จัดไฟล์ก่อนข้ามวัย กับ เต๋อ - นวพล ผู้กำกับยุคกล้องมือถือ ผู้อยาก “เอาใหม่” ในช่วงวัยที่กำลังเข้ามา

Post on 4 October

วันหนึ่งเราอาจกำลังคุยออกรสกับพ่อแม่บนโต๊ะอาหาร ไปเดินเที่ยวกับเพื่อน ๆ หรือทำงานที่รักด้วยความสุข แต่รู้สึกตัวอีกที ทั้งหมดนี้ก็หายไปแล้วโดยสิ้นเชิง เราอาจถามตัวเองว่าทำไมถึงไม่เคยสังเกตเลยว่า ไม่ได้นัดเจอเพื่อนกลุ่มเดิม ๆ นานแล้ว หรือทำไมไม่เคยเห็นเลยว่าพ่อแม่แก่ลงอยู่ทุกวัน เหมือนกันกับเราที่ใช้เวลาว่างกับต้นไม้ในบ้านมากขึ้น และออกไปเข้าสังคมน้อยลง?

“บางทีเหมือนกับเราใช้ชีวิตแล้วลืมดูว่าชีวิตอยู่ไหนแล้ว เหมือนไม่มีวันประมวลผล ไม่มีวันสรุป มันก็จะงง ๆ นิดนึง เหมือนต้องยอมรับว่าบางอย่างเราก็ห่วย หรือบางอย่างตอนนั้นไม่น่าทำอย่างนั้นเลย แต่มันก็ต้องเก็บไปเรียนรู้เพื่อจะไม่ทำอีก หรือเพื่อไปพัฒนาต่อ เวลาคุณทำงานทุกครั้งมันจะได้สิ่งเหล่านี้ตอนประเมินผลนี่แหละ เพราะตอนทำอยู่นัวมากเลย บางทีใครหน้าไหนมาขวางก็ไม่สนทั้งนั้น จนวันประเมินผลปรากฏว่าที่สู้แทบตายได้แค่นี้ แต่เสียเพื่อนเสียความรู้สึกไปแล้ว เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นเหมือนการประเมินผลของงานที่ผ่านมาทั้งหมดโดยใช้ภาพถ่าย” เต๋อ - นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับขวัญใจเด็กอินดี้ผู้เตรียมตัวเข้าสู่วัย 40 บอกกับเรา ถึงความหมายของอารมณ์อันหนักหน่วง เบื้องหลัง ‘HEAVY’ งาน Installation ที่เขาบอกว่าไม่ใช่นิทรรศการภาพถ่าย แม้จะเป็นการวางภาพถ่ายยาวเกือบสองเมตรมาทับกันเป็นตั้ง ๆ ทั่วห้องให้คนเลือกยกดูภาพข้างใต้

“พอเลือกดูภาพไปสักพักแล้วคุณจะเหนื่อย รู้สึกว่ามันเยอะ แล้วต้องใช้ความคิดว่าทำไมรูปนี้ต้องถูกเลือก” เขาอธิบายในตอนหนึ่งของบทสนทากับเรา “แล้วคุณจะรู้สึกหนักเหมือนกัน ในเชิงปริมาณของรูป เวลาที่ใช้ และการมองตัวตนที่ผ่านมาของตัวเองในแต่ละรูป ทำไมชีวิตมันเยอะแยะมากมาย”

ในฐานะเด็กที่มี Mary is happy, Mary is happy เป็นหนึ่งใน Core memory ของวัยมัธยม เราช็อคเบา ๆ เมื่อพี่เต๋อ (น่าจะยังเรียกพี่ได้อยู่) บอกกับเราว่าหนังเรื่องนี้ผ่านมา 10 ปีแล้ว เราเลยคิดว่าการ “ปิดจบ” ชีวิตก่อนเข้าเลขสี่ของเขาครั้งนี้ ถึงจะใช้ภาพถ่ายที่มาจากคลังส่วนตัวมาก ๆ แต่ก็เป็นโอกาสให้คนดูได้ย้อนคิดถึงชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองเหมือนกัน และเรียนรู้วิธีจัดการกับ “ความหนัก” ของภาพถ่าย ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาแนะนำให้เรารู้จักกล้องที่ถ่ายตัวตนคนแบบจิตไร้สำนึกไว้ได้ รวมทั้งกระบวนการปิดจบช่วงวัยที่เขาได้จากการไล่ดูรูป และวิธีออกแบบประสบการณ์การชมนิทรรศการ ที่ทำให้เรายอมแบกภาพเกือบสองเมตรเพื่อดูภาพข้างใต้หน่อยก็ได้

