“ความเป็นชุมชนย่อมมีความหมายมากกว่าความเป็นชาติ” มองตัวตนคนเอเชียใหม่ผ่านแง่มุมประวัติศาสตร์การพลัดถิ่นกับ ดร. เวนเนส เฉิง ภัณฑารักษ์นิทรรศการ Nomadic

Post on 24 April

“ครอบครัวคนจีนต่างก็มีประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นอยู่ทั้งนั้น” ประโยคหนึ่งในบทสัมภาษณ์ระหว่างเรากับดร. เวนเนส เฉิง (Dr. Vennes Cheng) นักวิชาการและภัณฑารักษ์ผู้สนใจ ‘การพลัดถิ่นวิทยา’ จากฮ่องกง ที่ทำให้แอบสะอึกในใจไม่น้อย ในฐานะคนไทย เราได้ยินคำถามหนึ่งมาตลอดว่าคนไทยมาจากไหน แต่บางที คำถามที่สำคัญและช่วยให้เราเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองได้ใกล้ตัวที่สุดอาจคือว่า “ปู่ย่าตายายเรามาจากไหน” ต่างหาก…

ดร. เวนเนส เฉิงเป็นภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ ‘Nomadic’ ซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ที่ The Jim Thompson Art Center ตอนนี้ ซึ่งรวบรวมผลงานของศิลปินจากไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง ภายใต้คอนเซ็ปต์เรื่อง “การเคลื่อนย้ายถิ่น” ซึ่งฟังดูเหมือนจะไกลตัว แต่ก็เกี่ยวข้องกับเราอย่างลึกซึ้งถึงระดับสายเลือด

“ฉันมองว่าการจัดนิทรรศการด้วยตัวของมันเองก็คือการศึกษาค้นคว้า” เธอกล่าว ในฐานะนักวิชาการ เธอแปลงแนวคิดทฤษฎีและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ออกมาเป็นงานเขียนที่พลิกความคิดเราไปไกล และในฐานะภัณฑารักษ์ เธอทำให้แนวคิดเหล่านั้นกลายเป็นประสบการณ์ที่สัมผัสได้และแบ่งปันกันได้ และบทสัมภาษณ์นี้สำหรับเราก็เหมือนส่วนต่อขยายที่ตั้งคำถามชวนคิดต่ออีก ถึงเรื่องตัวตน ที่ซับซ้อนกว่าจะพูดได้ง่าย ๆ ว่าฉันเป็นคนไทย หรือเรื่องการเปิดกว้างและโอบรับ ที่เป็นเหมือนเหรียญอีกด้านของความรุนแรงที่มากับการทำลายตัวตน

ในตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์เธอพูดถึงคำว่าภาวะลี้ภัย (refugeetude) เพื่ออธิบายประสบการณ์ทั้งภายในและภายนอกที่ซับซ้อน กินความกว้างและต่างออกไปจากคำว่าผู้ลี้ภัย (refugee) แบบเดิม มันเป็นคำคำเดียวที่เปิดแง่มุมให้เราไปสู่วิธีคิดใหม่ ๆ อีกมหาศาล แต่มันยังมีคำอีกมากที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะถ้าแค่คำว่า “ผู้ลี้ภัย” แบบเอเชีย ก็ดูเป็นภาพที่ต่างจากแนวคิด “ผู้ลี้ภัย” ในนิยามแบบตะวันตกแล้ว ก็คงเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ที่เราจะต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ร่วมในภูมิภาคของเรา โดยมองผ่านประวัติศาสตร์ของภูมิภาคที่เราเองอาศัยอยู่

ตอนวันเปิดคุณพูดว่านิทรรศการนี้มีความหมายกับคุณในทางส่วนตัวด้วย ช่วยอธิบายเพิ่มเติมได้ไหมว่าอย่างไร? การทำงานหรือผลงานในนิทรรศการนี้ส่งผลให้คุณมองประวัติศาสตร์ส่วนตัวของคุณเปลี่ยนไปไหม? และคุณคิดว่าคนรุ่นปัจจุบันที่ไม่ได้มีประวัติศาสตร์กับการย้ายถิ่นแบบคุณจะทำความเข้าใจนิทรรศการนี้ได้อย่างไร?

