นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ คือหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยแถวหน้าของไทยที่มีผลงานจัดแสดงและอยู่ในคลังสะสมของหอศิลป์และแกลเลอรี่ชั้นนำระดับโลกมากมาย และเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กำลังจะเกษียณในเดือนกรกฎาคม 2024 นี้)
เขามีพื้นเพมาจากการทำงานภาพพิมพ์ ก่อนที่จะเป็นที่รู้จักจากการทำงานศิลปะผ่านสื่อผสมที่หลากหลาย – งานจัดวางในพื้นที่เฉพาะ ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว แผนที่ ประติมากรรม ฯลฯ ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับพื้นที่ ภูมิรัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์
งานของเขาเรียบง่าย หากมองเผิน ๆ ดูเหมือนแทบไม่มีอะไร หากเมื่อพินิจลงไปก็กลับเต็มไปด้วยความซับซ้อนและพิถีพิถันในระดับเพอร์เฟคชั่นนิสม์ทั้งในเชิงเทคนิคและความหมาย Silence Traces (2023) หนึ่งในผลงานล่าสุดที่จัดแสดงใน Thailand Biennale 2023 เชียงราย เป็นตัวอย่างชัดเจน นิพันธ์สะท้อนความคิด จุดมุ่งหมาย และอำนาจในการจัดแบ่งพื้นที่จังหวัดเชียงราย ผ่านงานแผนที่ขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นจากการโรยแป้ง หรือ 2401 (2016) ที่เขาใช้ตัวต่อไม้เข้าสเกลจำลองเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยและเมียนมาร์จากเหนือจรดใต้ เพื่อสะท้อนปฏิสัมพันธ์และประวัติศาสตร์ของผู้คนในสองดินแดน เป็นต้น
ไม่เพียงหมดจดด้านเทคนิค หากงานทั้งสองชิ้นยังบ่งบอกถึงความสนใจของนิพันธ์บนพื้นที่ ‘ระหว่าง’ ทั้งในแง่ของการจัดสรรและการเคลื่อนย้ายของผู้คน ซึ่งเรายังพบเห็นความคิดนี้ในอีกหลายชิ้นงานของเขา รวมถึงในนิทรรศการ Fall ชุดนี้ด้วยเช่นกัน
Fall คือนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดและยังเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ที่เชียงใหม่ ณ Jing Jai Gallery จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 มี.ค. – 2 มิ.ย. 2024
นิทรรศการประกอบด้วยงานติดตั้งรูปถ่าย 900 กว่ารูปบนพื้นไม้อัดที่กินพื้นที่เกือบ 200 ตารางเมตร งานฉลุข้อความบนกระดาษจัดแสดงแบบปฏิทินแขวนผนัง งานพิมพ์ข้อความในกรอบรูปที่บรรจุเศษดินที่ได้จากกัมพูชา และงานโรยสีฝุ่นรูปท้องฟ้าบนพื้นพร้อมข้อความที่แกะจากไม้สัก
แม้งานแต่ละชิ้นถูกสร้างขึ้นต่างกรรมต่างวาระในการทำงานตลอดเกือบสองทศวรรษหลังของศิลปิน กระนั้นเมื่อนำมาจัดแสดงพร้อมกัน ผลงานทั้งหมดกลับเล่าเรื่องในทิศทางเดียวกันอย่างน่าสนใจ โดยนิพันธ์สรุปความคิดเบื้องหลังผลงานเหล่านี้อย่างกระชับว่า เป็นงานสะท้อนความทรงจำส่วนตัว และความทรงจำร่วมของสังคมไทย
