AND SO I LET THE LIGHT IN วิธีปลดปล่อยวิญญาณในอาคาร และเปิดรับวิญญาณในนิทรรศการศิลปะ

Post on 18 September

บาร์เปิดใหม่แห่งหนึ่งได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมรูปแบบเก่า สไตล์ที่เรียกกันว่าบรูทัลลิสซึม (Brutalism) อาคาร (มักจะ) สาธารณะ ขนาดใหญ่ สีคอนกรีตทะมึน เส้นสายรูปทรง “ทันสมัย” สมกับเป็นตัวแทนของความฝันถึงสังคมอุดมคติที่ทุกคนจะก้าวหน้าล้ำโลกไปด้วยกัน บาร์นั้นเตือนเราถึงเศษซากความฝัน ที่ทิ้งร่องรอยร้างอยู่ทั่วโลก จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราเข้าไปพบปะกันที่นั่น กับเครื่องดื่มสักแก้ว? จะเกิดอะไรขึ้นกับความทรงจำในสถาปัตยกรรมเหล่านั้น? จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามันยังสามารถรองรับการแสดงออกของความฝัน และงานศิลปะรูปแบบใหม่ ๆ ได้อยู่?

BRUT artspace คือพื้นที่ศิลปะล่าสุดที่ตรงชายขอบของอารีย์ ด้านบนบาร์ชื่อเดียวกัน พื้นผิวคอนกรีตภายในอาคารทำหน้าที่เตือนเราถึงอิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อตัวตนของคนและทุกสิ่งที่อยู่ลึกเข้าไปภายใน ‘AND SO I LET THE LIGHT IN’ นิทรรศการแรกที่นี่ขยายประสบการณ์แบบนั้น โดยดึงแสงเข้ามาเป็นตัวแปรใหม่ แล้วเปิดให้คนดูตีความมันแบบนิทานเปรียบเปรย พื้นที่ทำสมาธิ หรืออาจจะมองมันเป็นงานก่อสร้างที่ยังอยู่ระหว่างการทดลองก็ได้

แสงคือลมหายใจของความทรงจำ แสงไฟจากอาคารส่องสะท้อนพื้นผิวประติมากรรมที่พริ้วไหวเป็นคลื่นน้ำของศิลปินหญิงเนะ – พรนภา สิงห์ชนะด่าน และเปิดให้เราแลกเปลี่ยนความทรงจำกับเธอ และกับตึก เนะเก็บความประทับใจในสีสันขณะที่เธอดำน้ำ ด้วยวัสดุมันวาวที่เคลื่อนตัวตามแรงลมตลอดเวลา เรานึกถึงภาพของท้องทะเลที่ใคร ๆ ก็คงเคยถ่ายไว้ในโทรศัพท์ แต่ว่าภาพเหล่านั้นเป็นความทรงจำที่หยุดนิ่งและผ่านพ้นไปแล้ว ต่างกับคลื่นแสงในงานนี้ที่ยังร้องเต้นท่วงทำนองของมันออกมาอยู่ และสะท้อนแสงทาทับกลับไปยังตัวอาคารกับพวกเราด้วย

แสงคือแผนที่บันทึกการเดินทางระหว่างภายนอกและภายใน ของทั้งอาคารและร่างกายคน รวมทั้งตัวตนของพวกเราด้วย ในงานติดตั้งของสตูดิโอดีไซน์ vice versa และ Auddha ศิลปินนักเก็บของจากข้างทาง งานติดตั้งของ vice versa หยิบความทรงจำในแผ่นเหล็กที่ได้มาจากความร่วมมือกับโรงงานไทยสถาวรมาสอดใส่ช่องว่างภายในของห้อง รูเล็ก ๆ ที่อยู่บนแผ่นเหล็กเหล่านั้นเป็นผลจากการเจาะไปทำผลิตภัณฑ์ซึ่งย้ายไปอยู่ตามอาคารต่าง ๆ ของผู้คนอื่น ๆ ซึ่งยากจะติดตาม ทำให้แสงไฟเล็ก ๆ จากรูเหล่านั้นที่แพร่กระจายอยู่ทั่วห้อง กลายเป็นทั้งสะพานและสัญญาณ ที่เชื่อมเรากับความทรงจำอื่น ๆ และตั้งคำถามกับผืนผนังที่ปิดบัง ขวางกั้นการเดินทางของมันอยู่ โดยที่งานของ Auddha ก็พาวัตถุจากภายนอกเข้ามา และย้อนรอยให้เรามองออร่าและ “ความโลภ” ที่อยู่ในวัตถุศักดิ์สิทธิ วัตถุศิลปะ หรือวัตถุเก่าเก็บ แสงทองที่สะท้อนมาจากเศษกรอบรูปและเหล่าชิ้นส่วนรอบ ๆ พระเครื่องของเขา สร้างภาพที่ขัดกันอย่างรุนแรงกับความดำทึบของเศษซากที่ยังไม่ “กลาย” ไปเป็นอะไรสักอย่าง

นี่คือพื้นที่ระหว่างความมีและไม่มี ความเป็นและไม่เป็น ระหว่างภายในและภายนอก และระหว่างความทรงจำกับความฝันถึงอนาคต ถ้าคืนไหนมองแสงแล้วไม่เห็นอะไร เราอยากชวนมาปล่อยให้วิญญาณที่ซ่อนอยู่ในอาคารและงานศิลปะ เข้ามาทำงานกับตัวเรากัน

นิทรรศการ ‘AND SO I LET THE LIGHT IN’ โดยศิลปิน Auddha, พรนภา สิงห์ชนะด่าน, และ vice versa จัดแสดงที่ BRUT artspace (ด้านบนบาร์ BRUT) ตั้งแต่วันนี้ - 30 กันยายน 2024