คุยกับ เชน สุวิกะปกรณ์กุล ว่าด้วยโลกศิลปะดิจิทัลในมุมมองของนักสะสม และการเป็นเจ้าของงาน NFT ของ Damien Hirst!

Post on 24 January

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เดเมียน เฮิร์สต์ ศิลปินคอนเซปชวลอาร์ตตัวพ่อชาวอังกฤษ ได้ปล่อยผลงานศิลปะที่ชื่อว่า The Currency ออกมาให้นักสะสมงานศิลปะได้จับจองกัน ซึ่งการมาถึงของ The Currency นั้นก็ทำให้โลกศิลปะสั่นสะเทือน เพราะผลงานชิ้นนี้ไม่เพียงเป็นหมุดหมายสำคัญที่บอกเล่าการที่ศิลปินระดับโลกกระโจนลงมามีส่วนร่วมในโลกของ NFT (Non-Fungible Token) เป็นครั้งแรก แต่มันยังเป็นผลงานที่ท้าทายและทดลองความหมายของศิลปะ ผ่านการที่ศิลปินเชื้อเชิญให้ผู้ซื้อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของงาน โดยผู้ซื้อทั้ง 10,000 คนที่ได้ครอบครองผลงานรูป ‘จุด’ (dot) ที่แตกต่างกัน 10,000 ชิ้น จะต้องตัดสินใจเอาเองว่า จะรับงานไปครอบครองในรูปแบบของตัวชิ้นงานที่เป็นกระดาษจับต้องได้ หรือจะรับไปในรูปแบบ NFT ที่จะทำให้งานชิ้นนี้มีตัวตนอยู่ในโลกดิจิทัล …โดยหากเลือกในรูปแบบนี้ ตัวงานชิ้นกระดาษจะถูกทำลายไป เพื่อให้ผลงานที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกนี้ดำรงอยู่ในรูปของไฟล์ดิจิทัลเท่านั้น!

การวัดใจและท้าเชิญให้เหล่านักสะสมงานศิลปะเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินชะตากรรมของผลงานชิ้นหนึ่งทำให้ The Currency เป็นที่หมายปองของนักสะสมงานศิลปะทั่วโลก โดยเฉพาะเหล่านักสะสม NFT ที่กำลังบูมสุด ๆ อยู่ ณ ขณะนี้ ทันทีที่เปิดให้ลงทะเบียนเพื่อร่วมลุ้นเป็นหนึ่งใน 10,000 คนที่จะได้ครอบครองงานศิลปะชิ้นประวัติศาสตร์ โควต้าการจองก็เต็มอย่างรวดเร็ว

และหลังจากการสุ่มโดยทีมงานของเฮิร์สต์ ผลปรากฏว่า ประเทศไทยของเราก็มีตัวแทนคนรักศิลปะที่ได้เป็นหนึ่งในผู้ครอบครองผลงาน NFT ชิ้นแรกของศิลปินระดับโลก นั่นก็คือ คุณเชน สุวิกะปกรณ์กุล ที่ใคร ๆ อาจคุ้นเคยกันดีในฐานะเจ้าของ Serindia Gallery และสำนักพิมพ์หนังสือศิลปะ Serindia Publications รวมถึงการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังร้านหนังสือสุดชิคอย่าง Hardcover ที่ Open House ของ Central Embassy และ Retail Library ใน Central: The Original Store!

ในขณะที่ด้านหนึ่งของคุณเชนคือนักธุรกิจผู้คร่ำหวอดในแวดวงศิลปะและวัฒนธรรม ในอีกด้านหนึ่ง คุณเชนก็กำลังสนุกกับโลกของงานศิลปะ NFT โดยใช้ชื่อในฐานะนักสะสมว่า Miss Otis และมีเป้าหมายสำคัญเป็นการเก็บสะสมผลงานเพื่อจัดนิทรรศการศิลปะที่รวมผลงาน NFT เข้าไปด้วยเป็นครั้งแรก

หลังจากที่เราได้คุยกับ ‘นักสร้าง’ ผลงาน NFT มาแล้วมากมาย วันนี้ GroundControl ขอพาทุกคนไปสำรวจโลกของ NFT ในมุมมองของ ‘นักสะสม’ กันบ้าง ความน่าสนใจของการสะสมงานศิลปะดิจิทัลคืออะไร? อนาคตของตลาด NFT จะทอดยาวไปถึงไหน? แล้วคุณเชนจะตัดสินใจเลือกเก็บงาน The Currency ในรูปแบบของงาน Physical หรือ NFT? ขอบอกเลยว่า ใครที่กำลังคิดจะกระโจนลงสนาม NFT กับเขาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้างหรือผู้สะสม ไม่ควรพลาดบทสัมภาษณ์นี้อย่างยิ่ง!

จุดเริ่มต้นในโลก NFT, การถือกำเนิดของ Miss Otis และพื้นที่เสรีที่ได้ค้นพบความชอบอีกด้านหนึ่งของศิลปะ

“คือเรื่องเกี่ยวกับ Blockchain เนี่ยเรารู้จักมานานแล้ว เพราะว่าเราทำสำนักพิมพ์ ตอนนั้นเราอยากใช้เทคโนโลยีของ Blockchain ในการทำ Smart Contract ที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์หนังสือและการตกลงลิขสิทธิ์กับตัวนักเขียน แต่ตอนนั้นเรื่องทางเทคนิคยังค่อนข้างยากอยู่ ก็เลยยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็รันโปรเจกต์มาเรื่อย ๆ จนกระทั่ง NFT มาปุ๊บ เราที่คุ้นเคยกับ Blockchain อยู่แล้วก็เลยจับทางได้เลย แล้วก็รู้สึกว่านี่มันจะเป็นอีกหนึ่งมูฟเมนต์ที่สำคัญเลยนะ เราก็เลยเข้ามาศึกษาจริงจัง พยายามคุยกับคนอื่น ๆ ที่น่าจะรู้ แต่ตอนนั้นมันยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ทุกคนแบบ ‘NFT อะไรอะเธอ ดิจิทัลอาร์ตเหรอ หวายย…’ (หัวเราะ)

“ตอนนั้นเราก็เลยมาศึกษาจริงจังด้วยตัวเอง ก็เริ่มเข้าใจเรื่องของดิจิทัลอาร์ต เข้าใจว่ามันเป็น Virtual World หรือโลกอีกโลกนึงไปเลย เราเลยสร้างตัวตนในโลกดิจิทัลอาร์ตขึ้นมาสองตัวตน ตัวตนแรกเป็นศิลปินช่างภาพที่ทำงาน NFT สร้างงานจากภาพถ่ายส่วนตัวเก่า ๆ หรือภาพที่เล่าเรื่องกรุงเทพฯ อีกตัวตนนึงก็คือ Miss Otis ที่เป็นคอลเลกเตอร์ แล้วก็ลองซื้องานของคนอื่นดู

“การซื้อผลงานครั้งแรกของเราเกิดขึ้นจากการที่เราไฟังคลับเฮาส์ของฝรั่ง แล้วก็ไปเจอห้องที่เขาคุยกันเรื่องที่ Levi’s 501 ครบรอบ 120 ปี มีการประกาศในห้องว่า ‘เออ วันนี้ฉันจะดร็อป NFT ที่เป็นเทรดดิงการ์ดของ นาโอมิ โอซากะ (นักเทนนิสหญิงสัญชาติญี่ปุ่นที่ปัจจุบันครองตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งของโลก)’ เราก็เลยตามไปกดดู ก็รู้สึกชอบ แล้วเขาดร็อปแค่ 100-150 ชิ้นเอง ดร็อปแค่วันเดียวด้วย เราก็คิดว่าราคามันแค่ 50 เหรียญ ประมาณพันกว่าบาท ก็เลยลองซื้อดู

“หลังจากซื้อชิ้นแรกก็ติดใจ แล้วก็ซื้องานอื่น ๆ ต่อมาเรื่อย ๆ แต่เราไม่อยากให้ภาพของเราที่คนรู้จักจากการทำแกลเลอรีมาปนกับภาพนี้ เลยตั้งชื่อตัวตนที่เป็นคอลเลกเตอร์ NFT ว่า ‘Miss Otis’ เป็นชื่อจากเพลงที่ชอบ นั่นก็คิอ Miss Otis Regrets ของ Cole Porter ตัวตนในฐานะ Miss Otis ก็จะเป็นคนที่มีคริปโตวอลเลต แล้วก็ซื้องานขำ ๆ ไปเรื่อย เห็นงานกราฟิกถูกใจก็ซื้อ จนซื้อแล้วติด เหมือนซื้อสติ๊กเกอร์บน Line (หัวเราะ)”

‘The Currency’ ผลงานศิลปะ NFT จาก เดเมียน เฮิร์สต์ ที่ศิลปินชวนคอลเลกเตอร์มาร่วมกันค้นหา ‘คุณค่า’ ของศิลปะ

“ช่วงหลัง ๆ เราไม่ได้ติดตามผลงานของเดเมียน เฮิร์สต์เท่าไหร่ แต่อยู่ดี ๆ ก็ได้ข่าวว่าเขามาทำงานเพนติง โดยใช้ ‘จุด’ หรือ Dot Painting วาดเป็นจุดทั้งผืนและรูปดอกซากุระ พอเรารู้ว่าเขาจะเปิดให้ลงชื่อเป็นระยะเวลาหนึ่งอาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 14-21 มิถุนายน เราเลยลงชื่อจองไปขำ ๆ ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะได้หรอก แต่พอประมาณวันที่ 24 ก็อีเมลมาว่า เออ คุณได้รับสิทธิ์ให้ซื้อนะ และต้องจ่ายเงินภายใน 48 ชั่วโมง ก็เลย เออซื้อก็ได้ ถือว่าลงทุนและวัดดวง (หัวเราะ)

“The Currency คือโปรเจกต์ที่เฮิร์สต์ทำมาตั้งแต่ปี 2016 โดยเขาทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาจากความหลงใหลส่วนตัว ตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรคือจุดที่สมบูรณ์ สีที่สมบูรณ์ เราได้ยินว่าเขาทำออกมาเป็นหมื่นชิ้น พอทำไปทำมา เราก็เริ่มสนใจในแง่ที่ว่า งานนี้มันเป็น Natural Progress ของเขา

“เรามาสนใจมากขึ้นตอนที่มีข่าวว่า พอผู้ว่าการธนาคารอังกฤษคนเก่ารู้ว่าเฮิร์สต์จะทำงานชิ้นนี้ออกวางขายในรูปแบบของ NFT เขาก็มีการทำวิดีโอคุยกับเฮิร์สต์เรื่องคุณค่าและมูลค่าของงานศิลปะ ตรงนี้ล่ะที่เรารู้สึกว่างานนี้น่าสนใจจริง ๆ ในอนาคตก็น่าจะระบุไว้เลยว่า นี่คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการศิลปะที่เกิดขึ้นเพราะการมาถึงของ NFT

“คำถามสำคัญก็คือ คุณค่า (Value) ของงานนี้มันอยู่ที่ไหน? คุณค่าในที่นี้ทั้งที่สามารถวัดได้เป็นตัวเงิน และคุณค่าในแง่ของความยูนีกในตัวมัน การที่งานแต่ละชิ้น จุดแต่ละจุด มีเพียงแค่ชิ้นเดียว ซึ่งศิลปินเขาก็ทำมีเครื่องวัดออกมาในฐานที่เป็นสี เป็นจุด เป็นชื่อ คือเขามีวิธีวัดออกมา มันก็แบบดูได้หลายมิติมาก อันนั้นคือคุณค่าในแง่ของความยูนีกของงาน แต่คุณค่าหรือมูลค่าในแง่ของตัวเงินก็น่าสนใจ เพราะว่ามีคนพูดไว้ว่า สมมติว่างานนี้เป็นงานกระดาษอย่างเดียว ไม่ได้ทำออกมาในรูปของ NFT ด้วย เมื่อปล่อยมาในตลาดก็คงขายได้อยู่ที่ประมาณ 12,000 – 15,000 เหรียญ พอหักค่าคอมมิชชั่นตามแกลเลอรีต่าง ๆ แล้วก็จะเหลือมูลค่าประมาณ 7,000 – 8,000 เหรียญ

