คุยกับ Naisu ศิลปินผู้หยิบพระจันทร์ ความอีโรติก และความเป็นหญิงมาสร้างศิลปะ

Post on 27 May

‘ความโป๊’ คือสิ่งที่อยู่คู่กับโลกศิลปะมาอย่างยาวนาน เริ่มตั้งแต่รูปปั้นอันอวบอั๋นอุดมสมบูรณ์ของวีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ งานประติมากรรมกรีกโรมันทั้งหลาย รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังมากมายที่แสดงออกถึงฉากทางเพศได้อย่างถึงเครื่อง แต่ในบางยุคสมัย ‘ความโป๊’ ก็กลายเป็นเรื่องลักลั่นต้องห้ามหากศิลปินใช้ความโป๊นั้นกับเรื่องราวที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เช่น ภาพ ‘Luncheon on the Grass’ ของ เอดัวร์ มาแน

แม้กระทั่งในปัจจุบัน ความโป๊ก็ยังเป็นประเด็นที่สร้างมุมมองอันหลากหลายให้กับโลกศิลปะอยู่เสมอ ซึ่งหนึ่งในรูปแบบงานศิลปะที่ยังคงกระตุ้นความสนใจต่อสังคม ก็คืองานศิลปะแบบ ‘Erotic Art’ ที่ว่าด้วยเรื่องราวความรัก ความใคร่ ระดับ 18+ ของมนุษย์ ที่เชิญชวนให้ตั้งคำถามว่า เบื้องหลังความโป๊ที่เราเห็นตรงหน้า สามารถนำพาไปสู่สิ่งอื่นได้จริง ๆ หรือเปล่า

และถ้าเราจะพูดถึงหนึ่งในศิลปินไทยผู้ทำงานสไตล์นี้มาอย่างยาวนาน เราก็จะนึกถึง ‘Naisu’ หรือ ‘ไนซ์–ปริยนาถ จิรัฐฐิติกาล’ ศิลปินสาวนักวาดภาพประกอบผู้ระบายลายเส้นให้เป็นความอีโรติก และออกตัวว่าเป็นลูกหลานคนจีนที่เติบโตขึ้นมาในสังคมแบบอนุรักษ์นิยมสุด ๆ แต่ถึงอย่างนั้นเธอกลับมองว่าความโป๊นี่แหละคือสิ่งที่ช่วยให้เธอสามารถสำรวจตัวตนของตัวเองได้อย่างลึกซึ้งที่สุด

เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไนซ์ได้จัดแสดงผลงานของเธอในนิทรรศการ LUNATIQUE ที่จัดขึ้นที่ a.e.y.space จังหวัดสงขลา ร่วมกับศิลปินภาพถ่ายหญิงอีกคนอย่าง โศภิรัตน์ ม่วงคำ โดยผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้ก็มีทั้งงานทัศนศิลป์ ศิลปะจัดวาง และภาพถ่ายแนวอีโรติก ซึ่งพาผู้ชมไปสำรวจการเชื่อมโยงความหมายระหว่างสตรีและดวงจันทร์ รวมไปถึงการการต่อสู้ สภาวะขั้วตรงข้ามระหว่างชายและหญิง การปกป้องสิทธิ ความสัมพันธ์ต่อตนเอง บุคคลอันเป็นที่รัก และระเบียบทางสังคม

ในช่วงเวลาที่งานชุดนี้ยังจัดแสดงอยู่ GroundControl ก็ได้มีโิอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมและพูดคุยกับไนซ์ในบรรยากาศสบาย ๆ แต่เปี่ยมด้วยพลังงานอันน่าหลงใหลแต่ทรงพลังของความเป็นหญิง เราจึงอยากนำบทสนทนาที่ได้คุยกับเธอมาแบ่งปันให้คนรักศิลปะได้อ่าน และร่วมรับพลังแห่งดวงจันทร์และอิสตรีร่วมกันกับเรา

จากการ์ตูนตาหวาน สู่ความ Y กลายเป็นแรงบันดาลใจต่อ ‘ความโป๊’

