cover web.jpg

ส่อง 3 องค์ประกอบ Y2K Aesthetic จาก NewJeans วงเกิร์ลกรุ๊ปน้องใหม่

Post on 24 August

ว่ากันว่าเดือนสิงหาคมของปีนี้คือเดือนที่สมรภูมิเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีร้อนระอุดุเดือดแบบฆ่าได้ฆ่า เพราะแค่เดือนนี้เดือนเดียวก็มีวงเกิร์ลกรุ๊ปตัวแม่ทยอยคัมแบ็คกันแบบแน่นชาร์ต ไล่มาตั้งแต่การกลับมารวมตัวของแม่ ๆ Girl’s Generation, การคัมแบ็กในรอบ 2 ปีของ Blackpink, การกลับมาพร้อมกับเพลงปลุกใจ ‘กาเท๊ย’ อย่าง IVE ไปจนถึง Twice ที่เตรียมคัมแบ็กในวันที่ 26 สิงหาคมนี้

แม้จะเป็นเดือนที่เหล่าตัวแม่ลงสนามกันอุตลุดจนแฟน ๆ K-pop ต่างเห็นตรงกันว่า เดือนนี้ไม่แน่จริง อย่าหาญสู้ แต่ก็ยังมีหนึ่งวงเกิร์ลกรุ๊ปน้องใหม่ที่ขอสวนกระแสด้วยการเดบิวต์เปิดตัวในเดือนนี้ ซึ่งผู้กล้าหาญชาญชัยก็คือ NewJeans วงน้องใหม่จาก ADOR ค่ายเพลงภายใต้ร่มเงา HYBE ค่ายเพลงที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ BTS นั่นเอง

แม้จะเพิ่งเดบิวต์ได้ไม่ถึงเดือน แต่ตอนนี้น้อง ๆ NewJeans ก็กำลังเดินหน้าล้างชาร์ตแบบไม่แคร์รุ่นพี่ โดยนอกจากจะทุบสถิติกลายเป็นวงเกิร์ลกรุ๊ปที่มียอดพรีออร์เดอร์อัลบั้มสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติเคป็อปแล้ว ยังเพิ่งทำสถิติ Real-time all kill ที่จะเกิดขึ้นเมื่อซิงเกิลนั้น ๆ ขึ้นสู่อันดับ 1 ของชาร์ตเพลงใหญ่ของเกาหลีพร้อมกัน คือ Bugs, Genie, MelOn, และ FLO

แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอายุของสมาชิกในวงทั้งห้าอย่าง มินจี, ฮันนิ, แดเนียล, แฮริน และฮเยอิน ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่แค่ 16 ปี (พี่ใหญ่สุดของวงอายุ 18 ปี ส่วนน้องเล็กอายุแค่ 14 ปีเท่านั้น) ในขณะที่มินฮีจิน อาร์ตไดเรกเตอร์และซีอีโอของ ADOR ผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีลักษณะเข้าข่าย ‘Pedophile’ (พวกใคร่เด็ก) จากการที่เธออ้างอิงแรงบันดาลใจในการปั้นวงนี้มาจากไอคอนนักแสดงเด็กยุค 80s-90s อย่าง บรู๊ค ชีลด์ หรือ นาตาลี พอร์ตแมน แต่นั่นก็ไม่สามารถหยุดยั้งความปังเป็นพลุแตกของ NewJeans ได้

และในอีกด้านหนึ่ง มินฮีจินก็ถูกแซ่ซ้องในฐานะอาร์ตไดเรกเตอร์ผู้มีสายตาเฉียบคม (ก่อนจะย้ายมาเป็น CEO ให้ค่ายใหม่ของ HYBR เธอเคยเป็นลูกหม้อของค่าย SM Entertainment จากการเป็นผู้ปลุกปั้นวงดังอย่าง Girls’ Generation, SHINee, Exo, f(x) และ Red Velvet) โดยเฉพาะการใช้วิชวลของ ‘Aesthetic’ ที่กำลังมาแรงในยุคนี้อย่าง Y2K มาลีดคอนเซปต์และภาพรวมของวง จนทำให้ NewJeans โดดเด่นขึ้นมาจากบรรดาเกิร์ลกรุ๊ปน้องใหม่ร่วมยุคที่มักเปิดตัวด้วยคอนเซปต์เฟียส ๆ เปรี้ยว ๆ อย่าง Girl Crush หรือ Royal/Glam

