต้องมีช่วงเวลาที่แก้ผ้ามองดูตัวเองในกระจก และทำได้แค่ทอดถอนใจ” เขาเล่าต่อ “ทั้งความหย่อนคล้อย ผิวหนังที่เหี่ยวย่น หรือความรู้สึกอันถมไม่เต็ม ซึ่งนั่นล่ะ ต่อให้คุณจะมีรูปร่างดีในสายตาคนอื่นแค่ไหน แต่คุณก็อาจจะรู้สึกว่ามันไม่เคยสมบูรณ์พอ คุณอาจจะอยากได้กล้ามที่ใหญ่กว่านี้ อยากมีซิกแพ็ค สูงกว่านี้ หรือผอมกว่านี้ แต่ที่เจ็บปวดกว่านั้นก็คือ เรือนร่างที่เรามองว่ามันไม่เคยสมบูรณ์เช่นนี้ นับวันมันก็จะแย่ลงไปอีกเรื่อยๆ และเราจะอยู่กับมันได้อีกไม่นาน”
โอมถ่ายภาพเปลือยตัวเองอย่างต่อเนื่องก็เพื่ออยากเผชิญหน้ากับความรู้สึกดังกล่าว …การยอมรับกระบวนการเสื่อมถอยของร่างกายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ขณะเดียวกันภาพถ่ายก็เป็นดังการเปิดเปลือยอัตลักษณ์ของเขาเองต่อผู้ชม
“เรามั่นใจว่าตัวตนหรืออัตลักษณ์ของเราจะไม่มีทางเปลี่ยนไป แต่แน่นอนว่าร่างกายที่ห่อหุ้มมันไว้จะไม่มีทางเหมือนเดิมเสมอไป ภาพถ่ายจึงเป็นเหมือนวิธีการแช่แข็งห้วงเวลาต่าง ๆ ของเราไว้”
เป็นการทำความเข้าใจว่าครั้งหนึ่งเราเป็นยังไงและเป็นใคร - ผมเสริม
“ไม่ใช่แค่นั้น แต่พอร่างกายเราถูกแปรให้กลายเป็นวัตถุทางศิลปะ มันก็เป็นการทำให้คนอื่นได้สำรวจเรา ทำความเข้าใจเรา หรือบางทีอาจจะตัดสินเราด้วย” เขาตอบ
“จริงอยู่ที่มันเป็นงานส่วนตัวเรามากๆ ขณะเดียวกันเราก็อยากสำรวจสิ่งที่ไปไกลกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความเป็นเจ้าของ อย่างที่บอกว่าพอเราเอารูปตัวเองมาจัดแสดง บางครั้งเราก็กลับรู้สึกว่าคนในรูปมันไม่ใช่เราอีกต่อไป หากกลายเป็นวัตถุหนึ่งที่เปิดให้คนดูจับจ้องและแสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกันร่างเปลือยของเรามันก็เป็นเหมือนภาพแทนอันเป็นธรรมชาติในร่างกายพวกเราทุกคน”
เราไม่ได้ถามโอมถึงความหมายของชื่อนิทรรศการ You Will Be There แต่ไม่มากก็น้อย คำตอบของเขาน่าจะสื่อนัยไม่ไกลกว่านี้
“ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะไม่พึงพอใจหรือมั่นใจกับร่างกายของเราเอง เราอาจเห็นถึงความไม่สมบูรณ์ และกลัวว่าคนรักของเราจะจากไปสักวันเพื่อหาคนที่ดีกว่า แต่นั่นล่ะ don’t give a fuck เราจะทำอะไรได้ แค่ยอมรับในสิ่งที่เป็น ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราภาคภูมิใจในตัวเอง ตัวตนของเราจะคงอยู่ ไม่เปลี่ยนไป” โอมกล่าว
ปัจจุบันโอมใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่นิวยอร์ก แอตแลนตา และกรุงเทพฯ ควบคู่ไปกับการถ่ายภาพและทำภาพยนตร์ เขายังเดินทางไปบรรยายและทำเวิร์คช็อปที่สถาบันการศึกษาศิลปะชั้นนำหลายแห่งในหลายประเทศ ทั้งยังดำรงตำแหน่งอาจารย์อาวุโสด้านภาพยนตร์และการถ่ายภาพที่วิทยาลัยทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง แอดนา แมนเลย์ (Edna Manley College of Visual and Performing Arts) ประเทศจาเมกา และล่าสุดเขากำลังทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับ sex worker เด็กผู้ชายในประเทศไทย ซึ่งเป็นโปรเจกต์ต่อเนื่องจากชุดภาพถ่ายที่เขาเริ่มทำในปี 2011
นิทรรศการ You Will Be There จัดแสดงที่ Head High Second Floor ถนนสิงหราช ซอย 1 ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ (เปิด 15.00 – 19.00 น. ยกเว้นวันจันทร์ แต่จะให้ดีกรุณานัดหมายก่อนเข้าชม) ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2024 hh.2ndfloor ติดตามผลงานอื่น ๆ ของโอมได้ทาง ohmphotography
เรื่อง: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: โอม พันธุ์ไพโรจน์ และ Head High Second Floor