มุสลิมในวัด? ระเบิดในวัด? ทหารในวัด?: เกิดอะไรขึ้นที่ปาตานี เมื่องานศิลปะในวัดต้อง “ย้ายออก” เพราะเสียงลือเรื่องประเด็นศาสนา

Art
Post on 20 August

“ศิลปะบางครั้งไม่ใช่ศิลปะบริสุทธิ์ แต่ถ้าแฝงมาด้วยความคิดสกปรกและสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนรัฐปาตานีส้นตรีนอะไรของมันก็ไม่ควรจะแสดงโชว์” “แนวร่วม​โจรใต้ในคราบศิลปิน อ้างศิลปะ​บังหน้า​ มีจุดประสงค์​ซ่อนเร้น ดีที่ไม่หลงกลโจร​มากไป​กว่า​นี้​”

เหล่านี้คือถ้อยคำโจมตีในโลกอินเทอร์เน็ตที่มีต่อประกาศยกเลิกสถานที่จัดงานเทศกาลศิลปะนานาชาติปาตานี ‘Kenduri Seni Patani’ ที่จัดแสดงในวัดหลักเมือง จังหวัดปัตตานี หลังจากจัดแสดงศิลปะอยู่ในวัดได้เพียงไม่กี่วัน ก่อนที่ “กลุ่มคนผู้ไม่หวังดี และมีทัศนคติในเชิงลบ ได้มีการยุยงปลุกปั่น ให้ข้อมูลในแง่ลบกับประชาชนที่อาศัยอยู่รอบวัด และพุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญที่วัด โดยกล่าวหาว่างานศิลปะ กลุ่มศิลปิน และเทศกาลที่จัดขึ้น เป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” ซึ่งเรื่องลุกลามใหญ่โตถึงขั้นจะขับไล่เจ้าอาวาสออกจากวัด

เทศกาล ‘Kenduri Seni Patani’ เริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และจะโชว์ไปจนถึงสิ้นปีนี้ (31 ธันวาคม 2567) จัดโดยปาตานีอาร์ตสเปช (Patani Artspace) และมี อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล เป็นภัณฑารักษ์ของงาน ซึ่งแค่เห็นชื่อ ‘ปาตานี / Patani’ ก็มี (คนที่ไม่ค่อยเข้าใจ) หลายคนมีคำถามว่า ทีมศิลปินและผู้จัดงานนี้มีที่มาอย่างไร? อุดมการณ์ของงานนี้เป็นแบบไหน? และต้องการจะทำอะไรกันแน่? แต่ในขณะเดียวกันคนอีกจำนวนมากก็แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ของเสรีภาพในการแสดงงานศิลปะในสังคมไทย ที่ดูเหมือนจะยังท่าทีที่ไม่ปลอดภัย สะท้อนบรรยากาศความขัดแย้งในสังคมระดับที่ใหญ่กว่านั้น

GroundControl ต่อสายหาอนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ภัณฑารักษ์ของงาน และ ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี ผู้ก่อตั้ง Patani Artspace เพื่อทำความเข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังใด ๆ ในฐานะที่เขาเป็นทั้งภัณฑารักษ์ที่รับภารกิจการทำให้งานศิลปะกับผู้คนในชุมชนมาเจอกัน และในฐานะที่เขาเองก็เป็นชาวพุทธผู้ใช้ชีวิตอยู่ในปัตตานี พื้นที่ที่ความขัดแย้งยังคงล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศแบบเงียบ ๆ แต่ว่าชาวบ้านในพื้นที่คิดเห็นต่อเรื่องนี้กันอย่างไร? เจ้าอาวาสคิดอย่างไร? ผู้มีอำนาจทางการเมืองคิดกันอย่างไร? ศิลปินคิดอย่างไร? ตัวเขาเองคิดอย่างไร? และสถานการณ์จริงเป็นอย่างไรกันแน่? เราอยากชวนทุกคนมาหาคำตอบด้วยกัน แล้วรอติดตามรายงานจากพื้นที่ของเราได้เร็ว ๆ นี้

ภาพจาก Kenduri Seni Patani

ภาพจาก Kenduri Seni Patani

ทำไมคนมุสลิมถึงมากวาดลานวัด? พื้นที่ของคนพุทธกับปฏิบัติการ(ทางศิลปะ)ที่(เข้าใจกัน)ว่าเป็นของคนมุสลิม