Fall ชื่อนิทรรศการ เป็นทั้งคำนามที่แปลว่า ‘ฤดูใบไม้ร่วง’ และกริยาที่หมายความถึงการ ‘ร่วงหล่น’ ขณะเดียวกัน ชล เจนประภาพันธ์ ภัณฑารักษ์ผู้ตั้งชื่องาน บอกว่าเขาสนใจในปฏิสัมพันธ์ของผู้ชมในงานไฮไลท์ของนิทรรศการชุดนี้ที่จำต้องย่อตัวให้ต่ำลง (fall) เพื่อสำรวจเนื้อหาของชิ้นงาน รวมถึงความหมายแฝงของการนำทิวทัศน์ของท้องฟ้ามาวางลงบนพื้นในงานขนาดใหญ่ที่จัดแสดงอีกหนึ่งชิ้น
“ผมไม่ได้ถามชลว่าจริง ๆ แล้วความหมายของชื่อนี้คืออะไร ซึ่งมันอาจไม่ได้มีความหมายตรงแบบที่คุณตั้งข้อสังเกต แต่ผมรู้สึกสนุกกับชื่อนี้ และหวังว่าคนดูจะสนุกกับนิทรรศการ” นิพันธ์บอกกับผม
นั่นล่ะครับ จะฤดูใบไม้ร่วง การร่วงหล่น หรือท่าทีของผู้ชมกับชิ้นงาน ฯลฯ บทความนี้เราจะพาไปสำรวจ Fall กัน
From Floor to Fall
เริ่มกันที่งานชิ้นแรกที่เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของนิทรรศการ It may seem like it's solid beneath your feet, but the surface is constantly moving (2024) ที่เป็นแผ่นไม้อัดขนาด 100 x 23 ซ.ม. เรียงต่อกันหลายร้อยชิ้นจนเกิดเป็นพื้นที่ขนาดเกือบ 200 ตารางเมตร บนพื้นไม้แต่ละชิ้นบรรจุรูปถ่ายขนาดจิ๋วในกรอบทรงกลม หุ้มด้วยเรซิ่นที่ดูคล้ายหยดน้ำ เชื้อชวนให้ผู้ชมก้มลงไปสำรวจรายละเอียดในรูปถ่ายนั้น ๆ
งานชิ้นนี้จัดแสดงครั้งแรกในชื่อ Floor ที่ Bangkok University Gallery (BUG) กรุงเทพฯ ในปี 2008 จากนั้นก็ถูกจัดแสดงอีกครั้งในชื่อและขนาดที่แตกต่างกันตามพื้นที่จัดแสดงในหอศิลป์ที่ฮ่องกง และเทศกาล Setouchi Triennale ที่ญี่ปุ่น ก่อนจะมาแลนด์ดิ้งที่เชียงใหม่ในขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยแสดงมา โดยภาพถ่ายเกือบหนึ่งพันรูปก็ถูกหมุนเวียน และเพิ่มเติมตามแต่บริบทของพื้นที่จัดแสดงนั้น ๆ
“ความคิดแรกเรียบง่ายมากครับ มันเกิดจากที่ผมไปห้องสมุดของมหาวิทยาลัยบ่อย ๆ และเห็นน้ำกลิ้งบนใบบัว ซึ่งหยดน้ำบนนั้นมันสะท้อนทิวทัศน์ด้านบนจนเกิดเป็นภาพ เหมือนเป็นภาพถ่ายบนหยดน้ำทำนองนั้น ใช่เลย เชย ๆ อย่างนั้น (ยิ้ม) ผมจดบันทึกความคิดนี้ และคิดจะนำไปพัฒนาเป็นงานชิ้นหนึ่งที่มีแนวคิดแตกต่างจากชิ้นนี้พอสมควร
“อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งความคิดเกิดจากที่ผมไปเดินตลาดน้ำ คุณนึกออกไหม เวลาไปตลาดน้ำคุณจะต้องเดินบนพื้นเรือนริมน้ำที่ต่อขึ้นจากแผ่นไม้ มันเป็นทางเท้าธรรมดาที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจ แต่ผมสนใจพื้นที่ในระหว่างทางแบบนี้ ก็เลยเอาสองไอเดียมาพัฒนาร่วมกัน ทดลองนั่นนี่จนเป็นอย่างที่เห็น” นิพันธ์บอก
