Monster เมื่อปีศาจที่น่ากลัวที่สุด มาในรูปของ…

Post on 8 September

ความสนุกของหนังที่เล่าแบบ “ราโชมอน” คือการที่ผู้ชมอย่างเรา ๆ ต้องคาดเดาผลลัพธ์ด้วยการค่อย ๆ กอปรข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนทำหนังทิ้งไว้ให้ระหว่างการเล่าเหตุการณ์เดียวซ้ำ ๆ ผ่านประสบการณ์ที่ต่างกันของตัวละครแต่ละคน แต่แค่นั้นคงไม่ทำให้ ‘Monster’ หนังเรื่องสุดท้ายที่คีตกวีญี่ปุ่นที่ทุกคนรักอย่าง ริวอิจิ ซากาโมโตะ ฝากเพลงประกอบเอาไว้ คว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มาได้ แต่เราเดาว่าเพราะความลงตัวของเทคนิคการเล่าเรื่องที่ดึงคนดูเข้ามามีส่วนในการ ‘เล่น’ โดยหลายคนก็พลาด มองไม่เห็น แม้จะคิดว่าตัวเองเป็นคนใส่ใจแล้วแค่ไหนก็ตาม

เรื่องราวใน Monster เริ่มต้นที่ความไม่รู้ เมื่อ “มินาโตะ” (แสดงโดยลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น “ศุภศรโซยา คุโร่คะว่า”) เด็กชายวัยประถมที่วันดีคืนดีก็มีท่าทีแปลกไป ทั้งการที่อยู่ดี ๆ ก็ประกาศว่าสมองของตัวเองเป็นสมองหมูบ้าง หายไปอยู่ในป่ากลางดึกบ้าง หรือจุดที่เป็นชนวนเรื่องจริง ๆ ก็คือการที่อยู่อยู่ดี ๆเด็กลายก็เปิดประตูโผออกจากรถขณะที่แม่ของเขากำลังขับอยู่ จนนำมาสู่การเผชิญหน้าระหว่างแม่และคุณครู คนสองฝั่งที่โดยทั่วไปแล้วย่อมเป็นคนที่หวังดีและเป็นห่วงตัวเด็กมากที่สุด

หากเราคลำโดนสัตว์ธรรมดาในความมืด ก็อาจคิดไปได้ว่าเป็นสัตว์ประหลาดใหญ่โต ถ้าเคยเล่นใบ้คำก็คงเข้าใจกันว่าข้อมูลคำใบ้ที่น้อยนิด ทำให้เราคิดอะไรแปลกประหลาดต่างไปจากคำเฉลยจริง ๆ เหลือเกิน ซึ่งนั่นก็คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างการรับชมหนังเรื่องนี้ ตอนที่เราเหมือนจะรู้แล้ว แล้วก็พบว่ายังไม่รู้ เหมือนจะจับสัตว์ประหลาดที่เที่ยวทำร้ายคนในเรื่องได้แล้ว แต่ก็ยังต้องคิดอีกที

หนังจะเฉลยแบบกำปั้นทุบดินไปเลยไหมว่าไม่มีใครเป็นสัตว์ประหลาดเลย? เราคิดว่ามันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะยังมีอีกคำถามรอเราอยู่ เหนือกว่าคำถามว่าใครคือตัวประหลาด คือคำถามต่อตัวเราเองในฐานะผู้ชม (ที่มีส่วนร่วมตัดสินด้วย) ว่าทำไมตัวเราเองถึงเดาตอนจบแบบนั้น ทำไมเราถึงตีความข้อมูลที่หนังทะยอยส่งมาให้แบบนี้ หรือที่อาจทำให้ตัวเองช็อคที่สุดคือ อคติอะไรกันที่บังตาเราจนตัดสินแบบนั้น และมองไม่เห็นปีศาจในรายละเอียดเล็ก ๆ เหล่านี้

วิธีเล่าแบบราโชมอนเปิดให้เราทดสอบตัวเอง ว่าเห็นอย่างที่ตัวละครเห็นไหม พลาดอย่างที่ตัวละครพลาดไหม หรือ “ทัน” กับประเด็นร่วมสมัยอย่างที่ตัวหนังทันหรือเปล่า ซึ่งคำตอบจะเป็นอย่างไร คงมีแต่เราเท่านั้นที่รู้ตัวเอง เราอาจพบว่าถึงแม้จะไม่ได้เป็นคนที่มีอคติความคิดเลวร้ายอะไร หรือออกจะหวังดีด้วยซ้ำ เราและทุกคนในสังคมก็ยังอาจพลาดรายละเอียดเล็กน้อยไปอยู่ดี ถ้าคิดว่าการเดาตอนจบสนุกแล้ว เราก็อยากชวนมาสวมบทผู้ชมที่แอคทีฟไปอีกขั้นดู จากที่หาวิธีตีความว่าใครเป็นสัตว์ประหลาด มาลองหาอีกนิดกันว่าแล้วสาเหตุอะไรที่ทำให้เรา (ไม่) เลือกสิ่งต่าง ๆ มาตีความแบบนั้น

ถ้าหนังเรื่องนี้เป็นเกม ก็คงเป็นเกมที่เล่นกับความรู้สึกได้ถึงขีดสุดมาก ๆ แต่นี่ไม่ใช่เกม และชีวิตก็ไม่ใช่เกม แต่เรื่องเศร้าคือเราต่างตีความสิ่งต่าง ๆ กันตลอดเวลาด้วยข้อมูลอันน้อยนิด โดยมีศิลปะแห่งภาพยนตร์เป็นตัวช่วยเล็ก ๆ ให้เราสำรวจตัวเอง

ภาพยนตร์ Monster มอนสเตอร์ กำกับการแสดงโดย โคเรเอดะ ฮิโรคาสุ (Broker, Shoplifters) ผลงานประพันธ์ดนตรีชิ้นสุดท้ายในชีวิตของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ
เปิดรอบพิเศษก่อนฉายจริงวันที่ 7-13 กันยายนนี้ รอบ 2 ทุ่มเป็นต้นไป
และฉายจริงวันที่ 14 กันยายน ในโรงภาพยนตร์