20210731_GC_Junji Ito_Cover copy.jpg

7 องค์ประกอบที่พบเจอเป็นประจำในผลงานของจุนจิ อิโต้

Post on 7 May

31 กรกฎาคม - วันคล้ายวันเกิดครบรอบ 58 ปีของ จุนจิ อิโต้ (Junji Ito) นักวาดการ์ตูนมังงะสยองขวัญชาวญี่ปุ่นที่มีผลงานครองใจคนทั่วโลกมายมาย

ตลอดระยะเวลาการทำงานร่วมสามทศวรรษในฐานะนักวาดการ์ตูนมังงะ อาจารย์อิโต้ได้สร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนสยองขวัญระดับขึ้นหิ้งทั้งขนาดยาวและขนาดสั้นไปมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นผลงานสร้างชื่ออย่าง โทมิเอะ (Tomie), ก้นหอยมรณะ (Uzumaki), ปลามรณะ (Gyo), เรมิน่า ดาวมรณะ (Hellstar Remina),  สูญสิ้นความเป็นคน (No Longer Human) ผลงานการ์ตูนมังงะที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมคลาสสิคโดยดาไซ โอซามุ หรือแม้แต่ บันทึกน้องเหมียวของอิโต จุนจิ: Yon & Mu (Junji Ito's Cat Diary: Yon & Mu) ผลงานการสร้างสรรค์เรื่องแรกของอาจารย์อิโต้ที่ไม่ใช่เรื่องราวชวนขนหัวลุก แต่กลับเป็นบันทึกเรื่องราวของตัวเขาและคู่หมั้นที่ต้องใช้ชีวิตร่วมบ้านเดียวกับ ยง และ มู สองแมวจอมป่วนที่ทั้งน่ารักและก็น่าชังในเวลาเดียวกัน ซึ่งผลงานเรื่องดังกล่าวก็เป็นเหมือนภาพสะท้อนให้เห็นถึงบุคคลิกและตัวตนที่แท้จริงของเจ้าพ่อการ์ตูนสยองขวัญคนนี้ที่ไม่ได้มีชีวิตที่ลึกลับดำมืดแต่อย่างใด แต่แท้จริงกลับใช้อย่างปกติสามัญและมีความน่ารักอบอุ่นยิ่งกว่าใคร

แม้ผลงานของอาจารย์อิโต้จะโดดเด่นด้วยลายเส้นที่ละเอียดสวยงาม (แต่ก็ชวนแหวะ) เป็นเอกลักษณ์ในทุก ๆ ช่องจนขนาดที่ว่ามองปราดเดียวก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นผลงานของเขา แต่เมื่อเรามองลึกลงไปก็จะพบว่า นอกจากคุณค่าในเชิงศิลปะแล้ว อาจารย์อิโต้ยังเป็นนักวาดการ์ตูนมังงะมือฉมังอีกหนึ่งคนที่มีไอเดียในการคิดพล็อตเรื่องที่แปลกแหวกแนว ล้ำจินตนาการสุด ๆ แบบที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ซึ่งนี่เองก็คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผลงานของเขาประสบความสำเร็จไปทั่วโลกทั้งในแง่คำวิจารณ์และความนิยม ถูกนำไปดัดแปลงเป็นผลงานอนิเมะและภาพยนตร์คนแสดง (live-action) มากมาย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา อาจารย์อิโต้ก็เพิ่งจะคว้า 2 รางวัลใหญ่จากเวที Will Eisner Comic Industry Awards ที่เปรียบเสมือนรางวัลออสการ์ของคนในแวดวงการ์ตูน โดยผลงานการ์ตูนมังงะฉบับแปลภาษาอังกฤษที่เพิ่งออกวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาไปเมื่อไม่นานมานี้อย่าง เรมิน่า ดาวมรณะ (REMINA) และรวมเรื่องสั้น Venus in the Blind Spot ก็ส่งให้อาจารย์อิโต้ได้รับรางวัล Best Writer/Artist และผลงาน เรมิน่า ดาวมรณะ (REMINA) เองก็ยังได้รับรางวัล Best US Edition of International Material-Asia มาครอบครองได้อย่างงดงามด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นครั้งที่สองแล้วที่เขาได้รับรางวัลจากเวทีดังกล่าว โดยครั้งแรกเมื่อปี 2019 จากผลงานการ์ตูนมังงะดัดแปลงจากวรรณกรรมคลาสสิคจากปี 1818 เรื่อง Frankenstein โดย Mary Shelley