“แต่ตอนนี้งาน NFT ที่มีคนเอามาปล่อยต่อมาประมาณ 1,300 กว่าชิ้นเนี่ย ราคาเฉลี่ยได้ขยับขึ้นมาสูงมากถึงประมาณ 15,000 เหรียญแล้ว และแนวโน้มที่จะตกผลึกฐานราคาเฉลี่ยที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ความน่าสนใจมันจึงอยู่ที่ว่า ถ้าเกิดราคา NFT มันสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ แสดงว่า ผลงาน NFT เนี่ยมีราคาเป็นของตัวเองแล้วนะ หลุดโลกศิลปะที่จับต้องได้ไปแล้ว ไม่เกี่ยวกับกระดาษแล้ว เพราะสมมติว่าในบรรดา 10,000 คนที่ได้สิทธิ์ในการซื้องานนี้ มีคนเลือกเอาเป็นเวอร์ชั่นกระดาษสัก 5,000 ชิ้น อีก 5,000 ชิ้นที่เหลือที่เลือกเป็น NFT แล้วก็เผาตัวงานกระดาษทิ้งไป ราคาของตัวงานที่เป็น NFT มันก็ยังขึ้นไปได้เรื่อย ๆ อีกในโลกของมันเอง เพราะมันไปอยู่ในโลกของมันแล้ว ในขณะที่เวอร์ชั่นกระดาษก็ยังราคาอยู่ที่ 15,000 เหรียญ นี่เลยเป็นเหมือนงานที่พิสูจน์ว่า โลกของ NFT กับโลกการซื้อขายศิลปะแบบ Physical จับต้องได้มันตัดขาดจากกันแล้ว เป็นคนละโลกเลย”

NFT โลกของนักสะสมงานศิลปะมือใหม่ที่ไม่เครียด ไม่เกร็ง ใครก็สะสมได้ ถ้ามีใจอยากศึกษา

“ตลาด NFT เป็นตลาดการซื้อขายงานศิลปะที่สนุก ถ้าอยากลองก็เข้ามาเลย แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องมี Technical Knowledge พอสมควร ถึงมันจะซื้อง่าย แต่ตอนนี้ใช่ว่าใคร ๆ ก็ซื้อได้ เพราะแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมี MetaMask หรือ Crypto Wallet (แพลตฟอร์มสำหรับเก็บสะสมเหรียญ Ethereum (ETH) ที่ไว้ใช้ซื้อขาย NFT)

“นั่นคือข้อแรกสำหรับคนที่อยากลองซื้องาน NFT ข้อที่สองก็คือ เราต้องประเมินตัวเองว่ามีบัดเจตเท่าไหร่ เราจะซื้ออะไรบ้าง เพราะบางประเทศเขามีข้อกำหนดมาเลยว่า ในแต่ละอาทิตย์ คุณจะสามารถซื้อเงินคริปโตได้เท่าไหร่ เพราะเขาต้องการที่จะป้องกันไม่ให้มีการฟอกเงิน ส่วนตัวเราซื้อขำ ๆ ไม่ได้ซื้อจริงจังแบบคนที่เล่นบิตคอยน์มาเป็นสิบ ๆ ปี คนพวกนี้เขามีเหรียญเยอะก็เอามาเทรดเป็น Ethereum เพื่อเอาไว้ซื้อ NFT เป็นการแปลงสกุลเงินดิจิทัลให้กลายเป็นสินทรัพย์ เป็นงานศิลปะ

“NFT กลายเป็นสินค้าที่มูลค่าของมันคือความยูนีก ลองคิดว่าเรามีเงินอย่างเดียว มันก็ไม่ยูนีก เพราะใคร ๆ ก็มีเงิน แต่การที่เรามีงานศิลปะ NFT มีงานที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีการบันทึกชุดข้อมูลไว้ในระบบ มันทำให้เรามีสินทรัพย์ที่มีเพียงชิ้นเดียว เรามีคนเดียว คนอื่นไม่มี เมื่อเรานำไปเทรด มูลค่าของมันก็จะเพิ่มขึ้น (หรือลดลงก็ได้) การซื้อ NFT มันจึงเหมือนกับการที่เรามีเงินแล้วเอาแบ่งเงินมาลงทุนซื้องานศิลปะเก็บไว้”

ผลงานของ ‘she's strange’

ผลงานของ ‘she's strange’

