A Million Little Odd Things, the Last Promise, and One Big Picture นิทรรศการที่พาเราไปสำรวจห้องจัดเก็บ เพื่อจัดการกับความสูญเสีย

Post on 10 July

ความรักคือพลัง แม้เมื่อยามคนรักจากไป ความรักก็ยังสร้างสรรค์ผลงานที่ทรงพลังออกมาได้อยู่ ซึ่งบางทีก็มาในรูปแบบตลาดศิลปะเสียด้วย

‘นัทส์ โซไซตี้’ (Nuts Society) คือตลาดศิลปะที่มีจุดเริ่มต้นขึ้นย้อนกลับไปในปี 2541 ในฐานะ ‘กิจกรรมทางศิลปะ’ ด้วยตัวมันเอง จากความต้องการรวบรวมผู้คนเข้ามาด้วยกันเพื่อปั่นป่วนโลกศิลปะ โดยสองศิลปิน ‘นพไชย อังควัฒนะพงษ์’ และ ‘ปิยลักษณ์ เบญจดล’ ซึ่งถึงแม้วันนี้ปิยลักษณ์จะหมดลมหายใจไปแล้ว แต่นัทส์ โซไซตี้กลับถือกำเนิดขึ้นอีกครั้ง ดังคำประกาศว่าหัวใจที่บรรจุความรักของพวกเขาไว้ ยังทำงานดีอยู่

ซึ่งครั้งนี้ นัทส์ โซไซตี้กลับมาเกิดขึ้นในอาคารแรกของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ในนิทรรศการ ‘A Million Little Odd Things, the Last Promise, and One Big Picture’ ซึ่งเป็นเหมือนโลกส่วนตัวอันอบอวลไปด้วยความรักของสองศิลปินรุ่นใหญ่ ที่นพไชยสร้างขึ้นมาให้พวกเราเข้าไปสำรวจความทรงจำ ความสะเทือนใจ และการดำเนินต่อไปของชีวิต ที่ส่งพลังมาถึงตัวเราและทุก ๆ คนต่อด้วย

ในนัทส์ โซไซตี้​ อติ กองสุข, Baannoorg Storage, กรกฤช เจียรพินิจนันท์, มิติ เรืองกฤตยา, ประทีป สุธาทองไทย, ปริณต คุณากรวงศ์, ธนวัฒน์ นุ่มเจริญ และศิลปินชื่อดังอื่น ๆ อีกมาก นำผลงานของพวกเขา มาโชว์และเปิดให้ช็อปกันในบรรยากาศแบบสบาย ๆ แปลกตาไปจากนิทรรศการอื่น ๆ ที่เรารู้สึกถึงความเป็น “ผู้ชม” ผู้เดินดูได้อย่างเดียว แต่ไม่สามารถหยิบจับผลงานชิ้นใดกลับบ้านไปได้แบบนักสะสมทั้งหลาย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเพราะข้าวของเครื่องใช้จากบ้านของนพไชยที่เขาเอามากอง มาวาง หรือเอามาแขวนไว้ทั่วงาน ซึ่งก็กระตุ้นให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว-ความเป็นสาธารณะ และเรื่องคุณค่า-มูลค่าของศิลปะ ว่าโลกศิลปะตอนนี้โอเคแล้วใช่ไหม? หรือควรเปลี่ยนไปเป็นอย่างไรได้บ้าง?

ถัดจากนั้นในอีกอาคารหนึ่งของหอศิลป์ฯ จะเป็นส่วนของ The cabinet of curiosities ที่ให้ความรู้สึกปนกันระหว่างความหนักหน่วงและเบาหวิวแบบน่าประหลาดใจ เพราะในแง่หนึ่งมันก็เป็นห้องที่นำข้าวของเครื่องใช้ของศิลปินคู่รักคู่นี้มาจัดแสดงแบบสมจริง จนได้กลิ่นและได้สัมผัสความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาที่สิ่งของเหล่านี้กักเก็บไว้ จากช่วงเวลาที่ผ่านพ้นไปแล้วจริง ๆ แต่อีกแง่หนึ่ง เราก็ยังได้ยินเสียงของปิยลักษณ์ เล่าเรื่องราวที่เธอหลงใหลสนใจศึกษาให้เราฟังอยู่ อย่างการวิเคราะห์ความหมายเชิงสัญญะของตัวอักษร ‘ญ’ (ที่ไม่ได้อ่านว่าญอหญิง และไม่ได้หมายความถึงแค่ผู้หญิง) และก็ยังได้เห็นชุดเครื่องแต่งกายของเธอ แขวนไว้แบบรอใช้งานอยู่ (ซึ่งนพไชยก็นำไปใช้งานจริง ๆ ให้ดูแล้วด้วยการสวมใส่เสื้อของเธอเพื่อรับความรู้สึกว่า “เธอโอบกอดผมผ่านเสื้อผ้าอาภรณ์ของเธอ”)

งานจัดแสดงทั้งหมดนี้ — รวมไปถึงตลาดศิลปะที่มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง — เป็นสิ่งที่เรียบง่ายและใกล้ตัวสุด ๆ เพราะเราเองก็คงเก็บสิ่งของต่าง ๆ ที่เราใช้งานในชีวิตประจำวันร่วมกับคนรักอยู่แล้ว แต่นิทรรศการนี้ก็ตั้งคำถามที่น่าคิดเหมือนกัน ว่าแล้วเราจะ “จัดเก็บ” อย่างไร เมื่อการสูญเสียเดินทางมาถึง และการจัดการ/จัดแสดง จะส่งผลอย่างไรต่อชีวิตที่ล่วงเลยไปแล้วและชีวิตที่กำลังเกิดขึ้นและดำเนินต่อไป

‘A Million Little Odd Things, the Last Promise, and One Big Picture’ โดย นพไชย (ต้อย) อังควัฒนะพงษ์ และ ปิยลักษณ์ เบญจดล
นพไชย (ต้อย) อังควัฒนะพงษ์ : 578 days (transformation)
ปิยลักษณ์ เบญจดล : The cabinet of curiosities
นัทส์ โซไซตี้ : Quality 1st, 2nd hand (Art), and swap market
ภัณฑารักษ์ - กฤษฎา ดุษฎีวนิช
จัดแสดงที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ)
ตั้งแต่วันนี้ - 31 สิงหาคม 2567
วันจันทร์ - เสาร์ เวลา 9.00 น. - 18.00 น. (ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ)