คุยกับเจ้าของ KITSCH HOTEL โรงแรมสุดยูนีคที่ซ่อนศิลปะไว้ทุกมุม

Post on 8 March

ท่ามกลางตึกรามบ้านช่องของราชเทวี ย่านสุดคึกคักใจกลางเมืองซึ่งอยู่ห่างจากสยามแค่เพียงไม่กี่กิโลเมตร ใครจะไปรู้ว่ามีโรงแรมน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นานแอบซ่อนอยู่ ที่บอกว่าซ่อนก็เพราะทางเข้าโรงแรมแห่งนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ติดถนนใหญ่ แต่ถ้าเดินมาแล้วเจอร้านขายสเต็กก็ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะทางเข้าหลักของโรงแรมต้องเดินเข้ามาในซอยข้างร้านสเต็กนั่นเอง เดินขึ้นไปชั้นสองหรือจะกดลิฟต์ก็สุดแล้วแต่ คุณจะได้พบกับบรรยากาศความน่ารักพร้อมกับน้องแมวสีขาวตัวโตที่รอต้อนรับอย่างอบอุ่น

โรงแรมที่เรากำลังแนะนำให้รู้จักก็คือ KITSCH HOTEL (คิทสช์ โฮเทล) โรงแรมที่รีโนเวตตึกเก่าให้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนสุดยูนีคที่ให้กลิ่นอายผสมผสานระหว่างความวินเทจและความร่วมสมัยได้อย่างลงตัว ที่นี่ไม่ใช่โรงแรมธรรมดาทั่ว ๆ ไป แต่เป็นโรงแรมที่แฝงไปด้วยไอเดียสร้างสรรค์และความตั้งใจของ ลูกศร-ศรุติ ตันติวิทยากุล และ อั้ม-บุญญนัน เรืองวงศ์ คู่รักสายอาร์ตเจ้าของร้านมัลติแบรนด์สุดโด่งดังอย่าง Daddy and the Muscle Academy, Frank Garcon รวมถึงร้านอาหารปักษ์ใต้รสชาติได้แรงอกอย่างร้านปากนังในย่านอารีย์

แต่จากธุรกิจร้านเสื้อผ้ามัลติแบรนด์และร้านอาหาร พวกเขาทั้งสองกระโดดเข้าสู่วงการโรงแรมได้ยังไง วันนี้เราเลยถือโอกาสชวนพวกเขามานั่งโซฟานุ่ม ๆ ในห้อง Teddy หนึ่งใน 19 ห้องสุดพิเศษที่พวกเขาออกแบบ เพื่อพูดคุยเจาะลึกถึงความตั้งใจจากคำถามมากมายที่มีอยู่ในหัวเรา ทั้งความท้าทายในธุรกิจที่เขาเจอ สิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ และเอเวอรีติงเกี่ยวกับโรงแรมแห่งนี้ ผ่านบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟที่เราเตรียมมาให้ ถ้าพร้อมแล้วก็ตามไปอ่านกันได้เลย

GC: จากร้านขายเสื้อผ้ามัลติแบรนด์และร้านอาหาร มาเป็นธุรกิจโรงแรมได้ยังไง

👩: ศรทำร้าน Daddy and the Muscle Academy เข้าปีที่ 8 แล้ว เราก็จะเห็นกลุ่มลูกค้าที่มาที่ร้านว่ามีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ เราเลยรู้ว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เขาชอบอะไร เขาอินกับอะไรอยู่ ซึ่งเรารู้สึกว่า การที่เราทำแค่ร้านเสื้อผ้าลูกค้าจะใช้เวลากับเราประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น มันอาจจะน้อยไป เราเลยอยากขยับขยายการที่เขามาใช้ชีวิตที่นี่ให้ได้ซึมซับกับศิลปะหรือไวบ์อะไรบางอย่างให้นานขึ้นก็เลยเลือกเป็นธุรกิจโรงแรมค่ะ

