“มันชอบมีการถกเถียงกันว่าเนี่ยเราต้องใช้เหตุผลอย่าไปใช้อารมณ์ แต่เราชอบคำพูดของอาจารย์คนหนึ่งมากว่าอารมณ์มันก็คือข้อมูลอย่างหนึ่งที่สำคัญเหมือนกัน แม้จะแตกต่างจากเหตุผล แต่ก็ไม่ได้ด้อยค่าไปกว่ากันเลย” นั่นคือประสบการณ์จากการศึกษาในสายวารสารศาสตร์ของศิลปินคอลลาจ ‘Cerebrum_art.original’ (เมธัส แก้วดำ) ซึ่งมีชื่อแบบวิทยาศาสตร์ เริ่มทำงานศิลปะเพราะ “การเมือง” และกำลังจะแสดงงานใหม่ที่ว่าด้วยกายภาคของ “เวลา” ที่ยืดขยายและไม่ได้ดำเนินไปเป็นเส้นตรงอย่างที่เราเข้าใจ
“เราเริ่มทำงานจากช่วงที่กำลังเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ขึ้น เลยเลือกใช้สื่อที่ทำง่ายและเร็วกึ่ง ๆ มีม” เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานศิลปะจากแรงสั่นสะเทือนทางการเมือง “ช่วงนั้นเป้าหมายคืออยากให้คนเห็นเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ตอนเรียนเรื่องข่าวจะมีอาจารย์ที่เก่ง ๆ เขาหยิบประเด็นที่เกิดขึ้นครึ่งชั่วโมงก่อนหน้ามาพูดในคลาสได้เลยว่ามันน่าสนใจยังไง เราก็ได้ความคิดในเรื่องการเขียนหรือการสื่อสารที่ลึกซึ้ง มองปัญหาแล้วไม่ได้เห็นแค่ปัญหา แต่มองว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วก็เศร้ามากที่มันไม่ได้แก้สักที มันก็คงมีปัญหาพวกนี้ไปเรื่อย ๆ สินะ มันแย่มาก ๆ ที่เรารู้สึกคือสักวันมันอาจจะเกิดขึ้นกับตัวเราหรือคนที่เรารักแน่นอน ตอนนั้นเลยมีไฟมาก อยากทำอะไรบางอย่าง ก็มีการถกกันคุยกันเรื่องการเมืองเยอะมาก คนอื่นอาจจะถนัดงานเขียนงานพูดแต่เราถนัดด้านภาพ
“มันไม่ถึงขั้นข่าว ข่าวมันคือข้อเท็จจริงที่ตีแผ่บางอย่าง แต่งานวาดมันคือการเอาข้อเท็จจริงมาสร้างเป็นงาน เรารู้สึกว่าศิลปะมันเร้าอารมณ์ด้วยสี ด้วยพื้นผิว หรือสัญญะในภาพ มันมีความโกรธหรืออะไรอยู่ ทำให้เห็นว่าปัญหามันเป็นอย่างไร”
ถึงจะเป็นงานสไตล์คอลลาจ แต่ถ้ามองภาพของเขาในครั้งแรก เราคงไม่รู้สึกสะดุดกับความหลากหลายของชิ้นส่วนจากภาพต่าง ๆ ที่ถูกนำมาตัดแปะ แต่อาจรู้สึกเหมือนกับมองภาพวาดอยู่ด้วยซ้ำ “เรามองงานคอลลาจเป็นสองสายคือแบบที่ทำให้รู้เลยว่าเป็นงานคอลลาจ กับแบบที่ทำให้ดูแนบเนียนเหมือนเป็นงานชิ้นเดียวกัน เราชอบที่ภาพมันดูเนียนมองจากตรงไหนก็เป็นจุดเริ่มต้นจากตรงนั้นได้ทั้งนั้น เหมือนต้นไม้ที่มันแตกกิ่งก้านสาขาออกมาเป็นกิ่งที่ดูไม่ออกว่ามันเป็นคนละต้น” เขาอธิบาย