กล้องที่สามารถจับตัวตนแบบที่คนไม่รู้ตัว

ก่อนจะสู่ขั้นตอนการคัดเลือกรูป อยากชวนมาดูจุดตั้งต้นอย่างการถ่ายภาพของเขากันก่อน เพราะถึงแม้พี่เต๋อจะมีสไตล์ภาพที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ละภาพดูแล้วก็เข้ากัน แต่ต้องบอกว่างานนี้เขาไม่ได้ถ่ายภาพตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ ตรงกันข้าม เป็นการถ่ายแบบที่ไม่คิดว่าจะนำมาแสดง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจตัวตนของเขาจริง ๆ ใต้จิตสำนึก ไม่เหมือนกับหนังที่วางแผนการถ่ายทำ

“บางรูปที่มาแสดง โดยเฉพาะรูปฟิล์ม บางทีก็นานจนลืมไปแล้วว่าเคยมีอยู่ ก็เป็นความรู้สึกที่แปลก ๆ ดี เพราะปกติเราจะจำได้ว่าถ่ายอะไรไป มันเหมือนเราเห็นชีวิตตัวเองเป็นบุคคลที่ 3 อีกทีเพราะเราไม่มีความทรงจำตรงนั้น ก็คิดว่าเรามีพาร์ตนี้ด้วยหรอ” เขาเล่า

จากรูปนับหมื่น กระบวนการคัดเลือกมาจัดนิทรรศการคงไม่ใช่เรื่องง่าย รูปจำนวนมหาศาลเหล่านั้นคงไม่ได้มาจากกล้องฟิล์มอย่างเดียวแน่ ๆ แต่เป็นไฟล์ดิจิตัลจำนวนมาก ที่กองรวมกันอยู่ในฮาร์ดดิสก์ของเขา

“เราชอบกลับไปดูรูปจากมือถือมาก” เขาเล่า “มันบันทึกจากสิ่งที่เราเห็นลงมาจริง ๆ โดยที่ไม่ค่อยมีฟิลเตอร์กรองอะไรออกด้วย เพราะเราไม่มีจุดประสงค์อะไรในการถ่าย มันไม่คิดหรอกว่ารูปนี้จะได้แสดง เลยไม่คิดอะไรเท่าไร ก็ถ่ายเก็บไว้ดูเล่น ๆ วันนั้นมันดีจังอะไรก็แล้วไป มันเลยได้รูปอีกแบบ

“บางทียกมือถือยังไม่ทันเลยเหตุการณ์มันเร็วมาก บางทีถ่ายภาพมา 7 รูป เบี้ยวไปครึ่งนึง แต่มันบันทึกมือ บันทึกท่าทางการขยับตัวของเราตอนนั้นไว้ได้ด้วย เลยไม่ใช่แค่ในเชิงภาพสวย ๆ เท่านั้น แต่เป็นความทรงจำตรงหน้าโมเมนต์หนึ่ง”

“ตอนนี้ถ้าเป็นสไตล์รูป เราว่าเราเปลี่ยนวิธีถ่ายไป” เราถามเขาถึงสิ่งที่ถ่ายอยู่ในปัจจุบัน

“อาจจะเป็นเพราะความสนใจกับเรื่องที่เข้ามาในชีวิต หรืองานต่าง ๆ มันมีโอกาสที่ทำให้เราถ่ายรูปแบบใหม่ขึ้น ไปท่องเที่ยว หรือคนรอบตัวก็เปลี่ยน ย้อนกลับไปดูจะเห็นเลยว่าช่วงปีไหนมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อุปกรณ์ที่ใช้ก็เปลี่ยนไป พออุปกรณ์เปลี่ยนคุณก็เปลี่ยน วิธีถ่ายรูปก็เปลี่ยนไป อาจจะถ่ายรูปน้อยลง แล้วสิ่งที่ถ่ายก็จะเปลี่ยนไปด้วย