แต่ NewJeans กลับมาพร้อมกับภาพลักษณ์ของความสดใสและการชวนหวนนึกถึงช่วงเวลาแห่งความทรงจำช่วงยุค 2000s โดยทั้งหมดนี้ถูกสะท้อนผ่านทั้งแฟชั่น สไตลิ่ง ไปจนถึงอาร์ตไดเรกชั่นของวง

เพราะเรารักน้อง และรักอาร์ตไดเรกชั่นของวงน้อง เราจึงอยากป้ายยาให้ทุกคนมารักน้องยีนส์ร่วมกันกับเรา ด้วยการไปสำรวจ Y2K Aesthetic ที่สะท้อนอยู่ในองค์ประกอบต่าง ๆ ของวง บอกเลยว่าถ้าคุณเป็นคนที่รักงานออกแบบและงานกราฟิก รับรองว่าจะตกหลุมรักวงนี้แบบถอนตัวไม่ขึ้นแน่นอน!

คอมพิวเตอร์และ Window 9x

ใครที่ได้ดูเอ็มวีของน้อง ๆ NewJeans ครบทุกเพลง ทุกเวอร์ชั่นแล้ว ย่อมต้องสะดุดตากับการใช้วิชวลกราฟิกที่ทำให้นึกถึงคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าแบบยุค 8 บิต และอินเทอร์เฟซของระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์รุ่นคลาสสิกอย่าง Microsoft Window 9x ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กเจนวายคุ้นเคยกันดี ในขณะที่น้อง ๆ ที่โลดแล่นอยู่ในเอ็มวีน่าจะเกิดมาพร้อมกับการมาถึงของสมาร์ตโฟนแล้ว (น้องมินจีพี่คนโตเกิดปี 2004 หรือช่วงเดียวกับที่ Window XP เปิดตัว ส่วนน้องเล็กอย่างฮเยอินเกิดปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่ สตีฟ จ็อบ เปิดตัว iPhone 3G)
.
ทำไมพอพูดถึง Y2K แล้วต้องมีเกี่ยวโยงกับคอมพิวเตอร์รุ่นเก่า? นั่นก็เพราะต้นกำเนิดของ Y2K มีเรื่องมีราวมาจากวิกฤติคอมพิวเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 นั่นเอง!

ย้อนกลับไปในยุคก่อน 2000s พื้นที่สำหรับเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์มีราคาแพงมาก ๆ คอมพิวเตอร์ทั้งหมดในยุคนั้นจึงเก็บข้อมูลปี ค.ศ. ด้วยเลขสองหลักสุดท้าย (2 digits) โดยตัดตัวเลขสองหลักข้างหน้าคือ 19-- ออกไป (เหมือนเวลาที่เราเรียกยุค 50, 60, 70 ฯลฯ วิธีการนี้ช่วยประหยัดพื้นที่เก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ได้อย่างมหาศาล แต่หายนะก็มาเยือนเมื่อโลกหมุนสู่สหัสวรรษใหม่ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 เมื่อถึงเวลานั้น คอมพิวเตอร์ทั้งโลกก็กลับเข้าใจว่ามันคือปี 1900! (เพราะไม่ได้บันทึกเลขสองหลักข้างหน้าเอาไว้) ทำให้การทำงานของระบบผิดเพี้ยน ระบบบัญชี ธนาคาร และโปรแกรมคำนวณทั้งหมดล่มสลาย บัตรเครดิตของผู้ใช้ที่มีวันหมดอายุเป็นปี 2000s ไม่สามารถใช้งานได้ เพราะระบบกลับแปลงค่า 00 เป็นปี 1900 ทำให้บัตรเครดิตทั้งหมดเลยอายุการใช้งาน จนเกิดเป็นวิกฤติคอมพิวเตอร์ทั่วโลก