“ถ้าจะพูดถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจความอีโรติก คงต้องนึกถึงการ์ตูนผู้หญิงยุคเก่า ๆ ยุค 60-70 ฟีลการ์ตูนตาหวาน คือเราชอบเชื่อมโยงการ์ตูนญี่ปุ่นกับเรื่องเพศ เพราะเรามองว่ามันเป็นสื่อที่ Sexualize มาก ๆ แบบมันเฮี้ยนดี มันโป๊ด้วย แถมมันยังโรแมนติกมากเลย เวลาแต่ละตัวละครไปเจอเหตุการณ์นู่นนี่”

เธอขยายความเพิ่มว่า “ถ้าจะอธิบายก็คือ การ์ตูนผู้หญิงในยุคนี้มันการเมืองมากกว่าที่คิดนะ เพราะผู้หญิงได้อนุญาตให้ตัวเองจินตนาการว่าสามารถสัมผัสร่างกายผู้ชายได้ และยังคิดต่อไปได้ด้วยว่าพอถูกสัมผัสแล้วจะรู้สึกยังไง เรารู้สึกว่าความคิดของคนสร้างการ์ตูนตาหวานในยุคนั้นมันมีหลายชั้น มันเหมือนการสร้างความปลอดภัยอะไรบางอย่าง เป็นการใช้อำนาจรูปแบบหนึ่งในการจินตนาการให้ผู้ชายทำสิ่งที่เราต้องการ โดยเราปลอดภัยอยู่ตรงนี้ แบบมันมีหลายบทสนทนามาก ๆ เลยจากสิ่งนี้ และน่าสนใจมาก เพราะมันส่งอิทธิพลต่อความคิดมาจนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญคือมันยังเป็นจุดเริ่มต้นของพวก BL ที่ผู้หญิงแต่งด้วยนะ”

.“เราเลยคิดว่ามันเป็นสื่อที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถใช้จินตนาการเกี่ยวกับเรื่องเพศได้อย่างไร้ขีดจำกัดเว่อร์ ยิ่งถ้าดูจากลายเส้นที่พวกเขาวาดกันก็คือมันรันวายมาก มันสวย มันเฮี้ยน ยิ่งเวลาอธิบายถึงการแสดงออกของตัวละคร เขาจะทำให้มันดูวูบวาบ ตาจะวิ้ง ๆ เป็นประกายเหมือนดวงดาวอะไรแบบนี้”

ความ ‘อีโรติก’ ที่ไม่ใช่แค่โป๊ แต่เป็นการสำรวจตัวตนและเพศวิถีของตนเอง

“เรามองว่าการจะวาดรูปอีโรติกออกมาได้แปลว่าเราต้องค้นเข้าไปถึงความรู้สึกข้างในของตัวเอง เพื่อสร้างพื้นที่บางอย่างที่เราจะคุยกับตัวเองด้วยความเข้าใจ หรือด้วยความเห็นอกเห็นใจอะไรแบบนี้ได้มากกว่า เพราะการจะวาดคนที่แบบกำลังอยู่ใน Sexual Position และเปิดเผยความเปราะบางมาก ๆ ออกมาได้ แปลว่าคนวาดเองก็ต้องจมลงไปในความเปราะบางหรือการกระทำที่คนในภาพกำลังทำอยู่ด้วยเหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่าการวาดภาพอีโรติกเป็นเหมือนการเดินทางเพื่อค้นหาว่า เราจะเอาเฟรมหรือกรอบทางความคิดอะไรที่มีต่อเรื่องนี้มาใช้ได้บ้าง มันเป็นความสัมพันธ์ของเรากับเรื่องเพศต่าง ๆ ด้วย”

