God of The Cold Land เมื่อดนตรีร็อกแอนด์โรลถูกตีความใหม่โดย AI ในเบื้องหลังซิงเกิลล่าสุดของ อพาร์ตเมนต์คุณป้า จากสนามหลวงมิวสิก

Post on 2 February

ให้เขาลือกันไปว่าใครคือพระเจ้าในเมืองเย็น
เขาไม่เคยสนใจว่าผู้คนมากมายจะลำเค็ญ
สาวกหญิงและชายล้วนทำอะไรกันไม่เป็น
เขาไม่เคยสนใจว่าผู้คนมากมายจะลำเค็ญ
สาวกหญิงและชายล้วนทำอะไรกันไม่เป็น
เฝ้าดูกันต่อไปว่าใครจะกลายร่างในคืนวันเพ็ญ

แค่เมโลดี้แรกแผดเสียงขึ้นมาก็รู้ทันทีเลยว่านี่คือผลงานใหม่ล่าสุดจาก อพาร์ตเมนต์คุณป้า วงร็อกแอนด์โรลรุ่นใหญ่ที่เดินทางบนเส้นทางสายดนตรีมายาวนานกว่า 20 ปี แต่ก็ยังสามารถครองใจนักฟังเพลงทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ได้เสมอมา โดยสมาชิกทั้ง 5 คนอย่าง ตุล ไวฑูรเกียรติ (ร้องนำ), บอล-กันต์ รุจิณรงค์ (กีตาร์), ปั๊ม-ปิย์นาท โชติกเสถียร กรัดศิริ (กีตาร์), ใหม่-ภู่กัน สันสุริยะ (เบส) และ จ้า-ทรรศน์ฤกษ์ ลิ่มศิลา (กลอง) ยังคงขยันผลิตผลงานเพลงคุณภาพเยี่ยมออกมาให้แฟน ๆ ได้รับฟังกันอย่างต่อเนื่อง

โดยหลังจากแนะนำให้เราได้รู้จักกับตัวละคร ‘ลอร่า’ หญิงสาวผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังในโลกดิสโทเปียจากมิวสิกวิดีโอเพลง ‘สามัญ’ กันไปแล้วในช่วงปลายปีที่ผ่านมา คราวนี้ก็ถึงเวลาพาเราออกเดินทางต่อไปในดินแดนแห่งความหนาวเย็นร่วมกับเธอในเพลง ‘God of The Cold Land’ ที่ครั้งนี้กลับมาพร้อมกับตัวตนใหม่ในชื่อ ‘สามัญเกิร์ล’ เตรียมออกโบยบินพร้อมปีกแห่งความหวัง เพื่อออกตามหาพระเจ้าที่เขาร่ำลือ

ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว ลอร่าจะตามหาพระเจ้าองค์นั้นได้หรือไม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือกระบวนการทำงานเบื้องหลังซิงเกิลสุดพิเศษในครั้งนี้ ที่นอกจากจะผลิตดนตรีร็อกดี ๆ ออกมาให้เราได้รับฟังแล้ว ยังไปดึงตัวท็อปจากแต่ละวงการมาร่วมสร้างสรรค์ตัวละคร ปกอัลบั้ม และมิวสิกวิดีโอ ที่ไม่เพียงมีการถ่ายทำในรูปแบบปกติเท่านั้น แต่ยังมีลูกเล่นด้วยการเปิดพื้นที่ให้ปัญญาประดิษฐ์ได้เข้ามาตีความเนื้อเพลง God of The Cold Land อย่างอิสระ ก่อนจะถูกนำมาดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของมิวสิกวิดีโอต่อไป

GroundControl ไม่รอช้า ขอทำหน้าที่เปิดโต๊ะสนทนา ชวน ตุล ไวฑูรเกียรติ ร้องนำของวงที่มีส่วนร่วมในเบื้องหลังจากการผลิตผลงานชิ้นนี้ในแทบทุกขั้นตอน รวมทั้ง นภรณ กาญจนสมวงศ์ หรือ เป็ด Bliss Factory6 - Art Director ของโปรเจกต์ God of The Cold Land, บอล - สุรชาติ ธีระวงษ์ไพโรจน์ หรือ JORRA - ศิลปินสตรีทอาร์ตผู้อยู่เบื้องหลังตัวละครสามัญเกิร์ล และ กบ-พงษ์ภาสกร กุลถิรธรรม หรือ KOB B.O.R.E.D ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอจาก ​​Kor.Bor.Vor : The Labour Party Of Visual Creation มาร่วมพูดคุยถึงเบื้องหลังซิงเกิล God of The Cold Land ว่าจะมีวิธีคิดและกระบวนการทำงานที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

God of The Cold Land
ในวันที่เราควบคุมอะไรไม่ได้ แต่ยังมี ‘ดินแดน’ แห่งความหวัง

ตุล: ‘God of The Cold Land’ ถูกเขียนมาตั้งแต่ช่วงโควิดหลายเดือนแล้ว เป็นเพลงที่ผมว่ามันมีหลายประเด็นซ่อนอยู่ในนั้นมาก เป็นการรวมหลาย ๆ องค์ประกอบของโลกที่เราอยู่ในยุคของโรคระบาดที่เราไม่รู้ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา โลกที่เต็มไปด้วยข่าวลือ โลกที่เต็มไปด้วยปรากฏการณ์ที่เราคิดว่าเราจะควบคุมมันได้ แต่สุดท้ายก็ควบคุมไม่ได้ โลกที่เราถูกห้ามไม่ให้พูดหรือตั้งคำถามในบางเรื่อง ช่วงโควิดที่ทำอะไรไม่ได้ มันก็เป็นการรวบรวมความอึดอัดหลาย ๆ อย่างในใจ บวกกับการศึกษาสิ่งใหม่ ๆ หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ในช่วงปี 2563 - 2565 ด้วย ทุกอย่างที่อยู่รอบเรามันรวมอยู่ในเพลง God of The Cold Land และซิงเกิลก่อนหน้าอย่าง ‘สามัญ’ ด้วย

ผมกับเป็ด (นภรณ กาญจนสมวงศ์ - Art Director) ก็ร่วมงานกันมาหลายรอบแล้วนะ ในรอบนี้เป็ดเขานำไอเดียเราไปขยายความต่อ โดยที่มันมีสิ่งหนึ่งที่เราโยงมาจากมิวสิกวิดีโอเก่าของเราจากปี 2563 อย่าง ‘โรคาภิวัตน์’ คือปีกของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นตัวแทนของความหวัง เป็นผู้รอดชีวิตจากโรคระบาด ในมิวสิกวิดีโอเพลงสามัญ เขาได้เดินทางจนกลายมาเป็น ‘ลอร่า’ ซึ่งเป็นผู้มีชีวิตรอดอยู่ในเมืองที่แทบจะไม่เหลือมนุษย์แล้ว แต่เขาก็ยังเดินทางต่อไปสู่ดินแดนที่เขาเชื่อว่า มันมีความหวัง มันมีพระเจ้า มันมีผู้นำทางจิตวิญญาณรออยู่ ซึ่งเป็ดเขาก็จะเป็นคนตีความตัวละครตัวนี้ต่อจนกลายมาเป็นภาพปกของทั้งสองซิงเกิลด้วย

ศิลปะแห่งโลก Cold Land
มุมมองของโลกอนาคตในอดีต

เป็ด: จริง ๆ ก่อนหน้านี้ ผมมีงานที่เคยสเกตช์เอาไว้ส่วนตัวเฉย ๆ แต่พอมาฟังสิ่งที่พี่ตุลเล่าให้ฟังแล้ว ผมรู้สึกว่ามันมาบรรจบกันพอดี ก็เลยลองเอาไอเดียอันนี้มาทำต่อ ซึ่งจริง ๆ แล้วผมขึ้นงานของเพลง ‘สามัญ’ และ ‘God of The Cold Land’ แทบจะพร้อม ๆ กันเลย บรรยากาศหรือสีสันมันก็เลยจะดูมาทางเดียวกัน ซึ่งพอฟังจากสิ่งที่พี่ตุลพูดแล้ว ผมมองว่า ฉากที่มันจะเกิดขึ้นในภาพ น่าจะไม่ได้ดูเหมือนจริงมาก ภาพที่ถูกนำเสนอมาเลยจะดูค่อนข้างไปพวกโลกอนาคตหน่อย ๆ แต่เป็นมุมมองของโลกอนาคตในอดีตที่บรรยากาศของสีสันหรือองค์ประกอบอาจจะไม่ได้เนี้ยบหรือสวยงามอะไร เป็นโลกอนาคตยุคแรกคนเพิ่งเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ ได้จับโปรแกรมต่าง ๆ แล้วก็ลองมาแต่งสีสันต่าง ๆ เล่น แล้วรู้สึกว่าสีแบบนี้แหละนี่คือความล้ำสมัย

