7 หนังสะท้อนปรัชญา Existentialism ที่ชวนคนดูตามหาความหมายของชีวิต แต่ชีวิตมีความหมายจริงหรือ?

Post on 12 November

‘โลกเรานั้นไร้ความหมาย ส่วนมนุษย์แต่ละคนต่างก็โดดเดี่ยว และพวกเขามีความรับผิดชอบเต็มที่ ต่อการกระทำของพวกเขาเอง การกระทำซึ่งก่อสร้างคุณลักษณะของพวกเขาขึ้นมา’

เรารู้ว่าประโยคที่ว่านี้ดูเบียวปัดยาแค่ไหน แต่มันคือความหมายตามพจนานุกรมจริง ๆ ของคำว่า ‘Existenialism’ หรือที่มักแปลไทยกันว่า ‘ปรัชญาอัตถิภาวนิยม’ และก็ต้องยอมรับเหมือนกัน ว่าช่วงหนึ่งของชีวิต ประเด็นเหล่านี้ก็ดูเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำเอาเก็บไปคิดได้หลายวันเหมือนกัน และช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษย์ ปรัชญากลุ่มที่ว่ามานี้ก็ เป็นเนื้อหาฮ็อตฮิตประจำวงสนทนาหน้าโต๊ะกาแฟในปารีส ในนวนิยายตลกร้าย และในบทละครสะเทือนใจเหมือนกัน จึงไม่น่าจะต้องแปลกใจอะไรเลย ถ้าบังเอิญได้พบคำถามปรัชญาทำนองนี้อยู่ในภาพยนตร์ ทั้งในโลกฮอลลีวูดและหนังอินดี้ ซึ่งในบทความนี้ GroundControl อยากกล้าอาสา แนะนำหนังดูสนุก ที่เปิดโลกทางความคิดแบบเอกซิสต์ฯ กัน

ว่าแต่ความคิดแบบเอกซิสต์คืออะไรกันแน่? จริง ๆ แล้วชาวเอกซิสต์ฯ มีอยู่หลายสาย นิยามความหมายว่ามันคืออะไรก็ยิ่งมีหลายแบบ แต่เราชอบคำอธิบายของสารานุกรม Britannica ที่แบ่งความคิดแบบเอกซิสต์เป็นสี่ข้อ คือ (1) การดำรงอยู่มีความเฉพาะของมันและมีลักษณะปัจเจกเสมอ คือการดำรงอยู่ของฉัน ของคุณ ของเขา ของเธอ (2) การดำรงอยู่คือปัญหาหลักของการดำรงอยู่ (เริ่มงงแล้ว) ก็คือการสืบเสาะความหมายของการดำรงอยู่นั่นแหละที่เป็นปัญหาของการอยู่ (เข้าใจผิดโปรดแก้) (3) และในการสืบเสาะความหมายของการดำรงอยู่นั้น เราต้องเจอกับความเป็นไปได้ไม่รู้จบ ซึ่งการดำรงอยู่ (ของปัจเจกนั้นเอง หรือตัวเราเอง) ต้องเลือกทางเลือก ที่จะทำอะไร และ (4) เหตุที่พวกความเป็นไปได้เหล่านั้นเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของปัจเจก (พวกเรา) กับสิ่งต่าง ๆ หรือผู้คนต่าง ๆ — การดำรงอยู่ก็เลยเป็น ‘การดำรงอยู่ในโลก’ เสมอ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมบางอย่างซึ่งส่งผลต่อเราเสมอ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ปรากฏอยู่ในงานเขียนของนักปรัชญาที่ดัง ๆ อย่างเช่น ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre), ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) หรือ อัลแบร์ต กามูส์ (Albert Camus)

Solaris (1972)
เคลวิน จิตแพทย์หนุ่ม ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนยานอวกาศ แล้วพบกับอดีตภรรยาผู้เสียชีวิตไปแล้วของเขาที่นั่น คำถามคือ นั่นเป็นภรรยาคนเดียวกับที่เขาตกหลุมรักบนดาวโลกจริงหรือ? สำนึกรู้ของเขาบ่งบอกความจริงได้แค่ไหน? และประสบการณ์ของเรามีความหมายอย่างไรกันแน่? เคลวิน (และผู้ชม) ต้องผจญภัยกับคำถามเหล่านี้ในโลกของปรัชญา ที่มีวิทยาศาสตร์อยู่เบื้องหลังด้วย

The Tree of Life (2011)
ระหว่างปี 1940s-1960s ครอบครัวอเมริกันชนชั้นกลางย่านชานเมืองครอบครัวหนึ่งมีฉากหน้าที่ดูธรรมดา ๆ แต่ด้วยสไตล์การเล่าเรื่องแบบทดลองของภาพยนตร์นี้ ทำให้เราค่อย ๆ เห็นความกว้างใหญ่ไพศาลของจักรวาลที่ครอบครัวนั้น (และพวกเรา) อาศัยอยู่ มองความยาวนานของกาลเวลาตั้งแต่ก่อนและหลังการรับรู้ของพวกเรา มองช่วงเวลาเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา แต่ก็ตั้งคำถามกับความเชื่อเรื่องพระเจ้าของเราด้วย