“ชาวบ้านเขาสงสัยว่าทำไมมีมุสลิมมาอยู่ในวัด ซึ่งจริง ๆ คือนักศึกษาที่เรียนศิลปะกับผมเองส่วนใหญ่ มาเป็นทีมงานกัน พอชาวบ้านก็ตั้งคำถามกับพระว่าคนเหล่านี้เป็นใคร เจ้าอาวาสก็พยายามอธิบายวัตถุประสงค์ของงานไป” อนุวัฒน์เล่า

“แต่หลังจากติดตั้งงานเสร็จแล้วเปิดให้ชม เจ้าอาวาสก็โทรมาบอกผมว่ามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรู้สึกไม่โอเคกับงานที่จัดแสดง ผมก็ถามว่าเพราะเนื้อหาของงานหรืออะไร แต่ปรากฏว่ามีหลายประเด็นมาก เช่นที่ว่าพวก Patani Artspace เป็น “สีส้ม” ฝักใฝ่การเมือง ซึ่งคำว่าปาตานีในชื่องานมันก็ทำให้ฝ่ายความมั่นคงไทยไม่สบายใจ เพราะมันย้อนไปถึงดินแดนอาณาจักรเก่าก่อน ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส (จังหวัดชายแดนใต้) เขาก็มองว่าเราจะมาเรียกร้อง มายึดพื้นที่ปาตานีคืน แล้วก็โยงไปการเมืองอีก มีว่าลบหลู่ศาสนาบ้าง อะไรบ้าง จนมันรุนแรงถึงขั้นจะทำร้ายกัน”

“จริง ๆ แล้วผมเองที่เป็นภัณฑารักษ์ก็เป็นคนไทยพุทธ ศิลปินในงานจำนวนมากก็เป็นคนไทยพุทธ งานศิลปะที่แสดงก็ได้แรงบันดาลใจมาจากพุทธศาสนาก็มี หรือบางคนก็พูดถึงเรื่องสัจธรรม เรื่องปรัชญาเซน หรือเรื่องส่วนตัว แม้กระทั่งงานที่พูดกันว่าเหมือนระเบิดปรมาณูบนเมรุ ก็พูดถึงสันติภาพ ต่อต้านความรุนแรง อย่างงานที่เป็นรถถังก็พูดถึงวงจรของความรุนแรงที่ไม่มีใครต้องการ แต่มันกลับถูกตีความไปเองโดยผู้มีอิทธิพลที่เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน

ที่จริงเราใช้คำว่าปาตานี (Patani) เพื่อสื่อว่าศิลปินในกลุ่มของเราไม่ได้มาจากแค่จังหวัดปัตตานีอย่างเดียว แต่รวมศิลปินในจังหวัดยะลาและนราธิวาสด้วย เราเลยใช้คำนี้เพื่อบ่งบอกถึงพื้นที่ชายแดนใต้ทั้งหมด ทีนี้พอป้ายปาตานีมาติดหน้าประตูวัดบ้าง หน้าด่านตรวจบ้าง ก็เลยเกิดความเข้าใจผิดขึ้น แล้วทหารตำรวจที่อยู่บริเวณนั้นเขาก็มองว่าเราจะมาเรียกร้อง มายึดพื้นที่ปัตตานี เป็นประเด็นการเมืองไป”

อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล และทีมติดตั้งผลงาน ภาพจาก Kenduri Seni Patani

อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล และทีมติดตั้งผลงาน ภาพจาก Kenduri Seni Patani

ทำไมทหารถึง (ยัง) อยู่ในวัด?

ในแง่การใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปในปัตตานีอนุวัฒน์บอกว่า “จริง ๆ ผมเข้าไปวัดนั้นบ่อยเพราะมันอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก่อนหน้านี้ผมไม่ค่อยเข้าไปเยอะเพราะมีทหารเข้ามาตั้งกองกำลังอยู่ในพื้นที่เลยตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว เขาจะคอยถามว่าจะไปไหน มาทำอะไร ทั้งที่เราแค่อยากไปวัด

“คือทุกวัดในสามจังหวัดฯ จะมีทหารมาคอยตรวจ แต่ว่ามัสยิดไม่มีกองกำลังอะไรทั้งสิ้น มันเลยกลายเป็นภาพให้คนคิดว่างั้นมุสลิมก็เป็นผู้ร้ายสิ ทหารเลยต้องมาคุ้มครองพระ

