การเต้นคือการแสดงออก คือการสื่อสารระหว่างผู้คนในชุมชนเดียวกัน ไม่ว่าชุมชนนั้นจะเป็นกลุ่มมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ ชาวเควียร์ในยุค 80s หรือแรงงานในวงการศิลปะแห่งมหานครที่กำลังพัฒนา ถ้าพูดถึงดนตรีเต้นรำแห่งยุคสมัย หลายคนคงนึกภาพเป็นงานอีดีเอ็ม (EDM : Electronic dance music) ใหญ่ ๆ แสงสีเสียงตื๊ด ๆ เละ ๆ ชุ่มเหงื่อชุ่มน้ำอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด แต่นอกจากนี้ยังมีอีกโลกคู่ขนานของชาว ‘อันเดอร์กราวด์’ ที่วัฒนธรรมของดนตรีเต้นรำ เป็นส่วนเดียวกันกับวัฒนธรรมย่อย ของกลุ่มคนที่สังคมอาจจะยังไม่ได้ยินเสียงของพวกเขาเพียงพอ
ปลายเดือนหน้านี้ เทศกาลดนตรีมหรสพ Maho Rasop จะกลับมาอีกครั้ง กับไลน์อัปที่คาดหวังได้ว่าจะมีโชว์ดี ๆ มาเซอร์ไพรส์แน่นอน แต่สำหรับเราเมื่อปีก่อน เซอร์ไพรส์ของเราคือเวที ‘Sawan Club’ คลับสำหรับดนตรีอันเดอร์กราวด์ ที่ฝรั่งเต้นเพลงเรกเก้ - ดั๊บคู่กับคนไทย และแรปเปอร์เชื้อสายไทยได้กลับมาโชว์ในบ้านเกิดของตัวเองครั้งแรก หลังไปสร้างตำนานมาแล้วกับแก๊งฮิปฮอประดับโลก
คลับไม่ลับนี้กระจายเสียงจังหวะดนตรีแน่น ๆ สะกดให้เดินเข้าไปหา ทั้ง ๆ ที่ลำโพงพลังสูงทั้งหมดนั้นหันหน้าล้อมทุกคนด้านในอยู่ และพลังอีกอย่างของเสียงดนตรีเหล่านั้นคือการปลดปล่อยพวกเราทุกคนให้แสดงออกตัวตนมาได้อย่างแท้จริง
ไม่นานมานี้เราได้คุยกับทีมผู้จัดมหรสพเกี่ยวกับความนิยามในการสร้างเทศกาลของพวกเขา ว่าเป็นปาร์ตี้รูปแบบหนึ่ง เป็นพื้นที่ที่โอบรับความแตกต่างทางรสนิยมไม่ว่าจะรูปแบบใดเข้ามา ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เรานึกถึงบรรยากาศทั้งหมดที่เกิดขึ้น ภายในเสียงเพลงอันเดอร์กราวด์
วันนี้ GroundControl เลยอยากลองมาสำรวจความ ‘ใต้ดิน’ ของแวดวงแห่งการปาร์ตี้ที่เริ่มต้นจากโลกใต้ดินนี้ สำรวจแนวทางการแสดงออกทางสไตล์ ที่ไม่ได้มีแค่สไตล์ แต่ยังแฝงไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกลุ่ม ที่ทำให้เราหลงใหลวัฒนธรรมแนวนี้ยิ่งขึ้นไปอีก
ลองมาสำรวจโลกใบนี้ไปด้วยกัน แล้วถ้าใครมีประสบการณ์อย่างไรก็ลองมาแชร์กันได้ และมาเจอกันที่เทศกาล Maho Rasop 2024 วันที่ 23 - 24 พฤศจิกายน 2567 ที่ ESC Park ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.mahorasop.com
เสียงจากโลกใต้ดิน ให้สังคมได้ยินว่าเรามีตัวตนอยู่
ถ้าคืนนี้อยากเต้น เราควรไปที่ไหน? คำตอบของคนรุ่นคุณตาคุณยายอาจจะเป็นที่ชมรมลีลาศแบบคุณหญิงคุณนาย ซึ่งอาจจะดูห่างไกลยิ่งกว่า ถ้าเทียบกับดิสโก้เธคของคนรุ่นพ่อแม่เราแบบในหนังคลาสสิก Saturday Night Fever ซึ่งเต็มไปด้วยแสงสี ผู้คนต่างเชื้อชาติ แฟชั่นสุดจัดจ้าน เซ็กซ์ และยาเสพติด อยู่บนฟลอร์เต้นรำ ฟังดูคล้าย ๆ สิ่งที่จะซ่อนอยู่ตามซอกซอยกรุงเทพฯ หรือเบอร์ลินอยู่เหมือนกันไหม?