“การทำงานอีโรติกยังทำให้เราได้กลับไปทบทวนเรื่องความสัมพันธ์ของเรากับแม่ด้วย เพราะแม่คือต้นแบบแรกของความเป็นผู้หญิง ที่ทำให้เรารู้จักกับอำนาจในร่างกายของตัวเอง รู้ว่าตัวเองสบายใจหรือไม่สบายใจที่จะพูดถึงร่างกายผู้หญิงแบบไหน ดังนั้นเราเลยมองว่าการทำงานตรงนี้คือการกลับไปทบทวนตัวเองว่าเรามีความรู้สึกไม่ดีกับร่างกายตัวเองตรงไหนบ้าง มันเกิดขึ้นในช่วงวัยไหน”

“พอเราได้ทบทวนตัวเองไปด้วยแบบนี้ มันเลยทำให้เราอยากจะท้าทายตัวเองในแง่อื่น ๆ ด้วย เช่น แบบเราคิดว่าเราขาใหญ่ เราก็จะมานั่งคิดว่าเราขาใหญ่จริงหรือ ถ้างั้นไหนลองใส่รองเท้าบูตซิ ใส่แล้วขามันสวยไหม ไหนลองใส่กระโปรงสั้นซิ เอ๊ะ มันก็ดูดีนะ อะไรแบบนั้น มันก็เลยเป็นความมั่นใจในเรื่องเพศหรือความปลอดภัยในร่างกายของตัวเอง”

“อีกอย่างคือเราเป็นผู้หญิงในวัฒนธรรมเอเชียประเทศไทย เราเป็นลูกบ้านจีนอะไรอย่างนี้ การที่เราออกมาวาดรูปโป๊มาแสดงให้คนเห็น ทั้ง ๆ ที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบอนุรักษนิยม เราเลยรู้สึกเคารพตัวเองที่กล้าทำแบบนั้น แล้วทำให้เราคิดต่อได้เลยว่า เฮ้ย ถ้าฉันทำสิ่งนี้ได้ สิ่งอื่น ๆ ที่คิดว่าทำไม่ได้ก็ต้องทำได้เหมือนกันสิ”

เมื่อ ‘ความโป๊’ คือคีย์เวิร์ดของการร่วมงานกับ ‘แมท-โศภิรัตน์ ม่วงคํา’ ในนิทรรศการ LUNATIQUE

“ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเราได้จัดนิทรรศการ LUNATIQUE ร่วมกับพี่แมท-โศภิรัตน์ ม่วงคํา คือจริง ๆ จุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้มันเริ่มต้นจากปีที่แล้ว ตอนที่ a.e.y.space ฉายหนังเรื่อง ‘All the beauty and The Bloodshed’ ตอนนั้นพี่แมทได้มา Talk และทำให้เราได้มาเจอกัน ซึ่งก่อนหน้าที่เราจะได้เจอกันเราก็ตั้งใจจะจัดแสดงงานกับ a.e.y.space อยู่แล้ว เพียงแต่เรื่องคอนเซปต์อะไรแบบนี้มันยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง”

“ทีนี้พอเราได้มาเจอพี่แมทในงาน เขาก็เลยชวนเรามาแสดงงานด้วยกัน เพราะก่อนหน้านี้ไนซ์เคยถ่ายงานกับพี่แมทมาประมาณสองรอบ ก็รู้สึกว่าเราทำงานเข้ากันได้ดี อีกอย่างคือพวกเรามีความสนใจหลายอย่างตรงกัน นั่นก็คือเรื่องความแฟนตาซี เขาเลยอยากถ่ายเราเพราะเราดูมีความแฟนตาซีโดยธรรมชาติ แต่สำหรับเรา ไนซ์คิดว่าเรามองภาพของความอีโรติกคล้ายกัน แบบเรามองความโป๊ของร่างกายด้วยสายตาผู้หญิงเหมือนกัน มันเลยทำให้การทำงานด้วยกันมันง่าย ก็เลยจิ้มวันไว้เลยว่า โอเค งั้นวาเลนไทน์ไหม ช่วงกุมภาพันธ์ไปเลย อะไรแบบนี้ ดังนั้นพอถึงช่วงปลายปีเราก็เริ่มร่างคอนเซปต์ต่าง ๆ มาด้วยกัน จนเป็น Duo Exhibition ประมาณนั้น” เธออธิบายถึงจุดเริ่มต้นโปรเจกต์ให้เราฟังแบบสบาย ๆ