“ทีนี้พอกองกำลังถอนตัวออกไป บรรยากาศมันก็ผ่อนคลายขึ้น แต่ก็ยังมีทหาร ตำรวจ อส. (กองอาสารักษาดินแดน) อยู่ เราก็เข้าไปทำบุญบ้าง ไปคุยกับเจ้าอาวาสบ้าง เพราะโบสถ์จริง ๆ ก็ยังไม่ได้ฝังลูกนิมิต เลยใช้งานไม่ได้ เมรุก็ไม่ใช้ ไม่มีการเผาศพที่นั่น ศาลาข้างเมรุก็เลยไม่ได้ใช้ไปด้วย หรือศาลาการเปรียญที่ใหญ่มาก ๆ ก็ปล่อยว่าง เพราะคนไม่มา เราก็เลยคิดว่างานศิลปะอาจจะเข้ามาทำงานตรงนี้ได้

“งานนี้หลายที่ก็เป็นที่รกร้าง เราอยากใช้ศิลปะเข้าไปเปลี่ยน เช่นที่โรงเรียนราษฎรประชานุเคราะห์ เราก็เข้าไปเก็บกวาดขัดถูใหม่ เพื่อจัดแสดงงาน หรืออย่างสถานสงเคราะห์เด็กปัตตานี เราก็ใช้อาคารที่เป็นเรือนนอนเก่า ซึ่งมีรอยแตกรอยร้าวเราก็เข้าไปทำความสะอาดเพื่อจะใช้ประโยชน์”

ภาพจาก Kenduri Seni Patani

ภาพจาก Kenduri Seni Patani

ภาพจาก Kenduri Seni Patani

ภาพจาก Kenduri Seni Patani

เบื้องหลังของเทศกาลศิลปะ “ปาตานี” ?

ในเทศกาลศิลปะครั้งนี้ อนุวัฒน์รวบรวมงานจากศิลปินหลากหลายที่มาภายใต้คอนเซปต์เดียวกัน ซึ่งก็สัมพันธ์กับสถานที่ที่เขาเลือกจัดแสดงด้วย “สำหรับแนวคิด ‘Before Birth and Beyond Death : ก่อนอุบัติ และหลังสลาย’ เราพูดถึงเรื่องโลกหลังความตาย โดยไม่ได้พูดถึงมิติปรัชญาอิสลามแค่อย่างเดียว เพราะเรื่องโลกหลังความตายหรือวิญญาณของมนุษย์ที่มีอยู่ก่อนเรามาเกิดในร่างกายนี้ กับวิญญาณที่มีอยู่หลังเราตาย ก็เป็นเรื่องที่พบในหลายศาสนา รวมถึงศาสนาพุทธด้วย เพราะผสมเองก็เป็นคนไทยพุทธ

คำว่าก่อนอุบัติและหลังสลายมันก็สะท้อนไปให้เห็นอีกหลายมิติ เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญมาก ๆ ตอนนี้ เพราะมันส่งผลกระทบต่อเราในเวลาอันใกล้ แต่อย่างในศาสนาอิสลามก็จะมีเรื่องเรื่องโลกดุนยา (“โลกชั่วคราว” ที่เราใช้ชีวิตกันอยู่นี้) กับ โลกอาคิเราะฮ์ (“โลกนิรันดร” หลังความตายที่เราจะได้ไปพบพระเจ้า) คือก่อนที่เราจะไปพบโลกหลังความตาย (ไม่ว่าจะไปพบพระเจ้า ไปสวรรค์ หรือไปนิพพานอะไร) เราก็ต้องคิดถึงชีวิตในโลกนี้ื ว่าจะทิ้งโลกแบบไหนไว้ให้คนข้างหลังอยู่ เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยให้มันพังไหม หรือก่อนที่จะมีมนุษย์เกิดขึ้นโลกนี้มันเคยเป็นอย่างไรบ้าง แล้วพอมีมนุษย์ มันเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ยกตัวอย่างชัด ๆ เลยคือเรื่องขยะ มนุษย์คนหนึ่งตายไปแล้วเราอาจจะยังทิ้งขยะไว้บนโลกใบนี้อยู่ เราตายไปแล้วเสื้อผ้า ข้าวของ เราจะไปอยู่ไหน? ภาพรวมของงานนี้เลยเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมีเรื่องอื่น ๆ นอกจากขยะในทางวัตถุ ก็มีขยะทางความคิด ทางสังคม เช่นสงคราม ความขัดแย้ง การเมือง ฯลฯ ที่หลงเหลือต่อไปอีกหลังจากมนุษย์คนหนึ่งตาย เช่นฮิตเลอร์ หรือ เหมา เจ๋อ ตุง ตาย แล้วยังทิ้งอะไรไว้ให้โลกอีกบ้าง