ล่าสุดในผลงานชิ้นยาวของเขาซึ่งกำลังจะจัดแสดงที่นิทรรศการกลุ่ม Artists On Our Radar เขาก็ใช้เทคนิคนี้ถ่ายทอดแนวคิดเรื่องเวลาในเรื่องเล่า ที่ฟังแล้วคอนเซปต์น่าสนใจไม่แพ้ตัวภาพเลย “เราสนใจเรื่องรูปแบบของเวลาหรือกายวิภาคของเวลาในเรื่องเล่า ความสัมพันธ์ของเวลากับผู้คนในเรื่องราว คนจะคิดว่าเวลาคือต้น-กลาง-จบ ใช่ไหม แบบอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต แต่ถ้าเราดูจริง ๆ เวลาในชีวิตเราไม่ได้ดำเนินแบบนั้นร้อยเปอร์เซนต์ เราอยู่ในเวลาปัจจุบัน แต่ก็มีบางสิ่งลึก ๆ ที่ทำให้นึกถึงอดีต หรืออาจจะมีกลิ่นว่าอนาคตมันต้องเกิดอย่างนี้แน่นอน ขนาดของเวลาเลยมีการขยายตัวออกเรื่อย ๆ เมื่อมีคนนึกถึงมัน
“เช่นในความฝัน ก็มีเวลาที่เดินอยู่ในปัจจุบันในฝันอีกทีหนึ่ง ไทม์ไลน์มันก็มีการขยายตัวออกมากขึ้น แล้วในความฝันนั้น ถ้าเรานึกถึงอดีตหรืออนาคต มันก็คือการแตกไทม์ไลน์ออกไปเรื่อย ๆ ในเวลาเดียวกันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนเป็นจุดดาว อาจจะไม่ได้ขยายตัวเป็นรัศมี อยู่ดี ๆ ก็สว่างขึ้นแล้วก็ดับลง ไปสว่างใหม่อีกที่หนึ่งก็ได้” นั่นคือภาพแรกของเขาที่ว่าด้วยเวลาในความฝัน
ส่วนอีกภาพเขาเล่าเรื่องการย้อนเวลา “เป็นความสัมพันธ์ของปลาสองตัวที่เจอกันแล้วก็แยกจากกัน เพราะเวลาที่เราพูดว่าเหมือนเคยเจอคนนี้ในอดีตสักคน มันก็ทำให้เราระลึกถึงตัวตนในอดีตเหมือนกัน แล้วมันก็ไปถึงอนาคตด้วยว่าเราต้องได้เจอกันอีกในทางใดทางหนึ่ง”
และท้ายที่สุด คือภาพกายวิภาคของเวลา ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็ก ๆ ภายใน “เป็นรูปดอกไม้ มีผู้หญิงคนหนึ่งอ่านหนังสือที่กลางภาพ เป็นบุคลาธิษฐานของเวลา เหมือนเวลาเป็นการอ่าน การรับรู้เรื่องราวจึงเกิดเป็นเวลาขึ้น แต่เราไม่รู้เลยว่าดอกไม้รอบ ๆ ตัวผู้หญิงคนนั้นเริ่มบานจากตรงไหน เริ่มบานตอนไหน ดูไม่ได้เริ่มจากตรงกลางด้วย และไม่ได้เริ่มจากข้าง ๆ ด้วย ถ้าดูภาพนี้ไกล ๆ จะเห็นเป็นเส้นนำสายตาขึ้นลงเป็นคลื่นด้วย แต่มองใกล้ ๆ จะมีความสะเปะสะปะอยู่
“การทำภาพเหมือนการบำเพ็ญอย่างหนึ่งเลย” เขาทิ้งท้ายเรื่องการทำงาน “ในงานความฝันเราสร้างโรงงานขึ้นมาจากอิฐทีละก้อน วางทีละเสา วางแปลนใหม่ไม่ให้มีความสมเหตุสมผลมากเพราะเป็นความฝัน” ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ตามไปดูได้ในนิทรรศการ ‘Artist on Our Radar’ ที่จะจัดแสดงขึ้นในวันที่ 20 ม.ค. - 17 มี.ค. 2567 ณ MMAD MASS GALLERY ชั้น 2 โซน MMAD, ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์
ติดตามผลงานของ Cerebrum_art.original ได้ที่ https://www.instagram.com/cerebrum_art.original/