สัมภาษณ์พิเศษ ‘KAWS’, S.K. LAM, และ บรม พิจารณ์จิตร ว่าด้วยพลังของศิลปะสาธารณะในการชักชวนผู้คนออกมาสนุกด้วยกัน

Post on 21 May 2025

นานแค่ไหนแล้ว... ที่เราไม่ได้เอนกายลงบนเปลผ้ากลางสนามหญ้า ปล่อยเวลาให้ไหลไปท่ามกลางแสงแดด กับคนใกล้ชิด และงานศิลปะที่อยู่รายล้อม?

บรรยากาศแบบนี้หวนคืนมาอีกครั้งในนิทรรศการ KAWS:HOLIDAY THAILAND งานศิลปะขนาดใหญ่ใจกลางสนามหลวง พื้นที่ซึ่งเคยเป็นแหล่งพักผ่อนของผู้คน แต่บางครั้งก็ถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา ทว่าครั้งนี้ สนามหลวงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยประติมากรรม COMPANION ขนาดยักษ์ ที่กลายเป็นเหมือนจุดรวมของผู้คนหลากรุ่นหลากวัย เชื่อมโยงกันผ่านความรู้สึกผ่อนคลายและประสบการณ์ร่วม

“ผมชอบแนวคิดที่ว่า สถานที่ที่คุณเคยมาแต่เด็ก วันหนึ่งมันเปลี่ยนไป แม้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แค่ 1–2 สัปดาห์ แต่มันสามารถสร้างความทรงจำที่อยู่ได้นาน ผมหวังว่าผู้คนจะจดจำมันได้ โดยยังเคารพสถานที่นั้น และปล่อยให้มันกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกครั้ง” ไบรอัน ดอนเนลลี หรือ KAWS ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์ KAWS:Holidays อธิบายขึ้นมาในบทสนทนาระหว่างเขากับ GroundControl

“นั่นแหละครับคือเสน่ห์ของงานศิลปะในพื้นที่เปิด มันควบคุมไม่ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ แสง หรือบรรยากาศโดยรอบ สิ่งเหล่านี้เองที่เปลี่ยนประสบการณ์ให้พิเศษและไม่ซ้ำใคร”

KAWS เป็นเจ้าของลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ของ COMPANION ตัวละครหัวกะโหลกที่มีดวงตารูปกากบาท ซึ่งเดินทางไปปรากฏตัวมาแล้วทั่วโลก โปรเจกต์ของเขาไม่เพียงเน้นความงามทางศิลปะ แต่ยังสะท้อนแนวคิดเรื่อง “การพักผ่อน” ในพื้นที่สาธารณะ ย้ำให้ผู้ชมเห็นความสำคัญของการพักผ่อน รวมไปถึงในสนามหลวง

วันนี้ ผู้คนจำนวนมากอาจคุ้นเคยกับ COMPANION กันดีแล้ว เราจึงขอพาไปเจาะลึกเบื้องหลังงานครั้งนี้กับตัวศิลปินเอง ร่วมด้วย บรม พิจารณ์จิตร กรรมการผู้จัดการ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี และ S.K. LAM ผู้ก่อตั้ง AllRightsReserved ผู้จัดโปรเจกต์ระดับโลกนี้

พวกเขาจะมาเล่าถึงเบื้องหลังการชวนผู้คนให้ออกมาพักผ่อนท่ามกลางงานศิลปะสาธารณะในแบบของ KAWS ความหมาย (และความท้าทาย) ของการนำศิลปะร่วมสมัยมาจัดแสดงในพื้นที่ประวัติศาสตร์ระดับชาติอย่างสนามหลวง และแนวคิดที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับ “ศิลปะในพื้นที่สาธารณะ” จากศิลปินที่เข้าใจแก่นแท้ของมันอย่างแท้จริง

GroundControl: เจ้า COMPANION ที่เดินทางไปจัดแสดงในโปรเจกต์ KAWS:HOLIDAY ในแต่ละประเทศก็จะมีท่าทางที่แตกต่างกัน ทำไมเมื่อมาที่เมืองไทยจึงเป็นท่าทางที่ดูสงบ — มีตัวหนึ่งนั่งอยู่บนโลก โอบดวงจันทร์ที่เรืองแสงไว้ และอีกตัวเล็กนั่งอยู่บนตัก?