‘NFT’ โลกใบใหม่ที่ใช่แค่ใหม่สำหรับคอลเลกเตอร์ แต่เป็นโลกอีกใบสำหรับศิลปินเช่นกัน

“เราไม่ค่อยเห็นศิลปินที่ Established มีชื่อเสียง หรือมีงานแสดงอยู่ในแกลเลอรีแล้วข้ามมาทำ NFT เท่าไหร่ มันเหมือนเป็นโลกคนละใบกันเลยน่ะ ในขณะเดียวกัน ศิลปิน NFT ที่จะข้ามมาฝั่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายง่าย

“ในแง่ของศิลปินที่มีชื่อเสียงมาก่อนแล้ว การข้ามมาทำ NFT ก็อาจยังขัดกับภาพจำของคอลเลกเตอร์ที่มีต่องานศิลปะแบบดั้งเดิม มันเสี่ยงที่จะถูกประณามได้ง่าย ๆ ว่า ‘เฮ้ย เธอมาทำงานดิจิทัลอาร์ตเหรอ อะไรเนี่ย?!’ ทุกคนจะกังวลว่า มันจะเป็นการลดมูลค่างานของตัวเองรึเปล่า หรือคนอาจมองได้ว่า ‘แหม พอเห็นว่ามันกลายเป็นเทรนด์ขึ้นมา ขายดีขึ้นมา ก็จะหันมาทำบ้างเหรอ?’ คือมันต้องตอบคำถามคนเยอะมาก อีกอย่างหนึ่ง การจะหันมาทำศิลปะรูปแบบนี้มันต้องระวัง ต้องคิดดี ๆ ว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหน เล่าเรื่องยังไง อย่างที่เราซื้องานของเดเมียน เฮิร์สต์ ก็เพราะสนใจว่ามันเป็นตัวอย่างที่ดีของศิลปินที่ดังมีชื่อเสียงอยู่แล้ว แล้วหันมาทำ NFT

“สำหรับศิลปินที่มีขื่อเสียงอยู่แล้ว ขายงานได้อยู่แล้ว สมมติว่าเพนทิงชิ้นนึงขายเป็นล้าน ๆ แล้วอยู่ดี ๆ จะมาทำ NFT ก็ต้องคิดให้ดีว่าจะทำยังไงให้ไม่เสียมูลค่างานของตัวเอง หรือว่าจะยอมมาสร้างฐานคนซื้อใหม่ สร้างฐานคอลเลกเตอร์ใหม่ที่สะสมงาน NFT ของตัวเองโดยเฉพาะ คือเรียกง่าย ๆ ว่ามาเริ่มต้นบิลด์ชื่อเสียงใหม่ เป็นศิลปินที่มีผลงานในราคาที่คนทั่วไปพอจะซื้อได้ มีจุดประสงค์ที่แน่นอนไปเลยว่าต้องการจะให้พัฒนาฐานลูกค้าใหม่ที่เป็นระดับที่เด็ก ๆ เลย แล้วก็ยอมรับตรง ๆ เลยว่างาน NFT ของเราอันนี้เป็นงานคอมเมอเชียลแล้ว มันก็อาจจะขายได้ในแง่ของการเป็นคอลเลกชั่น NFT ของศิลปินคนนี้ ก็ยังไม่น่าเกลียด แต่ถ้าเกิดสมมติว่าอยู่ดี ๆ เอางานมาลงแล้วบอกว่าขาย 200,000 บาท เท่ากับราคาที่ขายงานปกติข้างนอกนะ เป็นราคาของศิลปินใหญ่แล้ว แล้วถามว่าจะมีใครซื้อมั้ย ก็คงยาก

“หรือถ้าสมมติศิลปินใหญ่คิดจะเอางานที่เคยแสดงในแกลเลอรีมาสแกนขายในรูปแบบ NFT มันก็จะตามมาด้วยคำถามอีกมากมายเยอะแยะไปหมด คนที่ซื้อไปแล้วก็คงจะมีคำถามว่า แล้วผลงานที่ฉันซื้อไปนี้มันคือเอดิชั่นอะไร? แล้วมันรูปเดิมหรือเปล่า? เป็นรูปที่เคยขายไปแล้วหรือเปล่า? มันก็ต้องตอบคำถามหลายอย่าง เพราะฉะนั้นศิลปินที่จะมาทำตรงนี้ก็ต้องเหมือนกับสร้างตัวเองใหม่เลยว่า งานชุดนี้ เป็นที่ทำสำหรับ NFT โดยเฉพาะ โดยมีคอนเซปต์แบบนี้ ๆ เหมือนกับที่เฮิร์สต์ทำ”

