คุยเรื่องการเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ในไทย กับอดีตชาว ‘ปวศ’ ที่กลายมาเป็น ‘คิวเรเตอร์’ หน้าใหม่ แพรว-กานต์ธิดา บุษบา และ เก็ต-พิรญาณ์ อาจวิชัย

Post on 20 February

‘ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ’ เอกลับแลที่เปิดสอนเป็นภาควิชาเอกที่ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพียงแห่งเดียวของไทย นอกจากละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ แล้ว คนทั่วไปก็แทบไม่รู้จักคณะนี้อีกเลย แถมก่อนที่หลาย ๆ คนจะเข้ามาแอดมิชชันในเอกนี้ ก็ต้องพยายามหาข้อมูล (อันน้อยนิด) มาฝ่าด่านคำถามจากครอบครัวให้ได้ว่า คณะนี้เขาเรียนอะไร? เหมือนเอกโบราณคดีไหม? แล้วจบมาทำอะไรได้บ้าง? มีตลาดแรงงานรองรับหรือเปล่า?

ถ้าทุกคนลองค้นหาคำถามเดียวกันนี้บนกูเกิ้ล หรือปัญญาประดิษฐ์ยอดฮิตอย่าง ChatGPT ก็คงจะได้คำตอบกลับมาประมาณว่า ประวัติศาสตร์ศิลปะ คือศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวของศิลปะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาทำความเข้าใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม และอาชีพที่สามารถทำได้ก็คือ ภัณฑารักษ์, นักวิชาการ, อาจารย์ และนักเขียน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากเราลองพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่เรียนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยมาโดยตรง และเติบโตขึ้นมาประกอบอาชีพในวงการศิลปะไทยได้จริง ๆ ล่ะ คำตอบของพวกเขาจะมีมุมมองแตกต่างออกไปจากนี้บ้างหรือเปล่า? และพวกเขาจะมองว่าการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยสามารถนำมาใช้ได้จริงมากแค่ไหน?

หลังจากเก็บความสงสัยมานาน พอได้จังหวะที่แพรว-กานต์ธิดา บุษบา จาก BANGKOK CITYCITY GALLERY และ เก็ต-พิรญาณ์ อาจวิชัย Special Project Manager จากอัตตา แกลเลอรี่ ว่างจากการทำนิทรรศการ GroundControl ก็ขอเข้าไปนั่งจับเข่าคุยล้วงลึกถึงประสบการณ์สมัยที่พวกเขาเรียนอยู่ในคณะโบราณคดี เอกประวัติศาสตร์ศิลปะ พร้อมเผยถึงเบื้องหลังเส้นทางการก้าวขึ้นมาเป็น ‘คิวเรเตอร์’ ครั้งแรกของพวกเขาด้วย

**(ซ้าย) เก็ต-พิรญาณ์ อาจวิชัย Special Project Manager จากอัตตา แกลเลอรี่ , (ขวา)แพรว-กานต์ธิดา บุษบา จาก BANGKOK CITYCITY GALLERY**

(ซ้าย) เก็ต-พิรญาณ์ อาจวิชัย Special Project Manager จากอัตตา แกลเลอรี่ , (ขวา)แพรว-กานต์ธิดา บุษบา จาก BANGKOK CITYCITY GALLERY

เริ่มต้นอยากให้ทั้งสองคนช่วยแนะนำตัวกันหน่อย

แพรว: ชื่อแพรว กานต์ธิดา บุษบาค่ะ ตอนนี้เรียนจบจากคณะโบราณคดี เอกประวัติศาสตร์ศิลป์มาได้ 3 ปีกว่าแล้ว ปัจจุบันทำงานอยู่ที่บางกอกซิตี้ซิตี้แกลเลอรี่ ส่วนที่ดูแลหลักจะเป็นส่วนโปรเจกต์ BOOKSHOP LIBRARY เป็นทั้งห้องสมุดและร้านขายหนังสือ ซึ่งจะมีทั้งหนังสือที่ทำกันเอง หนังสือนำเข้า และหนังสือที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการต่าง ๆ ที่เรารวบรวมเป็นอาไควฟ์ (Archive) ไว้ค่ะ

