ใช้ความตลกร้ายส่งเสียงวิพากษ์สังคม กับศิลปินช่างเสียดสี Canyouhearcloud

Post on 22 January

เคยไหม? อ่านข่าวแล้วเจอประเด็นน่าอึดอัดใจจนอยากเล่าให้คนอื่นมาช่วยขบคิดด้วยกัน แต่ก็ต้องยั้งปากไว้ เพราะไม่แน่ใจว่าพูดไปแล้วอีกฝ่ายจะรับได้หรือเปล่า

การพยายามหาวิธีในการสื่อสารที่ ‘เป็นมิตร’ กับกลุ่มคนนั้น ๆ ก็อาจเป็นเรื่องธรรมดาหรือประสบการณ์ทั่วไปที่ใคร ๆ ก็เคยเผชิญ และนั่นก็คือความตั้งใจที่ซ่อนอยู่ภายใต้โทนสีนุ่ม ๆ ในภาพของ ‘Canyouhearcloud’ (กีรติ เกตุคำ) ที่แม้ว่าดูเผิน ๆ แล้วจะเป็นภาพวาดที่ดูน่ารัก และเข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน หากแต่ยังคงประเด็นสังคมที่คงระดับความเข้มข้นไว้อย่างเหนียวแน่น ตามความตั้งใจของศิลปินที่อยากท้าทายวิธีทำงานของตัวเอง

“ยุคนี้มันมีการแหกกันเยอะทุกวงการ” เขาพูดขึ้นตอนหนึ่งระหว่างบทสนทนากับเรา “เรื่องราวเน่าเฟะที่มันโผล่ขึ้นมาพวกนี้ มันก็อาจมองได้ว่าเกิดจากเด็กสมัยนี้ หรือสังคมสมัยนี้ที่มีความก้าวร้าวมีความขบถ แต่ผมรู้สึกว่าเขาแค่กล้าตั้งคำถาม กล้าที่จะไม่ยอมอะไรง่าย ๆ กับเรื่องที่ไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ สัญลักษณ์สามนิ้วจึงกลายเป็นภาพแทนของการต่อต้าน การตั้งคำถาม เหมือนเป็นตัวตนของเรื่องนี้” เขาเล่าไอเดียเบื้องหลังที่กำลังใช้ทำงานอยู่ขณะนี้

ใครที่พอตามการเมืองอยู่บ้างก็อาจคุ้นกับคาแรกเตอร์ของเขาที่มักจะเรียกกันในชื่อ “ตาดาว” สัญลักษณ์แห่งความ “ตาสว่าง” หรือการมองเห็นโครงสร้างการเมืองเบื้องหลังที่เดิมทีอาจจะยังไม่ทันสังเกต แต่จริงแล้ว ที่มาของคาแรกเตอร์นี้อาจไม่ใช่อย่างที่ทุกคนคิด “ตาดาวที่ทุกคนเรียกจริง ๆ มันเป็นขนตา” เขาเล่าขำ ๆ “ตอนนั้นคุยกับผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ ตาเขาสวยมาก เลยอยากจะวาดเขา แต่ไม่ได้วาดตรง ๆ เลยสร้างคาแรกเตอร์นี้ขึ้นมาด้วยลายเส้นง่าย ๆ เป็นมิตร แต่มันดันเข้ากันพอดีกับเรื่องตาสว่าง”

และนั่นก็ตอบอีกคำถามของเรา ว่าทำไมภาพของเขาถึงมีความป็อป ดูน่ารัก ตัดกับการเมืองที่ดุเดือดขึ้นทุกวัน “ยุคแรกผมทำภาพประกอบหวาน ๆ เลย เป็นชายหญิงสองคนในบริบทน่ารัก ๆ ทั่วไป แต่ด้วยความที่ชอบทำงานคอนเซปชวลกับประเด็นการเมือง เลยใส่ลงไปด้วย ทำให้ประเด็นเข้มข้นขึ้น เพียงแต่เราก็ยังนำเสนอแบบที่เข้าถึงผู้คนง่ายขึ้นด้วย ไม่ได้ซับซ้อนขนาดนั้น” เขาอธิบาย

“งานการเมืองมันอาจจะดูหนักไปหน่อยสำหรับบางพื้นที่ เราก็ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการเมืองที่เข้มข้นละเอียดอ่อน กับการสื่อสารที่เป็นมิตรกับคนกลุ่มต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ เลยใช้เป็นคาแรกเตอร์ แล้วก็ล้อเลียนมัน”

ผลงานชุดล่าสุดที่กำลังจะจัดแสดงของเขา นำสัญลักษณ์สามนิ้วมาเล่นผ่านสัญลักษณ์ทางความเชื่ออีกที “แทนที่จะซ่อนสัญลักษณ์สามนิ้ว ผมกลับอยากนำเสนอมันมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่ทำให้คนมองภาพแล้วเห็นอย่างอื่นก่อน เลยมาเป็นเหมือนเทพที่มีมือเยอะ ๆ คล้ายพระศิวะ เป็นการเสนอสัญลักษณ์สามนิ้วแต่เคลือบด้วยภาพอื่น

“ส่วนตัวสนใจประเด็นศาสนาอยู่แล้วด้วย แล้วคำว่าพระเจ้า หรือ God เทพ อะไรพวกนี้ เป็นคำที่ชอบใช้เรียกคนเก่ง เลยมาเป็นอีกภาพที่เป็นคนเล่นกีตาร์ด้วย กับภาพที่สามซึ่งเป็นเอเลี่ยน มาจากทฤษฎีสมคบคิดที่มองศาสนาแบบไซไฟ คือพระเจ้าหรือสิ่งต่าง ๆ ที่เรานับถือกันในปัจจุบันจริง ๆ อาจจะเป็นมนุษย์ต่างดาวก็ได้ แต่เขามาพบมนุษย์ยุคหิน ในวันที่มนุษย์ยังไม่มีความรู้พอจะอธิบายว่าพวกเขาคืออะไร เลยเป็นการบอกเล่าต่อ ๆ มา แล้วกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิแทน” เขาเล่า

ถ้าฟังดูแล้วน่าสนใจอยากให้เขาอธิบายอีก ก็มาเจอกันได้ในนิทรรศการ ‘Artist on Our Radar’ ที่เขาจะแสดงสามผลงานนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. - 17 มี.ค. 2567 ณ MMAD MASS GALLERY ชั้น 2 โซน MMAD, ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์

ติดตามผลงานของ Canyouhearcloud ได้ที่ https://www.instagram.com/canyouhearcloud