KAWS: มันอธิบายเป็นเหตุผลชัด ๆ ยากอยู่นะครับ แต่ส่วนใหญ่งานประติมากรรมของผมมักจะพัฒนาต่อเนื่องมาจากงานชิ้นก่อนหน้า เช่นผลงานล่าสุดที่เราทำในเซี่ยงไฮ้ก็เป็นท่านอนและมีดวงจันทร์ขนาดใหญ่มาก ส่วนชิ้นนี้ ผมเริ่มคิดถึงการจับคู่ของตัวเล็กกับตัวใหญ่ และความหมายของการที่พวกเขานั่งอยู่บนโลกพร้อมกับถือดวงจันทร์ สำหรับผม มันเป็นการตอบสนองอย่างเงียบ ๆ ต่อบรรยากาศของโลกขณะนี้

GroundControl: มันให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนกับการดูแลเลย ตั้งใจให้เป็นแบบนั้นไหม?

KAWS: ผมคิดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรุ่น ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก เรื่องการเรียนรู้กันและกัน หรือการส่งต่ออะไรบางอย่างในนี้

GroundControl: งานจัดแสดงมาได้สักพักหนึ่งแล้ว รู้สึกอย่างไรบ้างกับเสียงตอบรับของผู้ชม — ฉันชอบมากเลยที่เราสามารถมาเยี่ยมชมได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งตอนกลางคืนที่ดวงจันทร์เรืองแสง มันให้ความรู้สึกอีกแบบเลย คนก็อยากกลับมาอีกเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่ดูงานศิลปะ แต่ร่วมกิจกรรมรอบ ๆ ด้วย

KAWS: เมื่อเช้านี้ผมแวะไปดูมานิดหน่อย ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้เห็นผู้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับงานแบบนี้ ผมคาดไม่ถึงเลยสักครั้งว่าชุมชนจะตอบรับกับมันอย่างไร ทุกครั้งของผม มันคือความอยากรู้ใหม่จริง ๆ

บรม พิจารณ์จิตร: ผมว่ามันน่าทึ่งมากเลยครับ เหมือนกลายเป็นงานระดับชาติ ผู้คนตื่นเต้นกันจริง ๆ เราได้รับการสนับสนุนจากชุมชน จากภาครัฐ และจากสื่อมาเอง มีคนจากหลากหลายรุ่น หลากหลายพื้นเพ มาเจอกันที่นี่ และผมดีใจมากที่ประเทศไทยได้ COMPANION ถึงสองตัว!

GroundControl: โปรเจกต์นี้เดินทางไปทั่วโลก มองย้อนกลับไป คิดว่ามันยังตรงกับเป้าหมายเดิมที่อยากทำให้งานศิลปะเข้าถึงคนได้มากขึ้นไหม หรือมุมมองต่อศิลปะในที่สาธารณะเปลี่ยนไปหรือเปล่า?

KAWS: เอาจริง ๆ ผมไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนตั้งแต่แรก เราค่อย ๆ ทำงานโปรเจกต์นี้ แล้วมันก็เติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่แน่นอนว่ามันทำให้งานศิลปะเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น—อันนี้ไม่เถียงเลย

ผมไม่ได้ทำงานในลักษณะที่คิดว่า “จะทำแบบนี้ไปอีก 10 ปี” และถึงแม้ผมกับ บรม พิจารณ์จิตร จะทำงานด้วยกันมานาน แต่ KAWS: HOLIDAY เองก็เพิ่งเริ่มมาแค่ 5-6 ปี เราเดินทีละก้าว ทีละสถานที่ แล้วดูว่าอะไรเหมาะ ทุกที่คือความเซอร์ไพรส์ใหม่เสมอ

GroundControl: คุณทำงานกับเจ้า COMPANION มานาน ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเขามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรไหมนับจากเมื่อก่อน

KAWS: ผมคิดว่าเจ้า COMPANION เองไม่มี “ภารกิจ” อะไรของตัวเองตั้งแต่แรกเลยครับ ตอนสร้างมันครั้งแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะทำต่อเนื่องมานานแบบนี้ แต่ตอนนี้มันกลายเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผมในการแสดงออกและสื่อสาร และตราบใดที่มันยังทำงานอย่างนั้นอยู่ ผมก็จะทำต่อไป