ซึ่งถ้าเราดูที่ปกซิงเกิลของทั้งเพลงสามัญ และ God of The Cold Land ก็จะเห็นว่า ตรงกลางจะมีรูปทรงคล้าย ๆ วงกลม ที่ผมตีความว่า สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหรือตายไป สุดท้ายมันก็มาจากจุดเดียวกันนั่นแหละ ทุกคนต้องเผชิญกับจุด ๆ นี้เหมือนกันหมด ส่วนตัวละครลอร่านี้เราก็ได้คุณบอล JORRA (สุรชาติ ธีระวงษ์ไพโรจน์ - ศิลปินสตรีทอาร์ต) มาวาดให้

ต้นกำเนิด ‘สามัญเกิร์ล’ และปีกแห่งความหวัง

บอล JORRA: คือจริง ๆ แล้วผมมีตัวละครผู้หญิงของผมอยู่แล้วชื่อ ‘จอร่า’ ซึ่งก็คือชื่อเดียวกับนามปากกาของผมเองนี่แหละ แล้วทีนี้พี่ปั๊ม (ปิย์นาท โชติกเสถียร กรัดศิริ - มือกีตาร์วงอพาร์ตเมนต์คุณป้า) ที่เขาติดตามผลงานผมอยู่แล้วก็เห็นว่า หน้าตามันดันไปคล้าย ๆ กับตัวละครที่เขาจินตนาการกันไว้พอดี ผมก็เลยได้มาทำงานนี้ต่อ ทีนี้จากตัวละครเด็กผู้หญิงติดปีกในโรคาภิวัตน์ เราก็อยากจะต่อยอดให้เกิดตัวละครในโลกอวตารของลอร่าที่ต่อมาเราให้ชื่อว่า ‘สามัญเกิร์ล’ ผมก็เลยเริ่มพัฒนาจอร่าที่เป็นตัวละครของผมมาใส่เข้าไป โดยแนวคิดที่ผมคิดขึ้นมาคือ พอเด็กผู้หญิงคนนั้นโตขึ้นมาแล้วต้องเข้าไปอยู่ในเมือง Cold Land ปีกของเขาในฐานะสามัญเกิร์ลก็จะดูใหญ่ขึ้น เหมือนกับว่า เขาต้องอยู่ในโลกที่มันโหดร้าย แต่เขาก็ยังมีปีกแห่งความหวังติดตัวอยู่ด้วยเสมอ ไม่ว่าเขาจะโตขึ้นมาแล้วจะต้องเจออุปสรรคอะไร แต่ว่าปีกแห่งความหวังของเขาก็จะไม่หายไปไหน

ส่วนรายละเอียดในการออกแบบตัวละครนี้ ผมเลือกใช้พื้นผิวแบบไทเทเนียมสีชมพู pink gold ที่ให้ความอ่อนโยน อ่อนหวาน แต่พอต้องเข้าไปในเมือง Cold Land ที่จะดูดาร์ก ๆ นิดนึง ผมก็เลยอยากให้มันมีความ two-tone เป็นสี pink gold ที่ถูกผสมกับสีเมทัลลิก บนหน้าก็จะมีรอยสักหรือรอยวาดที่เขาเขียนขึ้นมาอยู่ด้วย

นัยสำคัญที่แฝงอยู่ใต้ปีก
หรือความฝันเป็นแค่มายา?