🧑: เวลาเราทำธุรกิจเราจะมองหา ‘ต้นทุนที่ไม่ใช่เงิน’ ก่อน มันคือความสามารถของทีม เงินเป็นปัจจัยท้าย ๆ สิ่งสำคัญคือต้นทุนในทีมของเราว่า แต่ละคนทำอะไรได้บ้าง อย่างผมมีต้นทุนเรื่องการเขียนแบบได้จากประสบการณ์ที่เคยทำมาหลาย ๆ ร้าน ลูกศรกับผมจะเก่งเรื่องแบรนด์ดิ้งนี่ก็เป็นต้นทุน หุ้นส่วนของผมก็เคยทำโรงแรมกันมาอยู่แล้วก็เป็นอีกหนึ่งต้นทุน ทั้งหมดนี้คือต้นทุนที่เรามีก่อนที่เราจะใช้เงินทุน เพราะเงินทุนไม่สามารถสร้างสิ่งพิเศษได้ด้วยตัวมันเอง สิ่งพิเศษเกิดจากพลัง ประสบการณ์ มุมมอง และวิสัยทัศน์ของคนทำ ถ้าใช้เงินอย่างเดียวคงจะแพงมาก และอาจจะไม่ได้พิเศษเท่านี้ด้วย จุดตัดอยู่ที่วิสัยทัศน์ของคนทำ

GC: ทำไมถึงตั้งชื่อโรงแรมว่า Kitsch Hotel

👩: ‘Kitsch’ ถ้าแปลตรงตัวมันคือศิลปะที่ไร้ค่า แต่จริง ๆ แล้วในมุมมองของศร มันคือการที่เราทำสิ่งนี้แล้วเราไม่เหมือนใคร ศรก็เลยเอาไอเดียความเป็น Kitsch นี่แหละมาเล่นกับรายละเอียดอะไรบางอย่างที่มันอาจจะไม่ได้เป็นศิลปะชั้นสูง แต่มันเป็นศิลปะที่ใกล้ตัวมาก ๆ อย่างเช่น ตุ๊กตาหมี เค้ก แอปเปิ้ล หรือแมว ทุกอย่างมันเรียบง่ายมาก ๆ แต่เราจะทำยังไงให้มันพิเศษ เช่น ตุ๊กตาหมี แทนที่จะตัวเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในห้องเราก็ทำให้มันเป็นโซฟาหรือทำให้มันใหญ่ขึ้น หรือเราเอามาเล่าเรื่องใหม่แล้วเอามาผสมผสานอยู่ในห้องทำให้แต่ละห้องมันพิเศษและไม่เหมือนกัน

GC: แบ่งหน้าที่หรือบริหารทีมทำงานกันยังไง และคิดว่าทีมเวิร์กสำคัญกับธุรกิจยังไง

👩: โรงแรมคิทสช์มันเกิดมาจากหุ้นส่วนหกคน จะมีพาร์ทการทำให้มันยูนีคจะมีศร พี่อั้ม และหุ้นส่วนชื่อทิน (ทิน แสงทวีป) ซึ่งในพาร์ทนี้เราจะเป็นเหมือนดรีมทีมในการสร้างความแตกต่าง แล้วก็จะมีอีกทีมนึงที่จะเป็นหุ้นส่วนจากร้านปากนัง ฝั่งนั้นจะดูในเรื่อง Operation และการเงิน แล้วก็เพื่อน ๆ ที่มาทําก็คือจะมีความรู้ในเรื่องของการทําโรงแรมและร้านอาหารอยู่แล้ว

🧑: เขาก็จะช่วยเรารันความเป็นไปได้ของธุรกิจ (Feasibility) ว่าต่อตารางเมตรห้ามเกินกี่บาท ถ้าเป็นเราทํา เราก็ โอ้โห ระเบิดภูเขาเผากระท่อมจากการทำงานแบบคนสายอาร์ต แต่ว่าพอมันมีการกำหนดว่าห้ามเกินเท่านี้ จะคืนทุนเท่านี้ เขาจะมีข้อจำกัดมาให้เรา หน้าที่พวกเราคือใช้ข้อจำกัดนี้ให้เต็มเท่าที่จะทำได้

👩: คือการทำธุรกิจมันเหมือนเราต้องบาลานซ์ระหว่างความเป็นดีไซน์เนอร์และความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) เราเลยจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนอีกฝั่งนึงที่มาคอยควบคุมต้นทุนในอยู่ในกรอบที่จะคืนทุน คือเหมือนมันจําเป็นที่จะต้องมีอีกหลาย ๆ คน มีทีมงานที่ต้องมาคอยซัปพอร์ตในเรื่องที่เขาถนัดจริง ๆ

