“Ah, make the most of what we yet may spend,
Before we too into the Dust descend;
Dust into Dust, and under Dust to lie,
Sans Wine, sans Song, sans Singer, and—sans End!”
“เสพเถิดทิพย์สุนทรีย์แห่งชีวิต
ก่อนชีพปลิดปลิวปลงลงเป็นฝุ่น ไร้ลำนำ,
เสียงขับขานหวานละมุน
ลืมเลือนรสเหล้าองุ่นไปนิรันดร์”
สำนวนจากบทกวี ‘รุไบยาต’ คือสิ่งที่เราจะได้เห็นเป็นอย่างแรกเมื่อเดินเข้าไปในห้องจัดนิทรรศการ ‘Essence of Time and Transience’ ที่ MMAD MASS GALLERY นิทรรศการเดี่ยวโดย ‘Demian Factory’ หรือ ‘ตี๋-ณัฐธวัช พันธุ์สอิ้ง’ ศิลปินผู้หลงใหลในศิลปะช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะผลงานรูปแบบ ‘คิวบิสม์’ (Cubism) หรือศิลปะลัทธิ ‘บาศกนิยม’ ศิลปะที่ได้รับผลสะท้อนมาจากอิทธิพลด้านความเจริญทางวิทยาศาสตร์ และจากลักษณะรูปแบบหน้ากากของชนเผ่าดั้งเดิมในแอฟริกา
คิวบิสม์ถือเป็นวิวัฒนาการสำคัญที่เกิดขึ้นในวงการศิลปะช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยศิลปินสองคนคือ ‘ฌอร์ช บราก’ (Georges Braque) และ ‘ปาโบล ปิกัสโซ่’ (Pablo Picasso) โดยปฏิวัติการมองและการสร้างภาพในศิลปะที่ต่างจากศิลปะรูปแบบอื่น แทนที่จะมองวัตถุจากมุมมองเดียว แต่คิวบิสม์เลือกนำเสนอวัตถุจากหลายมุมมองในเวลาเดียวกัน เพื่อสร้างภาพที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของรูปร่างโดยใช้รูปทรงเรขาคณิต ซึ่งมีคงมีอิทธิพลต่อวงการศิลปะและการออกแบบมาจนถึงปัจจุบัน
Demian Factory ได้นำความหลงใหลในคิวบิสม์มาผสมผสานกับบทกวีรุไบยาตของ ‘Omar Khayyam’ นักกวีชาวเปอร์เซีย กลายเป็นผลงานศิลปะที่นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการค้นหาความหมายของชีวิต การดำรงอยู่ และการยอมรับความท้าทายที่มากับกาลเวลา ราวกับไวน์ในแก้วที่กำลังพร่องลงหรือเปลวเทียนที่ใกล้ดับ เกิดเป็นงานศิลปะที่ชวนตั้งบทสนทนาใหม่ ๆ ที่ว่าด้วยจิตเสรีและสุขนิยมในชีวิตของมนุษย์หรือตัวของศิลปินเอง
นิทรรศการ Essence of Time and Transience จึงอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งสีสันและความสุข ราวกลับกำลังเชิญชวนให้ผู้ที่พบเห็นทั้งหลายให้รีบหาความสนุกสบายต่าง ๆ ในโลก ด้วยการเสพสุขจากโสตประสาทสัมผัสทั้ง 5 เหตุนี้
GroundControl ชวน ตี๋-ณัฐธวัช หรือ Demain Factory เจ้าของผลงานในนิทรรศการนี้มาพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดและจุดเริ่มต้นของนิทรรศการ และบทสนทนาเกี่ยวกับมุมมองต่อรุไบยาตและศิลปะแนวคิวบิสม์ร่วมกัน