ตุล: ตัวละครสามัญเกิร์ลนี้ นอกจากสัญลักษณ์ปีกที่เชื่อมโยงมาจากตัวละครเด็กในมิวสิกวิดีโอโรคาภิวัตน์แล้ว ก็จะเห็นว่า ร่องรอยของบาดแผลความโศกเศร้า ปมในใจของเขาก็ยังมีอยู่ ผมคิดว่า คนสามัญก็คือคนที่เกิดแก่เจ็บตาย เดินตามตรอกออกตามประตู ไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไร สามัญเกิร์ลน่าจะเป็นตัวแทนของคนที่มีความฝัน ถ้าคนทั่วไปมีปีกก็คงอยากบินหนีไปที่ไหนก็ได้ เพราะทุกคนคงอยากจะไปให้ได้ไกลและมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ แม้แต่ตัวสามัญเกิร์ลเอง ผมก็คิดว่า ดินแดน Cold Land ที่เขาเดินทางมาก็ไม่น่าจะเจอใคร ไม่น่าจะมีพระเจ้าที่เขาว่ากัน เพราะสุดท้ายพระเจ้าที่เขากำลังตามหาอาจจะเป็นเพียงแค่ข่าวลือ

มิวสิกวิดีโอจากการตีความของปัญญาประดิษฐ์

ตุล: ในส่วนของมิวสิกวิดีโอ อย่างในเพลงสามัญจะมีการตีความสัญลักษณ์เยอะ ถ้าใครเป็นแฟนเพลงอพาร์ตเมนต์คุณป้าตั้งแต่ยุคแรก ๆ ก็จะสนุกกับการตีความสัญลักษณ์ที่ผู้กำกับเขาซ่อนเอาไว้เต็มไปหมด แต่อย่างใน God of The Cold Land คงไม่ได้มีสัญลักษณ์อะไรที่ซ่อนไว้มากมาย เพราะว่าในครั้งนี้เราอยากให้มันเป็นมิวสิกวิดีโอที่เน้นโชว์การแสดงมากกว่า โดยที่เราก็ได้ลองทำงานร่วมกับ AI โดยการป้อนคีย์เวิร์ดจากเนื้อเพลงส่วนต่าง ๆ แล้วก็ปล่อยให้มันประมวลผลออกมาเป็นภาพที่ กบ (พงษ์ภาสกร กุลถิรธรรม - ผู้กำกับ) นำมาพัฒนาต่อเป็นผลงานโมชั่นกราฟิกที่ถูกใช้เป็นแบ็คกราวด์ในมิวสิควีดีโออีกที ซึ่งตรงนี้เราก็ปล่อยให้ AI ได้ตีความอย่างอิสระในแบบของมันจากคีย์เวิร์ดอย่าง ‘ร้อน’, ‘เย็น’, ‘ความตาย’, ‘การแสดง’, ‘ไวรัส’, ‘โรคระบาด’ และ ‘ข่าวลือ’ ภาพที่ได้ออกมาก็จะมีความเป็นเมืองร้าง ที่มีทั้งความร้อน และความเย็น

กบ: สิ่งที่เราได้จาก AI คือภาพนิ่งขนาดเล็กๆ ที่ดูบิดๆ เบี้ยวๆ แต่หลังจากนั้นผมต้องเอามันมาแกะเลเยอร์ เพื่อเอามาทำเป็นโมชั่นกราฟิกที่เป็นภาพเคลื่อนไหวบนจอด้านหลัง รวมถึงการออกแบบแสงหรืออะไรก็ตามที่ทำให้การแสดงดูสนุกและมีลูกเล่นมากขึ้น ตอนถ่ายทำ ผมก็ได้มีการเอากล้องอินฟราเรดมาใช้ผสมในการถ่ายทำด้วย คือการถ่ายทำแบบนี้มันเป็นเทคนิคโบราณที่เวลาดูหนังเราก็จะเห็นมันในฉากกลางคืน ฉากสงคราม หรือแม้แต่ฉากการปรากฏตัวของเอเลี่ยน ซึ่งผมตีความไปว่า Cold Land มันไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอะไรเลย การมีฉากที่ถ่ายทำด้วยอินฟราเรดมันทำให้เราได้เห็นแววตา และความเป็นวัสดุที่มันเปลี่ยนแปลงไปมากกว่า ก็ถือเป็นน้ำจิ้มที่มาช่วยเสริมให้มิวสิกวิดีโอมันดูมีอะไรมากขึ้น