GC: กรอบหรือไอเดียเรื่องการดีไซน์แต่ละห้องเป็นยังไง

👩: แต่ละห้องเราจะคิดก่อนว่า ใครจะมาอยู่ในห้องนั้น แล้วเราก็จะใส่ในมูดบอร์ดว่าจะใส่ไอเดียอะไรลงไป จะใช้โทนสีและบรรยากาศแบบไหนในห้องนั้น ศรรู้สึกว่า ถ้าเราทำห้องพักแล้วมีห้องไม่กี่แบบมันก็จะไม่พิเศษมาก ก็เลยเอาธีม Kitsch เนี่ยแหละมาครอบไอเดียของห้องทั้งหมด แล้วมันก็จะมีย่อยไปว่า ห้องที่มันได้แรงบันดาลใจมาจากยุค 90s ห้องนี้มีความ 60s ศรรู้สึกว่า การที่เราออกแบบห้องพักแบบนี้แล้วมันมีที่เดียว คือเราไม่ใช่แค่เป็นหนึ่งในตัวเลือก แต่เราจะเป็นตัวเลือกที่คนมาแล้วแบบว่า เห้ย! ไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อน อันนี้มันดีไซน์เฉพาะมาก ๆ อะไรทำนองนี้ค่ะ

🧑: จริง ๆ ลูกศรเขาจะเลือกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของโรงแรมนี้ก็คือผู้หญิงวัยรุ่นที่เป็นนักท่องเที่ยว อายุประมาณ 20-28 ปี คือโรงแรมแบบนี้ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นคนเลือก ผู้ชายเป็นคนจ่าย เพราะฉะนั้นเราต้องเอาใจผู้หญิงมาเป็นอันดับแรก มู้ดแอนด์โทนมันเลยจะไปทางหวาน ๆ ไม่บอยเกินไป แต่ก็ต้องมีห้องที่ดูบอย ๆ บ้าง ซึ่งผู้หญิงก็ยังชอบ จริง ๆ เราทำมาหลายดีไซน์มาก ๆ ทีนี้สุดท้ายเราจะเอามาดูว่าแบบไหนหลุดบ้าง

👩: จริง ๆ พอเราทำห้องหลาย ๆ แบบ เกือบ 20 แบบได้ สุดท้ายเราจะเอามาตัดด้วยคำว่า Kitsch อันไหน Kitsch อันนี้ถึงหรือยัง มันจะมีบางห้องที่ไม่ได้ไปต่อค่อนข้างเยอะเหมือนกัน

GC: ถ้าให้เลือกหนึ่งห้องจากทั้งหมด ทั้งสองคนชอบห้องไหนที่สุด

🧑: ห้อง Hideout Cabin เพราะว่า ตั้งแต่เด็กเราอยากจะมีห้องของตัวเองที่เป็นห้องที่เป็นพื้นที่ของตัวเองจริง ๆ ซึ่งผมรู้สึกว่า ห้องที่ผมอยากจะได้มันคงมีความ 80s-90s ซึ่งเราจะแปะสิ่งที่เราจะชอบเท่าไหร่ก็ได้ ผมรู้สึกว่า ผมชอบห้องที่มันอยู่ใต้บันไดหรือใต้หลังคา ชอบห้องที่มันเป็นไซซ์เล็ก ๆ มันกำลังรู้สึกอบอุ่นดี แล้วด้วยความที่เราเป็นคนดีไซน์ เราก็แก้ปัญหาจากหน้างานที่มันมี อย่างเช่นมันไม่มีหน้าต่าง เราก็ใส่หน้าต่างที่มันปรับสีได้ ปรับความมืดความสว่างจากไฟเองได้ แล้วก็ทําให้สีของโคมไฟมันเป็นแบบที่เราอยากให้มันเป็น