วัฒนธรรมการไปคลับ (clubbing) คือสิ่งที่แทบจะทับซ้อนกันอย่างพอดีกับวัฒนธรรมย่อยของผู้คนชายขอบสังคมกลุ่มต่าง ๆ คนดำ เควียร์ วัยรุ่นชนชั้นแรงงาน sinvใครก็ตามที่สังคมกระแสหลักไม่มีพื้นที่สำหรับพวกเขา เราออกมาเต้น เพื่อแสดงออกถึงการมีอยู่ของเรา เราเต้นเพื่อปลดปล่อยความหนักหน่วงจากวิถีชีวิตของพวกเรา จากเสียงกลองของดนตรีพื้นเมืองในทวีปอเมริกาใต้ รถแห่สามช่ารีมิกซ์ มาจนถึงวัฒนธรรมคลับจากยุคดิสโก้ที่เต็มไปด้วยสัญญะแห่งการปลดปล่อย และส่งต่อไปยังวัฒนธรรมใต้ดินรุ่นถัด ๆ มา ผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีดนตรีสมัยใหม่ แต่ยังคงรากแห่งการแสดงออกไว้เหมือนเดิม
ก่อนจะมาถึงยุคทองของดนตรีเฮาส์ (House) ที่ชาวเควียร์ผูกพัน จังหวะย่ำกลองเสียงต่ำแน่น ๆ คงที่ที่เป็นเอกลักษณ์ของมันมีรากมาจากจังหวะย่ำกลองแบบดิสโก้ซึ่งเป็น ‘บ้าน’ ของชาวหลากหลายทางเพศเหมือนกัน ลองฟังเพลงอย่าง Needin' U โดย David Morales แล้วนึกภาพชาวเฮาส์ยุคนั้นเต้นย่อตัวสไตล์ ‘Jacking’ สมัยนั้นดู
ดนตรีอิเลคทรอนิกส์ที่มีจังหวะซับซ้อนแบบอังกฤษหรือ UK Garage (UKG) ก็ได้อิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากดนตรีดับ (dub) ของชาวจาไมกัน กับเพลงอย่าง Original Nuttah โดย UK Apache & Shy FX ที่มีเสียงร้องแบบจาไมกันกับจังหวะกลองแบบ ‘breakbeat’ ในนั้นผสมอยู่ด้วยกันชัดเจน
หรือดนตรีฮิปฮอปที่ก้าวขึ้นสู่กระแสหลักของโลกก็มีที่มาจากดนตรีแจ๊ส ซึ่งเต็มไปด้วยความทรงจำทางวัฒนธรรมของคนดำในสหรัฐอเมริกา กับศิลปินอย่าง Madlib และ MF DOOM ที่ทำให้แจ๊สเพิ่มดีกรีความแสบกว่าเดิม
และยังคงมีแนวย่อยของดนตรีเต้นรำอีกมากที่ไล่มาไม่หมด แต่ต่างก็ล้วนผูกพันอยู่กับการแสดงออกของกลุ่มคนที่หลากหลาย ตามแต่วิถีชีวิตของพวกเขา
“ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มันเกิดได้ด้วยแค่การไปอัดเสียงจากที่อื่นมาเป็นแซมเปิล แล้วก็มาตัดแปะกันออกมาเป็นเพลงได้ มันแทบไม่ต้องใช้ต้นทุนเหมือนการหาเครื่องดนตรีหรือหาห้องซ้อมมาทำวง รากของมันเลยเป็นความใต้ดิน (underground) คือการทำเอง (DIY) เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ถึงไม่มีต้นทุนมากก็อาจจะทำได้” แป๋ง - พิมพ์พร เมธชนัน หนึ่งในทีมผู้จัด Maho Rasop Festival เล่าถึงไอเดียเบื้องหลัง Sawan Club เวทีดนตรีเต้นรำอันเดอร์กราวด์กับฉายา ‘สรวงสวรรค์ของเรฟ’