แล้วทำไมวิกฤติคอมพิวเตอร์ล้างบางโลกถึงกลายมาเป็นสุนทรียะสุดสดใสที่คนคิดถึง? นั่นก็เพราะว่า Y2K ทำให้คนนึกถึงช่วงเวลาแสนสุขในอดีตที่เทคโนโลยียังเป็นมิตร ผู้คนยังเชื่อว่าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และดิจิทัลจะทำให้ชีวิตของทุกคนดีขึ้น นำทุกชีวิตไปสู่โลกอนาคตอันสดใส แต่เมื่อปัญหา Y2K เกิดขึ้น ผู้คนก็เริ่มมองเทคโนโลยีในมุมมองที่ต่างและดาร์กไปจากเดิม จนกลายมาเป็นมรดกทางความคิดที่ส่งผลให้เราทุกวันนี้เริ่มตระหนักถึงด้านมืดและภัยร้ายจากเทคโนโลยีกันมากขึ้นแบบทุกวันนี้

Juicy Couture Fashion
 

เมื่อพูดถึง Y2K สิ่งที่สะท้อนสุนทรียะของยุคคอมพิวเตอร์จอหนายุคนี้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นกางเกงขาม้า เสื้อแจ็กเกตเมทัลลิก เสื้อพอดีตัวสีสันสดใสที่เรียกว่า Babytee เสื้อตาข่ายหรือเสื้อซีทรู เสื้อผ้าจากวัสดุมันวาวหรือสะท้อนสีโฮโลแกรม ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากด้านหลักของ ‘CD’ ประดิษฐกรรมสุดไฮเทคแห่งยุค 2000s ไปจนถึงการมิกซ์แอนด์แมตช์เสื้อผ้าแบบฉีกทุกกฎความคุมโทน เช่น ลายชนลาย หรือเสื้อยีนส์กับกางเกงยีนส์

ทุกสิ่งที่ว่ามานี้ล้วนมีให้เห็นในคอสตูมของ NewJeans ไม่ว่าจะเป็นในภาพโปรโมต โฟโต้บุ๊ค เอ็มวี หรือชุดออกงานต่าง ๆ ซึ่งหากย้อนกลับไปในยุคนั้น แฟชั่นเหล่านี้ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากกระแส Futuristic หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การจินตนาการถึงโลกไซไฟและโลกแห่งอนาคต จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้บรรดาแบรนด์ไฮเอนด์อย่าง Christian Dior ที่สะเทือนวงการแฟชั่นในยุคนั้นด้วยเสื้อแจ็กเก็ตหนังแก้วมันวับที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนัง The Matrix หรือแบรนด์ Miu Miu ที่มาพร้อมกับเสื้อและกระโปรงซีทรู และ Walter Van Beirendonck ที่เป็นต้นกำเนิดของแฟชั่นสีนีออนเปรี้ยวจี๊ด แว่นกันแดดสีเจ็บ และบรรดาเสื้อผ้าทำจากผ้ายืดสแปนเด็กซ์สุดล้ำโลก 

แต่ว่ากันว่าอีกหนึ่งผู้ทรงอิทธิพลสำคัญต่อแฟชั่น Y2K ก็คือบรรดาศิลปินผิวดำในยุค 2000s โดยเฉพาะเกิร์ลกรุ๊ปตัวแม่ในยุคนั้นอย่าง Blaque, 3LW และที่เป็นตำนานที่สุดก็คือ Destiny’s Child (ก่อนที้แม่บียอนเซจะออกมาฉายเดี่ยว) ผู้เปิดทางให้แฟชั่นยีนส์เอวต่ำ สายเดี่ยวสีนีออน และเสื้อตาข่าย ซึ่งแม้กระทั่งแบรนด์ซิกเนเจอร์ของยุค 2000s อย่าง Juicy Couture ที่ปัจจุบันกลายเป็นแบรนด์ยอดฮิตในร้านวินเทจมือสอง ก็มีศิลปินผิวดำอย่าง เจเน็ต แจ็กสัน, อลิเซีย คีย์ และ มิสซี เอลเลียต เปิดทางมาก่อน