“ความตื่นเต้นบางอย่างมันน้อยลง เราไปต่างประเทศครั้งแรกจะรู้สึกอยากถ่ายทุกอย่าง กระเบื้อง เก้าอี้ คนแต่งตัวแปลก ๆ แต่สมมุติไปต่างประเทศครั้งที่ 15 ความตื่นเต้นบางอย่างก็ลดลง ถ่ายก็น้อยลง บางทีก็ขี้เกียจถ่าย อยากเดินเล่นจริง ๆ มากกว่า ไม่ใช่เพราะไม่อยากมองผ่านจอนะ มันแค่ขี้เกียจ เมื่อก่อนเราจะถ่ายเผื่อเก็บไปหมดเลย กลัวพลาดกลัวลืม หลัง ๆ คิดว่าถ้าไม่สำคัญถ่ายแล้วเดี๋ยวก็คงลืมไป พอผ่านไปมันจะชัดขึ้นว่าความรู้สึกไหนหรือสิ่งไหนที่เราสนใจ ถ้าอยากถ่ายอันไหนก็คงหยิบกล้องมาถ่ายเองแบบอัตโนมัติเลย

“ตอนที่ถ่ายก็ไม่ได้คิดอะไรด้วยว่าจะแสดง เพราะฉะนั้นที่ถ่ายมาทั้งหมดมันค่อนข้างเพียวนิดนึง เราถ่ายเพราะเราชอบมัน นี่คือบันทึกความดีใจ/เสียใจช่วงนั้น ก็เลยรู้สึกว่างานมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชีวิตเรา”

กิจกรรมปิดจบช่วงอายุ

ในช่วงสิ้นปีหลายคนอาจจัดบ้าน ทิ้งของเก่า ๆ ให้มีที่วางของใหม่ ๆ ในปีหน้า สำหรับพี่เต๋อ นี่การจัดรูปก็คงเป็นกิจกรรมคล้าย ๆ กันที่เราจะได้เห็นตัวตน มุมมองต่อโลก ช่วงเวลาที่ใช้ หรือกิจกรรมที่ทำ ในช่วงอายุหนึ่ง เป็นเหมือนการเตรียมพร้อมเข้าสู่ช่วงเวลาข้างหน้าที่กำลังจ้องจะเข้ามา

“เหมือนกับมันปิดจบไปอีกเฟสหนึ่งในเชิงถ่ายรูป แล้ววิธีคิดกับชีวิตมันก็เปลี่ยนไป ช่วงอายุ 20 - 35 คุณจะรู้สึกว่าต้องวิ่งไปให้ถึงเป้าหมายบางอย่างหรืออะไรก็ตาม แต่พอถึงตอนนี้เราจะรู้สึกว่ามันพ้นไปแล้วหรือว่าบางอย่างก็ไม่ถึงหรอก

“แต่มันเหมือนกับแรงตอนอายุ 20 มันไม่มีแล้ว แล้วเราก็อยากจะสรุปอันนี้ก่อน คล้าย ๆ ว่ารูปไหนสำคัญบ้าง เอามาแค่นี้แหละ 120 รูปพอ แล้วไปต่อ แต่ก่อนจะรู้สึกว่ามันต้องแบกไว้ทั้งหมด

“หลังจากนี้ทุก 10 ปี เราจะไล่ปิดไปเรื่อย ๆ เพราะในเชิงการดำเนินชีวิตหรือการทำงานรู้สึกว่ามันต้องเอาใหม่ เพราะตอนนี้เรารู้สึกว่าคนจะคิดว่าเราจะต่อยอดขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเกิดผ่านเลเวล 39 ต่อไปจะเป็นเลเวล 40 แต่สำหรับเรามันคือการเอาใหม่อีกรอบหนึ่ง 40 ไม่เกี่ยวกับอะไรที่ผ่านมาทั้งหมด เหมือนมันเป็นอีกคนหนึ่งไปแล้ว ความสนใจก็เปลี่ยน ยุคสมัยก็เปลี่ยน

“สมมุติวงการหนังมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ซึ่งสำหรับเราพอดีฉิบหาย โอเคเริ่มใหม่อีกรอบหนึ่ง เราไม่ค่อยรู้สึกกลัวการเปลี่ยนแปลงพวกนี้เท่าไร เพราะเรารู้สึกว่ามันต้องเริ่มใหม่ตลอด ทำหนังมันต้องเริ่มใหม่อยู่แล้ว ทีนี้พอมันเป็นยุคสมัยที่ต้องเอาใหม่มันก็เหมือนเริ่มทำหนังเรื่องใหม่เหมือนเดิม ก็เลยไม่รู้สึกแพนิคมาก มันก็จะกลับไป เหมือนเราทำสามก๊กอีกรอบหนึ่ง แต่คราวนี้บริบทมันเปลี่ยน ตัวเราเปลี่ยน ความสนใจเราเปลี่ยน วิธีการทำหนังของเราก็เปลี่ยน เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า 10 ปีที่กำลังจะถึงนี้เราจะไปอยู่ตรงไหน จะเป็นอย่างไร ซึ่งบางทีคนอื่นอาจจะเป็นฟีลกลัว ๆ แต่เรารู้สึกไม่กลัวหรอก ทำสามก๊กก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่รู้เหมือนกันว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ทำอย่างที่อยากทำก็ไม่ได้ซ้ำของเดิมเท่าไร ไปหาอันใหม่ ถามตัวเองว่าตอนนี้สนใจอะไรกันแน่ อยากทำอะไรบ้าง แล้วก็ใช้ 10 ปีต่อไปที่เหลือทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา

“มันเหมือนปิดจบมั้ง ก็ดีเหมือนกัน เพราะบางทีเหมือนกับเราใช้ชีวิตจนลืมสังเกตว่าตอนนี้ชีวิตเราอยู่ตรงไหนแล้ว เหมือนไม่มีวันประมวลผล ไม่มีวันสรุป มันก็จะงง ๆ นิดนึง เหมือนต้องยอมรับว่าบางอย่างเราก็ห่วย หรือบางอย่างตอนนั้นไม่น่าทำอย่างนั้นเลย แต่มันก็ต้องเก็บไปเรียนรู้เพื่อจะไม่ทำอีก หรือเพื่อไปพัฒนาต่อ เวลาคุณทำงานทุกครั้งมันจะได้สิ่งเหล่านี้ตอนประเมินผลนี่แหละ เพราะตอนทำอยู่นัวมากเลย บางทีใครหน้าไหนมาขวางก็ไม่สนทั้งนั้น จนวันประเมินผลปรากฏว่าที่สู้แทบตายได้แค่นี้ แต่เสียเพื่อน เสียความรู้สึกไปแล้ว เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นเหมือนการประเมินผลของงานที่ผ่านมาทั้งหมดโดยใช้ภาพถ่าย”

นิทรรศการที่เต็มไปด้วยภาพถ่าย แต่ไม่ใช่นิทรรศการภาพถ่าย

“ตอนแรกคิดว่านิทรรศการนี้มันคงเป็นงานภาพถ่ายแหละ แต่พอทำไป เลือกภาพทั้งหมด จะเริ่มรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วนิทรรศการนี้มันขึ้นอยู่กับขั้นตอนในการเลือก ขั้นตอนในการกลับไปมองภาพที่ผ่านมาทั้งหมด” เขาเล่า

ถ้าจะมีตัวเอกสักคนในนิทรรศการนี้สักคน คงไม่ใช่ภาพใดภาพหนึ่ง และไม่ใช่แม้แต่ตัวละครคนใดคนหนึ่งในภาพ แต่คือ ‘น้ำหนัก’ ที่ผู้ชมจะได้ผ่านการยกภาพแต่ละภาพที่วางซ้อนกัน แต่ทำไมจะต้องยก?