ในโอกาสนี้เอง GroundControl จึงอยากชวนทุกคนมาร่วมถอดรหัสตามย้อนดูองค์ประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้สไตล์และเนื้อเรื่องที่มักพบเจอได้เป็นประจำในผลงานอันโด่งดังของอาจารย์อิโต้ ที่ไม่ว่าจะเป็นผลงานขนาดสั้นตอนเดียวจบ หรือผลงานขนาดยาวที่กินระยะเวลาการเล่าเรื่องไปหลายเล่ม ก็ล้วนแล้วแต่มีองค์ประกอบเหล่านี้ปรากฏให้เห็นแทบทั้งสิ้น

Body Horror และการเปลี่ยนแปลงของสรีระ

ถ้าพูดถึงการ์ตูนมังงะแนว Body Horror หรือความสยองขวัญที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของร่างกายมนุษย์แล้ว ชื่อของจุนจิ อิโต้คงจะเป็นชื่อแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง เพราะไม่ว่าอาจารย์อิโต้จะผลิตผลงานออกมากี่เรื่องต่อกี่เรื่อง เขาก็ยังคงยืนหนึ่งเรื่องการวาดกายวิภาคมนุษย์ที่แสนบิดเบี้ยวชวนหลอนและแปลกประหลาดจนน่าตั้งคำถาม ภาพใบหน้าเละ ๆ และผิวหนังตะปุ่มตะป่ำแบบของคุณป้าข้างบ้านมหันตภัยใน The Window Next Door (รวมเรื่องสั้นคลังสยองฯ) จึงกลายเป็นภาพจำผลงานของอาจารย์อิโต้สำหรับแฟน ๆ ทั่วโลกไปโดยปริยาย

ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง ความน่ากลัวของภาพร่างกายมนุษย์ที่ว่าก็ไม่ได้ปรากฏให้เห็นตั้งแต่แรก แต่กลับเป็นการแสดงให้เห็นถึงการแปรเปลี่ยนสภาพของร่างกายจากความธรรมดาสามัญไปสู่ความน่าสะอิดเอียนชวนแหวะ อย่างที่จะเห็นได้จากตัวละครอย่าง ยูโกะ จาก Slug Girl (รวมเรื่องสั้นคลังสยองฯ) ที่เริ่มแรกเดิมทีเป็นเพียงเด็กสาววัยแรกรุ่นสุดแสนธรรมดา แต่จู่ ๆ ลิ้นของเธอก็ค่อย ๆ งอกกลายเป็นตัวทากอย่างไม่มีสาเหตุ

ความลึกลับและความสิ้นหวัง

อีกหนึ่งสิ่งที่เราพบเห็นได้ในแทบทุกเรื่องของอาจารย์อิโต้คือเรื่องราวของลึกลับดำมืดของเหตุการณ์ สัตว์ประหลาด หรือแม้แต่บุคคลต้องสงสัย ที่ไม่มีทั้งที่มาที่ไป เหตุผลในการกระทำ หรือจุดจบของเหตุการณ์ เราจะสังเกตเห็นได้ว่า หลาย ๆ เรื่องราวประหลาดที่เกิดขึ้นในผลงานของเขาล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีคำอธิบายแทบทั้งสิ้น หรือถึงมีการอธิบายก็จะถูกพูดถึงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

ซึ่งไอ้ความลึกลับไม่รู้ที่มาที่ไปตรงนี้เองก็นำมาซึ่งความหดหู่สิ้นหวังของเหล่าตัวละครในเรื่องที่หมดหนทางจะรับมือกับเหตุการณ์ประหลาดเหล่านี้จนต้องยอมติดกับดักเป็นเป้านิ่งให้มันกลืนกินช้า ๆ อย่างตอนจบของ ก้นหอยมรณะ (Uzumaki) เองก็ไม่เคยถูกอธิบายอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม เหลือทิ้งไว้แต่คำถามมากมายในหัวและจินตนาการที่ไม่หยุดนิ่งของแฟน ๆ ที่ยังคงต้องออกค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

สาวงามผมดำยาว

แม้อาจารย์อิโต้จะขึ้นชื่อเรื่องการวาดการ์ตูนมังงะสยองขวัญชวนขนหัวลุก แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สยองตามคือการออกแบบเหล่าตัวละครสาวงามในเรื่องที่เรียกได้ว่า งดงาม มีเสน่ห์ดึงดูดใจ และน่าจดจำไม่แพ้กับฉากชวนแหวะในเรื่องเลย ซึ่งมันก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่โดยมากสาวงามที่มีแรงดึงดูดทางเพศอย่างแรงกล้าเหล่านี้มักจะถูกวางบทบาทให้มีลักษณะเป็น ‘วายร้าย’ ของเรื่องมากกว่า ในขณะที่เหล่านางเอกของเรื่องจริง ๆ กลับมีภาพลักษณ์ที่ดูธรรมดาสามัญกว่ามาก

