00.jpg

สี่วันในเดือนกันยา: ตำนานเล่าขานถึงดินแดนแสนไกล…ที่ไพร่ฟ้าหน้าใสตกอยู่ใต้สาป ‘เพชรน้ำเงิน’

Post on 9 August

เราเชื่อว่าพายุฝนที่โหมกระหน่ำในคืนที่เราไปดูการแสดงชุดนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ แต่เรากำลังโดนคำสาป

การแสดงที่ว่านั้นมีชื่อว่า ‘สี่วันในเดือนกันยา’ โดยคณะ For WhaT theatre  ที่แม้จะเป็นละครเวทีที่มีแก่นเรื่องว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยกว่า 4 ทศวรรษอันสุดเข้มข้นล้นคลั่งทะลักทลาย แต่ผู้ชมกลุ่มแรกที่ได้ชมการแสดงชุดนี้กลับเป็นเหล่าฝรั่งมังค่าที่ไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับเรื่องราวสุดเซอร์เรียลในดินแดนที่อยู่ห่างไกลจากพวกเขาออกไปเป็นพัน ๆ โยชน์

ซึ่งเมื่อเราได้ดูการแสดงจนจบ มันก็ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า …ระหว่างที่ฝรั่งฟอเรนจ์เนอร์เขาชมการแสดงชุดนี้ พวกเขารู้หรือไม่ว่า เรื่องราวที่เหล่านักแสดงกำลังถ่ายทอดด้วยท่าทีขบขันชวนหัวนั้นล้วนเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แม้ว่าจะฟังดูเหนือจริง แต่ทุกเหตุการณ์ล้วน ‘จริง’ จนน่าขำขื่น จนแม้กระทั่งผู้คนในประเทศนี้ก็ไม่อยากเชื่อและต้องทำใจยอมรับว่า ‘ประเทศฉันมันคัลต์จริง ๆ’

เราอดคิดไม่ได้ว่า การชม ‘สี่วันในเดือนกันยา’ ในพื้นที่ที่อยู่ ณ อีกฟากฝั่งของโลก บวกกับเรื่องราวความเซอร์เรียลที่ได้ประจักษ์ตรงหน้า จะทำให้ผู้ชมเหล่านั้นรู้สึกว่าประเทศที่นักแสดงกำลังกล่าวถึงเป็นแค่ดินแดนแฟนตาซีที่อยู่ในเรื่องเล่ารึเปล่า? …เพราะแม้กระทั่งเราที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในประเทศนี้ แม้ขณะที่กำลังนั่งหัวเราะและขบขันกับการแสดงตรงหน้า เราก็อดคิดไม่ได้จริง ๆ ว่า นี่คือเรื่องจริงเหรอ? 

‘สี่วันในเดือนกันยา’ เล่าถึงกลุ่มเพื่อนกลุ่มหน่ึงที่นัดพบกันทุก ๆ เดือนกันยายนเพื่อฉลองวันเกิดให้กับ ‘คนที่อยู่บนฝ้า’ หรือพัดลมเพดานตัวเก่าแก่ที่ส่ายเอนโอนไปมา แทบจะใช้การปัดเป่าความร้อนหรือให้ความเย็นก็ไม่ได้ แต่ด้วยความที่ทุกคนเกิดมาก็เห็นการฉลองวันเกิดให้กับคนบนฝ้าทุก ๆ ปี ก็เลยรับเอาประเพณีการฉลองวันเกิดให้พัดลมมาทำต่อ โดยลืมตั้งคำถามไปแล้วว่า เราจะฉลองวันเกิดให้พัดลมทำไม? แล้วทำไมเราต้องทำสิ่งนี้ซ้ำ ๆ กันทุกปี?

“พัดลมเก่าตัวหน่ึงในอพาร์ตเมนต์ ใครบางคนหายไป อพาร์ตเมนต์ถูกทับถมยุ่งเหยิงด้วยข้อมูลหลากล้นและบทสนทนาหาสาระไม่ได้ ใครบางคนที่คล้ายคนที่หายไปกลับมา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก ปัจจุบัน ผันกลายเป็นอดีตในชั่วพริบตา”

การโลดเล่นในพื้นที่การแสดงที่ไม่มีเวทียกสูง มีเพียงเทปกาวแปะบนพื้นที่แทบไม่มีความศักดิ์สิทธิ์พอที่จะบ่งบอกว่าขอบเขตพื้นที่การแสดงสิ้นสุดลงที่ตรงไหน พื้นที่ของนักแสดงกับผู้ชมที่แทบไร้เส้นแบ่งระหว่างกัน ตัวละครทุกตัวโลดแล่นอยู่บนพื้นที่ปูทับด้วยเสื่อจากหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ บ้างเป็นข่าวปิดล้อมธรรมศาสตร์ บ้างเป็นข่าวของใครบางคนที่เข้าไปพบใครบางคนในช่วงจุดเดือดของเหตุการณ์พฤษภา 35 ไปจนถึงข่าวการตายของกงคนหนึ่งที่ต้องมาตายในคุกเพราะ (ไม่ได้) ส่ง SMS ฯลฯ กิจกรรมชีวิตของเหล่าเพื่อนที่ดำเนินไปบนฉากหลังของประวัติศาสตร์การเมือง ค่อย ๆ เคลื่อนตัวซ้อนทับกับชีวิตจริงของผู้ชมที่กำลังจ้องมองเหตุการณ์ตรงหน้า กระทั่ง ณ จุดหนึ่ง ละครก็ไม่ใช่ละคร ประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ความจริงก็เริ่มไม่ใช่ความจริง ปัจจุบันเริ่มไม่ใช่ปัจจุบัน แต่ไม่รู้ว่าเป็นอดีตหรืออนาคตกันแน่

‘นี่คือการรัฐประหารครั้งที่เท่าไหร่กันนะ?’ ทั้งนักแสดงและคนดูถามเริ่มเอ่ยถามเมื่อเรื่องราวซ้ำเดิมเริ่มดำเนินมาสักพัก แต่เราจะนับครั้งไปทำไมกันนะ? ในเมื่อการรัฐประหารทุกครั้งเป็นเรื่องเดียวกัน และคนทำไปจนถึงคนอนุญาตให้ทำก็เป็นคนซ้ำ ๆ หน้าเดิม ๆ ถึงจุดหนึ่งเราเลิกตั้งคำถามว่าเราอยู่ที่ไหนในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะทุกอย่าง ทุกเหตุการณ์ ดูเวียนซ้ำวนจนเหมือนกับเรากำลังเดินอยู่บนหน้าปัดนาฬิกา เหตุการณ์ที่เราเจอ พ่อเราก็เคยเจอมาแล้ว และอาจจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่าลูกของเราก็ยังจะต้องเจอเช่นนี้ต่อไป

หรือสิ่งที่เราเจอซ้ำ ๆ กันอยู่นี้ไม่ใช่ความซ้ำซากของประวัติศาสตร์ หรือที่จริงแล้วเราไม่จำเป็นคิดเรื่องเกมการเมืองหรือรัฐศาสตร์ให้ปวดหัว หรือที่สุดแล้วก็เป็นเพราะแค่ว่าประเทศของเราโดนสาป …คำสาปจากเพชรสีน้ำเงินที่ตัวละครค้นพบในตอนต้นเรื่อง และทำให้ทุกชีวิตในผืนแผ่นดินนี้ ตัวละคร นักแสดง ผู้ชม ต้องเจอกับคำสาป ‘เดจาวู’ ที่ทำให้เวลาในประเทศนี้เป็นหมัน อนาคตถูกทำให้แท้งตั้งแต่ยังไม่ได้ลืมตาดูโลก ไม่ว่าก้าวเดินไปไกลแค่ไหน ก็วนกลับมาอยู่ที่เดิม

การแสดงจบลง ผู้ชมลุกจากที่นั่ง นักแสดงเปลี่ยนเสื้อผ้า ทีมงานเก็บข้าวของ แล้วออกมายืนเบียดกันอยู่ในความมืดของแกลเลอรีที่ปิดทำการแล้ว แสงสว่างเดียวในค่ำคืนนั้นคือแสงจากหน้าจอของโทรศัพท์ของทุกคนที่พยายามกดเรียกบริการรถ-รับส่งที่ไร้การตอบสนอง เพราะรถทุกคันบนถนนในกรุงเทพฯ คืนนั้นถ้าไม่จอดตายอยู่ในขบวนรถติด ก็จมดับอยู่ในซอยน้ำท่วมสักแห่งหนึ่ง เวลาเกือบ 2 ชม. ผ่านไป ใครคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “นี่สินะเหตุผลที่เราต้องมีรถส่วนตัว”

ฝนยังตกในปริมาณฟ้ารั่วเท่าเดิม หนึ่งในทีมงานที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเดินกางร่มออกมาส่งเราขึ้นรถที่เพิ่งกดเรียกได้หลังเวลาผ่านไป 2 ชม. เขาขอบคุณเราที่อุตส่าห์มาดู พร้อมกล่าวขอโทษที่วันนี้ฟ้าฝนไม่เป็นใจ เราบอกว่าไม่เป็นไร นี่ไม่ใช่ความผิดของใคร แต่อาจเป็นผลจากคำสาปของเพชรสีน้ำเงินก็เป็นได้ เราหัวเราะให้กันเหมือนที่เราหัวเราะขณะรับชมเหตุการณ์สุดเซอร์เรียลในละครเมื่อครู่ เพราะการหัวเราะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ผู้คนในดินแดนแห่งนี้ยังมีชีวิตต่อไปได้

‘สี่วันในเดือนกันยา’ ยังมีรอบการแสดงในวันที่ 23–24 กรกฎาคม 2565 เวลา 16:00 น. ณ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (สาทรซอย 1, MRT ลุมพินี) จองบัตรและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ http://m.me/theatreforwhat