จุดเริ่มต้นของนิทรรศการ
“เริ่มจาก MMAD MASS GALLERY ได้ชวนมาแสดงผลงานที่นี่ ซึ่งพอดีกับช่วงที่เรากําลังสนใจหนังสือรุไบยาต ของ Omar Khayyam พอดี ซึ่งเป็นฉบับแปลภาษาไทยโดย สุริยะฉัตร ชัยมงคล เลยคิดว่ามันน่าสนใจ ที่จะนำเอาคิวบิสม์ที่ทำอยู่มาตีความ"
“ซึ่งบางคนก็บอกว่ารุไบยาตเป็นกวีที่อ่านยากแล้วก็ซับซ้อน เหมือนกันกับที่หลายคนก็บอกว่าคิวบิสม์เป็นรูปแบบศิลปะที่ซับซ้อน แต่ทั้งสองอย่างมันมีสิ่งที่คล้ายกันอยู่ ในแง่ที่ว่าเขาต้องการแสดงให้เห็นถึงความจริงบางอย่าง ซึ่งแน่นอนว่าคิวบิสม์ก็ต้องการแสดงให้แบบผู้ชมเห็น ว่าความจริงไม่ได้มีด้านเดียวแต่มีหลายด้าน เช่นเดียวกันกับรุไบยาตที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความจริงที่ว่าชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน”
บทกวีสี่บทบนกำแพงทั้งสี่ด้าน
“เราคิดว่าบทกวีมันเป็นสิ่งที่ไม่ชักจูงความคิดผู้คน มันให้อารมณ์ความรู้สึกของจินตนาการกับเรา ตอนเลือกบทกวีก็เลยเริ่มเปิดทีละหน้าแล้ว เพื่อหาว่าบทกวีอันไหนในรุไบยาตที่ประทับใจ ที่แบบเราพอมีอารมณ์ร่วมกับมันมาก ๆ และสามารถเห็นภาพที่เกิดขึ้นในจินตนาการได้ ฉะนั้นกําแพงทั้งสี่ด้านจึงมีเรื่องราวที่ต่างกัน”
“เช่นกําแพงแรกเปรียบเทียบเป็นตอนที่เริ่มนั่งดื่ม เราจะเห็นภาพของโต๊ะไวน์ที่หยุดนิ่ง รวมถึงความรู้สึกของความสุขชั่วคราว เช่นไวน์ที่อยู่ในขวด หรือเทียนที่กำลังค่อย ๆ ละลาย พอดื่มสักพักก็จะเริ่มเมามากขึ้น เริ่มนึกถึงครอบครัว หรือคนที่มักจะอยู่กับเราในช่วงเวลาที่กำลังดื่มเช่นคนรักหรือแมว กลายเป็นที่มาของกำแพงที่สอง”
“ส่วนกําแพงที่สามเราก็นึกถึงดนตรี เพราะดนตรีเป็นสิ่งที่เรามักจะเปิดฟังตอนดึก ๆ ทุกครั้ง เพื่อสร้างจินตนาการ สร้างอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ ในส่วนกำแพงสุดท้าย คือเวลาดื่มเข้าไปถึงระดับนึงเราก็จะรู้สึกถึงความไม่ยั่งยืนบางอย่าง ทําให้นึกถึงความเป็นอนิจจังหรือความไม่เที่ยง และความตาย เราก็เลยนํามันมาถ่ายทอดเป็นผลงานศิลปะ
“สิ่งที่เหมือนกันทั้งสี่กําแพงคือมันแสดงให้เราเห็นแบบแก่นบางอย่างของแบบความเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง สัญลักษณ์ต่าง ๆ ในภาพที่ยกมาไว้ในทุกกําแพงเลยจะเป็นเรื่องราวของความไม่เที่ยงและความสุขทั้งนั้น”
สุขนิยมในชีวิตกับบทกวีรุไบยาตที่ถูกตีความในหลากหลายฉบับ