นอกจากความงามและเสน่ห์เปี่ยมล้นแล้ว สาว ๆ เหล่านี้ยังมักจะมีลักษณะร่วมกันอีกอย่าง คือผมยาวดำขลับแบบภาพจำของสาวญี่ปุ่นขนานแท้ เห็นได้จากตัวละครอย่าง จิเอมิ ใน The Long Hair in the Attic (รวมเรื่องสั้นคลังสยองฯ) หรือแม้แต่กับตัวละครสาวสุดป็อปปูลาร์อย่าง โทมิเอะ (Tomie) ที่มีเสน่ห์มัดใจคนรอบข้างได้อย่างอยู่หมัดทุกครั้งไป

Doppelgänger

นอกจากเรื่องราวของโทมิเอะ (Tomie) ที่ไม่ว่าจะโดนฆ่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ไม่ยอมตาย แต่กลับสามารถงอกร่างกายขึ้นมามีชีวิตใหม่ได้อีกครั้งจากชิ้นส่วนของร่างกายแล้ว อาจารย์อิโต้ก็ยังมีการนำแนวคิดเรื่อง Doppelgänger มาใช้ในการผลิตผลงานอีกหลายครั้ง 

Doppelgänger หรือหลายคนรู้จักกันในชื่อ แฝดปีศาจ หมายถึงปรากฏการณ์ประหลาดที่มีผู้พบเห็นบุคคลที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับเราทุกประการไปปรากฏตัวในต่างสถานที่หรือเวลา ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งก็เป็นเราที่ได้พบเจอกับ ‘ตัวเราในอีกฝาก’ ซะเอง โดยการปรากฏตัวของเหล่าแฝดปีศาจที่ตัวละครในแต่ละเรื่องต้องพบเจอก็ล้วนแล้วแต่มีความผิดปกติจนน่าขนลุก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง The Hanging Balloons (รวมเรื่องสั้นคลังสยองฯ) เรื่องราวของเมืองแห่งหนึ่งที่จู่ ๆ บนท้องฟ้าก็ปรากฏเป็นลูกโป่งที่มีลักษณะคล้ายหัวมนุษย์จำนวนมากลอยอยู่เต็มเมือง ซึ่งเมื่อเรามองใกล้ ๆ ก็จะพบว่ามันเป็นใบหน้าของเราเอง! หรือจะเป็น Scarecrows (รวมเรื่องสั้นคลังสยองฯ) เรื่องราวของเหล่าหุ่นไล่กาที่ค่อย ๆ ฟื้นคืนชีพและมีหน้าตาสมจริงจนดูละม้ายคล้ายคลึงกับใบหน้าของเหล่าผู้วายชนม์ในเมือง

ความรักและความลุ่มหลง

ในหลาย ๆ ครั้ง เรื่องราวความสยองขวัญในผลงานของอาจารย์อิโต้ก็มีที่มาจากความรักที่มากล้นจนเกินพอดีที่ค่อย ๆ กลายเป็นความบ้าคลั่งจนเข้าขั้นวิกลจริต ซึ่งตัวอย่างที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงความรักและความคลั่งไคล้แบบที่ว่าได้ชัดเจนมาก ๆ คือใน The Human Chair เรื่องราวของสตอล์คเกอร์หนุ่มที่หลงใหลในตัวหญิงสาวมากจนถึงขั้นยอมลงทุนขังตัวเองไว้ภายเก้าอี้นวม โดยหวังเพียงแค่จะได้ใกล้ชิดกับเธอมากขึ้นเท่านั้น