GroundControl: ถ้าสมมุติว่าถ้ามีใครสักคนเดินผ่านมาแถวนั้นโดยไม่รู้จัก KAWS มาก่อนเลย คุณอยากให้เขาจดจำอะไรกลับไปดี

KAWS: ผมมักจะคิดไว้เลยว่า คนส่วนใหญ่ที่มาเห็นผลงานนี้ ไม่รู้จักผมมาก่อน ซึ่งนั่นแหละครับ คือส่วนที่ดีที่สุด จุดประสงค์ก็คือการเข้าหาคนกลุ่มใหม่ ๆ ส่วนเขาจะได้รับอะไรกลับไป มันขึ้นอยู่กับเขาเลย แต่ผมหวังแค่ว่า งานจะสามารถเปลี่ยนวันธรรมดา ๆ ของผู้คนให้ดีได้ โดยเฉพาะช่วงหลังโควิดแบบนี้ การได้สัมผัสประสบการณ์ที่จับต้องได้ ไม่ใช่แค่ผ่านหน้าจอ นับเป็นประสบการณ์ที่หายากขึ้นเรื่อย ๆ

บรม พิจารณ์จิตร: สำหรับมุมมองจากประเทศไทย ผมหวังว่างานนี้จะจุดประกายให้ผู้คนอยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ทำอะไรบางอย่างที่มีความหมาย มีความสุข และน่าพูดถึง ผมรู้สึกขอบคุณ KAWS และ S.K. LAM ที่เปิดโอกาสให้เรามีส่วนร่วมในโปรเจกต์ศิลปะสาธาระณะที่ยอดเยี่ยมนี้

S.K. LAM: ทุกครั้งที่เราทำงานแบบนี้ เราไม่เคยรู้ล่วงหน้าเลยว่าจะออกมาเป็นยังไง แต่พอจบงานเสร็จ จะมีคนพูดว่า “โห งานนี้คนเยอะมาก!” แล้วก็ตามมาด้วยคำเชิญใหม่ ๆ ให้ไปจัดอีกที่หนึ่ง นี่คือสิ่งที่ผมเห็นซ้ำ ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

GroundControl: สนามหลวงมีประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้ง คุณคิดว่าบทบาทของภัณฑารักษ์ควรเป็นแบบไหนในการทำงานกับพื้นที่นี้

S.K. LAM: สนามหลวงมีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีทั้งวัด และพระบรมมหาราชวังใกล้กัน งานควรจะเชื่อมโยงกับบริบทในมิติของความหมายด้วย ไม่ใช่แค่พยายาม "ทำให้มันดูเหมาะ" แต่ควรแสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์กับศิลปะร่วมสมัยอยู่ร่วมกันได้ มันคือบทสนทนาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน

GroundControl: ดูเหมือนทุกครั้งที่วาง COMPANION ในแต่ละที่ มันจะกระตุ้นให้เกิดบทสนทนาบางอย่าง คุณตั้งใจให้เป็นแบบนั้นไหม

KAWS: ผมชอบแนวคิดที่ว่า สถานที่ที่คุณเคยมาแต่เด็ก สักวันหนึ่งความรู้สึกของคุณต่อมันอาจเปลี่ยนไปได้ แม้ด้วยเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แค่ 1-2 สัปดาห์ แต่มันสร้างความทรงจำที่อยู่ได้นาน ผมหวังว่าคนจะจำได้ ในขณะเดียวกันก็ยังเคารพสถานที่นั้น แล้วปล่อยให้มันกลับคืนสู่บรรยากาศเดิม

บรม พิจารณ์จิตร: ที่คุณพูดมาก็น่าสนใจครับ KAWS เพราะตั้งแต่เราเปิดงานมา ผมก็ติดตามคอมเมนต์ของผู้คน หลายคนบอกว่ารูปภาพที่เขาถ่ายจากที่นั่นมันพิเศษมาก ไม่เคยมีอะไรแบบนี้หน้าพระบรมมหาราชวังมาก่อน มันมีพลังจริง ๆ