“ทำให้ในนิทรรศการนี้นอกเหนือจากงานที่พวกเราต่างคนต่างทำแล้ว ก็ยังมีงานที่เราทำร่วมกันด้วย เรียกว่าเป็นงานที่เชื่อมศิลปินสองคนเข้าด้วยกันเลยก็ว่าได้ ก็คือภาพเซตนางเงือก งานนี้เราได้แรงบันดาลใจมาจากรูปปั้นนางเงือกที่หาดสมิหลา ที่มาจากนิทานพื้นถิ่นของสงขลา ในตำนานนั้นเล่าว่าที่หาดแห่งนี้มักจะมีนางเงือกขึ้นมานั่งหวีผมด้วยหวีทองคำเป็นประจำ แต่วันหนึ่งก็มีชาวประมงมาพบเข้า นางเงือกตนนั้นเลยว่ายหนีลงน้ำด้วยความตกใจ และทิ้งหวีทองคำไว้ที่หาด ชาวประมงคนนั้นเลยเก็บหวีไว้แล้วเฝ้ารอนางเงือกคนนั้นกลับมาที่หาดอีกครั้ง”

“ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้อ่ะ ตอนกลางคืนมันจะมีไฟ พอไปถึงหน้างานพวกเราเลยมีความคิดในหัวขึ้นมาประมาณหนึ่งว่าอยากลองนั่งท่านางเงือก ถ่ายภาพเป็นนางเงือกและเล่าเรื่องเป็นลำดับรวมทั้งหมดเจ็ดภาพในหนึ่งเซต เรื่องที่เราเล่าก็จะเป็นภาพผู้หญิงถือกระจกมาที่หาด จากนั้นก็เดินลงไปในน้ำ มีพระจันทร์อยู่ด้านบน ส่วนเราก็จะเอาภาพที่เห็นมาวาดต่อ แบบวาดหางนางเงือก สร้างความหมายเพิ่มเข้าไป”

“การที่พี่แมทเลือกใช้กระจกยังพัฒนาเป็นสัญญะบางอย่างได้ เรามองว่ากระจกคือสัญลักษณ์ของภูมิปัญญา (Wisdom) หรือความเข้าใจตัวเอง เพราะมันช่วยสะท้อนความจริงอะไรบางอย่างออกมาได้ ยังมีภาพผีเสื้อ และภาพแสงสะท้อนจากกระจกที่เราวาดขึ้นมาจากจินตนาการด้วย”

“ยังมีเรื่องการวางแผนการจัดวางพื้นที่ต่าง ๆ ที่พวกเราตั้งใจออกแบบให้พื้นที่ด้านนอกเป็นฟีลการทำพิธีกรรมเกี่ยวกับ New Moon พอเดินเข้ามาด้านในก็จะพบกับชิ้นงานที่เล่าถึง Intimate Relationship ของมนุษย์ และเล่าออกมาอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุดตามแนวทางของช่างภาพ และสร้างให้มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยของตัวแบบ ภาพรวมทั้งหมดในนิทรรศการนี้มันเลยกลมกล่อมมาก ๆ”

‘LUNATIQUE’ นิทรรศการที่ไม่เคยกำหนดผลลัพธ์

ไนซ์เริ่มเล่าอย่างเป็นกันเองว่า “เราขอปูบริบทก่อนนิดนึงว่าก่อนหน้านี้เราเคยทำงานคอมเมอร์เชียลมาก่อน ซึ่งคนก็น่าจะจำสิ่งที่เราเคยทำได้บ้างแหละ หลังจากทำงานแนวนั้นมานานบวกกับได้เรียนรู้ศิลปะในระบบการศึกษาไทยมาตลอด มันเลยทำให้เรากลายเป็นคนสนใจในผลลัพธ์สุด ๆ สนใจมากกว่ากระบวนการทำงานอีก เพราะพอเราทำงานเพื่อลูกค้ามานาน เราจะคิดว่าถ้าลูกค้าโอเคกับภาพสุดท้าย ทุกอย่างก็คือสำเร็จแล้ว เราเลยเป็นคนที่ยึดติดอยู่กับผลลัพธ์ตลอด”