ฮ่องกงเคยเป็นทั้งเมืองของผู้ลี้ภัยและจุดหมายปลายทางของผู้ลี้ภัยจากส่วนอื่น ๆ ของเอเชีย ฉันเติบโตมากับข่าวเรื่องการไหลบ่าของชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาสู่ฮ่องกงทางเรือ ที่จริงแล้วคุณจะเห็นว่าครอบครัวคนจีนต่างก็มีประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นอยู่ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ภูมิหลังของฉันที่ฉันเติบโตมามันเลยแยกไม่ออกจากเรื่องการพลัดถิ่นของมนุษย์ แล้วยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่ช่วง 1980s เป็นต้นมา ก็มีกระแสการพลัดถิ่นของชาวฮ่องกงอีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นรากฐานความสนใจของฉันที่นำมาสู่การศึกษาว่าผู้คนเดินทางออกจากบ้านเกิดไปลงหลักปักฐานในประเทศอื่นอย่างไร? และทำไม? ไม่ว่าจะไปด้วยความสมัครใจ หรือเพราะโดนบีบบังคับก็ตาม

การย้ายถิ่นที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานนี้และกำลังดำรงอยู่ เปิดโอกาสให้ฉันได้ครุ่นคิดอย่างลึกซึ้งต่อสถานะชาวฮ่องกงของตัวฉันเอง ฉันเพิ่งบังเอิญได้อ่านบทความของ Vinh Nguyen นักวิชาการเวียดนาม ในหัวข้อ ‘ภาวะลี้ภัย: ผู้ลี้ภัยหยุดมองตัวเองเป็นผู้ลี้ภัยเมื่อไรกัน’ (Refugeetude: When does a refugee stop being a refugee) ซึ่งเสนอว่าการเป็นผู้ลี้ภัยคือรูปแบบหนึ่งของตัวตน (subjectivity) ประสบการณ์ สำนึกรู้ และความรู้ที่ยังอบอวลอยู่ เป็นเหมือนกับสภาวะทางจิตใจ (psychological) และสภาวะทางจิต (mental) การเป็นผู้ลี้ภัยไม่ใช่แค่เหตุการณ์ครั้งเดียวแบบการหาที่ลี้ภัย การเคลื่อนย้าย หรือการลงหลักปักฐานใหม่ แล้วก็ไม่ได้ผูกติดอยู่กับสถานที่ใดสถานที่หนึ่งอย่างเรือหรือค่ายผู้ลี้ภัยด้วย เพราะฉะนั้น ภาวะลี้ภัยในบริบทร่วมสมัย สามารถเป็นได้ทั้งประสบการณ์การถูกกีดกัน หรือสถานะของตัวตนที่ถูกลบออกไปก็ได้

ฮ่องกงกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกขึ้นในบ้านเกิดของฉัน ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ฉันพยายามขุดเข้าไปในประวัติศาสตร์การพลัดถิ่นของมนุษย์ในภูมิภาคนี้ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้น

ฉันไม่แน่ใจว่าคนรุ่นต่อไปจะรับรู้เรื่องราวและประวัติศาสตร์เหล่านี้อย่างไร แต่ฉันตั้งใจใช้คำว่า 'การย้ายถิ่นของมนุษย์' แทนคำว่าการเนรเทศ การหลบหนี หรือการลี้ภัย เพื่อเน้นความสำคัญว่า เราทุกคนคือมนุษย์ ไม่ว่าเราจะเผชิญกับสถานการณ์แบบใดอยู่ก็ตาม เราอาจจะต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นใดด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน แต่ความเป็นชุมชนย่อมมีความหมายมากกว่าการครอบงำด้วยชาติหรือลักษณะทางชีวภาพ เราควรให้ความสำคัญแก่กันและกันในฐานะมนุษย์ก็เท่านั้น

ประสบการณ์ในโลกวิชาการของคุณส่งผลอย่างไรบ้างต่อการทำนิทรรศการศิลปะ?

