“ชีวิตคือส่วนผสมของช่วงเวลาอันหวานอมขมกลืน”
ถ้าใครเคยทราบประวัติของ จิมมี่ เลี่ยว (Jimmy Liao หรือ จี๋หมี่ เลี่ยว ตามสำเนียงการออกเสียงของท้องถิ่น) มาบ้างก็คงจะเข้าใจดีว่า คำกล่าวข้างต้นของเขาคงเรียกได้ว่าไม่เกินจริงนัก เพราะแม้ว่าในปัจจุบัน เราจะจดจำจิมมี่ได้จากผลงานหนังสือภาพสุดฮีลใจมากกว่า 60 เล่มที่ถูกแปลไปหลายสิบภาษาทั่วโลก รวมไปถึงรางวัลระดับนานาชาติอีกมากมายที่การันตีความสำเร็จของศิลปินจากเมืองอี๋หลานของไต้หวันคนนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ถึงอย่างนั้น ชีวิตที่ผ่านมาของเขากลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ
แม้จะสำเร็จการศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงอย่างมหาวิทยาลัยวัฒนธรรมจีน (Chinese Culture University) ในเมืองไทเป และมีโอกาสได้ทำงานที่มั่นคงในบริษัทโฆษณาขนาดใหญ่ของไต้หวัน แต่ชีวิตของจิมมี่ในช่วงวัยกลางคนก็ต้องเจอกับทางแยกครั้งใหญ่ของชีวิต เมื่อเขาถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคลูคีเมีย (มะเร็งเม็ดเลือดขาว) และต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยทันที
ความเจ็บป่วยในครั้งนั้นสร้างแรงกระเพื่อมครั้งยิ่งใหญ่ให้กับชีวิตของจิมมี่ ทางแยกระหว่างความเป็นและความตายที่อยู่ตรงหน้าทำให้เมื่ออาการป่วยของเขาเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น เขาจึงตัดสินใจแน่วแน่ที่จะทิ้งอาชีพผู้กำกับศิลป์ที่ทำมาร่วม 12 ปี และหันมาทุ่มเททั้งหัวใจและจิตวิญญาณให้กับการทำงานศิลปะอันเป็นที่รัก ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียงสิ่งที่เขาทำเพื่อเติมเต็มหัวใจในช่วงนอกเวลางานเท่านั้น
นี่เองคือจุดกำเนิดของ ปริศนาในป่าฝัน (Secrets in The Woods) และ ปลายิ้มได้กับชายคนหนึ่ง (A Fish That Smiled At Me) หนังสือภาพสองเล่มแรกในชีวิตของเขาที่ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 1988 และสร้างชื่อเสียงให้กับเขาในฐานะคนทำหนังสือฝีมือดีที่สามารถนำเอาภาษาที่เรียบง่ายและซื่อตรงมาใช้ถ่ายทอดความลึกซึ้งของชีวิตผ่านลายเส้นสุดละมุนใจที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งความเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กไปสู่การเป็นผลงานเชิงปรัชญาชีวิตที่กินใจผู้ใหญ่วัยทำงานได้ไม่ต่างกัน
แม้ความทุกข์จากสภาพร่างกายและจิตใจที่บอบช้ำจะแสดงออกอย่างชัดเจนในผลงานของเขา แต่ในขณะเดียวกัน ในผลงานของจิมมี่กลับเต็มไปด้วยประกายแห่งความหวังและแง่มุมดี ๆ ของชีวิตที่ยังคงให้แรงใจกับผู้คนได้เสมอ เพราะในความเศร้ายังมีความสุข ในความเหงายังมีความอบอุ่น และในความสิ้นหวังยังมีความหวังรอคอยอยู่เสมอ
นอกจากเนื้อหาที่ลึกซึ้งในระดับปรัชญาแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้คนตกหลุมรักผลงานของจิมมี่คือลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาที่เต็มไปด้วยสีสันสดใสของส่วนผสมระหว่างสีน้ำ สีอะครีลิก และปากกามาร์กเกอร์ที่เขาบรรจงแต่งแต้มเพื่อสร้างโลกใบใหม่ให้กับเหล่าตัวละครตัวน้อยของเขา ซึ่งแม้ว่า ในหลาย ๆ ครั้ง ภาพที่ปรากฏบนหน้ากระดาษตรงหน้าจะดูละม้ายคล้ายคลึงกับสถานที่จริงในไต้หวัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สไตล์การวาดของเขานั้นน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากทั้งผลงานภาพประกอบจากทางฝากฝั่งญี่ปุ่น และจิตรกรรมของศิลปินตะวันตกหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็น พอล คลี (Paul Klee), แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh), มอนดรียาน (Piet Mondrian), ปิกัสโซ (Pablo Picasso) และ มากริต (René Magritte) ในหลาย ๆ ครั้งเราจะได้เห็นจิมมี่แอบซุกซ่อนผลงานดังของศิลปินชั้นครูเหล่านี้ในหนังสือของเขาด้วย