ไม่ใช่แค่เรื่องราวความรักแบบหนุ่มสาวเท่านั้นที่ปรากฏเป็นต้นเหตุของความพังพินาศมากมายในผลงานของเขา แต่ความคลั่งไคล้หลงใหล (จนเข้าขั้นเสพติด)ในวัตถุสิ่งของหรือเหตุการณ์บางอย่างก็เป็นอีกหนึ่งในชนวนเหตุสำคัญที่นำมาซึ่งความวุ่นวายในเวลาต่อมา อย่างใน ก้นหอยมรณะ (Uzumaki) ตัวละครพ่อของ ชูอิจิ พระเอกของเรื่องก็เป็นตัวละครแรกในเมืองที่เริ่มแสดงอาการคลั่งไคล้ลายก้นหอยจนเริ่มสะสมข้าวของเครื่องใช้ทุกชิ้นที่มีลายก้นหอยไว้จนล้นบ้าน และในที่สุดก็นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมในถังไม้ยักษ์ที่กลายมาเป็นฝันร้ายของใครหลาย ๆ คนหลังอ่านจบนั่นเอง

สังคมล่มสลายและความน่ากลัวผู้คน

เรื่องราวความน่าขนหัวลุกส่วนใหญ่ในผลงานของอาจารย์อิโต้มักจะเริ่มต้นจากเพียงความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ของชีวิตประจำวันธรรมดา ๆ ในเมืองแสนสงบสุข แต่ก็ลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นจุดสิ้นสุดของทุกสรรพสิ่ง ตั้งแต่การล่มสลายของเมืองเล็ก ๆ ไปจนถึงความพินาศของทั้งจักรวาล

และแน่นอนว่าเมื่อสังคมเกิดความ ‘ฉิบหาย’ ขึ้น ธาตุแท้ในจิตใจของมนุษย์ที่ไร้ซึ่งตรรกะและเหตุผลใด ๆ มาเหนี่ยวรั้งไว้ก็ย่อมถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจน อย่างเหตุการณ์ไล่ล่า เรมิน่า นางเอกของเรื่องที่มีชื่อเดียวกับดาวมรณะใน เรมิน่า ดาวมรณะ (Hellstar Remina) เองก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงภาวะสับสนและกดดันของผู้คนในยามวิกฤต ที่เมื่อนึกอะไรไม่ออกก็ต้องมองหา ‘คนผิด’ มาใช้เป็นเหยื่อบูชายัญไว้ก่อนแม้มันอาจจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง จนทำให้เราแอบสงสัยไม่ได้ว่า สรุปแล้วเป็นดาวมรณะหรือผู้คนกันแน่ที่น่ากลัวมากกว่ากัน

การวิพากษ์สังคมญี่ปุ่น

ถึงจะดำเนินเรื่องโดยอาศัยองค์ประกอบแห่งความน่ากลัวและความขยะแขยงเป็นหลัก แต่ผลงานของอาจารย์อิโต้ก็ไม่ได้มุ่งเน้นนำเสนอแต่เพียงเรื่องราวสยองขวัญชวนหดหู่เท่านั้น ในหลาย ๆ ครั้งเขาได้แอบสอดแทรกประเด็นในสังคมญี่ปุ่นไว้อย่างแนบเนียนจนถ้าหากว่าเราไม่ได้สังเกตก็อาจจะเข้าใจว่ามันเป็นเพียงพล็อตเรื่องปกติธรรมดาที่ไม่ได้มีนัยยะแอบแฝงใด ๆ

แฟน ๆ หลายคนคาดการณ์ว่า เรมิน่า ดาวมรณะ (Hellstar Remina) เป็นเสมือนการเสียดสีวงการไอดอลของประเทศญี่ปุ่นที่คลั่งไคล้บูชาตัวบุคคลจนเกินพอดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีการตักตวงผลประโยชน์จากคนเหล่านี้จนสูญเสียความเป็นส่วนตัว หรือแม้แต่รูที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ใน The Enigma of Amigara Fault (รวมเรื่องสั้นคลังสยองฯ) ก็ถูกตีความว่าน่าจะเป็นการสื่อถึงสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ที่แต่ละธุรกิจต่างก็แข่งกันโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ที่ ‘ทำมาเพื่อคุณเท่านั้น’ รวมไปถึง ปลามรณะ (Gyo) ที่แท้จริงแล้วเป็นการพูดถึงอาชญากรรมสงครามที่ญี่ปุ่นเคยก่อเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นฝูงปลาซอมบี้ติดเครื่องจักรกลที่สื่อถึงการประดิษฐ์อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง หรือแม้แต่กลิ่นสาบศพในเรื่องเองก็อาจสื่อถึงความโหดร้ายในการทดลองมนุษย์ในช่วงนั้นก็เป็นได้

แหล่งข้อมูล:
https://junjiitomanga.fandom.com/wiki/Junji_Ito_Wiki
https://www.cbr.com/recurring-tropes-junji-itos-works/
https://yattatachi.com/tbt-junji-ito