“ฉันเห่าไม่เป็นนะ”
คือประโยคสุดท้ายที่ ‘ไอ้แผน’ พูดกับ ‘สะเดา’ ก่อนที่แสงไฟในโรงละครเล็ก ๆ จะค่อย ๆ มืดลง พร้อมกับที่ข้อความอุทิศแด่ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ เจ้าของเรื่องราวฉากและชีวิตของไอ้แผน ผู้จากไปในฐานะผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกคนที่ไม่มีโอกาสได้กลับบ้าน ค่อย ๆ ปรากฏขึ้นมา
ไอ้แผนเห่าไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่หมา และความจริงที่ว่าไอ้แผนไม่ใช่หมา อาจจะเป็นความจริงเดียวที่เรารู้เกี่ยวกับตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์คนหนึ่งที่ชื่อว่า แผน ผู้ซึ่งตลอดเวลากว่า 2 ชั่วโมง เราได้ซึมซับรับรู้เรื่องราวของเขาผ่านปากคำการบอกเล่าของคนอื่น ทั้งการเป็นผัว เป็นพ่อ เป็นชายไทย ทหารไทย เป็นชาวนา เป็นคนทำไร่ เป็นผู้ต้องหา ฯลฯ แต่ไม่เคยมีสักครั้งที่ไอ้แผนจะเอ่ยปากอธิบายว่าตัวมันเองคือ ‘ใคร’ กันแน่ในสังคมนี้ที่มันมีชีวิตอยู่
‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ในรูปแบบการแสดงสด ยืนหยัดเปิดโรงให้ผู้ที่สนใจและผู้ที่ยังติดใจกับเรื่องราวชีวิตของตัวละครจากหน้ากระดาษของวัฒน์ วรรลยางกูร ได้เดินทางมาชมกันตั้งแต่เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการนำบทประพันธ์อมตะปี พ.ศ.2524 ของวัฒน์ (แค่ 5 ปีหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519) มาตีความใหม่ในรูปแบบละครเวที ซึ่งได้ ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘ไกลบ้าน’ ที่ติดตามชีวิตของวัฒน์ระหว่างลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในลาว มาเป็นผู้กำกับ พร้อมด้วยศิลปินอีกมากมายที่มาร่วมด้วยช่วยกันปลุกปั้นบทประพันธ์ชิ้นนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ฉบับละครเวทีปี 2565 มาถึงในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับที่ฉบับภาพยนตร์ปี พ.ศ.2544 เพิ่งถูกนำกลับมาฉายอีกครั้งอย่างอึกทีกในอิเวนต์ฉายหนังกลางแปลงกรุงเทพฯ โดยความสำคัญของการฉายในครั้งนั้นยังอยู่ที่โลเคชั่นในการจัดฉายที่เป็นใจกลางชุมชนคลองเตย พื้นที่เหลื่อมล้ำตำใจอิกนอแรนต์ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร และย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ไม่นาน มนต์รักทรานซิสเตอร์ฉบับภาพยนตร์ก็เพิ่งถูกนำกลับมาฉายอีกครั้งบนบริการสตรีมมิงอย่าง Netflix ที่ทำให้หนังเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในทุกครัวเรือนที่มีอินเทอร์เน็ต
การที่บทประพันธ์เรื่องนี้ยังหายใจและถูกหยิบมาสร้างใหม่ซ้ำ ๆ คงบ่งบอกนัยอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับไอ้แผนและสะเดา ยังคงเป็นเรื่องราวที่ ‘เรา’ เชื่อมโยงถึงได้ และแม้จะผ่านมากว่าสี่ทศวรรษ แต่ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่เป็นประเด็นหลักและใจความสำคัญของวรรณกรรมเรื่องนี้ก็ยังคงอยู่คู่ชีวิตคนไทย เป็นของคุ้นเคยที่เห็นและสัมผัสได้ทุกวัน จนหากแค่เราหยิบทรานซิสเตอร์ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเรื่องออกไป แล้วเปลี่ยนเป็นสมาร์ตโฟนแทน ชีวิตของไอ้แผนกับสะเดาและทุกชีวิตในเรื่องก็สามารถยกมาสร้างบทฉากหลังที่เป็นช่วงเวลาปัจจุบันได้อย่างไม่ขัดเขินแปลกตา