👩: ของศรชอบหลายห้องมากเลย จริง ๆ ห้องหมี (ห้อง Teddy) ก็ชอบ แล้วอีกห้องก็คือ ห้อง Candy Cottage มันตรงกับสไตล์ของศรมากเหมือนกัน ด้วยสีสัน ความป๊อป ความสดใส อย่างวอลเปเปอร์เราก็วาดด้วยมือ เหมือนเราคิดว่า คนที่มาอยู่ห้องนี้มันคล้ายคุณยายในสมัยก่อนที่เขาทํางานโครเชต์ งานแฮนด์เมด งานปัก แล้วเราก็จะใส่รายละเอียดเล็ก ๆ ลงไปในห้อง อย่างเช่น โครเชต์ที่ยังถักไม่เสร็จวางไว้ในห้อง หรือคอลเลกชันแก้วชาของคุณยาย ศรเลยรู้สึกว่า อันนั้นมันตรงกับจริตและสไตล์ของศร

GC: สร้างจุดสมดุลระหว่างความ instagramable กับความสะดวกสบายยังไง

🧑: จริง ๆ หุ้นส่วนสำคัญ เพราะเราเป็นดีไซน์เนอร์ เราจะเอาแต่ความสวยอย่างเดียว ราวแขวนเสื้อคงไม่มี ตู้เซฟคงไม่มี ตอนแรกที่ทำแบบห้องแรกมา หุ้นส่วนผมเขาก็บอกว่า ไม่มีไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่มันจําเป็นต้องมี


👩: เหมือนเราจะมีลิสต์มาก่อนว่า โรงแรมของเราจะกี่ดาว แล้วในกี่ดาวนั้นมันต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง เราจะต้องมีตู้เย็นนะ เราต้องมีเตียงนุ่ม คือหุ้นส่วนเขาก็เช็กลิสต์มาไว้ว่าต้องมีอะไร และเราจะให้ฝั่งที่คอยเช็กฟังก์ชันเช็กเลยว่ามันสะดวกสบายแล้วยัง เราจะถนัดอะไรที่มองเห็นด้วยตาอย่างความยูนีค แต่อีกฝั่งเขาก็จะคอยเช็กเรื่องความสบายของลูกค้า เราใส่ใจรายละเอียดมาก ๆ ทุกอย่างมันต้องไม่ก๊องแก๊ง มันต้องใช้ได้จริง

GC: ความท้าทายที่ต้องเจอระหว่างการทำโรงแรม

👩: โรงแรมนี้จุดเด่นมันคือความยูนีค แต่ละห้องพร็อบมีประมาณ 100 กว่าชิ้นที่ต่างกัน เฟอร์นิเจอร์แต่ละห้องเราหุ้มไม่เหมือนกันเลย ความยากคือเราจะต้องปรับเปลี่ยนดีเทลในแต่ละห้อง อย่างหมอน ไฟ แก้วน้ำ หรือแม้แต่สีของเสื้อคลุมอาบน้ำก็ต่างกัน ความยากคือการที่เราจะทําให้มันใช้ได้จริงอย่างสวยด้วยได้ยังไง แล้วฟังก์ชันมันต้องไม่พังง่ายด้วย มันต้องบาลานซ์ ความท้าทายของโรงแรมนี้มันคือ เรากำลังทำสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครทำ ให้เป็นไปได้ แล้วมันเกิดขึ้นจริง เหมือนเรากำลังทำที่ที่อยู่ในหัว อยู่ในจินตนาการมาก ๆ แล้วเราต้องทำออกมาให้มันใช้ได้จริง

🧑: แบบทำให้ทุกคนที่ทำไปด้วยกันเชื่อ คือเราไม่เคยมีตัวอย่างบทเรียนมาเล่าให้คนในทีมฟัง แต่จะทำให้ยังให้เขาเชื่อว่า แบบนี้มันจะดี อันนั้นก็เป็นเรื่องที่ยาก ยากกว่าการหาคนมาทำงาน หาคนมาออกแบบ สิ่งสำคัญคือเราต้องต่อสู้กับตัวเองให้ไม่ย้อมแพ้ด้วย ถ้าเรายอมแพ้แล้วงานออกมาครึ่ง ๆ กลาง ๆ เสียใจนะ ยอมอดนอนไปอีกสักนิดนึงเพื่อให้มันดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ กลับมาคงจำความเหนื่อยไม่ได้หรอก จะเหนื่อยมากหรือน้อย แต่ที่จะจำได้ไปสิบปีคือผลงานที่เราเต็มที่ที่สุดแล้ว