รูปถ่ายของบ้าน ถนน ต้นไม้ ทิวทัศน์ ภาพนามธรรม ไปจนถึงภาพประวัติศาสตร์อย่างเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 1976 คือบางส่วนที่นิพันธ์รวบรวมมาจากกล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก่อนที่เขาจะปริ้นท์มันออกมา วางลงบนแผ่นไม้ และใช้เรซิ่นเคลือบรูปถ่ายเหล่านั้นไว้ให้เหมือนหยดน้ำ นิพันธ์มองว่าภาพเหล่านี้คือหลักฐานที่สะท้อนความทรงจำส่วนตัวและส่วนร่วมของผู้คนที่เขาอยากบันทึกไว้
“พื้นไม้เหล่านี้มันมี sensibility ของการเคลื่อนย้ายตัวเราไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มันอาจฟังดูคลิเช่ แต่ผมคิดว่ามันคือความทรงจำส่วนตัว (personal memory) และความทรงจำร่วม ( collective memory) ทั้งจากข้างในตัวเราออกไปข้างนอก และสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอกที่ย้อนกลับมากระทบเราข้างใน ซึ่งพื้นไม้เหล่านี้มันคอนเฟิร์มความทรงจำของเราที่คู่ขนานไปกับประวัติศาสตร์ เมื่อเราเดินไปเรื่อย ๆ ความทรงจำก็จะทับถมกันมากขึ้น พร้อมกับที่เราเติบโตขึ้น
“และใช่ อีกเรื่องคือ ผมอยากทำงานที่มันพร้อมถูกเคลื่อนย้ายไปที่ไหนก็ได้ และสามารถแปรรูปให้รองรับกับพื้นที่ต่างๆ อย่างการแสดงครั้งแรกที่มันถูกวางไว้บนทางเดินเข้าโถงแกลเลอรี่ BUG หรือบนพื้นของห้องเรียนในญี่ปุ่น หรืออย่างที่นี่ คุณจะเห็นว่าขนาดหรือรูปทรงมันไม่เหมือนกันเลย ซึ่งนั่นล่ะ ในขณะที่ชิ้นงานมันพูดถึงการเคลื่อนย้ายและความทรงจำ ฟังก์ชั่นของมันก็สะท้อนสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน” นิพันธ์กล่าว
Then one morning they were found dead and hanged.
Then one morning they were found dead and hanged.
(แล้วเช้าวันหนึ่ง พวกเขาก็ถูกพบเป็นศพและถูกแขวนคอ)
คือถ้อยคำที่ถูกแกะขึ้นจากไม้สัก วางอยู่กลางพื้นซีเมนต์ที่รายล้อมด้วยภาพของท้องฟ้าที่ศิลปินใช้กระชอนค่อย ๆ ร่อนฝุ่นสีฟ้าจนเกิดเป็นรูปร่าง นี่คืองานสื่อผสมอีกชิ้นที่จัดแสดงบนพื้นถัดจากงานภาพถ่ายบนพื้นไม้อัด
นิพันธ์บอกว่าเช่นเดียวกับพื้นเรือนในงานชิ้นแรก ทิวทัศน์ของท้องฟ้าก็เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนย้าย ไม่คงรูป และปราศจากพรมแดน เขาตั้งชื่อชิ้นงานด้วยประโยคเดียวกันนี้ (Then one morning they were found dead and hanged, 2020) โดยนำมาจากประโยคหนึ่งของ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อในอังกฤษเกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 1976
“ผมทำงานรูปแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนปี 2000 แล้ว ไม่รู้สิ อาจเพราะเคยอยู่ญี่ปุ่น เลยชอบทำงานบนพื้นมั้ง” เขายิ้ม
“จำได้ว่าก่อนจะเป็นสีฝุ่น ผมใช้เม็ดข้าว และก็พัฒนาต่อมาตามพื้นที่จัดแสดงไปเรื่อย ๆ อย่างผมเคยไปแสดงที่สวีเดน ก็ถ่ายรูปท้องฟ้าหน้าที่พักของที่นั่นมาเป็นต้นแบบ ไปที่ไหนก็ถ่ายรูปท้องฟ้าของที่นั่น แต่กับงานชิ้นนี้พิเศษหน่อยตรงที่มันมีข้อความของอาจารย์ป๋วย จัดวางพร้อมรูปถ่ายประตูแดงที่เป็นอีกหนึ่งจุดเกิดเหตุในเหตุการณ์วันนั้นด้วย
“งานชุดนี้จัดแสดงครั้งแรกในเทศกาล Ubon Agenda ปี 2020 จากที่ผมรับคำชวนของพี่หนอม (ถนอม ชาภักดี ผู้ก่อตั้งเทศกาล) พอมานิทรรศการที่เชียงใหม่นี้ ผมก็เลยนำมันกลับมาจัดแสดง” นิพันธ์ตอบ “ว่าไปแล้ว การเอางานชุดนี้มาแสดงอีกครั้ง ก็เหมือนเป็นการรำลึกถึงพี่หนอมเหมือนกัน”
ผมถามนิพันธ์ต่อว่า กับงานรูปแบบนี้ที่เขาเลือกที่จะถ่ายรูปท้องฟ้าตามพื้นที่ต่าง ๆ มาเป็นต้นแบบ แล้วกับงานชิ้นนี้ เขานำแบบของท้องฟ้ามาจากที่ไหน
“ท้องฟ้าหน้าบ้านผมนี่แหละ แต่จำได้ว่าถ่ายในเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2020” เขาตอบ
ภาพที่ถูกแขวน
ไม่เพียงวางอยู่บนพื้น ข้อความ Then one morning they were found dead and hanged ยังปรากฏในฟอร์มของรอยฉลุบนกระดาษขนาดเอศูนย์ที่ถูกแขวนไว้ในระดับสายตา นิพันธ์ตั้งชื่อให้งานชิ้นนี้ด้วยข้อความเดียวกัน แต่มีคอมม่าต่อหลังว่า blueprint เขานำเสนอในฟอร์แมทที่คล้ายปฏิทินแขวนผนังแบบฉีก ที่เมื่อเปิดกระดาษแผ่นแรกขึ้น จะเห็นภาพถ่ายของประตูแดงในรูปแบบพิมพ์เขียว (blueprint) บนกระดาษสองแผ่นหลัง ทั้งนี้ ศิลปินถ่ายรูปประตูดังกล่าวในช่วงที่มีการนำประตูแดงกลับมาจัดแสดงอีกครั้งในนิทรรศการรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2020
ในขณะที่งานชุดภาพถ่ายบนพื้นไม้ (It may seem like it's solid beneath your feet, but the surface is constantly moving, 2024) สร้างปฏิสัมพันธ์กับคนดูที่ต้องก้มลงหรือกระทั่งนอนแนบกับพื้นเพื่อสำรวจชิ้นงานประหนึ่งงานเพอร์ฟอร์แมนซ์จากท่วงท่าของผู้ชมอย่างไม่ตั้งใจ กับงานภาพบนปฏิทินชิ้นนี้ ที่เมื่อผู้ชมยกกระดาษแผ่นแรกขึ้น แสงไฟจากแกลเลอรี่ก็จะส่องลอดตัวอักษรฉลุ จนเกิดเป็นเงาที่ตกกระทบกับรูปประตูแดง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าศิลปินตั้งใจให้มันเกิดปรากฏการณ์นี้หรือไม่
.
