พอโรงหนังเปิดไฟ เราก็หันไปมองผู้ชมรอบ ๆ ที่นั่งอยู่ในโรง ‘หลานม่า’ รอบเดียวกับเรา เพื่อจะพบว่า พวกเขากำลังเช็ดน้ำตากันเป็นแถบ ก่อนที่จะกลับมาพบอีกครั้งว่าเราเองก็แอบขอบตารื้นอยู่เหมือนกัน…
‘หลานม่า’ เป็นหนังที่เริ่มจากปมเรียบง่ายว่าด้วย “เวลา” ของหลาน และ “เงิน” ของอาม่า ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ก็มาบรรจบ เมื่อดีมานด์และซัพพลายตรงกัน หลานก็ต้องการเงินของอาม่า ส่วนอาม่าก็ (อาจจะ) ต้องการเวลาของหลาน
หนังเริ่มต้นขึ้นในวันเชงเม้งที่ อาม่า (แต๋ว — อุษา เสมคำ) ล้มลงจนต้องเข้าโรงพยาบาล ก่อนจะพบว่าอาม่าเป็นมะเร็งอยู่ ในขณะที่ตัวละครของ เอ็ม (บิวกิ้น — พุฒิพงศ์) ถูกแนะนำให้ผู้ชมรู้จักผ่านบุคลิกคลาสสิกในละครคุณธรรม นั่นก็คือการเป็นวัยรุ่นติดมือถือผู้ไม่เคยสนใจไยดีอาม่าผู้อยู่เพียงลำพัง
แต่นั่นล่ะคือจุดเริ่มต้นเส้นทางการเรียนรู้ของเอ็มผู้มุ่งมั่นจะไปดูแลอาม่า เพราะมองเป็น “งานสบายรายได้ดี” ก่อนที่จะได้เรียนรู้ในภายหลังว่าอะไรมีค่ามากกว่าเงิน ซึ่งแม้จะฟังเหมือนละครคุณธรรมอยู่ดี แต่นี่ก็เป็นหนึ่งในหนังที่จะมาทำให้เราวางมือถือลงได้จริง ๆ เพราะมันระดมศิลปะแห่งภาพยนตร์มาพยายามตีความคำง่าย ๆ แต่ล่องลอยนามธรรมสุด ๆ อย่าง ‘เวลา’ และแสดงให้เห็นว่า เราจะหยิบสิ่งที่จับต้องไม่ได้นี้มาทำให้ ‘จับต้องได้’ ได้อย่างไร
เราเป็นลูกหลานคนจีนที่ไม่รู้ภาษาจีนมาก่อนเหมือนกับเอ็ม ทุกครั้งที่ ’ม่าพูดอะไรเราต้องคอยอ่านซับภาษาอังกฤษ ซึ่งก็แปลบ้างไม่แปลบ้างจนทำให้หงุดหงิด (ตัวเอง) แต่ก็เหมือนกับที่หลายคนบอกไว้ ว่าเราจะรู้ว่าเราเข้าใจภาษาได้จริง ๆ ก็ตอนที่เราคิดเป็นภาษานั้นเลย โดยที่ไม่ต้องคิดเป็นภาษาไทยก่อนแล้วค่อยแปล (หรือแปลเป็นภาษาไทยก่อน) เพราะหลาย ๆ ครั้งคำคำหนึ่งก็บรรจุความหมายที่ผู้ใช้ภาษานั้น “รู้กันเอง” ทำให้เราแปลยังไงก็แปลไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นั่นยิ่งทำให้เราเข้าใจความงามของภาษาที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมาผ่านเวลาที่คนสองคนหยอกล้อ หัวเราะ หรือด่ากันไปมา จนท้ายเรื่องเราเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งของคำคำหนึ่งได้โดยไม่ต้องแปล
เช่นเดียวกับ “กลิ่นคนแก่” ที่เอ็มสัมผัสได้ทันทีเมื่อตอนต้นเรื่อง ซึ่งต้องใช้เวลาเท่านั้น มันถึงจางหายไปจากการรับรู้ของเอ็ม และก็เช่นเดียวกันกับเสียงรถไฟที่คำรามลั่นยังไงก็คงไม่แสบหูถ้าเราอยู่กับมันทุกวัน จนกระทั่งมันกลายเป็นสัญญาณที่สื่อไปถึงความหมายและความทรงจำ ของคนสองคนที่มีร่วมกัน
พอหนังจบ โรงเปิดไฟ เราสังเกตใบหน้าน้ำตารื้นของทุก ๆ คนที่ตกอยู่ในมนต์ของเวลาในโรงภาพยนตร์นี้ร่วมกับเรา เพียงเพื่อจะพบว่าเราก็คงซึมแบบเดียวกับทุกคนไม่ต่างกัน เพราะเมื่อเดินออกจากโรงกลับไปสู่สังคมที่เงินซื้อเวลาไม่ได้แต่เวลาซื้อเงินได้แห่งนี้ ภาพทั้งหมดในหนังก็คงยังหลอกหลอนตามมาตั้งคำถาม ว่าสวัสดิการผู้สูงอายุที่ดีกว่านี้จะเป็นไปได้ไหม คนทำงานจะมีเวลาไปอยู่กับครอบครัวกี่โมง โลกที่เด็ก ๆ จะได้เติบโตตามความฝันและครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันยังเป็นไปได้อยู่ไหม หรือความเปลี่ยนแปลงเดียวที่เราหวังได้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเองเท่านั้นอย่างที่ใคร ๆ ก็พร่ำสอนกัน?
‘หลานม่า’ ภาพยนตร์โดย พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ เข้าฉาย 4 เมษายนนี้ ในโรงภาพยนตร์