S.K. LAM: ผมขอเสริมว่า ถ้าจำไม่ผิด นี่เป็นครั้งแรกที่มีงานศิลปะแบบนี้จัดขึ้นที่นี่ และมันดีมาก ไม่ใช่แค่สำหรับโปรเจกต์นี้ แต่มันเปิดโอกาสสำหรับโปรเจกต์อื่น ๆ ในอนาคตด้วย ถ้าผู้คนให้ความเคารพและตอบรับดี มันอาจทำให้เกิดอะไรแบบนี้ที่นั่นขึ้นอีก ตอนนี้หลายประเทศอยากให้คนกลับมาใช้พื้นที่สาธารณะกันมากขึ้น การเอาอะไรใหม่ ๆ แบบนี้มาแสดง มันทำให้พื้นที่ดูมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งต่อผู้คนและต่อชุมชน

บรม พิจารณ์จิตร: ย้อนไปตอนเริ่มโปรเจกต์ หน้าที่ของผมคือการหาสถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งไม่ได้ง่ายเลยครับ มันต้องเป็นที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของไทย คนเห็นแล้วรู้ทันทีว่า "นี่คือประเทศไทย" และยังต้องเป็นที่ที่ผู้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับงานได้ด้วย สนามหลวงจึงตอบโจทย์ที่สุด ผมแค่อยากสนับสนุนให้ KAWS และ S.K. LAM เดินหน้า KAWS: HOLIDAY ในไทยต่อ โดยเฉพาะตอนนี้ หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา มันยิ่งสำคัญที่เราจะมีพื้นที่ให้ผู้คนได้มารวมตัวกัน สร้างรอยยิ้ม ผ่อนคลาย

เราเห็นเด็กเล็ก ครอบครัว ไปจนถึงผู้สูงอายุมาเดินเล่น มาถ่ายรูป มานวด มานั่งคาเฟ่ เราก็เลยสร้างพื้นที่แบบอัฒจันทร์ขึ้นมาเพื่อให้คนได้นั่งพัก นั่งชมผลงานกันสบาย ๆ

GroundControl: ดูเหมือนว่าตอนนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของศิลปะอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเรื่องของ “ชุมชน” และ “ความสัมพันธ์ระหว่างกัน” ด้วย

GroundControl: คำถามสุดท้ายสำหรับ KAWS และ S.K. LAM—มีแอบบอกได้ไหมว่า KAWS: HOLIDAY จะไปที่ไหนต่อ?

KAWS: พูดตามตรงเลยครับ—ยังไม่รู้เลย

S.K. LAM: ใช่ครับ คำตอบก็คือ “ยังไม่รู้” (หัวเราะ)

บรม พิจารณ์จิตร: คนเริ่มถามกันแล้วด้วยซ้ำว่า พอจะเอาไปจัดทั่วประเทศไทยได้ไหม! (หัวเราะ)

S.K. LAM: ทำงานแบบนี้มาหลายปี เราได้เรียนรู้อะไรเยอะมากครับ การทำงานเป่าลมขนาดใหญ่แบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และตอนนี้ก็เริ่มมีหลายคนพยายามทำตาม แต่มันมีเรื่องเบื้องหลังเสมอ อย่างตอนที่เราทำโปรเจกต์กับ AP (Audemars Piguet) ที่สวิตเซอร์แลนด์ เราวางงานไว้บนตึก และคนก็รอวันเปิดตัวกันอยู่ แล้วจู่ ๆ เราเห็นว่าหิมะกำลังจะมา ต้องถามกันเลยว่า “จะต้องเก็บงานลงไหม?” แต่ทีมงานเตรียมตัวไว้แล้ว งานเลยยังตั้งอยู่ได้ แล้วเราก็ได้ภาพสวย ๆ ท่ามกลางหิมะ

KAWS: นั่นแหละครับคือเสน่ห์ของงานศิลปะในที่สาธารณะ—มันมีสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ทั้งสภาพอากาศ แสง บรรยากาศ สิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งหมดให้กลายเป็นอะไรที่พิเศษได้เลย

บรม พิจารณ์จิตร: ผมเห็น Companion เคลื่อนไหวไปตามลมเมื่อวันก่อน มันเหมือนมีชีวิตเลยครับ แล้วตอนที่มีสายฟ้าผ่า—ยิ่งน่าทึ่งเข้าไปใหญ่!