ความเรโทรในโลกอนาคต และโลกอนาคตในความเรโทร

กบ: ส่วนฉากด้านนอกจอ ผมก็พยายามย่อโลก Cold Land ของพี่ตุลให้กลายมาเป็น installation art ชิ้นหนึ่งที่มีนักดนตรีเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ คือเราก็ไม่รู้ว่าเมืองนี้มีอยู่จริงไหมในโลกอนาคต แล้วมันจะมีหน้าตาอย่างไร แต่สุดท้ายผมเลือกใช้สิ่งของที่ดูพัง ๆ เอามาห่อด้วยกระดาษฟอยล์ เพื่อแทนค่าความเป็นเมืองที่โดนทำลายแล้ว

ตุล: อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า ภาพรวมการทำงานในครั้งนี้มันจะมีความโบราณอยู่ในนั้น กับมิวสิกวิดีโอก็เหมือนกัน เราเห็นภาพเป็นเหมือนการทำฉากของรายการโทรทัศน์สมัยก่อน ด้วยความที่เพลงของอพาร์ตเมนต์คุณป้าเป็นเพลงร็อกที่มีกลิ่นอายเรโทร มีความโอลด์สคูลอยู่สูง เราเลยตั้งใจให้มิวสิกวิดีโอเพลงนี้เป็นการผสมผสานระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ ที่มีทั้งความล้ำสมัยสุด ๆ กับความย้อนยุคแบบเปิ่น ๆ หน่อย สไตล์แบบหนังอวกาศเกรด B ยุค 70s ที่มีความเป็นไซไฟ แต่จะออกมาในรูปแบบการประดิษฐ์ประดอยอุปกรณ์จากจินตนาการด้วยสิ่งธรรมดารอบ ๆ ตัว แม้ว่าในเพลง God of The Cold Land เราจะพูดในเรื่องอนาคต แต่จริง ๆ รากเหง้าของเราก็ยังมีความโอลด์สคูลอยู่เสมอ ซึ่งผมคิดว่ามันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งเหมือนกัน คือถ้าอพาร์ตเมนต์คุณป้าทำอะไรที่มันล้ำสุดโต่งไปเลย มันก็จะไม่ใช่อพาร์ตเมนต์คุณป้า ดังนั้น มันคือสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างโลกอนาล็อกกับโลกดิจิทัล

เสน่ห์ของงานปัญญาประดิษฐ์ในมุมมองของศิลปิน

ตุล: ผมว่า AI สอนให้เราเห็นตัวเราเองนั่นแหละ ยิ่งหลัง ๆ ที่ผมหันมาสนใจเรื่องปัญญาประดิษฐ์ก็เพื่อที่จะได้เข้าใจสมองของตัวเองมากขึ้น ผมอยากเข้าใจว่า ทุกครั้งที่เราเข้าสู่กระบวนการคิดหรือประสบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ สมองของเราจะทำงานอย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้ว อันนี้มันก็เป็นเรื่องของอัลกอริทึมหรือประสบการณ์ที่เรามีมาตลอด หรือแม้แต่พรสวรรค์ที่เรามี บางครั้งมันก็ไม่ได้เกิดจากเรา เราไม่รู้หรอกว่า เราเก็บอัลกอริทึมเหล่านี้มาตั้งแต่ปูนไหน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ยิ่งรู้จัก AI ก็ยิ่งตั้งคำถาม และเกิดสติปัญญากับตัวเองมากขึ้น ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ แล้ว ตัวผมเองก็อาจจะเป็น AI เหมือนกันก็ได้ “มนุษย์ทุกคนเป็นอิสระ มีเจตจำนงเสรีหรือเปล่า ?
หรือจริง ๆ แล้วเราไม่มีมันตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำ” !!!

รับชมมิวสิกวิดีโอเพลง God of The Cold Land - Apartment Khunpa ได้ที่: