FAC | Factory Art Centre สตูดิโอศิลปะในวันที่การศึกษาในห้องเรียนไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

Post on 24 January

FAC : Factory Art Centre สอนศิลปะและการออกแบบ หรือชื่อเดิม The Factory Studio and Art House คือสตูดิโอสอนศิลปะที่บอกว่าตัวเองคือโรงงานผลิตว่าที่ศิลปินและนักออกแบบออกไปสู่วงการศิลปะ 

FAC ก่อตั้งโดย 2 ศิลปิน ‘เก่ง-สักใหญ่ มงคลประเสริฐ’ ศิลปินและผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบ ‘แมวเก้าสิบชีวิต’ และ ‘จี๊ป-ภาสินี คงเดชะกุล’ ศิลปินนักวาดภาพประกอบสายแฟชั่นที่เคยร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Purra, Estee Lauder, Rimowa และ BMW โดยหลังจากที่ทั้งสองเปิดสอนและร่วมผลักดันเด็ก ๆ ให้ทำตามความฝันที่จะเข้าเรียนในคณะศิลปะมาร่วม 10 ปี เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ก็ได้ฤกษ์ขยับขยายย้ายสตูดิโอมาที่ใหม่ใจกลางอารีย์ ที่ครั้งนี้ทั้งคู่บอกว่า ที่นี่..จะเป็นมากกว่าที่สอนศิลปะ แต่จะเป็นคอมมิวนิตีเล็ก ๆ แห่งใหม่สำหรับทุกคน 

สัปดาห์นี้ GroundControl ขอพาทุกคนไปเยี่ยมชมบรรยากาศสตูดิโอแห่งใหม่ พร้อมชวนทั้งคู่มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงเรื่องระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่ภายในไม่กี่ปีมานี้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการมาหลายต่อหลายครั้ง เพื่อร่วมหาทางออกที่เป็นธรรมที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

10 ปี จากจุดเริ่มต้นถึงวันนี้

เก่ง-สักใหญ่ : หลังจากเรียนจบและเริ่มทำงานมาสักระยะหนึ่ง เราสองคนก็เริ่มอยากได้พื้นที่ทำงานส่วนตัวที่เป็นสัดเป็นส่วนขึ้น ประกอบกับตัวเราเองก็พอจะมีประสบการณ์การสอนศิลปะมาก่อนหน้านี้ เราทั้งคู่เลยตัดสินใจร่วมกันสร้างสตูดิโอ FAC | Factory Art Centre นี้ขึ้นมา อาศัยประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาค่อย ๆ ทำและปรับปรุงหลักสูตรมาเรื่อย ๆ จริง ๆ นอกจากการสอนศิลปะจะเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้ดีแล้ว เรายังมองว่าการได้ทำให้ความฝันของเด็กๆที่อยากสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นจริงได้ก็เป็นการเติมเต็มความสุขมาที่ตัวเราด้วยเหมือนกัน เด็กเรียนรุ่นหนึ่งมีประมาณ 40-50 คนก็สนิทกันมาก ปรึกษากันตั้งแต่เรื่องเรียนไปจนเรื่องส่วนตัว คอยสนับสนุนซึ่งกันและกันในทุก ๆ เรื่อง

จี๊ป-ภาสินี : พอผ่านมา 10 ปีเราก็เริ่มอยากขยับขยายและรีแบรนด์สตูดิโอ เพราะสตูดิโอเก่าที่เพลินจิตเป็นสตูดิโอที่เราทำตอนเพิ่งเรียนจบ ยังไม่ได้มีการคิดวางแผนอะไรมากในระยะยาว และเงินทุนก็ยังมีไม่มากในตอนนั้น ทำให้พอผ่านมา 10 ปี เราก็อยากมีพื้นที่ที่กว้างขวางขึ้น แต่ไหน ๆ จะย้ายที่แล้วก็ไม่อยากให้มันเป็นแค่ที่สอนศิลปะ แต่เรามองเป็นคอมมิวนิตีเล็ก ๆ ที่จะสร้างพื้นที่เพื่อเชื่อมต่อและสร้างการเรียนรู้ด้านศิลปะให้กับเด็ก ๆ ในอนาคตก็จะมีจัดเวิร์คช็อป ทำเป็นแกลเลอรี่ มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงผลงานและขายของที่ออกแบบกันเอง ไม่ว่าจะเป็นสติกเกอร์ โปสการ์ด หรือผลงานอื่น ๆ เร็ว ๆ นี้เราเองก็วางแผนจะสร้างห้องทำงานและช็อปเล็ก ๆ เพื่อเป็นพื้นที่วางผลงานออกแบบของตัวเองด้วย

การเรียนศิลปะของลูกในสายตาผู้ปกครอง

เก่ง-สักใหญ่ : สำหรับเด็กไทย การสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ใช่การตัดสินใจของเด็กอย่างเดียว อย่างที่ FAC เราก็ต้องให้ผู้ปกครองเข้ามานั่งคุยทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน ว่าการเรียนศิลปะมีเป้าหมายเพื่ออะไร สามารถนำไปยื่นคณะอะไรได้บ้าง มีรูปแบบการเรียนการสอนยังไง ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจก่อนว่ามันไม่ใช่แค่การวาดรูปให้สวย แต่บางครั้งมันอาจจะต้องมีที่มาที่ไป มีแนวคิดและกระบวนการพัฒนาผลงาน ซึ่งผู้ปกครองบางท่านก็อาจจะยังไม่เข้าใจว่าศิลปะคืออะไร เราก็จะอธิบายให้เขาฟังว่า จริง ๆ แล้วทุกอย่างรอบตัวเราก็คือศิลปะหมด ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือสมมติเดินทางขึ้นรถไฟฟ้า หน้าตาบัตรรถไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาก็ใช่ เวลาเดินช็อปปิ้ง ทำไมถุงแบรนด์นี้น่าถือกว่าอีกแบรนด์ หรือแม้แต่อยู่บ้านเล่นเฟซบุคในโทรศัพท์ หน้าตาแอพพลิเคชั่น การจัดวางเลย์เอาต์ การออกแบบตัวอักษร ทั้งหมดนี้ก็คือศิลปะหมด

จี๊ป-ภาสินี : จริง ๆ ก็ไม่ใช่แค่ผู้ปกครอง อย่างตัวเด็กเองเราก็จะบอกเขาเสมอให้ลองปรับพฤติกรรม ต้องเริ่มสังเกตการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำไมเขาถึงเลือกเข้าร้านอาหารนี้ โลโก้ กระดาษรองจาน ทิชชูเป็นยังไง ไปซูเปอร์มาร์เก็ต ทำไมเขาถึงเลือกหยิบซอสขวดนี้ ทำไมขวดนี้น่ากิน ทำไมขวดนี้ดูเผ็ดมาก อย่างใครชอบสถาปัตย์ก็ลองสังเกตอาคารต่าง ๆ รอบตัวว่าหน้าตาและการใช้งานเป็นยังไง เพราะศิลปะสามารถประยุกต์ไปอยู่ได้ทุกที่

เพราะการสอนศิลปะรูปแบบเดิมไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

เก่ง-สักใหญ่ : 10 ปีที่ผ่านมา เราก็ค่อย ๆ พัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการสอนมาเรื่อย ๆ อย่างปัจจุบันคอร์สทำพอร์ตโฟลิโอสำหรับหลักสูตรนานาชาติก็จะมีการสอนบรรยายทุก 2 สัปดาห์ เนื้อหามีทั้ง Corporate Identity Design, Land Art, Basic Architectural Design และอีกหลายหัวข้อ เป็นการให้ความรู้และให้แนวทางกับเด็ก ๆ ก่อน พอบ่ายก็จะมีเวิร์คช็อปเล็ก ๆ จากการสอนบรรยายตอนเช้ามาให้เด็ก ๆ ลองลงมือปฏิบัติ สัปดาห์ต่อมาก็จะให้เขามานำเสนอไอเดียของตัวเองแล้วค่อยพัฒนาแนวคิดและกระบวนการตามความถนัดของแต่ละคนต่อไป ดังนั้นรูปแบบและสไตล์ผลงานของเด็กแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน บางครั้งการสอนทักษะการวาดภาพเหมือนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับเด็กรุ่นนี้ ปัจจุบันเราจึงต้องจัดกลุ่มเด็กตามความถนัดของแต่ละคนและหาทีมผู้สอนให้เหมาะสม มีทั้งการออกแบบกราฟฟิก ดิจิตัลเพนท์ติ้ง ถ่ายภาพ สต็อปโมชัน งานสื่อผสม ฯลฯ หลังจากเขาได้ผลงานมาแล้วก็ต้องมาแนะนำการจัดวางเลย์เอาต์เพื่อรวมเป็นรูปเล่มพอร์ตโฟลิโอส่งมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งเด็กสมัยนี้เขาเก่งมากอยู่แล้วทั้งในแง่ผลงานและความเป็นตัวของตัวเอง ถ้ามองย้อนกลับไป เราในวัยเดียวกันยังทำได้ไม่เท่าเขาเลย