ดูเหมือนอาจารย์จะติดใจประโยค Then one morning… นี้มากทีเดียวเลยครับ ผมถาม
“ผมว่ามันเป็นประโยคที่สะเทือนใจน่ะ ทั้งโดยตรงและโดยนัย นี่คือประโยคที่นำไปสู่ข้อสงสัย ความรุนแรง และคำถามมากมายมาจนทุกวันนี้” นิพันธ์ตอบ “เป็นความทรงจำที่ใครสักคนอยากให้พวกเราลืม”
ย้อนกลับไปหลายปีก่อน นิพันธ์มีโอกาสได้พบเอกสารที่เป็นหลักฐานจากปากคำของผู้คนในเหตุการณ์ 6 ตุลา สองชิ้น ซึ่งจุดประกายให้เขานำมาพัฒนาเป็นงานศิลปะ
“สิ่งแรกคือผมได้เจอหนังสือปกขาวที่ชื่อว่า ‘ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519’ หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นโดยทหาร ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข้างฝ่ายกระทำต่อนักศึกษา และอีกสิ่ง ก็อย่างที่เล่าไปแล้วว่าเป็นกระดาษที่มีข้อความถอดเสียงมาจากบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ กับผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษ ตอนที่ท่านลี้ภัยไปต่างประเทศจากเหตุการณ์ 6 ตุลา”
Ungpakorn (2020) คือชื่อของผลลัพธ์ที่ว่า นิพันธ์สแกนข้อความทั้งหมดในบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ป๋วย เพื่อ reprint มาใส่กรอบ พร้อมบรรจุเศษดินที่เขาได้มาจากประเทศกัมพูชาไว้ในนั้น (เขาได้เคยใช้เศษดินดังกล่าวเป็นสื่อประกอบผลงานอีกชิ้นที่เขาทำขึ้นเพื่อระลึกถึง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองอีกคนถูกอุ้มหายกลางกรุงพนมเปญ)
ข้อความของอาจารย์ป๋วยบนกระดาษทั้ง 12 แผ่น ถูกแขวนอยู่บนผนังเคียงข้างกับภาพถ่ายประตูแดงหนึ่งรูป และก็อปปี้ของหนังสือปกขาวเล่มนั้นในรูปแบบดิจิทัลบลูพริ้นท์ (onslaught, 2020) คล้ายการจัดวางความทรงจำในเหตุการณ์เดียวกันของผู้คนจากสองฝั่ง
“ผมเจอสองสิ่งนี้พร้อมกัน (เอกสารจากบทสัมภาษณ์และหนังสือ - ผู้เขียน) จริงๆ เราแทบไม่ได้ทำอะไรมาก นอกจาก generate space ให้สองสิ่งนี้อยู่ด้วยกัน เพราะคิดว่าด้วยวัตถุ พวกมันมีน้ำเสียงและเรื่องเล่าของมันเอง
“ประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องของเวลา แต่คือการทำความเข้าใจในทุกวาระของการสำรวจ ไม่ว่าจะของใครหรือจากมุมใดก็แล้วแต่ ผมเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมากับเรื่องเล่าทำนองนี้มากมาย มีชุดข้อมูลและความเข้าใจแบบหนึ่ง รวมถึงมีวิจารณญาณของเราเอง แต่ในฐานะที่ผมสนใจประวัติศาสตร์ พื้นที่ และความทรงจำร่วม ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องนำ archive จากทั้งสองมุมมองมาจัดแสดงพร้อมกัน เพื่อให้เราได้มาพิจารณาร่วมกัน” นิพันธ์กล่าว
ตลอดการพูดคุย นิพันธ์ออกตัวกับผมอยู่หลายครั้งว่าผลงานของเขาเรียบง่ายไม่ซับซ้อน และเขาไม่ได้เป็นศิลปินที่ทำงานด้านการเมือง “ผมไม่เคยเรียกตัวเองและไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็น Political Artist ผมแค่สนใจความทรงจำส่วนบุคคลและส่วนรวม ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความทรงจำส่วนรวมมันหมายรวมถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองด้วย” เขากล่าว
อย่างไรก็ดี ผมไม่เห็นด้วยกับคำแก้ต่างว่างานของเขาไม่ซับซ้อน ส่วนเขาจะเป็นศิลปินที่ทำงานด้านการเมืองหรือไม่ ก็เป็นเช่นคำว่า Fall ในชื่อนิทรรศการ ขึ้นอยู่กับผู้ชมแล้วล่ะ ว่าจะแปลความหมายของมันว่ายังไง
นิทรรศการ Fall โดย นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ จัดแสดงถึงวันที่ 2 มิ.ย. 2024 ที่ Jing Jai Gallery เชียงใหม่ เปิดทุกวัน 10.00 – 17.00 น. (วันเสาร์และอาทิตย์เปิด 8.00 น.) www.facebook.com/JingJaiGalleryChiangMai
เรื่อง: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: สุรเชษฐ วงศ์หาญ