‘รู’ นี้มีที่มา! ถอดปรัชญาวงกลมแห่งศิลปะญี่ปุ่น จากซีรีส์ Land of Tanabata

Post on 11 July

โหด ดิบ เถื่อน ลึกลับ คือคำโปรยที่ดึงดูดให้เราเลื่อนรีโมทไปกดดู ‘Land of Tanabata’ ซีรีส์เรื่องใหม่จากเกาะญี่ปุ่นที่เพิ่งแลนดิ้งลงจอดในแอป Disney+ Hoststar Thailand เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซีรีส์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ มินามิมารุ โยจิ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมดา ๆ ที่ค้นพบว่าตัวเองสามารถเจาะ ‘รู’ บนวัตถุและทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างสมบูรณ์แบบ และพอสืบไปสืบมา เขาก็พบว่าตัวเองพัวพันอยู่กับตระกูลโบราณที่มีพลังจิต และยังต้องต่อสู้กับศัตรูที่ใช้พลังทำร้ายคนไปเรื่อยด้วย

และหลังจากนั่งดูไปได้ไม่กี่นาที ตัวหนังก็แสดงฉากต่อสู้ชวนช็อกสมคำโปรยให้เราได้เห็นอยู่เนือง ๆ พร้อมกับข้อสงสัยที่ปะทุขึ้นในใจเรื่อย ๆ ว่า ในหมู่พลังทั้งหมด ทำไมต้องเป็นการเจาะ ‘รู’ ด้วย!?

หากว่ากันตามมุมมองของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ‘วงกลม’ คือสัญลักษณ์สำคัญทางพุทธศาสนาที่ถูกใช้บ่อย ๆ เพื่อสื่อถึงการตรัสรู้ ความเข้มแข็ง ความสง่างาม วัฏจักรชีวิต จักรวาล ความว่างเปล่า และความสมบูรณ์แบบ ฯลฯ และวงกลมยังเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนสุนทรียศาสตร์ความงามแบบญี่ปุ่น ที่ถูกเรียกว่า ‘ปรัชญาเอนโซ’ (Ensō)

ในภาษาญี่ปุ่น ‘เอนโซ’ มีความหมายว่า ‘วงกลม’ ปรัชญาเอนโซจึงเป็นปรัชญาความงามที่ว่าด้วยวงกลมแห่งสรรพสิ่ง ที่มีรากฐานมาจากการเขียนพู่กันของพระนิกายเซน โดยพวกเขาจะใช้การเขียนพู่กันให้เป็นรูปวงกลมในการตวัดครั้งเดียว และใช้การฝึกเขียนสิ่งนี้มาเป็นแนวทางในฝึกจิต สมาธิ และปัญญา และในขณะเดียวกันก็ยังใช้ภาพที่เกิดขึ้นมาเป็นตัวเตือนใจในคราวเดียวกัน กล่าวคือ การเขียนวงกลมให้สมบูรณ์แบบในตวัดเดียวนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเรายังคงเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้สมบูรณ์พร้อม แต่ถ้าใครสามารถวาดวงกลมขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ก็แปลว่าคนคนนั้นมีจิตที่มั่นคง ตั้งมั่น เปี่ยมไปด้วยปัญญา หรือเหนือกว่ามนุษย์ธรรมดาไปแล้วนั่นเอง

ดังนั้น พลังจิต วงกลม และคนเหนือมนุษย์ที่ปรากฏในซีรีส์เรื่อง Land of Tanabata จึงชวนให้เรานึกถึงแนวคิดของพุทธศาสนานิกายเซน และปรัชญาแบบเอนโซ ที่เชื่อมเข้ากับเรื่องวงกลมอันสมบูรณ์แบบ เพราะเมื่อตัวเอกอย่างโยจิสามารถใช้พลังจิตในการสร้างวงกลมขึ้นมาได้อย่างไร้ที่ติ ก็แปลว่าเขานั้นเป็นคนที่ ‘เหนือมนุษย์’ ไปแล้ว อันเป็นผลมาจากการมีพลังจิตที่แข็งแกร่งกว่าใคร