“สิ่งที่น่าสนใจมากของซีนอันเดอร์กราวด์คือเราอาจไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามันมีมาตลอด ในช่วงเวลาที่ยาวนานขนาดนั้น เหมือนเรารู้จักวงร็อคมากมายตั้งแต่สมัย 60 - 90 แต่ดนตรีอันเดอร์กราวด์มันมีประวัติศาสตร์ใหม่ ๆ ให้เราทำความรู้จักได้อยู่เรื่อย ๆ” เขาเล่า
คลับไทยในซีนอันเดอร์กราวด์โลก
มาจนถึงวันนี้ วัฒนธรรมอันเดอร์กราวด์เจอความเปลี่ยนแปลงไปไกลจากอดีตมากแล้ว แต่รากที่เป็นหัวใจของมันก็คงยังอยู่เหมือนเดิม พี่แป๋งมองว่า “ปัจจุบันคำว่าอันเดอร์กราวด์มันเป็นสไตล์ หรือเป็นแฟชั่นก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องลึกลับรุนแรงอะไรแบบนั้นแล้ว มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป็อป Boiler Room (แพล็ตฟอร์มที่บันทึกโชว์ดนตรีอิเลกทรอนิกส์มาเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต) ก็ทำให้วัฒนธรรมการไปคลับมันเข้าถึงได้ในอินเทอร์เน็ต การไปดูดีเจหรือไปคลับก็เป็นกิจกรรมที่คนชอบทำกันมากขึ้น”
สำหรับเมืองไทย ใครที่เกิดทันยุค 2000 คงจะมีประสบการณ์ร่วมกับปาร์ตี้ดนตรีอันเดอร์กราวด์ในสถานที่ที่ชื่อ ‘คลับคัลเจอร์’ แต่เนื่องจากเราโตไม่ทันไปสัมผัสประสบการณ์นั้น เลยขอแอบโควต คุณโน้ต พงษ์สรวง ผู้ก่อตั้ง Dudesweet นักจัดปาร์ตี้ไทย ที่อธิบายคลับแห่งนี้ไว้ในบทความ ‘ทำไม Club Culture จึงเป็นตัวแทนรุ่นเด็กปาร์ตี้ยุคปี 2000’ ของเขาว่า “มันเป็นคลับสำคัญของซีนปาร์ตี้อินดี้ในยุค 2000 เป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่นนอกกระแส ซึ่งที่นั่น พวกเขาจะเต้นเร่าราวอยู่ในกระทะทองแดงกับดนตรีอันเดอร์กราวด์และดนตรีที่ไม่ได้ฮิตในกระแสหลัก เมามาย โวยวาย พวกเขาไม่ถ่ายรูปเพราะประสิทธิภาพกล้องมือถือยังไม่อำนวยภาพให้สวยได้ พวกเขาไม่เซลฟี่ เพราะตอนนั้นมันเป็นพฤติกรรมประหลาด และโทรศัพท์เท่สุดในยุคนั้นคือ BlackBerry ที่ถ่ายรูปไม่เคยสวย”
หรืออย่างที่พี่แป๋งเล่าความทรงจำการไปคลับในไทยให้ฟังว่า “ในตอนเริ่มเลยซีนอันเดอร์กราวด์อาจจะเป็นวัฒนธรรมของชาวต่างชาติพอสมควร สมัยก่อนถ้าไปดูดีเจจะรู้สึกว่าฝรั่งเต็มเลย แล้วคนไทยก็มีบ้าง แต่อาจจะไม่ได้ถูกนึกถึงเท่าดีเจฝรั่ง ถ้าไปคลับเราอาจจะเห็นดีเจไทยเล่นช่วงวอร์ม (ช่วงแรกของปาร์ตี้) แต่ตอนกลางคืนจะเป็นดีเจฝรั่งมากกว่า แต่เราก็เห็นซีนคนไทยเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
