ถ้าจะถามว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เพราะอะไร ไปถามเด็กสายวิทย์ก็อาจจะได้คำตอบที่ดีกว่า แต่ถ้าถามว่าทำไมเราถึงอยาก ‘หมุน’ ไปอยู่ใกล้ ๆ กับบางอย่างเหลือเกิน อันนี้ศิลปะอาจจะพอ (พยายาม) ตอบได้
‘Orbiting Body’ คือนิทรรศการศิลปะโดยภัณฑารักษ์ แมรี่ ปานสง่า ที่ว่าด้วยการโคจรของ ‘ร่างกาย’ ซึ่งหมายถึงทั้งสิ่งที่อยู่ในงานศิลปะ ตัวงานศิลปะเอง รวมไปถึงร่างกายของผู้ชม ภายใต้พลังควบคุมของ ‘แรง’ บางอย่าง ที่ดึงดูดสิ่งต่าง ๆ เข้าหาและออกจากกัน ซึ่งคงจะไม่ใช่แรงโน้มถ่วงแบบที่ทำให้แอปเปิลร่วงจากกิ่งแน่ ๆ
ห้องแรกของนิทรรศการนี้เต็มไปด้วยความว่างเปล่า แผนผังงานบอกคร่าว ๆ ว่าเรากำลังจะโคจรเป็นวงกลมรอบ ๆ พื้นที่หอศิลปกรุงเทพฯ ผ่านผลงานของห้าศิลปินที่ได้ยินชื่อแต่ละคนแล้วต้องทึ่งว่าจับมารวมตัวกันได้อย่างไรนี่?! ไม่ว่าจะเป็นอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, ปรัชญา พิณทอง, สถิตย์ ศัสตรศาสตร์ และ สรวิศ ทรงสัตย์
แรงดึงดูดแรกที่เราสัมผัสได้ มาจากผลงาน If I dig a very deep hole โดยปรัชญา พิณทอง ซึ่งเป็นเพียงแผ่นฟิล์มขนาดมีเดียมฟอร์แมตสองรูป แปะอยู่เหงา ๆ กลางผนังสีขาวสูงใหญ่ มันเรียกร้องให้ผู้สนใจเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ ก่อนจะเห็นว่าจุดขาวสองจุดเล็ก ๆ ในภาพ เป็นดวงจันทร์สองดวง ที่ศิลปินบินข้ามทวีปไปถ่ายจากที่ฝรั่งเศสและที่นิวซีแลนด์ในคืนเดียวกัน เพื่อเก็บมันไว้ในแผ่นฟิล์มแผ่นเดียว
ฟังดูโรแมนติกไม่น้อย ดวงจันทร์คนละฟากซีกโลก มนุษย์ยังอุตส่าห์บรรลุความปรารถนา ดึงมันมาอยู่ข้างกัน ข้ามได้ทั้งเส้นแบ่งเวลาและสถานที่ เอาดวงดาวมาวางเรียงตำแหน่งเองแบบไม่เกรงใจกฎจักรวาล ที่เรียงระบบสุริยะอย่างเป็นระเบียบอยู่แล้ว
ในห้องเดียวกันนั้น วงโคจรของเราเคลื่อนตัวไปหาผลงาน ‘ดาวสองดวง’ ของ อารยา ราษฎร์จําเริญสุข ที่เป็นงานวิดีโอ บันทึกรีแอคชั่นของชาวนาชาวไร่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ผลงานศิลปะของแวนโกะห์ มาเนต์ และมีเล ซึ่งชวนคิดถึงอีกแง่หนึ่งของการโคจรมาเจอกัน ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากสุญญากาศดำมืดของจักรวาล แต่เป็นการปะทะกันของสองสถานที่ สองบริบททางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งบ่อยครั้งก็ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่ชุลมุนวุ่นวาย
จากจุดนั้น เราโคจรไปพบ ‘ออกแบบในใจ’ ฉากม่านเคลื่อนตัวเองได้ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เคยแสดงในโรงเรียนแม่มะ จังหวัดเชียงรายมาก่อนแล้ว ในงาน Thailand Biennale ไปหาผลงานของสถิตย์ ศัสตรศาสตร์ ที่ติดตั้งภาพนิ่งเอาไว้ แต่เราต้องเคลื่อนย้ายตำแหน่งเท่านั้นถึงจะเห็นภาพหอศิลปฯ ในขณะกำลังก่อสร้าง เพราะมันอยู่ในเส้นที่ลวงตา และวิดีโอของ สรวิศ ทรงสัตย์ ที่สลายพื้นผิวของสถานที่ในนิวซีแลนด์และเชียงรายให้กลายเป็นภาพสามมิตินามธรรม