ปัจจุบันจิมมี่ในวัย 64 ปียังคงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย แม้ตัวเขาจะขึ้นแท่นกลายเป็นนักเขียนที่ชาวไต้หวันเคารพรักมากที่สุด และลายเส้นของเขาจะถูกนำไปใช้ดัดแปลงกลายมาเป็นสินค้า ละครเพลง ภาพยนตร์ ซีรี่ส์ แอนิเมชัน รวมถึงผลงานศิลปะสาธารณะในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งไต้หวัน ตั้งแต่สวนสาธารณะ ไปจนถึงรถไฟใต้ดิน ชีวิตและผลงานของเขายังคงยืนหยัดคอยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลกตั้งแต่รุ่นเล็กยันรุ่นใหญ่ให้ได้มองเห็นแสงสว่างแห่งความหวังไม่ต่างจากเส้นทางของเหล่าเด็กน้อยตัวเอกในโลกใบใหญ่ที่ปรากฏในเรื่องราวของเขา
และล่าสุดทางสำนักพิมพ์ Piccolo Publishing ก็เพิ่งปล่อยหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของจิมมี่อย่าง โรงภาพยนตร์แห่งกาลเวลา (The Rainbow of Time) ฉบับแปลไทยออกมาเมื่อเดือนที่ผ่านมา (รวมไปถึงผลงานเล่มก่อน ๆ อย่าง ระยะห่าง ระหว่างเรา (So Close yet So Far) และ โชคดีที่เจอกัน (Best of Luck) ด้วย) ไม่ใช่แค่แฟนหนังสือของจิมมี่เท่านั้นที่เราไม่อยากให้พลาดหนังสือเล่มนี้ด้วยประการทั้งปวง แต่เชื่อเหลือเกินว่า คนรักภาพยนตร์ทุกคนน่าจะรู้สึกเชื่อมโยงไปกับหนังสือเล่มนี้ได้ไม่ยากเช่นกัน
ระยะห่าง ระหว่างเรา (So Close yet So Far)
ผู้เขียน: จิมมี่ เลี่ยว
ผู้แปล: อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี
สำนักพิมพ์: Piccolo
อีกหนึ่งผลงานจากจักรวาล ผู้หญิงเลี้ยวซ้าย ผู้ชายเลี้ยวขวา (Turn Left, Turn Right / A Chance of Sunshine) ที่ว่าด้วยชีวิตของหนุ่มสามคู่หนึ่งที่ยืนอยู่บนคนละด้านของเส้นขนานที่ช่วงเวลา สถานที่ และสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตทำให้เส้นทางของทั้งคู่ไม่ได้เวียนมาบรรจบกัน
โชคดีที่เจอกัน (Best of Luck)
ผู้เขียน: จิมมี่ เลี่ยว
ผู้แปล: อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี
สำนักพิมพ์: Piccolo
ผลงานที่ตั้งคำถามกับความ ‘โชคดี’ และความ ‘โชคร้าย’ และมุมมองของเราที่มีต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เรียบง่าย แต่บาดลึกลงไปในระดับจิตวิญญาณ
โรงภาพยนตร์แห่งกาลเวลา (The Rainbow of Time)
ผู้เขียน: จิมมี่ เลี่ยว
ผู้แปล: อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี
สำนักพิมพ์: Piccolo
เรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่มีโรงภาพยนตร์เป็นตัวละครเอกในชีวิตของเธอ ตั้งแต่ช่วงเวลาแห่งความสุขสม ไปจนถึงความทุกข์ระทมที่ยังส่งต่อผ่านกาลเวลา พร้อมตัวละครสมทบที่คุ้นตาจากภาพยนตร์เรื่องดังที่คอยแวะเวียนมาปรากฏตัวให้ซีเนไฟล์ได้ใจเต้นเป็นช่วง ๆ
อ้างอิง:
https://www.jimmyspa.com/en#1
https://saigoneer.com/saigon-music-art/18119-the-masterful-urban-symbolism-of-turn-left,-turn-right-author-jimmy-liao
https://booksfromtaiwan.tw/authors_info.php?id=36
https://www.goodreads.com/author/show/325581.Jimmy_Liao