“เช่น ถ้าได้โจทย์มาเราก็จะเผลอคิดโดยอัตโนมัติเลยว่าจะทำอะไรบ้างตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการเลย พอความคิดแบบนี้มันติดตัวเรานานวันเข้าก็เริ่มกังวลขึ้นมาเหมือนกันว่า ทำไมเราต้องสนใจกับสิ่งที่เรียกว่าผลลัพธ์ขนาดนี้ เพราะการกังวลเรื่องนี้ทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่มีเวลาคิดกระบวนการใหม่ ๆ เลย รวมถึงไม่เคยปล่อยให้กระบวนการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องบนงานศิลปะของเราด้วย”

“แต่ในนิทรรศการนี้ไม่ใช่แบบนั้นเลย เราเริ่มต้นจากการหาประเด็นเกี่ยวกับดวงจันทร์เพื่อหาว่าจะเอาเรื่องไหนมาสร้างงานดี จนเจอกับเรื่อง New Moon ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่แสงพระจันทร์ยังไม่มา แต่อีกเดี๊ยวจะมาแล้ว ซึ่งในช่วงที่ก้ำกึ่งนี่แหละที่ทำให้เราคิดว่า เอ้อ แปลว่าในระหว่างนี้มันจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้นี่นา”

“พอได้ประเด็นเท่านี้แล้ว เราก็วางเป็นรากฐานให้กับขั้นตอนต่อ ๆ ไปเลย แล้วแค่รอดูว่ามันจะมีอะไรออกมาบ้าง ซึ่งมันดีมากที่ได้ทำอะไรแบบนี้ มันทำให้เราได้ลองเทคนิคใหม่ ๆ แบบถ้าทำอย่างนี้จะเป็นยังไงวะ แบบปกติใช้สีเปียกก็เอาสีแห้งมาใช้ แถมสีแห้งยังเป็นสีที่เรามีความหลังด้วยเพราะเป็นสีที่เราเคยพยายามใช้แล้วหยุดไป พอตอนนี้เอากลับมาใช้มันเลยผูกเราเข้ากับอดีต กลายเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้เราอยากจะเอาอดีตมาเขย่ากับปัจจุบันหรืออะไรประมาณนั้น ก็เลยปาดสีช็อกลงบนน้ำ ปาดน้ำทับสีช็อก พอเห็นแล้วก็แบบเราทำแบบนี้ได้ด้วยหรอ และนอกจากการระบายสีแล้วเรายังลองทำพวกงานเซรามิก ได้ลองเล่าเรื่องราวผ่านชิ้นงานที่เป็นสามมิติด้วย”

“มันเหมือนเราได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้งเลย เพราะเราไม่ได้ยึดติดกับสิ่งที่เราเคยทำได้อยู่แล้ว แต่สนใจในความอยากรู้อยากเห็นที่ผุดขึ้นมาระหว่างทางมากกว่า แบบพอเราทำแบบนี้มันจะเกิดอะไรขึ้นต่อนะ เรียกว่าเราได้ลองปล่อยให้จิตใต้สำนึกของเรามันได้เล่าเรื่องของตัวเองไปเรื่อย ๆ ระหว่างทำงานบ้าง ซึ่งคำที่มันผุดขึ้นมาบ่อย ๆ ตอนที่เราทำอะไรแบบนี้คือคำว่า ‘ความไว้ใจ’ เราไว้ใจในปลายทางที่ยังมองไม่เห็น เรารู้ว่าอีกเดี๋ยวทุกอย่างมันจะดีขึ้น มันเลยเหมือนเราได้ย้อนกลับไปบำบัดและเชื่อมโยงเข้ากับจิตวิญญาณความเป็นเด็กในตัวเราให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง และทำให้เราจำได้ว่า ตอนที่เราวาดรูปในตอนเด็ก ๆ เราเคยรู้สึกแบบไหน” เธอเสริม