ถ้าคนทันมาดูจะเห็นว่างานแต่ละงานมันมีความเชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่มาก ๆ ในการเลือกแต่ละพื้นที่มันมีเนื้อหาที่สอดรับกันอยู่ มันผ่านกระบวนการเลือกงาน การคุยกับศิลปินที่มาติดตั้ง ในสถานที่จัดแสดงทั้งหมด (เดิมที) จะมี 9 พื้นที่ เช่นที่โรงเรียนประชานุเคราะห์ก็จะเป็นงานศิลปะเชิงศึกษาวิจัย รวมไปถึงที่เกี่ยวกับการศึกษาในโรงเรียนด้วย โดยศิลปินที่มาแสดงก็มาจากหลากหลายภูมิภาคทั่วไทย ทั้งศิลปินเหนือ ศิลปินอีสาน ศิลปินจากภาคใต้ รวมไปถึงศิลปินจากต่างประเทศเช่นจากสปป. ลาว หรือมาเลเซีย

หลายคนมาเจอก็สนิทกันเลย เพราะมีอุดมการณ์ร่วมกัน ศิลปินโดยส่วนใหญ่ที่มาจะไม่ใช่คนที่ทำงานศิลปะแบบเน้นการขาย แต่ค่อนข้างจะอยู่ในโลกร่วมสมัย คือมีลักษณะต่อต้านกระแสทุนนิยม ต่อต้านการเก็บสะสมงานศิลปะโดยใครคนใดคนหนึ่งและสนับสนุนการนำศิลปะเข้าไปหาชุมชน ให้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงทัศนคติ ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นมนุษย์ มากกว่าจะเอาเรื่องรายได้เป็นตัวตั้ง” อนุวัฒน์เล่า

ซึ่งผศ.เจะอับดุลเลาะก็เล่าถึงศิลปินที่เข้าร่วมว่า “สองสามวันมานี้เวลาไปส่งศิลปินกลับบ้านเขา ผมน้ำตาไหลตลอดเลย แล้วก็ทำเขาร้องไห้ไปด้วย (หัวเราะ) บอกให้ดูแลตัวเองกันด้วย ดูแลสุขภาพด้วย เพราะเราเป็นเพื่อนร่วมทางกัน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเราเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว เหมือนครอบครัวศิลปะเอเชียในโลกใหญ่ ๆ ใบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขมาก ๆ งานที่แสดงที่วัดหลักชาวบ้านก็สนใจ เจ้าอาวาสก็ประทับใจ เชื่อมความสัมพันธ์กัน”

ภาพจาก Kenduri Seni Patani

ภาพจาก Kenduri Seni Patani

“ประนีประนอมก็ได้ แข็งแกร่งก็ได้ เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคม”

ในคืนเกิดเหตุ อนุวัฒน์เล่าว่า “เข้าใจว่ามีผู้มีอิทธิพลเข้าไปให้ข้อมูลกับชาวบ้าน แบบป้ายสีว่าพวกศิลปินเป็นอะไร จนชาวบ้านไม่พอใจ แล้วก็ไปกดดันเจ้าอาวาส จนแกโทรมาหาผมว่าเอาออกเลยได้ไหม ผมก็ไปที่วัดคืนนั้นเลย ไปเอาออกให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้เจ้าอาวาสมีปัญหา แล้ววันรุ่งขึ้นก็ไปชี้แจงกับชาวบ้าน พร้อมกันกับศิลปินที่มีทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งคนไทยพุทธไทยมุสลิม เราก็ไปอธิบายถึงความตั้งใจของเรา เรื่องผลกระทบเชิงบวกจากงาน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทั้งเรื่องที่จะทำให้คนมองปัตตานีมุมใหม่ แล้วพออธิบายไปชาวบ้านก็บอกว่าข้อมูลที่เขาได้รับมาจากชาวบ้านคนอื่นหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในพื้นที่ มันเป็นคนละเรื่องเลยกับที่เราพูดเลย”

“คุย ๆ ไปก็มีชาวบ้านบางส่วนมาขอโทษ บอกว่าอายมาก ไม่รู้เลยว่ามันจะเกิดอะไรแบบนี้ขึ้น เพราะโดยส่วนใหญ่ก็ฟังคนอื่นยุยงมาโดยที่ยังไม่ได้เห็นตัวงานเลย แล้วก็มีบางคนขอให้จัดใหม่ด้วยซ้ำ คิดว่ามันดีมาก หรือมีชาวบ้านอีกส่วนที่มาทำบุญประจำที่วัดก็บอกว่าไม่รู้เรื่องเลย ยังไม่ทันจะเห็นอะไรเลย บอกว่าเขาก็อยากดูงานเหมือนกัน”

