เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า แล้วทำไมเราต้องบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่ายเพียงอย่างเดียว? สมัยก่อนเวลาไปเที่ยวที่ไหนกับครอบครัว เราจะเห็นพ่อแบกกล้องตัวใหญ่คอยตามถ่ายรูปเรากับวิวสวย ๆ หรือแม้แต่ตอนนี้ เวลาเกิดโมเมนต์น่าจดจำ เราก็มักจะหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายภาพเก็บไว้เผื่อดูทีหลัง
และสำหรับศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ ราบิน ฮุสเซิน (Rabin Huissen) เขาใช้เทคนิคการการถ่ายภาพเก่าแก่ดั้งเดิมอย่าง ‘โฟโตแกรม’ มาบันทึกประสบการณ์ในช่วงเวลาและสถานที่ต่าง ๆ ของเขา ซึ่งแทนที่จะบันทึกภาพทุกอย่างคมชัดแบบตาเห็น มันกลับบันทึกรูปทรง ความชื้น อุณหภูมิ แสง และสัมผัสของร่างกายออกมาแทน
Selective Memory: 'Hands' คือนิทรรศการที่รวมภาพ ‘มือ’ ของเขามาจัดแสดงอยู่ร่วมกัน พวกมันบอกสิ่งที่เราต่างก็รู้กันดีอยู่แก่ใจแต่มักจะลืมไปว่า ฝ่ามือของเราเปลี่ยรไปในแต่ละที่ และแต่ละวัน แบบไม่มีทางเหมือนกัน และฝ่ามือของเราเองยังบ่งบอกถึงสิ่งที่ลึกลงไปกว่านั้น นั่นก็คือสิ่งที่อยู่ ‘ภายใน’ มือของเราในแต่ละที่ แต่ละวัน ก็แตกต่างออกไปเช่นกัน ในแบบที่เราอาจจะคาดไม่ถึงเองด้วยซ้ำ
กระบวนการบันทึกภาพแบบโฟโตแกรมของเขาเริ่มจากการเตรียมกระดาษไวแสง ก่อนที่ศิลปินจะแปะมือลงไปท่ามกลางสภาพแวดล้อมเฉพาะ โดยที่ศิลปินบันทึกแต่ละสถานที่ที่สร้างแต่ละงานเอาไว้อย่างละเอียด และอัดภาพในกระดาษเหล่านั้นด้วยน้ำจากสถานที่ใกล้เคียง ทั้งหมดนี้ทำให้ภาพมือแต่ละชิ้นเต็มไปด้วยเรื่องราวและรายละเอียดภายในร่างกายของเขา และสภาพแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลต่อเราตลอดเวลา ภาพเหล่านี้เผยให้เห็นสารเคมีที่เจือจางอยู่ในน้ำ กับความเดือดดาลที่ซ่อนอยู่ในฝ่ามือเรา …เราอาจจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าวันนั้นเราหงุดหงิดใครมา เราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแหล่งน้ำใกล้ตัวเรามีอะไรปนเปื้อนบ้าง แต่สิ่งเหล่านั้นทิ้งร่องรอยเอาไว้ในโฟโตแกรม
ถ้อยคำในสมุดไดอารีอาจบันทึกความทรงจำตามที่คิด ภาพถ่ายอาจบันทึกความทรงจำที่เราเห็น โฟโตแกรมรูปมือในนิทรรศการนี้ก็อาจแสดงให้เห็นภาวะจริง ๆ ของตัวเราที่ซื่อสัตย์กับตัวเรามากกว่าที่เรารู้ และมากกว่าที่เราเห็นด้วยซ้ำ เพราะลึกลงไปในภาพฝ่ามือธรรมดา ๆ อาจมี ‘ความทรงจำของร่างกาย’ เล็ก ๆ ที่ทิ้งรอยไว้อยู่แม้เราจะไม่อยากมอง
นิทรรศการ Hands
โดยศิลปิน Rabin Huissen
จัดแสดงที่ Charoen43
ตั้งแต่วันนี้ - 31 พฤษภาคม 2567