เก็ต: ชื่อเก็ต พิรญาณ์ อาจวิชัย จบจากเอกประวัติศาสตร์ศิลปะเหมือนกัน เป็นรุ่นน้องพี่แพรว 1 ปีจบมา 2 ปีกว่าแล้ว ตอนนี้ทำงานอยู่ที่อัตตา แกลเลอรี่ เป็น Special Project Manager จะดูแลนิทรรศการที่เป็นนิทรรศการปกติของทางแกลอรี่ด้วย แล้วก็จะเป็นพวกโปรเจกต์พิเศษต่าง ๆ ที่แกลเลอรี่ทำกับหน่วยงานอื่น ๆ ด้วยค่ะ

เหมือนว่าตอนนี้ทั้งสองคนจะได้เข้ามาทำงานอยู่ในโลกศิลปะกันแบบเต็มตัวแล้ว และถือว่าเป็นรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบกันมาหมาด ๆ ด้วย เลยอยากย้อนถามกลับไปถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองคนอยากเข้ามาเรียนด้านนี้

แพรว: ช่วง ม.ปลายเราน่าจะเป็นเหมือนกับเด็ก ๆ หลายคนที่เข้าไปติวเพื่อเข้าคณะที่ต้องใช้สกิลในการวาดรูปต่าง ๆ อย่างนิเทศศิลป์ หรือจิตรกรรม ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่เหมือนตอนนั้นเราจะติวเพื่อเข้าคณะสถาปัตย์หรือนิเทศศิลป์นี่แหละ แต่เหมือนเราไปไม่สุดทาง เพราะรู้สึกว่ายอมแพ้กับระบบติวนิดนึง ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่างที่รู้สึกว่าเราไม่ชอบโรงเรียนติวเลย ก็เลยตัดสินใจออก แล้วทีนี้ก็มีความเคว้งเกิดขึ้น

เราเข้าใจว่า เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกเรียนคณะโบราณคดี มาจากการที่เราชอบเวลาประวัติศาสตร์กับศิลปะมันอยู่ด้วยกัน เหตุผลดูไร้สาระมาก ฮ่าฮ่าฮ่า คือถ้าเกิดเราลองสมมุติว่าเด็กไทยต้องเรียน 10 วิชา เรารู้สึกว่าประวัติศาสตร์กับศิลปะเป็นชื่อที่ทำให้เรารู้สึกพอใจ ได้ยินแล้วมีความสุขประมาณนึง ก็เลยสมัครสอบตรงเข้าไป และได้เข้าไปอยู่ในคณะโบราณคดี เป็นการเลือกที่ไม่ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกว่าฉันจะต้องเข้าคณะโบราณคดี เรียกว่าน่าจะเป็นที่ชื่อเอกมากกว่า ที่ดึงดูดเราให้เข้าไปเรียน เพราะจากที่ต้องเรียน 10 วิชา เหลือแค่ 2 วิชา คือประวัติศาสตร์กับศิลปะ

เก็ต: สำหรับเก็ตขอเท้าความนิดนึงว่า ตัวเองเป็นคนที่ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก วาดบนกระดาษ วาดบนกำแพงบ้าน แต่ไม่ได้เป็นคนที่วาดรูปสวย แค่ชอบวาดรูปเฉย ๆ แต่ว่าตอนม.ปลายเราเรียนสายวิทย์-คณิตมาตลอด แล้วตอนแอดมินชันก็เลือกเตรียมสอบคณะเภสัช สอบพยาบาล ด้วยความที่บ้านอยากให้มาทางสายสุขภาพ บวกกับเราก็เรียนสายวิทย์คณิตมาด้วย เลยรู้สึกว่าก็คงจะต้องเป็นอะไรประมาณนี้ล่ะมั้ง จนถึงช่วงโค้งสุดท้ายของการแอดมิชชัน เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถเป็นพยาบาลกับเภสัชได้ตลอดชีวิต เลยเลี้ยวหักศอก ไปส่งคะแนนประวัติศาสตร์ศิลปะ เพราะว่าตอนนั้นมันติวดรอว์อิ้งไม่ทันแล้ว ถ้าจะไปเข้าคณะอื่นนะ เราก็เลยเลือกประวัติศาสตร์ศิลปะ เหมือนเป็นเอกเดียวตอนนั้นที่เรียนศิลปะได้โดยไม่ต้องวาดรูป และเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะวาดรูปสวย คือแค่อยากจะวาด แล้วอยากที่จะรู้ว่ามันเป็นอย่างไร แค่อยากจะรู้เฉย ๆ ก็เลยเลือกประวัติศาสตร์ศิลปะ