นอกเหนือจาก ‘รูวงกลม’ ที่เกิดจากพลังสุดโหดของตัวละครในเรื่อง The Land of Tanabata ในศิลปะญี่ปุ่นก็ยังมีวงกลมอีกมากมายที่เกิดขึ้นมาจากความเชื่อของพุทธศาสนานิกายเซนและสุนทรียศาสตร์แบบปรัชญาเอนโซให้เราได้ทำความรู้จักกัน ไม่ว่าจะเป็นวงกลมในงานดีไซน์ จิตรกรรม สถาปัตยกรรม และสวนเซน ซึ่งไหน ๆ วงกลมก็กลายมาเป็นตัวเอกในซีรีส์เรื่องนี้แล้ว เราเลยอยากจะพาทุกคนไปรู้จักกับวงกลมในศิลปกรรมญี่ปุ่นรูปแบบอื่น ๆ ด้วย ถ้าใครอยากรู้ก็ตามมาอ่านกันต่อได้เลย!

วงกลมในภาพวาดซูมิเอะ (sumi-e)

ซูมิเอะ คือภาพวาดพู่กันแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ใช้หมึกและพู่กันในการวาดลงบนกระดาษ ซึ่งในภาพวาดประเภทนี้จะมีการวาด ‘วงกลม’ เพื่อสื่อถึงพระจันทร์เต็มดวง หยดน้ำ หรือรูปทรงโค้งของปีกนกที่กำลังบิน แม้ไม่ใช่วงกลมสมบูรณ์ แต่เส้นโค้งของปีกนกก็ให้ความรู้สึกคล้ายส่วนหนึ่งของวงกลม การใช้รูปทรงวงกลมเหล่านี้ไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงาม แต่ยังช่วยสร้างความรู้สึกสมดุลในภาพ ทำให้ดูนิ่ง สงบ และมีสมาธิมากขึ้น

ลวดลายวงกลมในสวนเซน

‘คาเรซันซุย’ (karesansui) หรือ ‘สวนเซน’ คือรูปแบบสวนญี่ปุ่นที่มีการจัดวางเรียบง่าย และเชื่อมโยงกับปรัชญาของพุทธศาสนานิกายเซนอย่างลึกซึ้ง ในด้านของการฝึกจิต สมาธิ ปัญญา โดยใช้ หิน กรวด ต้นไม้เล็ก ๆ เป็นองค์ประกอบหลัก และลวดลายที่นิยมใช้ในการตกแต่งสวนก็คือ ‘วงกลม’ ที่จะมีการใช้คราดค่อย ๆ วาดและสร้างขึ้นมา เพื่อจำลองถึงคลื่นน้ำ วงจรชีวิต การเคลื่อนไหว ความสมดุล และความหมายทางนามธรรมอื่น ๆ ซึ่งในระหว่างที่สร้างวงกลมและจัดวางส่วนต่าง ๆ ของสวนเซน ผู้สร้างก็จะได้ใช้โอกาสนั้นในการทำสมาธิ ครุ่นคิดถึงตนเอง และเข้าใจแนวคิดทางปรัชญาเซน รวมถึงหลังจากสร้างเสร็จแล้ว ก็ยังมานั่งเฝ้ามองเพื่อใคร่ครวญสัจธรรมต่าง ๆ ได้ด้วย

ลวดลายวงกลมในสวนเซน

‘คาเรซันซุย’ (karesansui) หรือ ‘สวนเซน’ คือรูปแบบสวนญี่ปุ่นที่มีการจัดวางเรียบง่าย และเชื่อมโยงกับปรัชญาของพุทธศาสนานิกายเซนอย่างลึกซึ้ง ในด้านของการฝึกจิต สมาธิ ปัญญา โดยใช้ หิน กรวด ต้นไม้เล็ก ๆ เป็นองค์ประกอบหลัก และลวดลายที่นิยมใช้ในการตกแต่งสวนก็คือ ‘วงกลม’ ที่จะมีการใช้คราดค่อย ๆ วาดและสร้างขึ้นมา เพื่อจำลองถึงคลื่นน้ำ วงจรชีวิต การเคลื่อนไหว ความสมดุล และความหมายทางนามธรรมอื่น ๆ ซึ่งในระหว่างที่สร้างวงกลมและจัดวางส่วนต่าง ๆ ของสวนเซน ผู้สร้างก็จะได้ใช้โอกาสนั้นในการทำสมาธิ ครุ่นคิดถึงตนเอง และเข้าใจแนวคิดทางปรัชญาเซน รวมถึงหลังจากสร้างเสร็จแล้ว ก็ยังมานั่งเฝ้ามองเพื่อใคร่ครวญสัจธรรมต่าง ๆ ได้ด้วย