จี๊ป-ภาสินี : นอกจากการสอนทำผลงานและรวมเล่มพอร์ตโฟลิโอแล้ว เราก็ต้องมีการฝึกนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษด้วย บางทีผลงานของเด็กดีมาก แต่พอเขาพูดนำเสนอไม่ได้ก็เสียดายแทน เพราะปัจจุบันการนำเสนอวิธีคิดก็สำคัญไม่ต่างจากทักษะเลย อย่างการสอบสัมภาษณ์ของหลักสูตรนานาชาติบางครั้งอาจให้เวลากับการนำเสนอร่วม 30 นาทีแล้ว ถ้าไม่เตรียมตัวให้พร้อมก็มีสิทธิ์พลาดได้

คิดแบบ FAC สอนแบบ FAC

เก่ง-สักใหญ่ : เราจะคอยบอกทีมผู้สอนของเราเสมอว่า สำหรับเด็ก ๆ หลายคนนี่อาจจะเป็นการเรียนศิลปะครั้งแรกของเขา เรามีอิทธิพลต่อทัศนคติด้านศิลปะของเขามาก สิ่งที่ต้องระมัดระวังที่สุดคือเราจะต้องไม่ไปยัดเยียดอะไรให้เขาและเคารพความคิดเขาเสมอ ต้องไม่ไปตัดสินเขา เพราะเราไม่ได้มองว่าเขาเป็นนักเรียน แต่มองว่าเป็นการแบ่งปันความรู้ร่วมกันมากกว่า หน้าที่ของเราคือการส่งเสริมทักษะ มอบทัศนคติดี ๆ ทางศิลปะ และสร้างบรรยากาศการเรียนที่มีความสุข ไม่เคร่งเครียดให้เขา เราจะไม่กดดันลดทอนกำลังใจเด็ก และจะไม่ยัดเยียดชี้นำคณะหรือมหาวิทยาลัยให้เขา เพราะความคิดเห็นส่วนตัวแบบนี้อาจจะเปลี่ยนชีวิตของเด็กไปตลอดกาลเลย

จี๊ป-ภาสินี : เด็กแต่ละคนก็มีเงื่อนไขในชีวิตไม่เหมือนกัน อย่างแรกเขาต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายในการเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยของตัวเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาล เอกชน นานาชาติ หรือต่างประเทศ แต่ละที่ก็มีหลักสูตรและรูปแบบการสอนไม่เหมือนกัน เรามีหน้าที่แค่ให้คำแนะนำที่เป็นกลางและผลักดันเขาไปในทางที่เลือก เราจะไม่บอกว่าที่ไหนดี ที่ไหนแย่ แต่จะบอกว่าที่นั่นหลักสูตรเป็นยังไง มีเปิดสอนวิชาอะไรบ้าง มีความพิเศษกว่าที่อื่นยังไง และจะแนะนำให้เขาไปดูงาน Open House ของทุก ๆ มหาวิทยาลัย ไปดูให้เห็นว่าบรรยากาศและรูปแบบการเรียนการสอนเป็นยังไง แล้วค่อยกลับมาตัดสินใจอีกที

ระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่ทิ้งเด็กบางคนไว้ข้างหลัง

เก่ง-สักใหญ่ : ปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ทั้งหลักสูตรปกติและหลักสูตรนานาชาติ ใช้วิธีการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบ TCAS (Thai University Center Admission System) ทั้งหมด ในส่วนของคณะออกแบบและศิลปะก็จะประกาศให้คนที่สนใจส่งพอร์ตโฟลิโอเข้ามาให้พิจารณาก่อนเป็นอันดับแรก แต่ละคณะหรือมหาวิทยาลัยก็จะมีเกณฑ์การคัดเลือกและข้อกำหนดไม่เหมือนกัน อย่างบางที่ก็ค่อนข้างอิสระ ไม่มีโจทย์เฉพาะทาง เด็กสามารถทำงาน 12 ชิ้นตามความถนัดของแต่ละคนได้เลย ส่วนบางที่ก็จะกำหนดโจทย์ของงานในพอร์ตโฟลิโอที่ค่อนข้างละเอียดและเฉพาะทาง ต้องมีงานวาดเส้นกี่ชิ้น งานวิชาเฉพาะอีกกี่ชิ้น เน้นแสดงทักษะ แต่ไม่ต้องสอบวิชาการแบบสมัยก่อนแล้ว ให้ใช้เกรดเฉลี่ยจากโรงเรียนเอามายื่นได้เลย ซึ่งเรื่องนี้เราก็เห็นด้วย เป็นการลดภาระให้เด็กไม่ต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือวิชาการเพิ่มเข้าไปอีก แต่ก็มีเงื่อนไขของบางที่ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นด้วยเหมือนกัน เช่น บางที่มีข้อบังคับให้เด็กต้องมีเกรดเฉลี่ยอย่างต่ำ 3.00 ขึ้นไป ซึ่งสำหรับเรามองว่ามันเป็นการกันเด็กที่มีศักยภาพทางการออกแบบออกไปเหมือนกัน เรามองว่าเด็กที่เรียนไม่เก่งในระดับมัธยมไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นนักออกแบบที่ดีในอนาคตไม่ได้

ความยากอีกอย่างของระบบนี้คือ แต่ละคณะแต่ละมหาวิทยาลัยจะประกาศโจทย์และข้อบังคับต่าง ๆ ก่อนส่งพอร์ตโฟลิโอเพียงไม่กี่วัน และแต่ละที่ก็จะกำหนดส่งใกล้ ๆ กัน หากเด็กต้องการสอบหลายที่ก็จะเหนื่อยและกดดัน ไหนจะต้องเตรียมสัมภาษณ์และสอบทักษะต่ออีกหากพอร์ตโฟลิโอผ่านเข้าเกณฑ์ประเมินของมหาวิทยาลัย

จี๊ป-ภาสินี : บางมหาวิทยาลัยประกาศรับสมัครสอบวัดระดับความสามารถเองก่อนรอบจริง โดยแจ้งว่าผลคะแนนการสอบวัดระดับนี้จะมีผลต่อการพิจารณาตอนไปยื่นพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งส่วนนี้เราไม่ค่อยเห็นด้วย แปลว่าสมมติคะแนนเด็กสองคนเท่ากันเขาจะเลือกเด็กที่มาสอบวัดระดับก่อนรึเปล่า เราว่ามันเป็นระบบที่สร้างภาระให้เด็กมากขึ้นไปอีก เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนจะสามารถมีกำลังทรัพย์มาจ่ายค่าสอบหรือค่าเดินทางมาสอบได้บ่อย ๆ ยิ่งกับเด็กต่างจังหวัด แค่ค่าคอร์สติวนอกห้องเรียนเพื่อเตรียมตัวทำพอร์ตโฟลิโอและเพิ่มทักษะทางศิลปะ ก็สร้างภาระให้กับผู้ปกครองมากพอแล้ว

เก่ง-สักใหญ่ : สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องการกับสิ่งที่โรงเรียนมอบให้เด็ก ๆ ยังไม่สัมพันธ์กัน ระบบนี้มันสร้างภาระให้กับทั้งเด็กและผู้ปกครอง เราอยากให้โรงเรียนมีสาขาที่รองรับความสนใจของเด็ก อย่างน้อยต้องมีวิชาเลือกให้เขาสามารถไปสอบได้โดยไม่ต้องมาติวข้างนอก และมีวิชาแนะแนวที่สร้างความเข้าใจและสามารถแนะนำการสอบเข้าคณะศิลปะอย่างละเอียด ปัจจุบันกลายเป็นว่าส่วนใหญ่เด็กต้องเป็นคนไปหาข้อมูลข้างนอกเองเกือบทั้งหมด