เห็นว่าพอได้เข้าไปเรียนจริง ๆ แล้ว ประวัติศาสตร์ศิลปะก็ยังแยกย่อยออกเป็นสองทางใหญ่ ๆ คือประวัติศาสตร์ศิลปะในไทย และประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ตอนนั้นทั้งสองคนตัดสินใจอย่างไรว่าอยากเลือกเรียนฝั่งไหน

เก็ต: ตอนที่เรียนปี 1 เทอม 2 มันจะมีวิชานึงที่ชื่อว่า Survey of Western Art จะเรียนเกี่ยวกับศิลปะในยุคสมัยต่าง ๆ ไล่ระดับไปตั้งแต่กรีก โรมัน ไปจนถึงศิลปะร่วมสมัยในศตวรรษที่ 20 ส่วนตัวเราจะชอบประวัติศาสตร์ช่วงศตวรรษที่ 19 ที่มันดำเนินไปพร้อม ๆ กับตัวประวัติศาสตร์ศิลปะในตอนนั้น เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้อุปกรณ์ศิลปะต่าง ๆ ราคาถูกลง ขนาดเล็กลง คนก็ออกไปวาดภาพข้างนอกได้มากขึ้น ตามมาด้วยความเฟื่องฟูของ Arts and Crafts มูฟเมนท์ เรารู้สึกว่าเราชอบประวัติศาสตร์ตรงนั้น เลยเป็นวิชาที่ทำให้ตัดสินใจเลือกลงเรียนวิชาศิลปะตะวันตกอื่น ๆ ตามมา

แพรว: จริง ๆ แล้วเหมือนว่าเอกเราจะไม่ได้แบ่งชัดเจนขนาดนั้น แต่พอเรียน ๆ ไปแล้ว เด็กจะรู้เองว่าชื่อวิชาไหนเป็นประวัติศาสตร์ตะวันออก อันไหนถือว่าเป็นของฝั่งตะวันตก ซึ่งแพรวรู้สึกว่า ตอนที่เริ่มเรียนไป มันเริ่มต้นจากความรู้สึกว่า ตะวันตกมีตัวเลือกมากกว่า ในแง่ของถ้าฉันจะเข้าใจศิลปะ ฉันจะเข้าใจผ่านอะไรได้บ้างที่ไม่ใช่แค่เรื่องประวัติศาสตร์

ยกตัวอย่างเวลาเราเรียนในคลาสตะวันตก อาจารย์ก็จะเล่าถึงนิทรรศการศิลปะให้เราฟังด้วย ซึ่งมันเป็นจุดที่ทำให้เรารู้ว่า ความจริงแล้วศิลปะสามารถอยู่ในพาร์ทอื่น ๆ ของสังคมได้ด้วยนะ สิ่งต่อมาที่เข้ามาสู่ความสนใจของเรา ก็คือการทำนิทรรศการ เพราะเรารู้สึกว่าการทำงานของมันช่วยให้เราตั้งคำถามชวนให้คิด และมีอีกหลายอย่างที่อยู่ในนิทรรศการแล้วเราชอบ

เรายังคิดอีกว่าการสอนของอาจารย์มีส่วนด้วย เราไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นอย่างไรในการเรียนมหาวิทยาลัย แต่เราเป็นคนที่รู้สึกว่าจะชอบหรือไม่ชอบวิชาอะไร ขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอนด้วย แต่อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด เราแค่รู้สึกว่าคนคนนี้จะให้สิ่งนี้กับเราได้ สิ่งที่เราอยากรู้ เราก็อยากจะเรียนกับเขาประมาณนี้ค่ะ

ทั้งสองคนคิดว่าหลักสูตรการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ศิลปะที่ได้เรียนมา มีประสิทธิภาพในการผลิตคนเข้ามาทำงานในโลกศิลปะไหม หรือมองว่ามีปัจจัยอะไรที่จำเป็นในการเรียนเพิ่มเติมหรือเปล่า

เก็ต: พูดยากมากเลย เอาตอนที่เราเรียนก่อนแล้วกันคือ หลักสูตรเก็ตกับของพี่แพรวจะคนละหลักสูตร กันเลย เพราะว่ารุ่นพี่แพรวไม่มีวิชา Survey of Western Art

แสดงว่าพี่แพรวตัดสินใจเลือกเรียนมาทางตะวันตกเอง โดยไม่มีวิชาลองเชิงแบบรุ่นเก็ตเลย?

แพรว: ใช่ เราจะลงกรีก โรมันอะไรเอง

เก็ต: เพราะว่าตัวหลักสูตรเอกประวัติศาสตร์ศิลป์ของคณะเรามันจะเปลี่ยนทุก 4 ปี แล้วก่อนหน้าเราเข้าเรียนเป็นปีสุดท้ายของหลักสูตรรุ่นพี่แพรว ส่วนปีเราเป็นรุ่นที่ได้เรียนหลักสูตรที่มีวิชา Survey of Western Art เป็นปีแรก เรารู้สึกว่านอกจากหลักสูตรที่เรียนแล้ว การจะไปทำอะไรต่อมันขึ้นอยู่กับสมัยเรียนเราได้ทำอะไรมาบ้าง

เราคิดว่าประสบการณ์ที่เราได้รับตอนเรียนมันส่งผลต่อการทำงานเหมือนกันนะ ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เราเรียน ไม่ได้มีหลักสูตรภาคปฏิบัติเยอะมากเท่าไร แต่เราโชคดีด้วยที่ตอนนั้นได้เรียนวิชาภาพถ่ายและทฤษฎีภาพถ่าย (Photography and Theory of Photography) กับอาจารย์สายัณห์ แดงกลม แล้วมันมีทุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เปิดรับสมัครพอดี ทีนี้อาจารย์สายัณห์ก็เลยเรียกคนในคลาสประมาณ 5-6 คนมานั่งคุยกันว่า “พวกคุณอยากจะทำนิทรรศการเกี่ยวกับภาพถ่ายไหม เพราะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้พวกคุณเข้าใจตัวภาพถ่ายและทฤษฎีภาพถ่ายได้มากขึ้น อยากลองทำดูไหม”

ทุกคนก็ตอบว่าอยากลองทำดู ก็เลยสมัคร พอได้ทุนปุ๊บ เราก็ทำวิจัยภาพถ่ายเชิงทดลองที่จังหวัดมหาสารคาม พร้อมเชิญอาจารย์ประทีป สุธาทองไทยมาเป็นศิลปินรับเชิญในโครงการ การเรียนในคลาสนี้เลยเหมือนกับได้ลองเรียนทฤษฎีควบคู่ไปกับการปฏิบัติ ซึ่งการทำนิทรรศการตัวนี้ไม่ได้มีอยู่ในหลักสูตร แต่เป็นสิ่งที่อาจารย์สายันห์เขาค่อนข้างอยากจะลองทำอะไรด้วย เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้ลองซ้อมทำงานตอนที่ยังเรียนอยู่ ซึ่งเรารู้สึกว่ามีประโยชน์มาก ๆ

แพรว: ส่วนของรุ่นเราไม่มีภาคปฏิบัติเลย เรารู้สึกว่าการที่จะได้ลงมือทำของจริง มันเกิดขึ้นจากความสนใจของตัวเด็กคนนั้นเองล้วน ๆ อย่างเช่นเราที่รู้สึกว่าถ้าเรียนในห้องจะได้ความรู้ประมาณนี้ แต่ถ้าเราอยากรู้ว่าในงานที่เกี่ยวกับวงการศิลปะเป็นยังไง มีตำแหน่งอะไรบ้างนอกจากศิลปิน เราก็ต้องออกไปหาประสบการณ์ส่วตัวจากข้างนอกด้วยตัวเอง จะได้ใจชื้นนิดนึงว่าจบไป ฉันสามารถทำงานนี้ได้

ยกตัวอย่างเช่น ปีที่เราเรียนอยู่จะมีพวกงานเบียนนาเล่ (Biennale) ต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็น Thailand Biennale ที่กระบี่ หรือ Bangkok Art Biennale ที่กรุงเทพ และ Bangkok Biennial ที่มีการจัดกันเอง เลยเป็นโอกาสที่พอดีแปลก ๆ สำหรับเราที่ทำให้ออกมารู้จักคนนั้นคนนี้มากขึ้น โดยเราจะเข้าไปทำโปรเจกต์ต่าง ๆ ตามตำแหน่งที่เขาเปิดรับอาสาสมัคร ทำให้รู้จักแนวทางการทำงานในวงการศิลปะมากขึ้น เลยจะรู้สึกคล้าย ๆ เก็ตว่า ถ้าอยากลองทำ แล้วไม่ออกไปลองทำ เราก็จะไม่รู้ว่าเป็นยังไง อันนั้นคือสปิริตในตอนนั้นสำหรับเรา