ด้วยความที่มนต์รักทรานซิสเตอร์เคยมีชีวิตมาแล้วในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่วรรณกรรม ภาพยนตร์ ละครเวที (ไปจนถึงรูปแบบละครโทรทัศน์เมื่อปี 2561) ซึ่งฝั่งคนดูเองก็แทบจะจำทุกฉากและทุกบทพูดได้อย่างทะลุปรุโปร่ง โจทย์สำคัญของผู้กำกับในการหยิบวรรณกรรมชิ้นนี้ไปสร้างในแต่ละครั้งจึงเป็นเรื่องของกลวิธีในการถ่ายทอดโลกที่กาลเวลาหยุดนิ่งของไอ้แผนกับสะเดาให้ยังคงจับใจผู้ชม และดึงเอาความรู้สึก ‘เชื่อมโยง’ ของผู้ชมที่มีต่อนาฏกรรมตรงหน้าออกมาให้ได้
และอย่างน้อยที่สุด นั่นก็คือสิ่งที่มนต์รักทรานซิสเตอร์ฉบับละครเวทีปี 2022 สามารถทำได้ ด้วยความชาญฉลาดในการสะท้อนสภาวะความ ‘ไร้ตัวตน’ ของประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่ชื่อว่าไอ้แผนออกมาผ่านการออกแบบองค์ประกอบฉากอย่างกองถุงพลาสติกหรือนั่งร้านที่สะท้อนความไม่จีรัง ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน ซึ่งเป็นสภาวะและประสบการณ์ที่พลเมืองชั้นสาม สี่ ห้า อย่างไอ้แผนน่าจะต้องเผชิญหน้าอยู่ทุกวันที่ลืมตาตื่น …ความไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีข้าวกินไหม? ลูกที่เกิดมาจะมีอะไรเป็นหลักประกันว่ามันจะมีอนาคต? หรือตื่นมาพรุ่งนี้ ประเทศที่เรารักจะมาพรากอะไรไปจากเราอีกหรือเปล่า (อิสรภาพ ความฝัน อนาคต)?
เรื่องราวของไอ้แผนไม่เคยถูกเล่าผ่านถ้อยคำของไอ้แผนเอง ชีวิตของไอ้แผนเลื่อนไหลไปกับพร้อมกับคำบอกเล่าของผู้คนมากหน้าหลายตา พ่อตา ครูฝึก เพื่อนในไร่ เพื่อนในคุก ตำรวจ ฯลฯ ตลอดชีวิตอันบัดซบของไอ้แผน มันเป็นหลายสิ่งหลายอย่างมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจาก ‘แรงงาน’ ตั้งแต่แรงงานในบ้าน แรงงานในไร่ แรงงานในกองทัพ แรงงานในระบบทุนนิยม แรงงานในคุก ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกเน้นย้ำผ่านองค์ประกอบฉากและการออกแบบเรื่องเล่าของผู้กำกับ เมื่อใดที่ฉากถูกเปลี่ยน ทั้งไอ้แผนและตัวละครอื่น ๆ ต่างก็มีหน้าที่ช่วยขยับปรับเปลี่ยนฉากบนเวที พวกเขาทั้งดัน ทั้งแบก ทั้งผลัก ทั้งหาม กล่าวง่าย ๆ ว่าแม้กระทั่งในโลกของไอ้แผนกับสะเดา ตัวละครทั้งหมด (รวมถึง ‘เอ็กซ์ตร้า’) ก็ยังไม่พ้นสภาพการเป็นแรงงาน จนดูราวกับว่าสถานะที่แน่ชัดที่สุดในการเป็นตัวละครในโรงละครแห่งนี้ ในการเป็นประชากรในสังคมไทยเรานี้ คือการเป็น ‘แรงงาน’
สุดท้ายแล้ว การที่ไอ้แผนไม่เคยปริปากอธิบายว่ามันเป็นใคร อาจเป็นเพราะเราทุกคนล้วนเป็นไอ้แผน และการจ้องมองโศกนาฏกรรมชีวิตของไอ้แผน ก็คือการจ้องมองชีวิตของเรา ของประชาชนผู้ไม่เคยได้รับการเห็นหัวจากคนที่อยู่ข้างบนเลยก็เป็นได้