โลกศิลปะสำหรับเหล่าคอลเลกเตอร์มือใหม่ ศิลปินหน้าใหม่ และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ

“เรามองว่า NFT ตอนนี้เป็นพื้นที่โอกาสสำหรับศิลปินเด็ก ๆ ที่จะทำ คิดจะทำอะไรก็ทำเลย NFT มันเหมือนกับเป็นอาร์ตมาร์เก็ตโดยสำเร็จรูป โดยไม่ต้องผ่านใครทั้งสิ้น เราสามารถรู้ได้ว่าใครขายอะไร ใครซื้ออะไร ใครประมูลอะไรบ้าง มันรวบรัดอยู่ในตัวเอง ซึ่งคนซื้ออย่างเราก็สามารถที่จะคาดการณ์ได้ว่า ศิลปินคนนี้จะไปไกลขนาดไหน มีงานไหนน่าสนใจบ้าง มีอยู่งานนึงที่เขาทำเป็นร้านขายอาหารตามสั่ง (Tamsang) แต่ละวันจะทำเมนูไม่ซ้ำกัน วันนี้ทำรูปกราฟฟิกมาเป็นกะเพราหมู เราก็ติดตามว่าวันนี้เขาจะทำเป็นเนูอะไร เราก็ไปซื้อ ขำ ๆ ตลกดี

“มีอีกอันหนึ่งที่เขาทำโดนัท (Dough Dough) คือปกติเราก็ชอบงานกราฟฟิกอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว แล้วก็เห็นว่าคอนเซปต์เขาน่าสนใจดี คือศิลปินเขาเปิดร้านกาแฟ และเขาจะขายโดนัท แต่ว่าขอขายโดนัทเป็น NFT ก็แล้วกัน คอนเซปต์ของเขาก็จะเป็นแบบว่า วันนี้ฉันจะอบโดนัทรสนี้ หน้าตาอย่างนี้ แล้วในเดือนมิถุนายนที่เป็นเดือน Pride Month เขาก็ทำ Rainbow Donut ขึ้นมา เราก็ซื้อไว้ น่ารักดี

“อีกงานหนึ่งที่เขาทำออกมาเป็นรูปมด 1,000 ตัว แล้วมีมดแดงตัวนึงอยู่ตรงกลาง ศิลปินวาดด้วยดินสอหมดเลย แล้วใครซื้อเขาก็จะส่งตัวงานจริงมาให้ สวยมาก แล้วเขามีการต่อยอดผลงานโดยออกมาเป็นมดตัวเดี่ยว ๆ ว่า ใครที่ซื้อและได้รูปมดของตัวเองไปแล้วสามารถหาได้ว่ามดของตัวเองคือมดตัวไหนในบรรดามดพันตัวที่อยู่ในรูปรวม ก็จะได้รางวัลไปด้วย”

“สำหรับเรา การเลือกซื้อผลงาน NFT สักชิ้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสามข้อคือ 1.คอนเซปต์ ต้องมีคอนเซปต์ที่แม่นจริง ๆ สามารถเล่าเรื่องราวได้ตลอด ถือว่าเป็นการทดสอบความคิดของศิลปิน 2. ความมีเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง (consistancy) ต้องเล่าเรื่องแบบแยบยลและชาญฉลาด สมมติว่าทำอิลัสเตรชั่นสวย ๆ มารูปนึง ถ้าไม่เล่าเรื่องแบบต่อเนื่อง พอผ่านไปมันก็แค่เป็นรูปสวย ๆ รูปหนึ่ง ไม่มีอะไรเกิดขึ้น คอลเลกเตอร์ที่ซื้อไปแรก ๆ ก็จะเลิกสนใจ เพราะไม่มีเรื่องราวให้ติดตามมากไปกว่านี้ และ 3. การดึงให้คนซื้อมีส่วนร่วม (engagement) คือมีสตอรี่ที่คนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับงาน เข้าไปสนุกกับงานได้”