จากที่ฟังคำตอบของทั้งสองคนเหมือนกับว่า ถ้าการเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะทางฝั่งตะวันตก มีภาคปฏิบัติให้คนที่อยากลองทำงานในวงการศิลปะ ได้ลงมือทำโปรเจกต์บางอย่างจริง ๆ ก็จะช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นใช่ไหม

แพรว: เราว่าน่าสนใจนะ แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่อาจรู้ได้ว่าทางอาจารย์ที่สอนเขาจะสามารถจัดการตรงส่วนนี้ได้มากแค่ไหน เพราะจำนวนอาจารย์ที่สอนประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกค่อนข้างน้อย เราเลยคิดว่าความอยากทำโครงการต่าง ๆ หรือทำโปรเจกต์ภาคปฏิบัติต่าง ๆ ก็คงจะมีนั่นแหละ แต่จะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนในการทำให้เป็นจริงเราก็ไม่รู้เหมือนกัน

อีกอย่างเราคิดว่าคนที่เรียนต้องหาสิ่งที่เขาชอบในห้องเรียนก่อน เพราะบางคนอาจจะไม่ได้เป็นคนที่อยากจะออกไปคุยกับคนเยอะ ๆ หรือไม่ได้รู้สึกสบายใจกับการทำความรู้จักคนใหม่ ๆ ขนาดนั้น ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะมีหลายคนที่เป็นอย่างนั้น สมมุติว่าเรียนวิชาหนึ่ง แล้วเราชอบการเขียนจังเลย พอถึงจุดนั้นแล้วยังไม่ต้องคิดก็ได้ว่าจะเขียนเก่งหรือไม่เก่ง แค่รู้สึกว่าอยากจะถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาเป็นตัวอักษรผ่านการเขียน เรารู้สึกว่าแค่นั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำความเข้าใจว่าตัวเองชอบอะไรได้บ้างแล้ว

มาพูดถึงตอนลงสนามหางานจริง ๆ กันบ้างดีกว่า ทั้งสองคนคิดว่าวงการศิลปะร่วมสมัยในไทยยังเหลือพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่จบออกมาทำต่อมากแค่ไหน?

เก็ต: เก็ตรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่เหลือที่ เพราะว่าวงการนี้มีคนเข้ามาแล้วก็ออกไปอยู่ตลอดเวลามากกว่า

แพรว: เมื่อก่อนเราจะมีความคิดว่า คนที่ทำงานแบบนี้ อยู่แล้วอยู่นาน แต่ความจริงเรากลับรู้สึกว่าคนก็เปลี่ยนงานตลอดเวลา เจ้าหน้าที่ก็เพิ่มมากขึ้น ถ้าเกิดเป็นแพรว ก็คงจะอยากใช้คำว่าเป็นการเติบโตขึ้นนั่นแหละ

เก็ต: เพราะเรารู้สึกว่าตอนนี้มีหลายโครงการมาก ๆ ที่เปิดขึ้นมา และรับคนเข้าไปลองทำงาน อย่างโครงการเด็ก BAB ที่เรามองว่าเป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่รวมคนเข้าไปในวงการศิลปะ หรือให้พื้นที่คนที่อยากจะลองทำ ซึ่งมีทั้งตำแหน่งผู้ช่วยศิลปิน มีทั้งคนนำชม ซึ่งเรารู้สึกว่าจากที่ดู ๆ มา คนที่เขาเรียนเกี่ยวกับการทำงานศิลปะ หรือเรียนพวกจิตรกรรมอะไรก็ตาม เขาก็จะลงเป็นผู้ช่วยศิลปิน เพราะว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่เขาถนัด ส่วนพวกที่เรียนมาทางด้านการสื่อสาร หรือประวัติศาสตร์ศิลป์ เขาก็จะไปลงเป็นผู้นำชม เรารู้สึกว่าโครงการนี้เป็นสนามที่ดีนะ ที่จะให้คนได้ลองทำ เรารู้สึกว่าพื้นที่ของโอกาสตรงนี้มันก็จะขยายใหญ่มากขึ้น

สรุปได้ว่าวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย ยังคงมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เสมอ ทุกคนสามารถลองไปเริ่มเก็บประสบการณ์จากกิจกรรมและโครงการที่เปิดอยู่ในตอนนี้ให้เป็นประโยชน์ได้ เพื่อต่อยอดและหาหนทางที่ใช่ให้กับตัวเองนั่นเอง

มาพูดถึงชีวิตช่วงนี้ของทั้งสองคนกันบ้างดีกว่า นอกจากงานประจำที่ทำอยู่ ตอนนี้ทั้งสองคนยังเริ่มบทบาทใหม่ในฐานะ ‘คิวเรเตอร์’ ด้วย ไม่ทราบว่าคำคำนี้เริ่มแว๊บเข้ามาในใจของทั้งสองคนตั้งแต่เมื่อไร

แพรว: ความจริงมันแว๊บเข้ามาตั้งแต่สมัยเรียนแล้วนะ แต่มันแว๊บเข้ามาด้วยความรู้สึกว่า อาชีพนี้มันคืออะไร ถ้าเกิดว่าตอนเด็ก ๆ สมมุติว่าย้อนไปไกลสุดตอนสมัยติวเข้ามหาวิทยาลัย เรายังไม่แน่ใจเลยว่า คิวเรเตอร์ทำอะไร ซึ่งตอนนี้ก็ยังถือว่ากำลังทำความเข้าใจอยู่นะ ว่ามันเป็นอาชีพอะไรกันแน่

เก็ต:เรารู้จักคำนี้ครั้งแรกตอนค้นหาว่า จบประวัติศาสตร์ศิลปะแล้วไปทำอาชีพอะไรได้บ้าง นั่นเป็นครั้งแรกเลยที่ได้รู้จักกับคำว่าภัณฑารักษ์ แต่ว่าภัณฑารักษ์ที่เราเข้าใจในตอนนั้น คือภัณฑารักษ์ที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเราเข้าใจว่าหน้าที่ของพวกเขาเป็นเหมือนกับบรรณารักษ์ที่ทำงานในห้องสมุด แต่ไม่รู้รายละเอียดจริง ๆ ว่าเขาทำอะไรได้บ้าง จนมาถึงตอนที่อาจารย์พาไปดูนิทรรศการต่าง ๆ เราก็จะมีแบบว่าคนนี้ศิลปิน คนนี้เป็นคิวเรเตอร์ แล้วเหมือนเราเห็นว่าอาจารย์ที่คณะก็เป็นคิวเรเตอร์ด้วยเหมือนกัน คำคำนี้ก็เลยเริ่มชัดเจนขึ้นมา

**Little Tales of Our Time, Installation view**

Little Tales of Our Time, Installation view

ช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการได้มาเป็น ‘คิวเรเตอร์’ ของนิทรรศการ ‘อุกอั่งเอ้า, Little Tales of Our Time’ ของทั้งสองคนหน่อย

เก็ต: เรื่องมันค่อนข้างยาวนิดนึง คือก่อนหน้านี้เราเคยเป็นผู้ช่วยด้านภัณฑารักษ์ใน Thailand Biennale, Korat 2021 มาก่อน แล้ววันหนึ่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขาก็ติดต่อมาเชิญเราไปเป็นภัณฑารักษ์ ซึ่งตอนแรกเราก็กังวลเหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นงานแรกด้วย ที่ได้ชื่อติดป้ายว่าเป็นภัณฑารักษ์จริง ๆ เพราะว่าที่ผ่านมาแค่เป็นผู้ช่วย พอเขาติดต่อมา เราก็รู้สึกว่าอยากหาใครมาทำด้วยอีกคนนึง เพราะเราก็ไม่รู้ว่าประสบการณ์หรือวิสัยทัศน์ที่เรามี มันจะสามารถทำงานนี้ได้เต็มที่หรือเปล่า

คือกำลังกังวลว่าจะบินเดี่ยวได้ไหมใช่หรือเปล่า?