ฉันมองว่าการจัดนิทรรศการด้วยตัวของมันเองก็คือการศึกษาค้นคว้า ไม่ใช่ว่าฉันใช้ความรู้ของฉันในทางวิชาการเพื่อจัดนิทรรศการ หากแต่กระบวนการทั้งหมดในการจัดนิทรรศการคือกระบวนการการสร้างความรู้ การร่วมมือและปฏิสัมพันธ์กับเหล่าศิลปิน การมาเจอหน้ากันทางวัฒนธรรมในการจัดนิทรรศการนอกประเทศฮ่องกง และเสียงตอบรับจากผู้ชม สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่มาเสริมบริบทและคุณค่าให้กับตัวนิทรรศการ ดังนั้น ในฐานะภัณฑารักษ์ ฉันเพียงแค่ถามคำถามผ่านนิทรรศการ เพื่อกระตุ้นความคิด กระตุ้นการตอบสนอง และกระตุ้นไอเดียต่าง ๆ ที่จะมาเสริมความหมายของนิทรรศการเท่านั้น

ความสนใจทางวิชาการของฉันมีเบื้องหลังมาจากแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นตัวตน (subjectivity) และการโอบรับ (inclusiveness) ซึ่งหมายถึงการมองอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของเราในมุมของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นี่คือเหตุผลที่ฉันสนใจศึกษาข้อความคิดต่าง ๆ ผ่านศิลปะและรูปแบบของมัน ซึ่งช่วยเปิดพื้นที่ให้เกิดการสะท้อนกลับทางความคิด

“การเมือง” ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประสบการณ์การเคลื่อนย้ายถิ่นของคน ทั้งในระดับภูมิภาคหรือในระดับชาติ โดยเฉพาะการเมืองในช่วงสงครามเย็น คุณคิดว่าการเมืองเอเชียยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนจากช่วงเวลาของเรื่องราวในนิทรรศการนี้? และการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมันส่งผลกระทบอย่างไรต่อการย้ายถิ่นของคนในปัจจุบัน? และเราควรมองอุดมการณ์พวกนั้นอย่างไร?

ฉันมักจะมอง 'การเมือง' ในนิยามกว้าง ๆ แบบแนวคิดของอริสโตเติลที่มองว่า 'การเมือง' คือเรื่องของชีวิตสาธารณะของเราในชุมชน ไม่ใช่แค่เรื่องการบริหารงานของภาครัฐเท่านั้น ฉันเชื่อว่าวิธีที่เรามองเอเชียในแง่ของการย้ายถิ่นของมนุษย์ในช่วงสงครามเย็นมีความแตกต่างมากกับในปัจจุบัน ภาวะการย้ายถิ่นของมนุษย์ในเอเชียในอดีตมักจะถูกจัดบริบทจากมุมมองแบบชาวตะวันตก ซึ่งมักจะอ้างถึงการหาที่ลี้ภัยหรือที่หลบหนีในประเทศตะวันตกในช่วงสงคราม ความขัดแย้ง หรือความวุ่นวาย แต่สถานการณ์ปัจจุบันต่างออกไปแล้ว การย้ายถิ่นของมนุษย์ในเอเชียเกิดขึ้นภายในภูมิภาคนี้เอง ในรูปแบบของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชนกลุ่มน้อย แรงงานต่างด้าว หรือเพียงแค่การแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม ฉันว่าการศึกษาภาวะการย้ายถิ่นในเอเชียผ่านบริบทของเราเองนั้นเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน แต่ไม่ใช่แค่จากมุมมองของการเป็น ‘ผู้ลี้ภัย’ แบบตะวันตก เมื่อสภาพเงื่อนไขต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้มีความซ้อนมากกว่านั้น

การเมืองและอุดมการณ์มักจะมีบทบาทสำคัญเสมอในประสบการณ์ของการพลัดถิ่น แต่ก็เหมือนที่ฉันเน้นเรื่องเจตนาของนิทรรศการนี้ ไม่ว่าจะในสถานการณ์แบบใดก็ตาม เราจำเป็นจะต้องมองการอพยพย้ายถิ่นด้วยท่าทีที่เปิดกว้าง โดยไม่นิยาม ‘พวกเรา’ และ ‘พวกเขา’ ภายใต้หลักเกณฑ์ของอุดมการณ์และความเป็นชาติ

งานบางชิ้นในนิทรรศการนี้ทำให้ผมสัมผัสประสบการณ์กับการย้ายถิ่นของศิลปินโดยตรงอย่างงานของหลิน อี่-ชือ หรือของจาง คิน-วาห์ แต่บางชิ้นก็ทิ้งระยะห่างระหว่างผู้ชมกับประวัติศาสตร์เหล่านั้นเอง โดยวางตำแหน่งเราให้มองย้อนไปหาประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นจากโลกปัจจุบันอย่างงานของซิม ชือ ยิน และฮิคะรุ ฟูจิอิ ที่มีวัตถุเก่าเก็บเป็นองค์ประกอบสำคัญ คุณตีความและนำเสนอการแสดงออกทางศิลปะทั้งหมดนี้มาเป็นนิทรรศการนี้อย่างไร? คุณคิดว่าผู้คนแต่ละคนที่เคลื่อนย้ายถิ่นมี ‘ภาษา’ ที่เหมือนกันไหม นอกจากประสบการณ์ที่ดูจะเหมือนกัน?

นี่แหละคือความงดงามของศิลปะ แทนที่เราจะได้รับรู้ผ่านมุมมองแบบเดียว ศิลปะมอบมุมมองที่หลากหลายให้เรา ฉันเชื่อในความเป็นตัวของตัวเอง และพวกเราทุกคนก็แตกต่างกันหมดในแง่หนึ่ง ประวัติศาสตร์อาจจะมอบโครงเรื่องแบบรวม ๆ ให้กับเรา แต่ในความเป็นจริง ประสบการณ์ของเราแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องของเหตุการณ์เดียวกันก็ตาม ดังนั้นฉันจึงมองว่า ศิลปินทั้งหลายที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านประสบการณ์ส่วนตัวของพวกเขา หาได้มีภาษาหรือกระบวนการคิดที่เหมือนกันอย่างหมดจดสำหรับฉัน ประสบการณ์ร่วม (shared experiences) ไม่ใช่ประสบการณ์ที่เหมือนกัน (identical experiences) ไอเดียเรื่องการ ‘แบ่งปัน’ เองก็อ้างอิงไปถึงความแตกต่าง และมักจะเรียกหาการสะท้อนกลับอยู่เสมอ

คนไทยจำนวนมากกำลังพูดถึงการย้ายถิ่นไปเรียน ไปทำงาน หรือไปอยู่อาศัยต่างประเทศ โดยที่หลายคนก็ต้องจากบ้านของตัวเองไปด้วยสถานการณ์ที่บีบบังคับ ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่คงจะพูดได้ว่าไม่ได้ราบรื่นนัก คุณว่าคนทั้งหมดนี้จะได้แง่มุมความคิดอะไรจากประวัติศาสตร์และแนวคิดต่าง ๆ ที่อยู่ในนิทรรศการนี้ไหม?

เรียนต่อไปอย่างมีความหวังและมุ่งหน้าต่อไปแม้ในภาวะที่ไม่มั่นคง ประวัติศาสตร์บอกเราว่าเราไม่ได้อยู่ลำพัง ดังนั้นจงพยายามก้าวไปข้างหน้าต่อไป จดจำเรื่องราวในอดีตและหมั่นสะท้อนตัวเองดูว่าเราคือใคร นั่นคือสิ่งที่ฉันอยากบอกกับคนอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญสถานการณ์แบบเดียวกัน ผ่านนิทรรศการนี้

นิทรรศการ 'Normadic' ยังคงเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ - 2 มิถุนายน 2567 ณ The Jim Thompson Art Center เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 - 18.00 น.