ความเป็นสากลของความรัก และความเป็นสากลของศิลปะ ‘Art Alive’ นิทรรศการที่ตัดผ่านโลกศิลปะ ในแกลเลอรีใหม่กลางเอกมัย Nice Gallery Bangkok

Post on 19 March

ถ้ามองจากด้านหน้า อาคารแห่งนี้ก็คือบาร์ที่น่านั่งแห่งหนึ่งของย่านเอกมัย เมื่อเดินเข้าไปสำรวจนิทรรศการศิลปะข้างใน ที่นี่จะให้บรรยากาศเหมือนมาปาร์ตี้บ้านเพื่อน ซึ่งเพื่อนเจ้าของบ้านก็ดันเป็นคนประเภทส.ส. ที่รู้จักเขาไปทั่วเลยด้วย ทำให้ทั่วทั้งผนังแกลเลอรี่มีผลงานจัดแสดงเต็มไปหมด ในระดับที่แทบจะต้องติดงานชิดกัน แถมยังมีผลงานที่โชว์สไตล์ให้เห็นแบบทุกแนว มีตั้งแต่ภาพนามธรรมสกิลจัด, งานสตรีทอาร์ท, ไปจนถึงภาพเปลือย

ไม่ว่าพวกเขาจะตั้งใจหรือไม่ แต่ ‘Nice Gallery Bangkok’ แกลเลอรี่เปิดใหม่แห่งนี้ กำลังทำให้เราต้องทิ้งวิธีการเสพงานศิลปะแบบเดิม ๆ ที่เต็มไปด้วยกรอบการตีความแบบเฉพาะทาง เพื่อให้หาความหมายใหม่ ๆ เอง ภายใต้การทับซ้อนที่หลากหลายของโลกศิลปะทุก ๆ ใบที่ดำเนินคู่ขนานกันอยู่

‘Art Alive’ เป็นนิทรรศการกลุ่มของศิลปินจากหลากหลายสาขา ที่พูดชื่อไปแฟนคลับของแต่ละสายก็คงรู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็นนักวาดอย่าง วุฒิกร คงคา และ โลเล ทวีศักดิ์, สถาปนิกอย่างจูน เซคิโน, ไปจนถึงนักดนตรีอย่าง ธนชัย อุชชิน และ เมธี น้อยจินดา จากวงโมเดิร์นด็อก และเชื่อว่าถ้าลองกวาดตาดูรายชื่อศิลปินทั้งหมด ใคร ๆ ก็คงเจอศิลปินที่ติดตามอยู่บ้างแน่นอน ซึ่งศิลปินทั้งหมด 30 คนนี้ได้นำงานมาแสดงในคอนเซ็ปต์ “Love & Inspiration” ว่าด้วยความรักและแรงบันดาลใจ ที่เป็นพลังของการสร้างสรรค์ศิลปะ ด้วยแนวคิดการจัดแสดงในรูปแบบนี้ ทำให้พระพุทธรูปมาอยู่ในห้องเดียวกับคุณป้าลายจุด ยาโยอิ คุซามะ ได้โดยไม่ผิดแปลกอะไร (แถมในห้องนั้นยังมี “อดัมกับอีฟ” และพระพิฆเนศอยู่ด้วย)

ถ้าเราเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ภาพบุคคล เราก็คงจะเห็นแต่หน้าคนสำคัญเต็มไปหมด บอกเล่าความเป็นอยู่ในสังคมของพวกเขา ถ้าเราเข้าไปพิพิธภัณฑ์ยุคโบราณ เราก็อาจเห็นงานพุทธศิลป์เก่าแก่เรียงตัวกันเต็มตู้โชว์ บอกเล่าระบบความคิด ความเชื่อ และความงามของยุคสมัย การจัดประเภทเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงมาเสมอ และก็เป็นส่วนหนึ่งของการตีความของผู้ชมเองด้วย “นิทรรศการ” ส่งผลต่อการตีความศิลปะของเราชัด ๆ ในตอนที่เรามองงานศิลปะชิ้นหนึ่ง แล้วเห็นงานอื่น ๆ ล้อมรอบอยู่ที่หางตาเสมอ

นิทรรศการ ‘Art Alive’ ที่แสดงอยู่บนพื้นที่ทั้งหมดสามชั้นแน่น ๆ ครั้งนี้ อาจจะเริ่มจากการเฉลิมฉลองให้กับความเป็นสากล (?) ของความรัก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเฉลิมฉลองให้กับ “ศิลปะ” ที่หมายถึง เส้น สี รูปทรง แสง เงา มวล พื้นผิว หรือคุณสมบัติทางศิลปะอื่น ๆ ที่รวมตัวกันประกาศความสวยงาม และทำให้ความหมายลื่นไหลไปตามการกวัดแกว่งของสายตา

ที่ชั้นหนึ่งเราอาจจะได้เห็นเจ้าเด็กเสื้อฮู้ดแดงตาใสของ พิทักษ์พงษ์ เจียมศรีพงษ์ คอยล้อเล่นกับเราผ่านหุ่นมือหมีสุดกวน ล้อมรอบอยู่กับเหล่าคาแร็กเตอร์การ์ตูนที่สะท้อนความสนใจของแต่ละคน แต่อีกชั้นหนึ่งเราจะได้เห็นพระพุทธรูปตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับเจ้าเด็กเสื้อฮู้ดแดง อยู่ท่ามกลางกลุ่มภาพที่เต็มไปด้วยจุดสีซับซ้อน บ่งบอกถึงรสนิยม สไตล์ หรือ “ชั่วโมงบิน” ที่ศิลปินอยู่กับแปรงวาดภาพมานาน เราจะได้เห็นจุดสี ที่บางทีก็เป็นเพียงหน่วยเล็ก ๆ มารวมกันให้กลายเป็นภาพใหญ่ บางทีก็ทำหน้าที่เป็นลวดลายประดับตกแต่ง หรือบางทีก็มีความหมายต่อห้วงอารมณ์เหลือเกิน

ถ้าเราถอดความซับซ้อนของพระพุทธรูปออก ก็อาจจะได้เป็น “แก่น” ที่เป็นแท่งไม้ซ้อนทับกันอย่างที่แสดงในงานนี้ ถ้าเราลองมองงานศิลปะแบบปราศจากการตัดสินใด ๆ ล่วงหน้า สิ่งที่เห็นก็คงเป็นสีสันที่ดึงดูดสายตา โดยไม่แบ่งแยกความเป็นศิลปะชั้นสูงหรือศิลปะตกแต่งอะไร อย่างในนิทรรศการนี้

นิทรรศการกลุ่ม Art Alive
โดย ศิลปิน Sakwut Wisesmanee, Jitsing Somboon, Wutigorn Kongka, Wasinburee Supanichvoraparch, Lolay Thaweesak Srithongdee, Chalit Narkpawan, Thanachai Ujjin, Kusol Ujjin, May-T Noijinda, Jun Sekino, Phannapast Taychamaythakool, Attasit Pokpong, Arthit Gank Pansuay, Dojo Namwong, Benzilla, James Wisit, Kaewtrakarn Junlabon, Gumsak Atipiboonsin, Opas Chotiphantawanon, Tetat Tanachoktawepon, Supmanee Chaisansuk, Linecensor, Verapong Sritrakulkitjakarn, Suwit Maprajuab, Ratthawut Chaiwongkhachorn,, Hathairat Charoenchaichana, Surasak Chaiyaat, Tanasan Kanakasem, Nutcharee Pumpayom และ Praewpraphasiri
.
จัดแสดงที่ Nice Gallery Bangkok (Dusk Till Dawn Bar)
ตั้งแต่วันนี้ – 23 มีนาคม 2567