เพิ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแบบสด ๆ ร้อน ๆ เลยสำหรับบูติกของแบรนด์เครื่องประดับยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากประเทศฝรั่งเศสอย่าง Cartier ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม ที่นับว่าเป็นร้าน Cartier สาขาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
โดยนอกจากความหรูหราและความสวยงามของการออกแบบตกแต่งบูติกแล้ว ทาง Cartier ยังมีไฮไลต์พิเศษต้อนรับการเฉลิมฉลองการเปิดบูติกด้วยการไปจับมือกับ คุณปอม-ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักกันดีในชื่อ Pomme Chan ศิลปินชาวไทยที่มีผลงานในระดับนานาชาติ จัดแสดงนิทรรศการภายใต้แนวคิด ‘The Urban Oasis’ ชุดผลงานศิลปะในรูปแบบ AR Experience ที่มีทั้งความงดงามและความล้ำสมัยในแบบของ Cartier
The Urban Oasis รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดในการสร้างสรรค์เครื่องประดับของแบรนด์ที่มีการนำรูปทรงในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ พืชพรรณ รวมไปถึงสัตว์ประเภทต่าง ๆ มาใช้ในการออกแบบ โดยยังไม่ลืมที่จะผสมผสานองค์ประกอบที่แสดงออกถึงความเป็นไทยเข้าไปในผลงานสุดล้ำสมัยในครั้งนี้ด้วยการนำรายละเอียดของดอกไม้ พืชพรรณ งานช่างฝีมือ สถาปัตยกรรมไทยมาสอดแทรกในผลงาน ซึ่งถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของงาน AR Experience ที่เปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับผลงานศิลปะในแบบแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร
เพื่อเฉลิมฉลองการเปิดบูติกสาขา ดิ เอ็มโพเรียม ของ Cartier ในครั้งนี้ พวกเราชาว GroundControl มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณ Pomme Chan ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลัง event activation ที่น่าตื่นเต้นในการเปิดตัวบูติกครั้งนี้ และ คุณ Yanina Novitskaya ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Cartier ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย ผู้บริหารที่เป็นตัวแทนทีม Cartier ที่รังสรรค์ความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์ให้กับบูติกสาขา ดิ เอ็มโพเรียม ที่มีครบทั้งความหรูหราและกลิ่นอายท้องถิ่น ที่สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างดีเยี่ยม
แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบในครั้งนี้จะเป็นอย่างไร ตามไปอ่านต่อได้เลย…
📍 ความหรูหราในแบบ Cartier ที่ยังให้ความเคารพต่อวัฒนธรรมพื้นถิ่น
Yanina Novitskaya: “ไทยเป็นประเทศที่สวยงามและเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับ Cartier ดังนั้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการเปิดตัวบูติกสาขา ดิ เอ็มโพเรียม เราจึงอยากจะผสมผสาน DNA ของแบรนด์เข้ากับองค์ประกอบที่แสดงให้ถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง สีสัน หรือพื้นผิวต่าง ๆ โดยยังคงไว้ซึ่งความเคารพต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น
“มันคงจะดีมากถ้าเราก้าวเข้าไปในร้าน Cartier จากทั่วทุกมุมโลกแล้วสามารถสัมผัสกับบรรยากาศความหรูหราของเมซงฝรั่งเศสในแบบของ Cartier ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถค้นพบประสบการณ์และเสน่ห์เฉพาะตัวของแต่ละท้องที่ได้เช่นกัน”
📍 ความร่วมมือระหว่างแบรนด์เครื่องประดับระดับโลกและศิลปินไทยฝีมือดี
Yanina Novitskaya: “ผลงานของ Pomme Chan ดึงดูดเราด้วยสไตล์และเสน่ห์เฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ แม้จะไม่ได้มีการพูดคุยกันตรง ๆ แต่เรากลับสามารถสัมผัสได้ถึงบทสนทนาบางอย่างในผลงานของเธอ มันมีความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างสุนทรียะของ Cartier และผลงานศิลปะของ Pomme Chan ที่มีความใกล้เคียงกัน”
Pomme Chan: “จิตวิญญาณและองค์ประกอบที่บ่งบอกถึงความเป็น Cartier เป็นสิ่งที่เราชอบทำในผลงานศิลปะของตัวเองอยู่แล้ว นอกจากมันจะทำให้เราสามาถทำงานได้อย่างลื่นไหลและรวดเร็วแล้ว แบรนด์ยังให้อิสระในการสร้างสรรค์กับเรามาก ๆ ในการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ ทาง Cartier ไม่มีการกำหนดข้อห้ามหรือกรอบใด ๆ กับเราเลย ดังนั้น นี่จึงเป็นผลงานที่เราภูมิใจกับมันมาก ๆ”
📍แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน AR Experience ครั้งนี้
Pomme Chan: “โดยส่วนใหญ่ ผลงานศิลปะของเราจะมีความ Maximalism ที่มีการใช้รายละเอียดและสีสันสดใส แต่สำหรับงานนี้ เราตั้งใจลดระดับความจัดจ้านลงมาเพื่อให้มีความกลมกลืนกับพื้นที่มากขึ้น โดยมีการนำองค์ประกอบของความเป็นไทยมาใช้ผสมผสาน ทั้งพืชพรรณ งานช่างฝีมือ และสถาปัตยกรรมไทย
“หรือแม้แต่สีสันที่เลือกใช้ก็ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากท้องฟ้าของประเทศไทยในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นและช่วงพระอาทิตย์ตก ด้วยความที่เราเป็นท่องเที่ยวเยอะ ก็เลยสังเกตว่า ท้องฟ้าในแต่ละพื้นที่ทั่วโลกก็ล้วนแล้วแต่มีสีสันที่แตกต่างกันออกไป”
📍 แรงบันดาลใจที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
Yanina Novitskaya: “ถ้ามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของ Cartier ก็จะพบว่า ครอบครัว Cartier ล้วนแล้วแต่ถูกห้อมล้อมไปด้วยผู้คนหัวก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นแวดวงศิลปะ วิทยาศาสตร์ และวิชาการ จากประเทศ สัญชาติ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป
“ในปัจจุบันที่ Cartier ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ก็เช่นกัน เรายังคงเชื้อเชิญผู้คนมากมายมาทำงานร่วมกัน ซึ่งมันไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์เพื่อเราเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเราด้วยเช่นกัน”
📍 การส่งเสริมศิลปะของแบรนด์เครื่องประดับยักษ์ใหญ่ระดับโลก
Yanina Novitskaya: “เรามี Cartier Foundation ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่แยกออกจากส่วนพาณิชย์โดยสิ้นเชิงมาตั้งแต่ช่วงยุค 1980s มันเป็นเหมือนอีกหนึ่งช่องทางในการสนับสนุนและไฮไลต์ศิลปินหน้าใหม่หรือศิลปินที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในระดับสากลมากนักผ่านการจัดนิทรรศการและความร่วมมือในหลาย ๆ รูปแบบ ศิลปินชื่อดังที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันหลาย ๆ ก็เคยได้รับการเปิดตัวผ่าน Cartier Foundation ด้วยเช่นกัน
“ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่เรามีส่วนร่วมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันศิลปะ Aboriginal Art ของชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย การคอลแลบกับศิลปินและแกลเลอรี่ในสิงคโปร์ การเข้าไปมีส่วนร่วมในงาน Sydney Biennale ที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือแม้แต่กับประเทศไทยเองก็อาจจะมีแผนการผลักดันศิลปะของย่านนี้ในอนาคตด้วยเช่นกัน”