เก็ต: ใช่ กำลังคิดว่าจะบินเดี่ยวหรือว่าจะอย่างไรดี พอดีว่าก่อนหน้านั้นเคยมีโปรเจกต์ที่จะทำกับพี่แพรวด้วย แต่ต้องพักไปก่อน พอมีโปรเจกต์นี้เข้ามาใหม่ เลยทักไปหาพี่แพรวว่าอยากไปทำด้วยกันไหม เพราะว่าพี่แพรวทำงานอยู่ที่ BOOKSHOP LIBRARY เราเลยคิดว่าพี่แพรวน่าจะมีความสามารถในการคิดถึงฟอร์มศิลปะอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนิทรรศการได้ เพราะว่าที่ BOOKSHOP LIBRARY ไม่ได้มีแค่หนังสือศิลปะ แต่ว่ามีชิ้นงานอย่างอื่นที่ทำควบคู่กันมา เพื่อที่จะแสดงขึ้นมาควบคู่ไปกับนิทรรศการหลักของห้องได้ด้วย เลยชวนพี่แพรวมาทำด้วยกัน

**Little Tales of Our Time, Installation view**

Little Tales of Our Time, Installation view

คอนเซปต์ของ ‘อุกอั่งเอ้า, Little Tales of Our Time’ คืออะไร

เก็ต: จุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้มาจากโครงการที่มีชื่อลำลองว่า ‘เฮ็ดหยัง’ เป็นภาษาอีสานที่แปลว่าทำอะไร ซึ่งมันล้อไปกับชื่อภาษาอังกฤษของโครงการอย่าง ‘Head Young’ ส่วนชื่อทางการของคณะ คือ ‘โครงการศิลปกรรมโดยศิลปินรุ่นเยาว์อีสาน’ ซึ่งเป็นโครงการของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจัดทุก ๆ ปี มันเป็นคล้าย ๆ Early Years Project ของ BACC ที่มีการเปิดรับสมัคร Open Calls คนเข้ามา แต่ว่าโครงการนี้จะโฟกัสอยู่แค่ศิลปินอีสาน แล้วมีการจำกัดอายุ ก่อนหน้านี้จัดมาเป็นปีที่ 5 แล้ว โดยส่วนที่เราทำจะเป็นปีที่ 6

ซึ่งตัวโปรเจกต์นี้ เราไม่ได้มีการกำหนดธีมงานออกไปตั้งแต่แรก แต่ให้ศิลปินส่ง Proposal เข้ามาก่อน ด้วยความที่เราไม่ได้กำหนดธีมของการ Open Calls ตั้งแต่แรก หัวข้อที่ส่งเข้ามาเลยมีหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ เรื่อง AI และเรื่องเมือง แต่สุดท้ายภาพรวมของงานที่ศิลปินส่งเข้ามา มันก็มีความเป็นอีสานมาก ๆ เพราะว่าศิลปินหลาย ๆ คนทำงานจากประสบการณ์ส่วนตัว ในฐานะคนอีสาน สัญญะที่ใช้ในงานมันก็ค่อนข้างชัด

ส่วนคำว่า ‘อุกอั่งเอ้า’ หรือ ‘อุกอั่ง’ เป็นคำแสดงอาการในภาษาอีสาน มันคืออาการหนักใจ มีเรื่องคิดไม่ตก แล้วระหว่างการทำงานกับศิลปิน เรารู้สึกว่ามันคือคำนี้แหละ สำหรับศิลปินรุ่นเยาว์ที่อยากจะเล่าแต่ไม่รู้จะเล่าออกมายังไง มีความลังเล หน้าที่ของเรานอกจากการดูแลเนื้อหาและการจัดแสดงของนิทรรศการแล้ว เรากับพี่แพรวยังอยากให้ Head Young เป็นสนามให้ศิลปินได้ทดลองทำอะไรที่อยากทำแต่ยังไม่กล้าหรือยังไม่เคยคิดจะทำมาก่อน เพื่อเข้าใจ practice ของตัวเองมากขึ้น หรือขยายขอบเขตมันออกไป

รวม ๆ แล้วคอนเซปต์ของ ‘อุกอั่งเอ้า, Little Tales of Our Time’ มันก็เป็นพื้นที่ของคนที่พยายามจะเล่าเรื่องบางอย่าง ไม่ใช่แค่ในแง่ของ practice แต่รวมถึงผลงานที่นำเสนอประสบการณ์ส่วนตัวที่พูดไม่ออกบอกไม่ถูก

**แต่ก่อน (2565), โดย เฉลิมชัย บุญโต **

**แต่ก่อน (2565), โดย เฉลิมชัย บุญโต **

เพื่อช่วยให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้น ทั้งสองคนลองยกตัวอย่างงานของศิลปินขึ้นมาสักคนหนึ่งได้ไหม

