ผู้หญิงของนาซี บทกวียิวในค่าย และนิทานกล่อมเด็ก 3 เกร็ดประวัติศาสตร์ในหนังหลังบ้านนาซี ‘The Zone of Interest’

Post on 7 March

(บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์)

‘The Zone of Interest’ หรือ ‘วิมานนาซี’ คือภาพยนตร์ของ ‘โจนาธาน กลาเซอร์’ ผู้กำกับชาวอังกฤษที่สามารถเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนี้ได้มากถึงห้าสาขา และยังเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศกรังด์ปรีซ์ (Grand Prix) รวมถึงรางวัล FIPRESCI Prizes และดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครองด้วย

ความท้าทายของการสร้างหนังที่ขึ้นชื่อว่าเกี่ยวข้องกับ ‘นาซี’ และ ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’ ก็คงจะเป็นเรื่องของการสร้างความแตกต่าง เพราะผู้ชมหลายคนย่อมคาดหวังว่าเรื่องราวที่ผู้กำกับแต่ละคนจะหยิบขึ้นมาเล่านั้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร หรือเรียกง่าย ๆ ว่ายังมีประวัติศาสตร์มุมไหนที่เรายังไม่รู้อีกบ้างหรือเปล่า? ซึ่งจุดโฟกัสในเรื่อง The Zone of Interest ก็ถือว่าแตกต่างจากเรื่องอื่นอยู่มาก เพราะเป็นการพาเราไปเฝ้ามองชีวิตประจำวันอันแสนธรรมดาของครอบครัวเฮิส ที่อ้างอิงมาจากประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงของครอบครัว ‘รูด็อล์ฟ เฮิส’ ผู้บัญชาการประจำค่ายเอาชวิทซ์ ผู้ปักหลักสร้างวิมานในฝันข้างค่ายกักกันอันน่าหดหู่

ความธรรมดาที่ว่านี้ ก็คือธรรมดาจริง ๆ เช่น ฉากการตื่นนอนตอนเช้า การตั้งวงนินทา การเลี้ยงลูก การทานอาหาร การเล่นกับลูก การออกไปทำงาน การส่งลูกไปโรงเรียน และอีกสารพัดกิจวัตรประจำวันที่ครอบครัวทั่วไปจะทำกัน ชนิดที่ว่าหากหนังไม่บอกเรื่องย่อมาตั้งแต่ต้นว่าเกี่ยวข้องกับนาซี เราก็คงจะมองว่าครอบครัวนี้เป็นครอบครัวนายทหารธรรมดาแน่นอน แต่ถึงแม้ว่า The Zone of Interest จะสร้างความแตกต่างด้วยการเล่าเรื่องนาซีด้วยฉากในรั้วบ้าน ทว่าเขาก็ได้ใช้ความ ‘รู้ดี’ ของผู้ชม ในการถ่ายทอดความน่ากลัวทั้งหมดของสงครามโลกครั้งที่ 2 และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในรูปแบบอื่นออกมาด้วย

ดังนั้นความน่ากลัวของ The Zone of Interest จึงไม่ใช่งานภาพ แต่เป็นเสียงพื้นหลัง องค์ประกอบฉากที่ไม่ได้เน้นให้ดูสลักสำคัญ และการกระทำที่ไม่มีคนให้ค่า ที่เล่นกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวต่าง ๆ ของผู้ชม ว่าต่อให้ไม่เห็น แต่เราทุกคนต้องรับรู้ได้แน่นอนว่า เบื้องหลังเสียงกรีดร้องที่ดังขึ้นมาเป็นระยะ ๆ จากที่ไม่ใกล้ไม่ไกล กลุ่มควันขโมงยามค่ำคืน กลิ่นเหม็นอันน่ารังเกียจ ที่มาของเสื้อผ้าและสิ่งของราคาแพงของคุณนายเฮิส การอุปมาอุปไมยถึงชื่อดอกไม้แบบไร้เหตุผล และสารเคมีน่ากลัวที่ไหลมาตามแม่น้ำนั้น คือสัญญะของอะไรกันแน่

ด้วยเหตุนี้ ต่อให้เรื่องราวใน The Zone of Interest จะวนเวียนอยู่กับเรื่องราวในรั้วบ้าน และฉากการใช้ชีวิตของครอบครัวเฮิส ที่ไร้ซึ่งความรุนแรง (?) ใด ๆ ให้เห็นในเชิงประจักษ์ แต่พวกเเราก็ยังมองเห็นสัญญะทางประวัติศาสตร์ และร่องรอยความพิกลพิการในจิตใจของตัวละคร ปรากฏออกมาในหลาย ๆ ฉากได้อย่างนับไม่ถ้วน ซึ่งในวันนี้ GroundControl ก็ขอเลือกเอา 3 เรื่องราวเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นใน ‘The Zone of Interest’ ที่สะท้อนเกร็ดประวัติศาสตร์สำคัญของนาซี มาขยายให้ทุกคนอินกับเรื่องราวต่าง ๆ มากขึ้น พร้อมกับถอดรหัสเบื้องหลังการกระทำและความคิดหลาย ๆ อย่างของตัวละครไปพร้อม ๆ กัน

‘หลังบ้านนาซี’ บทบาทของสตรีผู้มีหน้าที่โอบอุ้มอารยัน

“หน้าที่ของคุณคือไปทำงาน หน้าที่ของฉันคือการอยู่บ้านเลี้ยงลูก!”
.
ถ้าจะมีบทสนทนาไหนที่สะท้อนให้เราเห็นถึงบทบาทหน้าที่ของคนในครอบครัวเฮิสจากเรื่อง The Zone of Interest ได้ชัดเจนที่สุด ก็คงจะเป็นบทสนทนาระหว่างเม้งแตกของคู่สามีภรรยาคู่นี้ ที่เกิดขึ้นหลังจากเฮ็ดวิกผู้เป็นภรรยาทราบข่าวว่ารูด็อล์ฟจะต้องย้ายออกจากค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ ไปทำหน้าที่ในพื้นที่อื่น และอาจทำให้บ้านในฝันที่พวกเขาลงทุนลงแรงสร้างกันขึ้นมา ต้องตกไปอยู่ในมือของผู้บัญชาการคนใหม่
.
แต่ถึงเราจะบอกว่าลงทุนลงแรงสร้างมาด้วยกัน ทว่าจากบทสนทนาที่เฮ็ดวิกพูดคุยกับแม่ของตัวเองระหว่างมาเยี่ยมบ้าน เราก็จะทราบได้ทันทีว่าเธอคือคนที่บริหารจัดการทุกอย่างในบ้าน รวมถึงความตั้งใจในการออกแบบสวนและพื้นที่ต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับครอบครัว ดังนั้นคนที่มีบทบาทในการสร้างวิมานนาซีแห่งนี้มากที่สุด น่าจะเป็นตัวเฮ็ดวิกเพียงคนเดียวมากกว่า เมื่อประกอบเข้ากับเรื่องราวทั้งหมดใน The Zone of Interest ได้โฟกัสไปยังเรื่องราวในชีวิตประจำวันอันเกิดขึ้นในรั้วบ้านของครอบครัวนี้ เราจึงได้เกาะติดหลังบ้านนาซีที่มีวิถีชีวิตแบบอนุรักษ์นิยม โดยเพศชายมีหน้าที่ออกไปทำงานหาเงินและปกป้องครอบครัว ส่วนผู้หญิงคือแม่บ้านที่ต้องมีลูกและเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุดได้อย่างชัดเจน
.
การดำรงครอบครัวแบบนี้ ถือว่าเป็นบรรทัดฐานปกติของสังคมชาวแก๊งนาซีในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นข้อสังเกตทางประวัติศาสตร์อันเป็นผลพวงมาจากเจตจำนงของฮิตเลอร์ที่มองว่าหญิงชายเท่าเทียมกันก็จริง แต่ก็แตกต่าง เขาจึงกำหนดบทบาทของผู้หญิงให้วนเวียนอยู่กับ ‘Kinder, Küche, Kirche’ ซึ่งเป็นคำในภาษาเยอรมันหมายถึง ‘บุตร, ครัว, โบสถ์’ เป็นหลัก พร้อมกับออกนโยบายเกี่ยวกับการแต่งงานมากมายขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้สังคมในอุดมคติของเขาดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่หน้าประวัติศาสตร์ต่างจับจ้องไปยังเหล่าทหารนาซีที่ออกรบตามที่ต่าง ๆ ในอีกมุมหนึ่งของหน้ากระดาษ ก็ยังมีเรื่องราวของเหล่าผู้หญิงที่ต้องรับบทบาทอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เพื่อรักษา ‘เผ่าพันธุ์อารยัน’ อันบริสุทธิ์ให้คงอยู่สืบไป
.
ตัวอย่างนโยบายการแต่งงานที่เกิดขึ้นในยุคนั้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายข้อ เช่น การสร้างกฎหมายส่งเสริมการแต่งงานในเดือนมิถุนายน ในปี 1933 ที่มอบเงินกู้ยืมให้แก่คู่บ่าวสาวจำนวน 1,000 ไรชส์มาร์ค และถ้ามีบุตรจะได้เพิ่มอีกคนละ 250 ไรชส์มาร์ค ยังมีการมอบรางวัล ‘กางเขนแห่งเกียรติยศของมารดาเยอรมัน’ หรือ ‘Cross of Honour of the German Mother’ ให้กับผู้หญิงที่มีลูกเยอะ ๆ โดยเหรียญทองแดงสำหรับคนมีลูก 4 คน เหรียญเงินสำหรับคนมีลูก 6 คน และเหรียญทองสำหรับคนมีลูก 8 คนขึ้นไป พร้อมสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและสวัสดิการอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการได้ตั๋วโรงละครราคาถูก และการได้รับอนุญาตให้ข้ามคิวเวลาไปที่ต่าง ๆ อีกทั้งยังมีกฏหมายการแต่งงานที่อนุญาตให้ผู้ชายหย่าได้ง่ายขึ้นด้วย เช่น ถ้าผู้ชายมีลูกแล้วสี่คน ก็สามารถหย่าได้ เพื่อไปแต่งงานใหม่และมีลูกเพิ่มได้อีก เป็นต้น
.
อย่างไรก็ตาม กฏที่ว่ามานี้ยังไม่ใช่ทั้งหมด เพราะฮิตเลอร์ไม่ได้ต้องการเน้นปริมาณเพียงอย่างเดียว แต่เป้าหมายของเขาคือการสร้าง ‘อารยันอันบริสุทธิ์’ ขึ้นมาให้ได้มากที่สุดต่างหาก ดังนั้นเขาจึงมีการออกกฏอื่น ๆ ขึ้นมาสำทับ เพื่อป้องกันเด็กที่ผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น เช่น การออกกฏห้ามแต่งงานระหว่างอารยันกับคนที่ไม่ใช่อารยัน การออกกฏห้ามทำแท้ง (ยกเว้นตรวจพบว่ามีความบกพร่อง) และยังมีการออกกฏให้ทำหมันคนพิการ หรือคนที่ไม่เป็นที่ต้องการได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย
.
บทบาทของเพศหญิงในยุคนั้นจึงเป็นได้เพียงแม่ เมีย และแรงงาน (ในกรณีที่ไม่สามารถมีบุตรได้) จึงไม่แปลกใจเลยที่เราจะเห็นครอบครัวเฮิสในเรื่อง The Zone of Interest มีบุตรมากถึงห้าคน และมีคุณนายเฮิสเป็นคนตัดสินใจใหญ่สุดในบ้าน เพราะพื้นที่ในบ้านและการดูแลครอบครัวคือสมรภูมิของเธอ ไม่ใช่ของรูด็อล์ฟ การตัดสินใจสร้างบ้าน และปักหลักอยู่ในพื้นที่เดิม โดยไร้เงาของสามีในช่วงเวลาหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่คำนวนมาแล้วว่าเหมาะสมที่สุดต่อการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ในแบบที่เธอถูกปลูกฝังมา

‘แสงอาทิตย์’ บทเพลงแห่งความหวัง ที่ดังขึ้นแค่เพื่อคนที่อยากฟัง

แสงอาทิตย์, สว่างไสวและอบอุ่น
ร่างกายมนุษย์, อ่อนเยาว์และแก่ชรา
และผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ที่นี่,
หัวใจของเรายังไม่ด้านชา

ถ้อยคำสั้น ๆ ราวกับบทกวีที่ปรากฏบนหน้าจออยู่เงียบ ๆ คลอไปกับเสียงเปียโนจากปลายนิ้วของตัวละครสาวไร้นาม เป็นจังหวะสั้น ๆ ให้ทุกคนได้พักหายใจ ระหว่างฟังเสียงความตายที่ดังเป็นปกติตลอดภาพยนตร์ นั่นคือบทเพลง ‘แสงอาทิตย์’ (Sunbeams) ที่เขียนขึ้นโดยชาวยิวจริง ๆ ภายในค่ายกักกันเอาชวิทซ์จริง ๆ ซึ่งเหลือรอดมาได้ เป็นหลักฐานถึงเสียงแห่งความหวังเล็ก ๆ ที่เพียงตั้งใจฟังหน่อยก็จะได้ยิน

หนึ่งในเทคนิคภาพที่เปลี่ยนมุมมองของเราอย่างรุนแรงใน The Zone of Interest คือการใช้กล้องจับความร้อน ถ่ายเด็กสาวคนหนึ่ง แอบออกจากบ้านวิมานนาซีในยามค่ำ เพื่อวางผลแอปเปิ้ลไว้ตามทาง สำหรับเหล่าผู้ถูกคุมขังในค่าย ซึ่งทำให้เธอได้พบม้วนกระดาษแผ่นหนึ่ง ซ่อนอยู่ในกระป๋องซึ่งถูกฝังเอาไว้ในผืนดิน

กระดาษแผ่นนั้นคือโน้ตเพลงแสงอาทิตย์เพลงนี้ และเด็กหญิงคนนั้นก็คือ ‘อเล็กซานเดรีย’ เด็กหญิงที่มีชีวิตอยู่จริงจากช่วงเวลานั้น เธอทำงานให้กับขบวนการต่อต้านชาวโปแลนด์ด้วยอายุเพียง 12 ปี และได้พบกับโน้ตดนตรีปริศนานี้ ก่อนจะเป็นที่เข้าใจกันภายหลังว่าคือบทเพลงจากนักโทษเอาชวิทซ์ที่ชื่อ ‘โทมัส วูล์ฟ’

วูล์ฟเป็นหนึ่งในผู้ที่สามารถเอาชีวิตรอดจากค่ายสังหารหมู่สุดโหดนี้มาได้ และได้บันทึกเสียงร้องเพลงนี้ในภาษายิดดิช (ของชาวยิว) ด้วยตัวเองอีกด้วย (ลองไปฟังได้ที่ https://collections.ushmm.org/search/catalog/irn671467) แต่ทำไมฉากนั้นในหนังกลับไม่มีเสียงร้องอะไรเลย มีแต่เสียงเปียโนของเด็กสาว?

คงเพราะเด็กหญิงที่เล่นเปียโนอยู่นั้นก็ได้ยินแค่นี้ เพราะถึงแม้ในกระดาษโน้ตจะมีสัญลักษณ์บอกระดับเสียงดนตรีและเนื้อร้อง แต่เราก็ไม่อาจจินตนาการได้เลยว่าถ้าเธอร้องเพลงภาษายิดดิชที่มีนัยถึงความหวังและการต่อต้านออกมาดัง ๆ เธอจะต้องเจอกับความโหดร้ายรูปแบบใดบ้าง เราจึงได้ยินแต่ท่วงทำนองนี้ด้วยความรู้สึกที่ลึกลับ

เสียงร้องที่ไม่มีอยู่ของวูล์ฟ อาจจะกำลังกระตุ้นเราในแบบตรงกันข้ามกับเสียงกรีดร้องของเผ่าพันธุ์ที่กำลังถูกกวาดล้าง เพราะในขณะที่เราถูกโยนเข้าไปให้ได้ยินเสียงแห่งความเจ็บปวดจริง ๆ เหมือนกับครอบครัวของผบ.เฮิส แต่ถ้าไม่สนใจซะอย่าง มันก็เป็นแค่เสียงบรรยากาศทั่วไป แต่ ณ ที่ตรงนั้น ถึงเราจะไม่ได้ยินเนื้อเพลงของวูล์ฟ แต่ถ้าเราสนใจและตั้งใจฟังมันซะอย่าง เสียงร้องของวูล์ฟก็อาจจะดังชัดขึ้นในสัมผัสของเราได้

ในฉากที่ตามมาท้ายเรื่อง เหล่านักดนตรีมากความสามารถกลุ่มหนึ่งได้มาบรรเลงฝีมือของพวกเขาให้แขก ๆ นาซีในงานเลี้ยงได้ฟัง ทำให้เราเกิดคำถามตลกร้ายในใจว่า เหล่านายพันนายพลที่สังสรรค์อยู่ในนั้น มีใครได้ฟังฝีมือของนักดนตรีกลุ่มนี้บ้างไหม? หรือพวกเขาแค่เพียงได้ยินเสียงต่าง ๆ ผ่านหูมาแล้วก็ผ่านไปเท่านั้น?

‘ฮันเซลและเกรเทล’ ฆาตรกรรมโหดในนิทานกล่อมนอนเด็ก

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความตายหลังกำแพงค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ผู้บัญชาการค่ายอย่างรูด็อล์ฟก็ยังมีเรื่องราวแสนหวานของนิทานเด็กเรื่องสองพี่น้อง ‘ฮันเซลและเกรเทล’ มาเล่ากล่อมนอนให้ลูก ๆ ของเขาฟัง แต่ท่ามกลางบ้านขนมหวานและบุฟเฟ่ต์ของกินที่เด็ก ๆ ทั่วโลกคงอยากเจอบ้างสักครั้ง ก็ยังมีความโหดเหี้ยมอยู่ในเรื่องอย่างเปิดเผย ไม่ต่างจากเสียงกรีดร้องของผู้คนที่ถูกต้อนเข้าเตาควัน ซึ่งจะโหยหวนดังลั่นชัดเจน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจ

ฮันเซลและเกรเทล คือนิทานเด็กที่เล่ากันในภูมิภาคเยอรมัน สืบประวัติย้อนไปได้ถึงเรื่องเล่าอื่น ๆ ทำนองเดียวกันที่มีมาตั้งแต่ช่วงปลายยุคกลางของเยอรมัน (1250–1500) แต่ถูกบันทึกอย่างเป็นระบบจริง ๆ ครั้งแรกโดยพี่น้องนักรวมนิทานตระกูลกริมม์เมื่อปี 1810 และก็เล่ากันต่อเนื่องมาจนถึงยุคนี้ ทั้งในรูปแบบหนังสือ ภาพยนตร์ ไปจนถึงบ้านจำลองในสวนสนุก โดยแต่ละเรื่องก็อาจมีการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องเล็กน้อยไปตามค่านิยมของยุคสมัย แต่ใจความสำคัญยังเหมือนเดิม

เดิมทีเรื่องราวของสองพี่น้องเกิดขึ้นในเยอรมนี ช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ขาดแคลนอาหารรุนแรง ครอบครัวของฮันเซลและเกรเทลที่มีพวกเขาอยู่กับพ่อที่เป็นช่างตัดไม้ฐานะไม่ค่อยดี กับแม่เลี้ยงที่ยุให้สามีพาเด็กทั้งสองไปปล่อยทิ้งไว้ในป่า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งแม้จะพ่อของพวกเขาจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ดันทำตามอยู่ดี

เด็ก ๆ ในเรื่องนี้ก็ฉลาดมาก พอแอบได้ยินเสียงแม่เลี้ยงกับพ่อวางแผนกัน พอต้องเข้าป่ากับพ่อจริง ๆ ก็เลยแอบวางก้อนกรวดไว้เป็นทางกลับบ้าน ทำให้ถึงจะถูกทิ้งไว้กลางป่าก็ยังหาทางกลับได้ แต่ท้ายที่สุดเมื่อภาวะอดอยากหนักเข้า พ่อก็ต้องปฏิบัติการแบบเดิมอีกครั้ง โดยมีแม่เลี้ยงจัดการไม่ให้พวกเขาสะสมก้อนกรวดสำหรับทำสัญลักษณ์ตามทางได้ พวกเขาเลยต้องใช้ขนมปังโรยตามทางแทน แต่ก็ดันมีพวกนกมากินเศษขนมปัง เลยทำให้พวกเขากลับบ้านไม่ได้และต้องเดินเตร่อยู่ในป่า จนโชคดี เจอบ้านที่ทำจากขนมปัง เค้ก และน้ำตาล เลยพุ่งเข้าไปกินด้วยความหิว

แน่นอนว่านั่นคือบ้านของ “หญิงชราใจดี” ผู้ต้อนรับเด็กทั้งสองเข้ามา และหาอาหารอย่างดีให้กินอยู่เสมอ เพราะว่าจริง ๆ แล้วเธอเป็นแม่มดที่จ้องจะกินร่างเด็กทั้งสอง มาถึงตรงนี้ ถ้าเป็นนิทานเวอร์ชั่นปัจจุบันก็อาจจะเล่าตอนจบว่า แม่มดหลอกเกรเทลให้โดดเข้าไปในเตา เพื่อที่จะอบกิน แต่ด้วยความฉลาดของเกรเทล เธอจึงหลอกให้แม่มดทำให้ดูก่อนว่าต้องทำอย่างไร แม่มดจึงโดดเข้าไปในเตา และเกรเทลก็ปิดเตาขังแม่มดไว้ในนั้นแทน และหนีออกมาได้ในที่สุด

แต่อีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่ผบ.เฮิส เล่าให้ลูกของเขาฟังก่อนนอนในหนังเรื่องนี้ แม่มดก่อไฟในเตาอบ และบอกให้เกรเทลไปดูให้หน่อยว่าเตาร้อนพอหรือยัง เกรเทลจึงหลอกแม่มดให้ไปทำให้ดูแทน และเธอจึงผลัก(/ถีบ/โยน)แม่มดลงไปในเตาร้อน ๆ ก่อนจะปิดประตูขัง และพากัน “ร้องไห้ด้วยความปลื้มปิติพร้อมกล่าวขอบคุณพระเจ้า” กับฮันเซล ก่อนจะเอาทรัพย์สมบัติของนางแม่มดกลับบ้าน ทำให้ใช้ชีวิตกับคุณพ่อได้โดยไม่ต้องอดอยากอีกต่อไป

ตอนเด็ก ๆ เราก็คงไม่เอะใจอะไรตอนฟังนิทานเรื่องนี้เลย จนกระทั่งฉากสุดท้ายถูกเล่าออกมาจากปากนายทหารนาซี ผู้มีบทบาทสำคัญในการจับ “ปีศาจร้าย” ในโลกของเขาเข้าเตาร้อนเพื่อปลิดชีวิตเสียให้หมด เช่นเดียวกับบทบาททางเพศที่แบ่งให้ผู้ชายเป็นคนทำงานหาเลี้ยงครอบครัว และผู้หญิงเป็นตัวร้าย ที่อยู่ในเนื้อเรื่อง

จะว่าแอบแฝงอย่างแนบเนียนก็ไม่ใช่ เพราะความรุนแรงและค่านิยมทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมา สอนเด็ก ๆ ให้ได้รู้จัก “ไหวพริบเอาตัวรอด” และสอนให้รู้ว่าพระเจ้าจะช่วยให้เรารอดจาก “คนชั่ว” ได้อย่างไร

หลังฉากนี้ผ่านไปไม่นาน เราได้เห็นลูก ๆ ของผบ.เฮิส เล่นอะไรไปเรื่อยในห้องนอน ก่อนจะได้ยินเสียงทะเลาะวิวาทดังมาจากค่ายกักกัน พฤติกรรมและคำพูดต่อมาของเขาอาจทำให้เราขนลุกด้วยความสะพรึง แต่ความสยองที่จริงที่ทำให้เขาทำอย่างนั้น อาจเป็นความรุนแรงเล็ก ๆ ที่เผยตัวต่อหน้าต่อตาเราตลอดเวลา แต่เราไม่คิดว่ามันแปลกประหลาดอะไร และส่งต่อไปเรื่อย ๆ เหมือนกับการที่คนดีเอาชนะปีศาจร้ายด้วยการจับลงเตาแล้วสังหารเสียหมด

อ้างอิง

WOMEN IN THE THIRD REICH

Life for women and the family in Nazi Germany - CCEA

Life in Nazi-controlled Europe

‘The Zone of Interest’ asks us to consider the unthinkable

The song, and the Holocaust survivor, behind the year’s most stunning moment in film