GC: แผนการต่อยอดในธุรกิจโรงแรมหลังจากนี้เป็นยังไง

👩: ศรมองว่า อยากให้มันเป็นมัลติฟังก์ชัน คนจะมาโรงแรมเราแล้วมา Hen Night (ปาร์ตี้สละโสด) ก็ได้ เป็นสตูดิโอก็ได้ หรือจะมาจัดปาร์ตี้วันเกิดกับคนที่รักก็ได้

🧑: อาจจะมาเล่นบอร์ดเกมที่ห้อง Dorm ก็ได้ แต่ว่ามันก็ขึ้นอยู่กับว่า โรงแรมมันมีคนพักเยอะแค่ไหน แต่เราก็เตรียมรอไว้แล้วว่า สามารถเช่าถ่ายได้ ส่วนอีกอย่างที่คิดว่าจะไปคือ Kitsch Home เป็นร้านขายของแต่งบ้าน

👩: ศรว่า โมเดลโรงแรมมันแตกไปได้อีกหลายอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม หรือขายพวกสินค้า Merchandise โคมไฟ ปลอกหมอน มันทำให้เขาซื้อไปและเป็นที่ระลึกที่บ้านได้ ศรกับพี่อั้มเราเกิดมาจากการทำร้านเสื้อผ้า เราก็รู้สึกว่า มันต่อยอดได้ไม่ยากเลย

GC: สุดท้ายอยากให้ลองนิยามความเป็น Kitsch Hotel ในเวอร์ชันของตัวเองให้ฟังหน่อย

👩: Kitsch Hotel มันคือโรงแรมที่เราอยากให้มันเป็นจุดหมายปลายทางให้กับคนที่รักในความยูนีค ความอาร์ต อยากให้เขาได้มารับประสบการณ์ที่มันแตกต่างจากโรงแรมอื่น ศรพยายามทำแต่ละห้องให้มีความแตกต่าง เพื่อให้ไม่ได้จำกัดแค่คนที่ชอบสายหวานอย่างเดียว อยากให้ Kitsch Hotel ได้เป็นหนึ่งในตัวเลือกของทั้งคนต่างชาติและคนไทย

🧑: ผมอยากให้ Kitsch Hotel เป็นที่ที่นึงที่คนอยากมากรุงเทพฯ อยากมาเมืองไทย เพราะมันมี Kitsch Hotel ไม่ใช่มากรุงเทพฯ ก็เลยมาที่นี่ แต่ต้องมาเพราะที่นี่มี Kitsch Hotel เพราะโรงแรมนี้ไม่เหมือนที่อื่น

👩: เมื่อก่อนเวลาศรไปเที่ยวต่างประเทศก็จะรู้สึกว่า ทำไมแบบนี้ไม่มีในไทย เหมือนกัน ศรรู้สึกว่า โรงแรมแบบนี้ทำไมไม่มีในไทย ศรอยากใช้ความสามารถของตัวเองมาทำอะไรให้เมืองไทยมีสีสันได้ในแบบของเราด้วยงบที่เรามี อยากให้ชาวต่างชาติที่มาประเทศไทยแล้วได้เจอที่ที่สร้างแรงบันดาลใจเรื่องศิลปะหรือได้อะไรกลับไป ก็เลยคิดว่า เราน่าจะใช้ความสามารถที่มีของเรานี่แหละดึงนักท่องเที่ยวได้

🧑: พูดไปก็อาจจะดูใหญ่ไป แต่เราอยากเป็นส่วนหนึ่งให้คนไทยภูมิใจที่มันเกิดสิ่งนี้ในประเทศเรา ทำให้คนภูมิใจว่า อย่างน้อยมีโรงแรมนี้ในประเทศเรา ให้มันเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดอะไรขึ้นอีกต่อ ๆ มา ความฝันมันคงเป็นแบบนั้น ไม่รู้ว่าจะถูกส่งไปได้แค่ไหนนะ แต่เราก็ทำให้ดีที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้

🏩 Location: Kitsch Hotel BTS Ratchathewi
🏩 Website: https://www.kitschhotels.com/