มีจริงไหม ระบบสอบเข้าในฝันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เก่ง-สักใหญ่ : 2-3 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือกไปพอสมควร ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีข้อกำหนดไม่เหมือนกัน อย่างมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ส่วนใหญ่เขาจะระบุมาชัดเจนเลยว่าต้องการอะไรบ้าง เด็กจะต้องทำงานวาดเส้นกี่ชิ้น แฟชั่นกี่ชิ้น โปรเจ็คส่วนตัวกี่ชิ้น ทีนี้สำหรับเด็กที่จะสอบเข้าเขาก็จะรู้ตัวแล้วว่าจะต้องเตรียมตัวยังไงตั้งแต่เนิ่นๆ มีเวลาวางแผนทำพอร์ตโฟลิโอที่เป็นตัวตนของเขาจริง ๆ ซึ่งเรามองว่ามันเป็นระบบที่เป็นธรรมกับเด็กมากกว่าการประกาศโจทย์กระชั้นชิด ให้เด็กต้องมาลุ้นกันใน 30-40 วัน ก็ต้องมาเร่งทำพอร์ตโฟลิโอในระยะเวลาสั้น ๆ จริง ๆ ตัวเด็กอาจจะเก่ง แต่พอต้องมาทำงานในสภาวะกดดันอาจเกิดความเครียดและส่งผลต่อจิตใจ สุขภาพ และการทำงานทั้งหมดได้

จี๊ป-ภาสินี : เราก็มองว่าระบบแบบการสอบคัดเลือกแบบต่างประเทศหลาย ๆ ที่สามารถวัดผลได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพและไม่สร้างภาระให้เด็กจนเกินไป พอพอร์ตโฟลิโอสามารถสะท้อนตัวตนของเด็ก ๆ แต่ละคนออกมาได้มากกว่า มหาวิทยาลัยก็จะได้เห็นวิธีคิดและสไตล์ผ่านผลงานของแต่ละคนได้มากขึ้นเช่นกัน เพราะโจทย์จะกว้าง ทำอะไรก็ได้ให้เห็นตัวตนและการเดินทางของเรา เพราะพอร์ตโฟลิโอจริง ๆ แล้วสิ่งสำคัญของมันคือการเห็นกระบวนการคิด มันไม่ได้สำคัญที่ตัวงานจบอย่างเดียว เป็น Design Thinking ที่คิดครบสมบูรณ์ทั้งกระบวนการ ซึ่งเด็ก ๆ รุ่นนี้เขาเก่งกันมากอยู่แล้ว มีการเข้าถึงสื่อดี ๆ และมีความสนใจหลากหลาย ทุกอย่างที่เขาประสบพบเจอในชีวิตก็สามารถเอามาทำเป็นงานศิลปะได้หมด ไม่เหมือนคนรุ่นเราที่จะพุ่งตรงไปด้านเดียว โลกของเราก็จะไม่เปิดกว้างเท่าเขา เราก็จะคอยบอกตัวเองเสมอว่าเราต้องห้ามเชย ต้องหาความรู้และออกเดินทางเยอะ ๆ เพื่อเปิดโลกเปิดใจ ต้องตามโลกให้ทันเด็กยุคนี้ด้วย

จะขับเคลื่อนแวดวงการศึกษาศิลปะไปให้ไกลกว่าเดิม ลำพังแค่ภาคเอกชนเพียงอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ

เก่ง-สักใหญ่ : ทุกวันนี้อะไรดีๆงามๆในวงการศิลปะก็เห็นมีแต่ภาคเอกชนเป็นคนผลักดันอย่างเดียว ทั้งผลงาน นิทรรศการ หรือแม้แต่การผลิตบุคคลากร ถ้าเราอยากเห็นวงการนี้ไปได้ไกลกว่าเดิม ภาครัฐอาจจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมช่วยส่งเสริมผลักดันบ้าง คือตัวรัฐบาลเราเข้าใจว่าเขายังไม่มีบุคคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจงานด้านศิลปะเพียงพอ ดังนั้น เรามองว่ารัฐต้องเข้ามาร่วมพูดคุยและให้ภาคเอกชนที่มีความชำนาญเฉพาะทางเข้าไปมีส่วนร่วมบ้าง เงินงบประมาณที่เอามาลงกับเรื่องนี้จะได้เอาไปลงถูกที่ถูกทางและถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เรามองว่าตัวเด็กเองพร้อมมากแล้ว แต่ปัญหาคือการที่หลักสูตรในโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยไม่สัมพันธ์กัน มันต้องคุยกันทั้งระบบ จะทำงานแยกเป็นส่วนๆกันแบบในปัจจุบันไม่ได้

จี๊ป-ภาสิณี : อีกอย่างคือเขาก็ต้องเคารพอาชีพของแต่ละคนด้วย สมมติจะทำอะไรสักอย่าง ก็ดูบุคคลากรให้เหมาะกับงาน ไม่ใช่แค่เอาคนรู้จักมาทำ มันก็จะออกมาไม่โอเค อย่างเรื่องหลักสูตรการศึกษา ตัวเราเองก็เคยพยายามเข้าไปให้คำแนะนำกับสถานศึกษาบางที่แล้ว เห็นหลักสูตรไม่สมเหตุสมผล ด้วยประสบการณ์สอนมาหลายปีก็พยายามชี้แจงและช่วยแนะนำอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ในส่วนของเรา แต่พอเราก็ไม่ใช่คนตัวใหญ่ก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ สุดท้ายยังไงการเปลี่ยนก็ยังต้องการภาครัฐมาช่วยผลักดัน ตั้งแต่การร่างหลักสูตร จนถึงการสนับสนุนผลักดันบุคคลากร

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต

เก่ง-สักใหญ่ : ตัวเรามีหน้าที่ช่วยให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ฝัน ได้อยู่กับสิ่งที่เขารัก แต่เราก็ไม่อยากให้เขารู้สึกว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นทุกอย่างของชีวิต สุดท้ายแล้วอยากบอกเด็ก ๆ ทุกคนว่า ชีวิตมันเป็นการเดินทางที่ยาวนาน ฉะนั้นถ้าระหว่างทาง เราสอบไม่ติดหรือว่าไม่ได้เรียนอย่างที่ต้องการ ให้เราคิดเสียว่ามันก็เป็นแค่การสะดุดหรือหกล้ม แต่สุดท้ายแล้วเราต้องไปดูกันตอนจบว่าปลายทางมันจะเป็นยังไง คือบางคนอาจจะประสบความสำเร็จตอนอายุ 40-50 ปี อาจจะไปเจอตัวตนตอนนั้นก็ได้ ขอแค่เราพยายามค่อย ๆ ทำมันต่อไปเรื่อย ๆ ทีละนิด ยังไงสักวันหนึ่งสิ่งเหล่านั้นมันจะปรากฏผลลัพธ์ให้เราเห็นเอง

จี๊ป-ภาสินี : เราอยากให้มองว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเป้าหมาย ณ ตอนนี้ ถ้าสำเร็จก็ถือว่าตรงตามเป้าหมาย แต่ถ้าไม่สำเร็จก็อย่าไปมองว่าเราล้มเหลวไปแล้วทั้งชีวิต การเดินทางของชีวิตมันมีเส้นทางอีกยาวไกล ถึงไม่ได้เรียนศิลปะก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นศิลปินที่ดีไม่ได้ หรือแม้แต่ว่าบางทีลองไปเรียนแล้วไม่ใช่ตัวเราก็อย่าเพิ่งเสียใจ มันอาจจะมีทางเลือกอื่น ๆ อีกมากที่รอให้เราค้นหา ถึงจะเปลี่ยนสายไปเลยก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราได้ลองและตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่ไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะเจอสิ่งที่มันใช่กับตัวเราที่สุด ณ เวลานั้น อยากให้เดินทางอย่างมีความสุขมากกว่า เพราะความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างบางคนเป้าหมายอาจจะไม่ใช่เรื่องเงินทอง แค่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของเขาแล้ว