“Omar Khayyam เริ่มเขียนรุไบยาตในศตวรรษที่ 11 ซึ่งรูปแบบเป็นภาษาเปอร์เซีย แล้วก็ถูกนำมาตีความใหม่ในภาษาอื่น ๆ ซึ่งฉบับที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือฉบับภาษาอังกฤษของ Edward FitzGerald จากนั้นก็มีคนไทยนำฉบับนั้นมาแปล ซึ่งเท่าที่รู้ก็น่าจะมีประมาณ 4-5 คนแล้ว
“ในนิทรรศการนี้เราก็เลือกรุไบยาตที่แปลโดยคุณสุริยฉัตร ชัยมงคล เพราะมีเนื้อความฉบับภาษาไทยที่ตรงกับต้นฉบับมากที่สุด คือการให้คนเราตระหนักถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ซึ่งถึงแม้ในหลาย ๆ ฉบับจะใช้สํานวนที่แตกต่างกัน แต่จริง ๆ แล้วเนื้อแท้มันก็ยังเหมือนกันอยู่ดี”
“ในบทกวีรุไบยาตมักจะมีการตีความว่าเป็นการพูดถึงไวน์หรือการเสพสุขกับชีวิต แต่ความจริงแล้วมันแค่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตนี้มันสั้นเกินกว่าจะมานั่งอยู่กับความทุกข์หรือความเศร้า จริง ๆ แล้วเขาแค่อยากให้เรามีความสุขในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เลยกลายเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ Essence of Time and Transience แก่นแท้ของเวลาคือปัจจุบัน ส่วนแก่นแท้ของความไม่จีรังก็คือความตาย”
คิวบิสม์ในมุมมองของ Demain Factory
“เราเริ่มทำคิวบิสม์ได้ประมาณ 6-7 ปีแล้ว เพราะเราสนใจคิวบิสม์ในฐานะศิลปะที่มันไม่ใช่ทั้งการแสดงความสมจริง หรือการสร้างสิ่งที่เป็นนามธรรม มันอยู่ตรงกลางของสิ่งเหล่านี้ คิวบิสม์เหมือนแค่แสดงให้เราเห็นถึงความจริงนั้น ว่ามีหลากหลายด้านที่ต่างกัน แต่สามารถแสดงมันออกมาในภาพ ๆ เดียว”
“สำหรับเราคิวบิสม์มันคือเสรีภาพในการใช้มุมมอง และการตีความโดยไม่ถูกจํากัดอยู่กับความเสมือนจริงตามธรรมชาติ มันเป็นการแสดงมิติต่าง ๆ ของสิ่งต่าง ๆ ให้มองเห็นขึ้นมาพร้อมพร้อมกันในภาพ ๆ เดียวกัน”
“ถ้าเกิดเป็น Picasso เขาก็จะบอกว่าคิวบิสม์ไม่สามารถอธิบายด้วยคําพูดได้ เพราะมันเป็นภาษาภาพ ไม่ใช่การเลียนแบบธรรมชาติ แต่ว่ามันเป็นการแสดงมิติของสิ่งต่าง ๆ ออกมาให้เห็นหลายด้านในเวลาเดียวกัน ในภาพ ๆ เดียวกัน
“ถ้าไม่ได้ทำเกี่ยวกับคิวบิสม์แล้ว อันที่จริงก็ยังไม่เคยคิดถึงเรื่องนั้น ถ้าเกิดมีอะไรมาสะกิดใจ หรือมีอะไรมากระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก หรือมีความรู้สึกร่วมกับมัน เราก็แค่วาด แน่นอนว่าแรงบันดาลใจที่แตกต่างกันมันย่อมมีวิธีการวาดที่แตกต่างกันอยู่แล้ว อย่างในนิทรรศการชิ้นนี้เราจะเห็นรูปทรงที่เป็นทั้งเหลี่ยมและเป็นรูปทรงมลหรือรูปทรงย้วยอะไรอย่างนี้ รวมถึงสีที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดก็มาจากแนวคิดคิวบิสม์เหมือนกัน”