ประตูจันทรา

วงกลม ยังเป็นรูปทรงสำคัญที่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่น ที่เรียกว่า ‘ประตูจันทรา’ หรือ ‘สึคิมิ-ได’ (tsukimi-dai) ประตูวงโค้งทรงกลมที่มักพบในกำแพงสวนหรือตัวอาคาร ประตูประเภทนี้ได้เชื่อมโยงกับการชมจันทร์และการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล และยังหมายถึงวัฏจักรของธรรมชาติและชีวิต สะท้อนแนวคิดทางปรัชญาเกี่ยวกับความไม่จีรังและการเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง ในทางปฏิบัติ ประตูจันทราทำหน้าที่เป็นกรอบนำสายตาและสร้างมุมมองที่น่าสนใจไปยังทิวทัศน์และดวงจันทร์ยามค่ำคืน

ประตูจันทรายังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์สื่อถึงการเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณ สะท้อนวิธีคิดของชาวญี่ปุ่นที่เห็นความงามและความลึกซึ้งในสิ่งเรียบง่ายรอบตัว อีกทั้งยังเป็นสื่อกลางที่เชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติและกระตุ้นให้ครุ่นคิดถึงความหมายของชีวิตและจักรวาล

ปรัชญาเอนโซและศิลปะในโลกร่วมสมัย

ในปัจจุบันเราสามารถเห็นรูปวงกลมแบบปรัชญาเอนโซได้มากมายตามสื่อต่าง ๆ ตั้งแต่การออกแบบโลโก้ แฟชั่น งานจิตรกรรม ไปจนถึงงานสถาปัตยกรรม โดยการออกแบบทั้งหมดจะยังคงรักษาความหมายดั้งเดิมของวงกลมตามปรัชญาเอนโซเอาไว้อยู่ นั่นคือความสมบูรณ์ สมดุล และการมีสติในชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมของสังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความเรียบง่าย ความสงบ และการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ

เช่น ผลงานห้องซาวน่า ‘Sauna Sazae’ ของ เคนโกะ คุมะ สถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่น ที่ตั้งอยู่ในรีสอร์ต SANA MANE บนเกาะนาโอชิมะ ประเทศญี่ปุ่น โดยสถาปัตยกรรมแห่งนี้มีการใช้รูปทรงวงกลมมาเป็นส่วนประกอบหลักในการออกแบบหลาย ๆ ส่วน ทั้งโครงสร้างหลักที่มีการทำฐานขดม้วนเป็นวงกลมที่ไม่สมมาตรเหมือนก้นหอย และมีส่วนยอดที่เป็นช่องรับแสงบนหลังคาให้เป็นรูปวงกลมที่สมบูรณ์แบบ ยังมีเฟอร์นิเจอร์ด้านในที่มีการออกแบบให้เป็นรูปวงกลมด้วย ซึ่งการผสมผสานระหว่างรูปวงกลมที่ไม่สมบูรณ์และสมบูรณืในอันเดียว ก็ชวนให้นึกถึงปรัชญาเอนโซ เช่นกัน

อ้างอิง

Japanese Aesthetics สำรวจ 5 ปรัชญาความงามที่อยู่ในศิลปะและชีวิตของชาวญี่ปุ่น

The Serenity of Circles: Exploring the Importance of Circles in Japanese Art and Culture

Sauna Sazae / Kengo Kuma & Associates