อยู่ดี ๆ ก็มีกลิ่นส้มลอยมา ในระหว่างที่ พวงสร้อย อักษรสว่าง ผู้กำกับ (ใน) การแสดง ‘A Draft of Dead Birds’ กำลังนั่งคุยกับอรอนงค์ ไทยศรี (นักแสดง สมาชิกกลุ่มละคร B-Floor) เพื่อคัดเลือกหรือ “แคสติ้ง” เธอมารับบทบาทตัวละครสาวที่ดัดแปลงมาจากจากหนังสือวรรณกรรม ‘เมืองมลาย’ โดย ‘เวลา’
เรามองหาอยู่ตั้งนาน ในห้องสูงใหญ่ของ BANGKOK CITYCITY GALLERY ที่ตอนนี้กลายเป็นฉากละครที่ผู้ชมเดินปะปนไปกับนักแสดงและตัวละครไปแล้ว จนท้ายที่สุด เราถึงะบว่า วสุ วรรลยางกูร นักแสดงอีกคน มาแอบนั่งกินส้มอยู่ใต้โต๊ะวาดรูปเขียนหนังสือที่อีกมุมห้อง
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเขียนถึงการแสดงนี้ โดยที่ไม่แปะป้ายระบุว่าใครกำลังรับบทบาทอะไร เพราะเอาจริง ๆ อย่างแค่พวงสร้อยเอง ตอนแรกเธอก็ (เหมือนจะ)นั่งกำกับอยู่ข้างหลังห้องเฉย ๆ แต่ไป ๆ มา ๆ ดันออกมา “แสดง” เป็นผู้กำกับในเรื่องเอง แถมนักแสดงแต่ละคนก็ยังแสดงเป็นนักแสดง ที่สมัครรับคัดเลือกให้ไปแสดงเป็นอีกตัวละครด้วยอีก ยังไม่นับว่าตอนท้ายการแสดง วสุก็เล่าเรื่องส่วนตัวให้พวงสร้อยและเราฟังอย่างหมดเปลือก ตั้งแต่เรื่องการเลี้ยงลูกไปจนถึงเรื่องวัฒน์ วรรลยางกูร พ่อและนักเขียนชื่อดังผู้ลี้ภัยทางการเมืองจนไปเสียชีวิตที่ต่างแดน
เรื่องราวของหนังสือเมืองมลาย ประกอบไปด้วยเรื่องสั้น ๆ สามตอนสามเหตุการณ์เกี่ยวกับนกที่ตายอยู่ริมระเบียง ที่เหมือนจะไม่เกี่ยวกันแต่ก็อาจจะเกี่ยวกัน โดยมีฉากหลังเป็นที่แบร์ลีน (เบอร์ลิน) กรุงเทพฯ และสิงคโปร์ ซึ่งตามประวัติแล้วพวงสร้อยเองก็ได้ไป ศึกษาที่ประเทศเยอรมนีจนจบปริญญาโท เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่ามันมีเนื้อเรื่องสักกี่เปอร์เซ็นต์กันนะ ที่เป็นเรื่องจริง จริง ๆ ของเธอ — เราไม่ได้ถามเธอ แต่ก็คิดว่าคงดีแล้วที่ไม่ได้ถาม เพราะประเด็นเรื่อง ‘การเป็นเจ้าของเรื่องเล่า’ หรือ ‘การไปรับบทเล่าเรื่องคนอื่น’ เป็นประเด็นจากการแสดงนี้ ที่เราติดกลับมาในหัวด้วย และยังคงคิดไม่ตกเลย ถึงจะดูจบมาแล้วเกือบวัน
หลังดูจบก็คิดจนเหนื่อย (แต่สนุก) แล้ว แต่จริง ๆ ตอนดูยิ่งเหนื่อย(แต่สนุก)กว่า ด้วยความที่การแสดงนี้ระดมโปรดักชั่นแสงสีเสียงมาป่วนความเคยชินที่เราใช้ถอดรหัส “ความจริง” ในการแสดงแบบเต็ม ๆ โดยมีตากล้อง (ภาริณี บุตรศรี) เป็นหนึ่งในตัวละครที่เล่นบทป่วนนี้ ด้วยการนำภาพศพนก ภาพการคัดเลือกนักแสดง หรือภาพอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในห้อง ถ่ายทอดแบบเกือบสดขึ้นไปขยายใหญ่บนผนังห้อง ซึ่งไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือความบังเอิญทางเทคนิก แต่ภาพเหล่านั้นก็ยังขยับช้ากว่าภาพการแสดงในห้องที่เราดูผ่านดวงตาจริง ๆ อยู่ดี ซึ่งก็ดูจะคล้ายกับ “ความจริงที่มาช้า” ของภาพฟุตเทจต่าง ๆ ที่ฉายขึ้นบนผนังห้อง อย่างเช่นภาพจุดพิกเซลแตกละเอียดที่พอเห็นฟุตเทจจริง ๆ แล้วก็แตกต่างจากภาพในจินตนาการของเราตอนที่อ่านบทบรรยายภาพนั้นในหนังสือเมืองมลายแบบคนละขั้วเลย
และทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้เป็นแค่ความตื่นตาตื่นใจในด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่มันมาเพื่อจี้ปมคำถามเดียวกัน ว่าภาพนี้มันมาจากเรื่องจริงหรือเปล่านะ? แล้วถ้างั้นหนังสือเล่มนั้นเขียนมาจากเรื่องจริงเลยหรือ? แล้วถ้าเกิดมันเป็นฟุตเทจที่สร้างขึ้นมาใหม่มันจะไม่มีความหมายเลยหรือไง? ซึ่งนั่นก็ทำให้เราสรุปเองในใจท้ายที่สุด ว่าเราจะลองมองมันแบบไม่รู้ดูสักครั้ง ให้การแสดง และทุก ๆ วัตถุสิ่งของในห้องนี้เป็นเหมือนแมวชเรอดิงเงอร์ ที่มีสองสถานะในเวลาเดียวกัน แต่แทนที่จะเป็นการตายและไม่ตาย มันมีสถานะทั้งจริงและไม่จริง เราไม่มีทางรู้เลยว่าตอนที่วสุยื่นส้มให้เพื่อนนักแสดงของเขากินจากใต้โต๊ะ เขากำลังแสดงการสวมบทที่คนอื่นเขียนมาให้เขาทำอย่างนั้น หรือว่าเขาทำอย่างนั้นด้วยตัวเองจริง ๆ
ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องฟุ้ง ๆ ช่วล ๆ แต่ท่ามกลางสภาพสังคมแบบนี้ ‘การแคสติ้ง’ และ “การพยายามครอบครองเรื่องเล่าจริง ๆ” ก็เป็นได้ทั้งกรอบความคิดและเทคนิกการเคลื่อนไหวที่สำคัญอยู่ไม่น้อย — ในช่วงหนึ่งของการแสดงประภามณฑล เอี่ยมจันทร์ เล่าว่าเธอเองก็ไม่ได้พอใจนักกับการได้สวมบทบาทต่าง ๆ เพียงด้วยหน้าตา โดยไม่คำนึงถึงสิ่งลึกซึ้งอื่นใดเลย ในอีกช่วงหนึ่งตัวละคร ‘หวาน’ ก็พูดออกมาเหมือนในหนังสือว่า “แฟนหวานชื่อ หมิว ลลิตาด้วยนะ” ก่อนจะถูกหนุ่มขอให้เปลี่ยนชื่อเสียในตอนเล่า มันคือความรุนแรงเล็ก ๆ เช่นนี้ ที่สะกิดเราไปเรื่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน จนไม่มีใครทันสังเกตว่า การจะเป็นเจ้าของเรื่องเล่าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเมืองและสถานะทางสังคมอยู่ไม่น้อย ยังไม่นับว่าเรื่องราวประสบการณ์บาดแผลของคนอื่นหลายคน เราเองก็คงไม่สามารถและไม่อยากจะไปเล่าแทนพวกเขา อย่างประสบการณ์ความรุนแรงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรือเรื่องราวในครอบครัว ที่หลายครั้งก็เกี่ยวข้องกับสังคมอยู่ดี อย่างเช่นเรื่องของวสุ
เราเองในฐานะคนคนหนึ่งในห้องนั้น ก็ไม่ได้มีหน้าที่แค่รับชมรับฟังอย่างเดียว ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ เราก็ต้องตัดสินสิ่งที่เราสัมผัสตลอดเวลา ว่านี่คือเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง นี่คือเรื่อง “ชั้นต้น” ของคนตรงหน้าเราเองหรือเรื่องที่เขารับมาจากไหน แต่ด้วยภาวะที่ทุกอย่างพร่ามัวไปหมดนี่แหละ ที่ทำให้ความสำคัญของต้นฉบับหายไป และที่การหายไปของสภาวะชั้นต้น/ชั้นรอง หรือต้นฉบับ/เวอร์ชั่นดัดแปลง เราจึงได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ ถือกำเนิดขึ้น เช่นประวัติศาสตร์ (ส่วนตัวหรือประวัติศาสตร์สาธารณะ) ที่ทั้งเทียมทั้งจริง เพราะทั้งเป็นเรื่องราวที่เล่าใหม่ ในปากของตัวละคร ซึ่งอาจจะแต่งมากหรือน้อยก็ไม่รู้ แต่ก็เป็นเรื่องจริงด้วยตัวมันเองด้วย ในฐานะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงนั้นจริง ๆ ครั้งแรก ที่เราเห็นด้วยดวงตาตัวเองจริง ๆ แบบชั้นต้น ไม่ว่ามันจะมาจากไหนก็ตาม
ความรู้สึกไม่เป็นเจ้าของเรื่องเล่า อาจทำให้เรารู้สึกตัดขาดและแปลกแยกจากทั้งตัวเราเองและสังคม แต่การจับจองเป็นเจ้าของเรื่องเล่าแต่เพียงผู้เดียวก็อาจจะปิดกั้นและสร้างความกระอักกระอ่วนใจได้ไม่แพ้กัน มันอาจจะยังพอมีทางเลือกบางอย่างอยู่ สำหรับนิยามความเป็นเจ้าของเรื่องเล่าใหม่ อะไรอย่างเช่นการเป็นเจ้าของเรื่องเล่าร่วมกัน ระหว่างทุก ๆ คนในชุมชนที่เกิดขึ้นจากเรื่องเล่านั้น
‘A Draft of Dead Birds’ การแสดงสดโดย พวงสร้อย อักษรสว่าง ร่วมด้วย ปริมมี่-วิพาวีร์ พัทธ์ณศิริ, อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์, ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์, วสุ วรรลยางกูร, ภาริณี บุตรศรี และ baitong~xystems จัดแสดงที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ตั้งแต่วันที่ 12 - 14 กรกฎาคม 2567