Anatomy of a Fall ภววิทยาของทรอม่า ความเหี้ยมโหดของการจัดการบาดแผล

Post on 19 December

‘อึดอัด’ คือความรู้สึกที่วนเวียนอยู่ในหัวเราตลอดการเฝ้ามองฉากพิจารณาคดีของ ‘ซานดรา’ คุณแม่นักเขียนชาวเยอรมัน ผู้ต้องสงสัยว่าฆ่า ‘ซามูเอล’ สามีของเธอที่นอนเลือดอาบกลางกองหิมะหน้าบ้านที่ฝรั่งเศสอย่างปริศนา เธอต้องให้ปากคำในภาษาที่แทบจะพูดไม่ได้ ต้องจำลองฉากตะโกนทะเลาะกับสามี และดูศพจำลองของสามีร่วงลงมากระแทกพื้นจากบนบ้านซ้ำ ๆ — รู้ตัวอีกที ทั้งเราและซานดราก็เหมือนจะค่อย ๆ ตระหนักได้ว่า ฉากการพิจารณาคดีเพื่อ ‘ชำแหละ’ ความจริงในนามของความยุติธรรมนี้ กลับค่อย ๆ กลายเป็นชำแหละบาดแผลเจ็บลึกของสมาชิกในครอบครัวที่อุตส่าห์เอาชีวิตรอดจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมชีวิตมาได้ แต่สุดท้ายก็ต้องมาถูก ‘เปิดแผล’ และแหวกให้ ‘เหล่าผู้ใส่ใจ’ ทั้งประเทศได้มาขุดคุ้ยกัน

ใน Anatomy of a Fall ภาพยนตร์เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำจากฝรั่งเศส ‘ความจริง’ ดูจะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ และต้องมาหานิยามกันใหม่ เริ่มตั้งแต่การที่ผู้พบศพของซามูเอลเป็นคนแรกกลับเป็น ‘ดาเนียล’ ลูกชายวัย 11 ขวบของซานดราและซามูเอล ผู้สูญเสียการมองเห็นไปจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ดาเนียลรับรู้เหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ความทรงจำของเขาแตกกระจายไม่ต่างกับเศษแก้วที่แหลกละเอียด ในทีแรก เขามั่นใจว่ายืนอยู่ที่ไหนตอนที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ในเวลาต่อมา เขายืนยันว่าเขาอยู่ที่อีกห้องหนึ่ง

อาการลังเลต่อความทรงจำและความจริงของดาเนียลชวนให้เรานึกถึงแนวคิดเรื่อง ‘ประสบการณ์บาดแผล’ หรือ Trauma กลุ่มอาการที่เกิดจากการเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญ จนในบางกรณีส่งผลให้เกิดการแปลงเปลี่ยน (หรือถึงขั้นลบ) ความทรงจำของตัวเอง รวมไปถึงการไม่สามารถเรียบเรียงเหตุการณ์ออกมาเล่าให้รู้เรื่อง จดจำได้เป็นห้วง ๆ หรือการ ‘ทริกเกอร์’ ที่เมื่อได้เห็น/ได้ยินอะไรแล้ว จะถูกกระตุ้นให้พบความหลอกหลอนซ้ำ ๆ จนควบคุมตัวเองไม่ได้

ตรงข้ามกับความทรงจำที่แตกสลายและความจริงที่จับต้องไม่ได้อีกต่อไป สิ่งที่อยู่อีกด้านของความโกลาหลหลังประสบการณ์บาดแผลนี้ กลับเป็นระบบระเบียบแห่งการสืบสวนที่เต็มไปด้วยท่าทีของการใช้ความคิดและเหตุผลอย่างเป็นระบบ ซึ่งในโลกแห่งความเป็นระเบียบระบบในนามของความยุติธรรม และกลไกการพิสูจน์หลักฐานดังอยู่ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์นี้ จึงไม่เหลือพื้นที่ให้สิ่งที่อยู่นอกเหนือตรรกะและเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่แตกเป็นเสี้ยวส่วน หรือคำให้การที่ดูจะไม่ลงรอยกับ ‘สมมติฐาน’ Anatomy of A Fall จึงเป็นหนังที่ฉายภาพการปะทะกันระหว่างสองฟากฝั่งของจุดยืนทางภววิทยา (วิธีการนิยามความจริงแบบต่าง ๆ) ที่ต่างกันสุดขั้ว ระหว่างศาลที่พยายามหาความจริงแบบเหตุผลล้วน ๆ โดยปราศจากอารมณ์เจือปน และหญิงสาวที่ต้องการเพียงใครสักคนที่ ‘เชื่อ’ ในตัวเธอ โดยไม่ ‘ตัดสิน’ ไปก่อน โดยที่ฝ่ายแรกมีกลไกและอำนาจเหนือกว่าอยู่เห็น ๆ

แต่ยิ่งการไต่สวนยืดเยื้อออกไปนานเท่าไร ระบอบแห่งเหตุผลที่ครอบงำองค์กรศาลอยู่ก็ยิ่งอ่อนแรงลง ในตอนต้นเรื่อง การวิเคราะห์รอยเลือดได้กลายมาเป็นหลักฐานเด็ดที่สำคัญที่สุด ในการกล่าวหาว่าเธอฆ่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลักฐานที่ใช้ก็เริ่มกลายมาเป็นการตีความนิยายที่ซานดราเขียนแทน

แต่ไม่ว่าจะเป็นการตีความด้วยวิธีไหน สำหรับในโลกที่เราอาศัยอยู่ กระบวนการในศาลก็ดูจะเป็นเครื่องมือในการเรียบเรียงความทรงจำบาดแผลของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ให้สะเก็ดเหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ฝังอยู่ลึก ๆ ในสมอง เป็นเรื่องที่เข้าใจได้มากขึ้น และสมเหตุสมผลขึ้นพอให้ใจรับได้ แม้เราก็ยังอาจจะสงสัย ว่า มันคุ้มไหมกับการให้กระบวนการศาลมาจัดระเบียบบาดแผลของทุกคน

ช่วงท้ายเรื่อง ดาเนียลก้าวขึ้นศาลด้วยความมั่นใจเพื่อให้ ‘หลักฐานเด็ด’ ที่สะเทือนคำตัดสินความเป็นจริงของศาล เขาเป็นเด็กที่ยืนยันว่าศาลจะเปิดหลักฐานอะไรมาเขาก็จะดู เขาแบกความรู้สึกตัวเองเข้าไปฟังคลิปเสียงพ่อแม่ทะเลาะกัน และหลักฐานเด็ดที่เขาแบกมาแบต่อหน้าศาล ก็ไม่ใช่การยอมแพ้ต่อระบอบแห่งความจริงที่ตั้งอยู่บนวิทยาศาสตร์และความเป็นเหตุเป็นผลให้เข้ามาจัดการบาดแผลเขา แต่คือการปฏิรูปหรือถึงขั้นปฏิวัติศาล ให้เป็นกระบวนการจัดการบาดแผล ที่เบลอเส้นแบ่งระหว่างความรู้สึกกับข้อเท็จจริง อารมณ์และเหตุผล การตีความและการพิสูจน์ ซึ่งทำให้นิยาม “ความจริง” ต้องเปลี่ยนไปตาม

หรือว่านี่คือวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการประสบการณ์บาดแผล?

Anatomy of a Fall ฉายในโรงภาพยนตร์แล้ววันนี้