The Seventh Seal (1957)
อัศวินคนหนึ่งชักชวน ‘ความตาย’ ที่มาปรากฎกายต่อหน้าเขา ให้นั่งลงเล่นหมากรุกด้วยกันก่อน (จะเอาชีวิตของเขาไป) ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่ท้าทายความเชื่อเรื่องเสรีภาพในการเลือกกระทำสิ่งต่าง ๆ ของมนุษย์ที่สุด ก็คงเป็นเรื่องความตายนี่แหละ และในชีวิตจริง เราก็อาจจะต่อรองอะไรกับมันไม่ได้ขนาดนั้นด้วยจริงไหม? ถึงจะอ้อนวอนต่อพระเจ้าอย่างไร อัศวินผู้นั้นก็ดูจะไม่ได้ยินเสียงตอบรับอะไรจากพระองค์เลย แล้วชีวิตของเขามีความหมายอย่างไรภายใต้โลกแสนงงงวยแห่งนี้ คงเป็นหน้าที่เราอีกที่ต้องลองตัดสินดู

Woman in the Dunes (1964)
“เราจำต้องเชื่อว่า ซีซิฟัสมีความสุข” อัลแบร์ กามูส์ เขียนไว้ในความเรียงปรัชญาของเขา ซีซิฟัสเป็นเทพผู้ถูกสาปให้เข็นหินขึ้นภูเขาไปเรื่อย ๆ เพราะทุกครั้งที่หินขึ้นไปถึงบนยอด มันก็จะร่วงลงกลับไป และเขาก็ต้องทำงานทั้งหมดนั้นใหม่อีกครั้ง ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องนี้ก็นำเสนอชีวิตคล้าย ๆ กัน ของชายผู้ติดอยู่ในหลุมทรายกับหญิงม่าย และต้องตักทรายออกไปไม่มีวันหยุด เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องจมอยู่กับมัน เราจำเป็นต้องเชื่อว่าเขามีความสุขเหมือนกันไหม เพราะท้ายที่สุดมันเหลือแต่เขาเองแล้วที่จะทำให้การเดินทางไปทำงานทุกวันมีความหมายได้

The Truman Show (1998)
นายทรูแมนค่อย ๆ ค้นพบว่าชีวิตธรรมดา ๆ ของเขาจริง ๆ แล้วเป็นรายการทีวี ที่ทุกคนทุกสิ่งรอบตัวเป็นฉากการแสดง ความจริงปลอม ๆ ที่เขาเจอ สะท้อนกลับมาที่ความจริง (จริง ๆ ?) ของสิ่งอื่นรอบตัวเรา ซึ่งหล่อหลอมตัวตนของเราขึ้นมาอีกที ทรูแมนไม่ได้คิดความจริงที่ว่านี้ขึ้นได้ในช่วงวินาที แต่เขาค่อย ๆ เอ๊ะกับสิ่งรอบตัวทีละนิด จนกระทั่งกล้าสบตากับพระเจ้า ในรูปแบบของผู้ผลิตรายการ เสรีภาพไม่ใช่อะไรที่ได้มาง่าย ๆ เลย อย่างน้อยก็ในเรื่องนี้

Fight Club (1999)
ปฏิเสธค่านิยมสังคมปกติ และเปิดรับต่อเสรีภาพ — ปรัชญาแห่งชีวิตที่แสดงออกมาผ่านเรื่องราวของไทเลอร์ เดอร์เดน ตัวละครดิบเถื่อนขวัญใจชายแทร่แห่งสมาคมต่อสู้ไฟต์คลับ ถ้าความหมายของชีวิตเขาผูกอยู่แค่กับงานเงินเดือนหรือแบรนด์โปรดที่เขาชอบบริโภคแบบคนอื่น ๆ เราก็คงไม่ได้เห็นโลกอีกใบที่เป็นไปได้ ในจินตนาการของเขา เสรีภาพที่แท้จริงนั้นอาจเป็นช่องว่างให้มนุษย์เขียนอะไรลงไปในนั้นก็ได้ แต่ก็แฝงไว้ด้วยความวุ่นวาย เมื่อไม่เหลืออะไรให้เกาะเกี่ยวแล้วอย่างที่เคยเชื่อกัน

Wings of Desire (1987)
ดาเมียล เทวดาผู้เบื่อหน่ายชีวิตอมตะ แลกวิญญาณของตนมาเป็นคนธรรมดา มีชีวิตจิตใจ และมีความรัก เรามักคิดกันไปเองว่าพอเกิดมาเป็นคนก็ต้องรู้ว่าการเป็นมนุษย์มันต้องเป็นอย่างไร แต่เทวดาคนนี้ทำให้เราเห็นว่าการเป็นมนุษย์มันมีอะไรมากกว่าการใช้ชีวิตไปวัน ๆ แต่อยู่ในความหมายเล็ก ๆ ในทางเลือกแต่ละทาง และความผูกพันระหว่างเรา กับผู้อื่นรอบตัว

อ้างอิง