“คนไทยเราก็มีความชอบเต้นรำในแบบของเรา คนขาวก็อาจจะมีวัฒนธรรมการเต้นรำในแบบคนขาว แต่ทั้งหมดมันก็คือการเต้นรำเหมือนกัน” เขาบอก
แต่สำหรับตอนนี้ เราอยากชวนให้ลองดูไปโชว์ของแก๊ง SUBURB SOUND ที่รวมชาวศิลปินดีเจและนักออกแบบมาทำงานด้วยกัน แล้วจะรู้ว่าความ ‘เด้ง’ แบบม่วน ๆ ไทย ๆ เป็นอย่างไร เมื่อผสมมาเข้ากับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และฮิปฮอป ซึ่งทีมนี้ก็เตรียมไปโชว์ในเทศกาลมหรสพปีนี้กันด้วย
รสชาติที่ชวนให้ชิมกันได้ใน ‘มหรสพ’
เทศกาลมหรสพ Maho Rasop 2024 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23 - 24 พฤศจิกายนนี้ ที่ ESC Park นอกจากเวทีใหญ่สองเวที ที่โชว์วงดนตรีระดับเฮดไลน์และวงหน้าใหม่รอให้ทุกคนมาตกหลุมรักแล้ว ยังมี ‘Sawan Club’ คลับดนตรีอิเล็กทรอนิก - อันเดอร์กราวด์ ที่รวมคนทำเพลงทุกแนวตั้งแต่เบส เทคโน เฮาส์ ไปจนถึงอินดัสเทรียล ฮิปฮอป และแอมเบียนต์ มาเจอเครื่องเสียงแน่น ๆ กับบรรยากาศเฉพาะตัว
ส่วนตัวเราพร้อมไปยืนโยกหน้าบูธดีเจแล้ว และอยากเจอทุกคนที่นั่นด้วย แต่ลองมาฟังพี่แป๋งแนะนำศิลปินแต่ละคนในนั้นเองดีกว่า เพราะเราว่า น่าสนใจสุด ๆ ทุกโชว์เลย อย่างเช่นศิลปินไทย ที่ยืนยันว่าซีนอันเดอร์กราวด์นี้ ‘มีอยู่มาตลอดแต่เราไม่เคยรู้’
“WUTHICHAI เป็นผู้บริหาร Warmupcafe (คลับชื่อดังแห่งหนึ่งในเชียงใหม่) ซึ่งเขาโปรดิวซ์เพลงขึ้นมาเองด้วย ถ้าใครไปวอร์มอัปเมื่อก่อนจะเห็นว่าเขามีห้องแสดงสดดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เล็ก ๆ อยู่ด้วย ก็เป็นความชอบของเขานี่แหละ ทำเพลงเองออกเพลงแบบอันเดอร์กราวด์จริง ๆ ผลงานก็น่าสนใจมาก”
“Kova O'sarin เป็นดีเจไทยคนหนึ่งที่เราอยากนำเสนอปีนี้ เขาเป็นคนค่อนข้างเนี้ยบในการมิกซ์ แล้วก็อยู่กับอันเดอร์กราวด์ซีนของกรุงเทพฯ จริง ๆ เลยอยากให้เขาได้เป็นที่รู้จักกับทุกคน เขาก็จะเล่นเทคโน, ดีพเฮาส์ มีความทดลองอยู่ในนั้นบ้าง เล่นเสียงแอ็บสแตร็กต์ [เสียงแปลก ๆ ที่ไม่รู้ว่าคืออะไร]”
หรือถ้าเป็นสายเพลงเท่ ๆ ไม่เน้นแรงกระแทกก็มีศิลปินอย่างเช่น
“Jitwam จริง ๆ แล้วเขาอยู่ในซีนแจ๊ส เขาจะผสมแนวดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากแจ๊ส เช่น Broken Beat, Soul, House, Chicago House, Deep House แล้วก็รวมความชอบของเขาไปด้วย เป็นคนที่เปิดเพลงเพราะ เพลงเท่ มีความ Urban โยก ๆ เป็นคนที่ฟังลึกและหลากหลายจริง ๆ”