“พอเลือกดูภาพไปสักพักแล้วคุณจะเหนื่อย รู้สึกว่ามันเยอะ แล้วต้องใช้ความคิดว่าทำไมรูปนี้ต้องถูกเลือก แล้วคุณจะรู้สึกหนักเหมือนกัน ในเชิงปริมาณของรูป เวลาที่ใช้ และการมองตัวตนที่ผ่านมาของตัวเองในแต่ละรูป ทำไมชีวิตมันเยอะแยะมากมาย

“มันเหมือนการยึดติดนิดนึง นี่มันคือตัวตนเราทั้งหมดเลย แล้วคิดว่าจะเฉือนมันมาโชว์ มันก็หมกมุ่นสักนิดนึง อะไรจะแสดงความเป็นเราได้ดีที่สุด เรารู้สึกในกระบวนการนี้และความรู้สึกนี้ เลยเข้าใจว่า Heavy มันคือกระบวนการ ไม่ใช่รูป ที่สำคัญมันเกิดขึ้นทั้งหมดในการทำงานนี้ เป็นสิ่งที่ปกติหนังมันให้ไม่ได้

“เอาจริง ๆ คนเราไม่ค่อยได้มีโอกาสยกอะไรพวกนี้เท่าไรในทางหนึ่ง เพราะอย่างตัวต้นทางของงานนี้เราปรินต์รูปมามันใหญ่มากเกือบ 2 เมตร ตอนเขาเอากรอบมาส่งเขาส่งแค่หน้าบ้าน เราแหละต้องแบกรูปที่ตัวเองถ่ายเข้าไป แล้วมันรู้สึกแปลกมากไม่เคยเห็นงานตัวเองใหญ่ขนาดนี้ ไม่เคยแบกงานตัวเองจริง ๆ อย่างนี้ มันคือเซนส์นี้ที่เรารู้สึกว่าน่าสนุกดีและน่าสนใจ

“เราชอบนิทรรศการที่มันมอบความรู้สึกบางอย่างที่ปกติทำไม่ได้ คือรูปมันดูได้สบายอยู่แล้ว แต่ว่าเรื่องประสบการณ์ ความรู้สึกบางอย่าง ชีวิตจริงเราไม่ค่อยได้ทำมัน แต่ศิลปะมันทำให้มานั่งย่อนั่งแบกอันนี้กันได้ ก็ลองดูมันไม่ได้เสียหายอะไรมาก” เขาชวน

“แต่อย่างที่ว่า เราก็เผื่อไว้ บางคนอาจจะมีปัญหาหลังเข่า ก็ดูภาพที่แขวนไว้รอบ ๆ ก็ได้ เพราะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน”

นิทรรศการ HEAVY โดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จัดแสดงที่ @bangkokcitycity ตั้งแต่วันนี้ - 11 พฤศจิกายน 2566

RELATED POSTS

ศิลปะแห่งการออกแบบสัตว์ประหลาด ความเป็นมนุษย์ และสงครามเย็น คุยกับ ‘มะเดี่ยว-ชูเกียรติ’ และ ‘เอก-เอกสิทธิ์’ จาก 13 เกมสยอง สู่ Taklee Genesis: ตาคลี เจเนซิส
In Focus
Posted on Sep 16
คุยกับ ‘บอส-นฤเบศ กูโน’ และ ‘มายน์-ชญานุช เสวกวัฒนา’ ว่าด้วยเบื้องหลังการรีเสิร์ชเพื่อสร้าง ‘วิมานหนาม’ ผ่านสถานที่และดีไซน์เสื้อผ้าในหน้าจอ
In Focus
Posted on Sep 11
สำรวจภาวะ​​ ’คนนอก’ ของตัวเองและของตัวละครแซฟฟิกอมนุษย์ต่างชนชั้น ใน ‘ฝนเลือด’ ของศิลปินคนทำหนัง อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
In Focus
Posted on Sep 9
‘เอ๋ - ปกรณ์ รุจิระวิไล’ กับการบอกลาศิลปะแบบเมืองใหญ่ และความท้าทายของอาร์ตสเปซในเมืองเล็ก ๆ
In Focus
Posted on Aug 15