เก็ต: ขอยกตัวอย่างงานที่มีการรีเสิร์ชกับพื้นที่ อย่างงานซาวด์อาร์ตและงานจัดวางของเฉลิมชัย บุญโต ที่นำเสนอประเด็นการถูกทำให้เป็นเมืองและผลกระทบที่เกิดขึ้นผ่านภาพถ่ายทางอากาศ การฉายวิดีโอฟุตเทจการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ เมื่อพ.ศ. 2508-2509 และเหตุการณ์น้ำท่วมในจังหวัดขอนแก่นลงบนวัตถุเก็บตก (Found Object) ซึ่งเป็นเศษวัตถุที่หลงเหลือจากการก่อสร้างบริเวณเขื่อนอุบลรัตน์และ ‘พื้นที่ตกหล่น’ ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่ได้ถูกพัฒนาเหมือนพื้นที่โดยรอบ

แพรว: ขออธิบายเพิ่มว่า วิดีโอฟุตเทจและวัตถุเก็บตกเหล่านั้นจะถูกจัดวางล้อไปกับเสียง (Sonic) ที่ปัญญาประดิษฐ์ประมวลผลจากอาไควฟ์ (Archive) ภาพถ่ายทางอากาศจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่ พ.ศ. 2527 - อนาคต เฉลิมชัยยังทำงานร่วมกับ Midjourney ห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ เพื่อคาดการณ์ถึงการขยายตัวของเมืองขอนแก่นในอนาคตอีกด้วย

ความรู้ที่เรียนในห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ มีส่วนช่วยในการคิวเรตงานนี้อย่างไรบ้าง

แพรว: เราว่ามีส่วนช่วย อย่างน้อยที่สุด มันก็เป็นส่วนสนับสนุนการสร้างเรื่องของเรา เรามองว่าหน้าที่อันหนึ่งของคิวเรเตอร์ ก็คือการเป็นคนสร้างเรื่อง เพื่อเล่าผ่านงานของศิลปินเหมือนกัน อย่างน้อยการรู้บริบทหรือข้อมูลอะไรสักอย่างที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงจากที่เราเรียนมา เช่น ศิลปะยุคหลังสงครามเย็น ก็อาจจะทำให้เราหาวิธีในการเชื่อมงานหรือว่าเล่างานได้ดีขึ้น

ช่วยทิ้งท้ายถึงคนอื่น ๆ ที่กำลังเรียนหรือสนใจที่จะเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะในไทยหน่อย ว่าควรเริ่มต้นค้นหาตัวเองยังไง ถึงจะสามารถหางานที่ใช่ในวงการศิลปะได้บ้าง

เก็ต: คงจะบอกได้แค่ว่าตัวแวดวงศิลปะ พูดถึงเฉพาะกรุงเทพฯ ก่อนแล้วกัน แวดวงศิลปะตอนนี้ก็มีเทศกาลอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นเยอะมาก ล่าสุดกำลังจะมีเทศกาล BIPAM 2023 หรือเทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยนานาชาติ 2023 คือเขาก็จะมีการเปิดรับสมัครอินเทิร์นเหมือนกัน แล้วก็จะมีเทศกาล BAB ที่เขาจะเปิดรับเด็ก BAB เรารู้สึกว่าสองเทศกาลนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการให้คนที่กำลังเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะได้ลองทำอะไรบางอย่าง และค้นหาสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเองดู

แพรว: อาจจะต้องลองพยายามหาอะไร 3 อย่าง คือถ้าเกิดไม่ใช่สิ่งที่ชอบ ก็อาจจะต้องลองหาข้อดีของสิ่งที่จะทำ หรือประโยชน์ที่จะทำสิ่งนั้น ๆ เรียกว่าเป็นการมองหาแง่มุมในเรื่องที่เราชอบดูผ่านตา ซึ่งเรารู้สึกว่าที่จริงไม่ว่าจะเรียนคณะไหน อาจจะไม่ได้จำกัดแค่ประวัติศาสตร์ศิลป์ก็ได้ ก็สามารถลองมองหาสิ่งเหล่านี้ได้เหมือนกัน เพราะมันจะทำให้หาสิ่งที่ตัวเองสนใจได้ง่ายขึ้น