มนุษย์อยู่คู่กับการโคจรมากกว่าที่เราจะทันคิด ไม่ว่าจะเป็นการเวียนเทียนรอบวิหารของชาวพุทธ หรือการเดินเวียนรอบกะอ์บะฮ์ในพิธีฮัจญ์ของชาวมุสลิม ยังไม่นับว่าตัวเราเองก็ยืนอยู่บนโลกที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ อันเป็นศูนย์กลางจักรวาล เป็นจุดกำเนิดพลังงาน และเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจที่ท่านผู้นำใช้อ้างอิงมาตั้งแต่โบราณกาล
อาจจะดูตีความเกินจริงไปนัก ถ้าจะบอกว่าระบบของการโคจรก็คือระบบของอำนาจ แต่การจะพูดว่าอำนาจไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับแรงดึงดูดทั้งหลายที่ก่อให้เกิดวงโคจรขึ้นมา ก็คงจะเกินจริงไปนิดเหมือนกัน
ที่โลกยังอยู่ในจักรวาลของดวงอาทิตย์ อาจเป็นเพราะพลังของดวงอาทิตย์ที่ดึงโลกเอาไว้ใกล้ ๆ แต่ที่โลกยังหมุนไปหมุนมาอยู่รอบ ๆ นั้น ก็เป็นเพราะพลังของโลกที่อยากจะขยับหนีออกเช่นเดียวกัน แต่ทั้งหมดนั้นก็ดูเหมือนจะสร้างระยะห่างที่พอดี สำหรับสร้างสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งขึ้นมาให้ดำรงอยู่ได้และมีสำนึกรู้พอจะตั้งคำถามว่าเกิดมาทำไม
ซึ่งความยากก็อาจจะอยู่ที่ความพอดีนี่แหละ ว่าเราจะหามันเจอได้อย่างไร? พอถอยออกไปห่างจากงานศิลปะก็มองเห็นภาพไม่ชัด แต่การเคลื่อนตัวก็ทำให้เราเห็นมิติอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน หรืออยากเขยิบเข้ามาใกล้ทางกายแค่ไหน ความห่างทางวัฒนธรรมก็ยังคงอยู่ พื้นที่สีขาวของผนังหอศิลปฯ เป็นภาพลวงตาของอุดมคติแห่งความว่างเปล่า แบบเดียวกับความมืดดำในจักรวาล ที่ความต่างระหว่างเอเลี่ยน(ถ้ามีอยู่)บนพระจันทร์สองดวง ไม่สามารถสัมผัสได้จริง
ภายใต้จังหวะการไหลทั้งหมดในนิทรรศการ เราต้องเผชิญหน้ากับสัญชาติญาณที่จะเดินเข้าหาและเดินออกจากพื้นที่ใด ซึ่งคงไม่มีงานชิ้นไหนขับเรื่องนี้เข้มข้นเท่ากับฉากทิวทัศน์เคลื่อนตัวได้ของอภิชาติพงศ์ ที่ย้ำว่า “โลกคือละคร” และคนทุกคนก็มี “ทุกตอนต้องแสดง” ไปตามเส้นทางโคจรที่ดวงอาทิตย์ พระเจ้า หรือองค์ราชัน “ดึง” เราเอาไว้
แต่ในขณะเดียวกันมันก็เปิดให้เห็นถึงความตึงเครียดระหว่าง “ร่างโคจร” และศูนย์กลางอำนาจที่มันโคจรล้อมรอบ กึ่งสหัสวรรษที่แล้วข้อเสนอของโคเปอร์นิคัสที่ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล อาจจะทำให้กลุ่มคนที่เชื่อว่าทุกสิ่งหมุนรอบโลกหัวเสีย วิดีโอที่ชาวนาชาวไร่วิจารณ์แวนโกะห์ของอารยาก็อาจจะทำให้โลกของนักประวัติศาสตร์ศิลปะที่ยึดถือโลกตะวันตกเป็นศูนย์กลางสั่นสะเทือนได้เหมือนกัน แต่ที่สำคัญคือมันยิ่งชี้ให้เห็นว่าจักรวาลใหม่นั้นยังเป็นไปได้
ขอแค่เพียงเรากล้าจินตนาการ และวาดภาพร่างวงโคจรที่เป็นอิสระของเราเอง
‘Orbiting body’
นิทรรศการกลุ่มโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, ปรัชญา พิณทอง, สถิตย์ ศัสตรศาสตร์ และ สรวิศ ทรงสัตย์
ภัณฑารักษ์โดย แมรี่ ปานสง่า
จัดแสดงที่ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ
ตั้งแต่วันนี้ - 8 กันยายน 2567