โดยว่ากันว่าสาเหตุที่ทำให้ไอดอลผิวดำในยุคนั้นเป็นผู้บุกเบิกแฟชั่นล้ำสมัยเหล่านี้ ก็เพราะพวกเขาได้รับอิทธิพลจากสไตล์ Afrofuturism ที่เฟื่องฟูมาตั้งแต่ยุค 80s โดยเป็นสุนทรียะและแนวคิดที่เชื่อมโยงกับเหล่าคนแอฟริกัน-อเมริกันพลัดถิ่นเข้ากับจินตนาการเรื่องโลกในอนาคตนั่นเอง

Dotcom Graphic Style

อีกหนึ่งความนอสตัลเจียที่พบเห็นได้ในอาร์ตไดเรกชันของ NewJeans ก็คือบรรดาวิชวลกราฟิกต่าง ๆ ที่ทำให้เรานึกถึงโลโก้ค่ายเพลงดังบนปกเทปคลาสเซตต์ (น้อง ๆ เกิดทันมั้ย?) หรือโลโก้แบรนด์สินค้าที่เห็นอยู่ในหน้าแม็กกาซีน ซึ่งเอกลักษณ์ของกราฟิกดีไซน์แห่งยุค Y2K ก็คือการใช้ตัวอักษร 3D ตัวหน้าแบบ ‘บับเบิล’ เน้นให้กระแทกตาเข้าไว้ หรือถ้าเป็นไทโปแบบ 2D ก็จะใช้เส้นหนา ๆ และสีนีออนสะดุดตา รวมไปถึงการใช้กราฟิกที่สื่อถึงพิกเซล อันได้แรงบันดาลใจมาจากการแสดงผลของหน้าจอโทรศัพท์มือถือในยุคเกมงูเฟื่องฟูนั่นเอง

ที่มาที่ไปของสไตล์กราฟิกเหล่านี้ก็มาจากความเฟื่องฟูของกระแส Dotcom ในต้นยุค 2000s ซึ่งเป็นการเปิดศักราชรุ่งอรุณของเว็บไซต์ที่ทำให้บริษัทมากมายแห่มาเปิดขายสินค้าและทำการตลาดผ่านเว็บไซต์ ซึ่งวิชวลที่เห็นได้ทั่วไปบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นก็คือบรรดาเอฟเฟกต์สุดเก๋ไก๋สไตล์ WordArt เครื่องมือยอดฮิตจาก Microsoft Powerpoint ที่ทำให้พรีเซนเตชั่นของนักเรียนในยุคนั้นเก๋ไก๋ด้วยเอฟเฟกต์การ์เดียน ตัวอักษรนูน 3D กระแทกตา ไปจนถึงการใส่กลิตเตอร์ฟรุ้งฟริ้ง

นอกจากอิทธิพลจากคอมพิวเตอร์แล้ว ปัจจัยที่ส่งอิทธิพลต่องานกราฟิกดีไซน์ในยุคนี้ยังประกอบด้วย เกม, โปเกมอน อนิเมะญี่ปุ่น และงานออกแบบจาก The Designers Republic สตูดิโอออกแบบกราฟิกจากเชฟฟีลด์ ประเทศอังกฤษ ที่มีผลงานเด่นเป็นบรรดาโลโก้เพลงอิเลกทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่เน้นความสนุกสนานและสีสันสดใส เล่นกับกระแสบริโภคนิยมและสื่อโฆษณาอัยล้นทะลักในยุคนั้น โดยพวกเขามีปรัชญาการออกแบบว่า ‘ความเด๋อด๋าของลัทธิบริโภคนิยมที่ถูกถ่ายทอดผ่านงานออกแบบโลโก้ขององค์กร’ ซึ่งลูกค้าของสตูดิโอแห่งนี้ก็มีตั้งแต่ Adidas, Coca-Cola, MTV, Nokia, Nikoloden ฯลฯ

อ่านเรื่องราวของ Y2K เพิ่มเติมได้ที่ https://groundcontrolth.com/blogs/37