“เบื้องหลังกับเบื้องหน้า เป็นคนละเรื่องกันเลย ที่ประชุมกันกับที่ชาวบ้านรับข้อมูลมา เลยกลายเป็นว่างานที่อยากนำไปสู่สันติภาพ กลับถูกโยงไปทางการเมือง ผมเศร้าแล้วก็เสียใจมาก ๆ ทั้งที่เราตั้งใจที่จะใช้ศิลปะเชื่อมโยงผู้คน แต่กลับมีคนมาทำลายความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับผู้คน” ผศ.เจะอับดุลเลาะเล่า

“ที่ผมพามุสลิมเข้าไปในวัดเพื่อจะได้มีการแลกเปลี่ยนกัน ได้พบเจอกัน ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ในพื้นที่ของตัวเองไม่ออกไปหาใคร แล้วปฏิสัมพันธ์ของความเป็นเพื่อนพี่น้องตั้งแต่อดีตมันก็จะหายไป เกิดเป็นกำแพงที่มันใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ การสร้างสันติภาพมันก็ยากขึ้น ผมก็ยังไม่อยากลดละเลิกในการใช้ศิลปะสร้างความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน

ดูอย่างงานที่สถานสงเคราะห์เด็กที่เราเอางานศิลปะเข้าไป พอมีผู้ใหญ่มาเห็นเขาก็อนุมัติให้ทำตึกตรงนั้นใหม่ให้เป็นห้องจัดแสดงผลงานเพื่อใช้โชว์งานของเด็ก ๆ แล้วก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ของเด็ก ๆ ไปเลย อันนี้มันแสดงให้เห็นว่าศิลปะยังสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติคนได้ด้วยและเปลี่ยนแปลงสถานที่ได้ด้วย แล้วจริง ๆ ชาวบ้านหลาย ๆ คนก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน จะมีเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่มีทัศนคติแง่ร้ายต่อสิ่งที่เราทำ แล้วทำให้บรรยากาศมันตึงเครียดกว่าเดิม

พอไปคุยกับชาวบ้านจริง ๆ แล้วพบว่าปัญหาไม่ใช่ว่าเขาไม่เข้าใจ เขาแค่ไม่มีโอกาสมาทำความรู้จักมากกว่า คือเขามีทัศนคติที่สามารถเปลี่ยนได้ มีความรู้ที่สามารถเพิ่มพูนได้ เพียงแต่ถ้าไม่ได้ฟังหรือมาดูมาเห็นเขาก็ไม่เข้าใจ พอเราไปพูดคุยเขาก็รับได้ เข้าใจได้ แสดงว่าปัญหามันคือการสื่อสาร เราก็ต้องทำงานหนักกว่านี้ จัดงานอีก แล้วหาทางเข้าถึงทุกคนเรื่อย ๆ เพื่อทำให้ทุกคนชินกับงานศิลปะ

การเอางานศิลปะไปอยู่ในวัดเลย แล้วมันเป็นงานที่ไม่ได้สวย ๆ งาม ๆ แบบพุทธศิลป์ คนก็อาจจะตกใจ ผมคิดว่าวิธีแก้ปัญหาก็คือทำอีก (ยิ้ม) เพื่อให้ความไม่ตกใจมันกลายเป็นความเข้าใจ ให้ทุกคนเข้าหางานศิลปะได้มากขึ้น แล้วศิลปะก็เป็นหนึ่งเดียวกันกับสังคมมากขึ้น คนเห็นงานไปเรื่อย ๆ เขาก็อาจจะเกิดคำถามขึ้นมา คนเดินมาเจองานครั้งแรกก็อาจจะงงว่านี่มันคืออะไรห้องเก็บของหรอ? แต่มาครั้งที่สองเขาอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่านี่มันเป็นศิลปะหรอ? ครั้งต่อ ๆ ไปสิ่งที่เขาสงสัยมันก็อาจจะเปลี่ยนไปอีก สงสัยว่าศิลปินเขาคิดอะไรอยู่หรอถึงทำงานแบบนี้? แล้วต่อ ๆ ไปเขาก็จะถามคำถามที่มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ อีกได้

เราสามารถทำงานศิลปะแบบประนีประนอมก็ได้ อ่อนโยนได้ หรือแข็งแกร่งก็ได้ด้วย เพื่อให้ศิลปะอยู่กับชุมชนได้ ถ้าอ่อนโยนอย่างเดียวเลยศิลปะนั้นก็คงไม่สร้างพลังอะไรทั้งสิ้น ถ้าเราแข็งไปศิลปะนั้นก็จะแปลกแยกจากสังคม”