“Surprise Chef เรารู้สึกถึงความโยก ๆ (Groovy) ของเขา มันมีความผสมผสาน ความบีท ความฟังกี้ เลยอยากให้มาอยู่ในเวทีนี้ด้วย วันอาทิตย์ก็จะมีความโยก ๆ เบา ๆ ช่วงหนึ่ง”
และสายทดลอง ที่อยากค้นหาอะไรใหม่ ๆ นอกเหนือไปจากสิ่งที่หาฟังได้ทั่วไป
“Identified Patient เขามีความเลฟต์ฟีล (Left field) คือจะมีการทดลอง ผสมดนตรีแนวต่าง ๆ มาเยอะหน่อย แต่ก็อยู่บนฐานของดนตรีเทคโน อิเลกโทร หรือดับ (dub) จะแปลก ๆ ไปจากเพลงเทคโนธรรมดา ๆ ที่หาฟังได้ง่าย ๆ อยู่”
“RYOTA คนนี้เขามิกซ์ทุกอย่างเลย สไตล์ญี่ปุ่น มีทั้ง Bass Music, ยูเคการาจ (UKG), Drum and bass เป็นเด็กเจนซีที่มีทักษะในการรวมดนตรีคนละสไตล์เข้ามาด้วยกัน แล้วก็โยนเราขึ้นลงตลอดเวลา พลังงานสูงมาก”
ถ้าอ่านถึงตรงนี้แล้วเริ่มสนใจแล้วแต่ยังลังเลอยู่ ไม่ว่าจะเพราะไม่เคยสัมผัสประสบการณ์ ‘การคลับ’ หรือเคยสัมผัสมาแล้วแต่ยังเข้าไม่ถึงขนาดนั้น เราอยากชวนมาเปิดใจกับดนตรีแนวนี้ในมหรสพกัน เพราะก็อย่างที่พี่แป๋งว่า การไปเทศกาลเป็นโอกาสเสพประสบการณ์ให้ครบทุกรูปแบบ
“เราว่าหลายคนอาจจะยังไม่ค่อยเปิดใจกับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ อาจจะเพราะหาโอกาสมาสัมผัสมันไม่ได้ด้วย ด้วยความที่มันเป็นเสียงสังเคราะห์ เสียงที่มันหนัก ๆ ต้องการเครื่องเสียงที่มันเหมาะสมด้วย ซึ่งถ้าอยู่ในที่ของมันเราอาจจะได้ประสบการณ์กับมันจริง ๆ มันมีเสียงเข้ามาปะทะกับร่างเราจริง ๆ เลยอยากให้ลองมาเปิดประสบการณ์ดูกัน สำหรับใครที่ยังไม่เคยเข้าเวทีนี้เลย เพราะหลายคนก็ตอบรับกลับมาว่าพอเข้าเวทีนี้ไปแล้วออกไม่ได้สักที เหมือนหลุดเวลาไปอยู่ในนั้น
“บางคนเขาก็ยืนเต้นสนุกอยู่คนเดียว มีสมาธิอยู่กับตัวเอง เพราะเพลงมันอาจจะสร้างสมาธินิดหนึ่ง ซึ่งเป็นการฟังดนตรีที่น่าสนใจดี มันเปิดโลกไปเรื่อย ๆ และมหรสพก็เป็นช่องทางที่อยากให้คนเข้ามารับแสงสีเสียงที่มันประกอบกันสมบูรณ์สำหรับประสบการณ์แบบนี้ได้ เป็นอีกรสชาติหนึ่งที่อาจจะทำให้ประสบการณ์ในเทศกาลมันสมบูรณ์”
อ้างอิง
โน้ต พงษ์สรวง. ทำไม Club Culture จึงเป็นตัวแทนรุ่นเด็กปาร์ตี้ยุคปี 2000. Third World Today. Published November 2018. Accessed November 11, 2024.