อสูรร้ายยังไงก็คืออสูรร้าย – ‘Ghidorah’ นิทรรศการมังกรสามหัว ผู้ชุบตัวให้ตายก็ไม่หายน่าเกรงขาม

Post on 7 March

ใครที่โตมากับภาพยนตร์สัตว์ประหลาดญี่ปุ่นยุคก่อนอย่าง ‘ก็อตซิลลา’ ก็คงจะคุ้นกับหนึ่งในคู่ปรับตัวฉกาจอย่างเจ้ามังกรทองสามหัว ‘กิโดราห์’ ผู้จ้องจะทำลายล้างโลก

แต่เดิมเจ้าสัตว์ประหลาดตัวนี้ก็มักถูกนำไปตีความเชื่อมโยมถึงความกังวลต่อประเทศจีน ที่สมัยนั้นกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่กิโดราห์ในสายตาของศิลปินสตรีทอาร์ตร่วมสมัยอย่าง พรรษา พุทธรักษา (LOBOBOY EB) และ ชัยบูรณ์ บรรลือ (JOKER EB) และศิลปินศิลปาธรประจำปีนี้อย่างตะวัน วัตุยา นำมาตีความใหม่ จะหมายถึง “ภัยคุกคาม” อะไรกัน?

‘กิโดราห์’ เป็นนิทรรศการสายสตรีตที่มีอะไรให้ตีความกันได้เต็มไปหมด ด้วยสไตล์งานที่เน้นรายละเอียดเล็ก ๆ และลายเส้นที่ดูสับสนวุ่นวาย ทำให้เราใช้เวลาเดินดูงานนี้อยู่พักใหญ่เลย

ซึ่งสิ่งแรกที่สะดุดตาก่อน ก็ต้องเป็นประติมากรรมเจ้ากิโดราห์ของตะวัน วัตุยา ที่ยืนจ้องหน้าเราอยู่กลางห้อง โดย “ชุบร่าง” มาจนตัวสีชมพูเรืองแสงสดใส ชวนให้เราเข้าไปลูบหัว (แต่ลูบไม่ได้) เพราะมันช่างน่ารัก ขัดกับกิโดราห์แบบเดิม ๆ ที่ส่งเสียงร้องชวนขนลุก งานชิ้นนี้ของตะวันจึงทำหน้าที่เป็นเหมือนจุดเฝ้าระวัง ที่คอยมองเราแบบปราม ๆ ตลอดเวลาที่อยู่ในงานว่ายังไงมังกรก็เป็นมังกร ถึงสีจะสดใส แต่ร่างกายก็ยังเป็นมังกร และก็คงพร้อมทำลายล้างโลกได้ง่ายดายด้วยเหมือนกัน

ภาพวาดทั้งหมดรอบ ๆ จึงเต็มไปด้วยความน่าสงสัย ที่เราเดินยังไงก็ยังรู้สึกได้ถึงอำนาจทำลายล้างที่พร้อมจะระเบิดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ ซึ่งศิลปินทั้งสองก็แอบซ่อนสัญลักษณ์ไว้เชื่อมโยงความรู้สึกของการเผชิญหน้ากับอสูรร้ายเข้ากับบริบทของการอยู่ใต้อำนาจแบบไทย ๆ ได้อย่างน่าหวั่นใจจริง ๆ เพราะมีทั้งภาพความรุนแรงของตำรวจ (หรือหน่วยคุมม็อบ?), ภาพการแขวนคอกับต้นไม้, ไปจนถึงสัญลักษณ์อนาธิปไตยแสดงการต่อต้านอำนาจปกครอง ซ่อนอยู่ในภาพ “กรอบหลุยส์” ที่มีใบหน้าลี้ลับมองมาจากหลังภาพอีกที

‘กิโดราห์’ อาจจะทำให้เรายิ้มหรือทำให้เรากลัวก็ได้ ด้วยพลังที่มาจากศิลปินผู้สร้างสรรค์เจ้ามังกรเอง แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้แน่ ๆ คงเป็นการมองดูภาพเหล่านี้อย่างตั้งใจ เพื่อให้เห็นว่าอะไรที่กำลังลวงตา หลอกมิติ เราอยู่ และเมื่อก้าวออกจากงาน เราอาจมองสิ่งต่าง ๆ ด้วยความสงสัยกว่าเดิม

นิทรรศการ "กิโดราห์" (Ghidorah)
โดย พรรษา พุทธรักษา (LOBOBOY EB), ชัยบูรณ์ บรรลือ (JOKER EB) และ ตะวัน วัตุยา
ที่ JWD Art Space
ตั้งแต่วันนี้ – 31 มีนาคม 2567