“ดังนั้นงานกว่า 18 ชิ้นที่เราจัดแสดงใน ‘LUNATIQUE’ เลยเป็นงานที่เล่าอะไรใหม่ ๆ เกี่ยวกับตัวเรา เพราะพอเราไม่ได้คาดหวังกับมัน หรือกำหนดจุดจบให้กับมันเอาไว้ก่อน ทำให้ความเป็นไปได้ของงานแต่ละชิ้นในนิทรรศการนี้มันไม่มีที่สิ้นสุด”

การเริ่มต้นครั้งใหม่ที่สงขลา และความเป็นไปได้ของระบบนิเวศศิลปะที่น่าจับตามอง

“ทีแรกเราไม่ได้คิดจะย้ายมาอยู่สงขลาเลย เพราะสมมติว่าเราไม่เคยอยู่ต่างจังหวัดมาก่อนแล้วย้ายมาเลยเราก็คงจะกลัวกัน จุดเริ่มต้นแรก ๆ เลยมาจากการที่เราตั้งใจจะมาหมั้นกันที่สงขลา เราเลยได้ลองลงมาอาศัยอยู่ที่นี่กับครอบครัวของแฟนเราให้คุ้นชินก่อน เพราะเขาเองก็เคยมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวเราที่กรุงเทพเหมือนกัน ซึ่งความตั้งใจแรกมีแค่นี้เลย คือแค่มาเพื่อทำความคุ้นเคยกัน พอเสร็จงานหมั้นแล้วสักสองเดือนค่อยย้ายกลับมาปักหลักที่กรุงเทพเหมือนเดิม”

“แต่จุดเปลี่ยนคือการได้รู้จักกับพี่เอ๋ - ปกรณ์ รุจิระวิไล ผู้ก่อตั้ง a.e.y.space แล้วได้คุยกันเรื่อย ๆ จากนั้นเราก็เริ่มรู้จักระบบเครือข่ายงานสร้างสรรค์อื่น ๆ ในพื้นที่นี้ที่แบบอยู่เป็นกลุ่มเดียวกัน เช่น กลุ่ม Lorem ในหาดใหญ่ที่เปิดเป็นคาเฟ่พร้อมให้อิสระกับคนที่อยากมาจัดแสดงงาน เลยกลายเป็นคอมมูนิตี้สำหรับคอหนังอาร์ตให้กับคนหาดใหญ่ไปเลย นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มอื่น ๆ อีก เราเลยคิดได้ว่า เฮ้ย เรามีเพื่อนแฮะ ก็เลยรู้สึกว่าการมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่สามารถเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าฐานของเราจะอยู่กรุงเทพเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ได้เห็นระบบนิเวศทางศิลปะ การสนับสนุนกันและของคนภายใน Creative Community ที่นี่”

“คือเราต้องยอมรับว่านอกจากศิลปินแล้ว วงการศิลปะยังมีคนอื่น ๆ ในระบบนิเวศคอยสนับสนุนด้วย คือศิลปินไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ที่นี่ก็เป็นแบบนั้นคือทุกคนมีอะไรก็จะเอามาสนับสนุนกันให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ ๆ รวมถึงเปิดทางให้คนใหม่ ๆ ที่อยากทำเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย แล้วพอทุกอย่างมันกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ก็จะมีคนเข้ามาช่วยกันมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วพอทุกคนตั้งใจ ระบบก็พร้อมซัพพอร์ตก็จะเกิดเป็นคอมมูนิตี้ที่สำคัญและแข็งแรง แบบเวลาคิดจะทำโปรเจกต์อะไรเราก็จะรู้แล้วว่าจะไปต่อยังไง คือมันแบบสุดยอดมาก” เธอกล่าวทิ้งท้าย