‘Procession of Dystopia’ ประสบการณ์ถูกควบคุมระดับประสาทสัมผัส ที่เราอยากเจอแค่ในงานศิลปะเท่านั้น

Post on 11 July

แม้ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุด ความรักก็จะยังเป็นแสงสว่างที่ไม่มีใครพรากไปได้ ในนิทรรศการ ‘Procession of Dystopia’ ภัณฑารักษ์ กัณหรัตน์ เลี่ยมทอง ขยายความโหดเหี้ยมของการใช้ชีวิตอยู่ในยุคสมัยแห่งการกดขี่ให้เรารู้สึกตัวกัน ผ่านผลงาน ‘ร่างกายอยากปะทะ เพราะรักมันปะทุ’ ของเบสท์ — วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Eyedropper Fill ที่กระตุ้นความรู้สึกของประสาทสัมผัสที่ถูกพลัดพรากไปในโลกดิสโทเปีย และผลงาน ‘สวนสิ่งไม่สำคัญ (Garden of Insignificant Things)’ โดย เขตสิน จูจันทร์ ที่ชวนให้เราสังเกต สิ่งต่าง ๆ ที่อาจจะมองข้าม (หรือฟังข้าม) ไป

ผลงานทั้งสองได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้น “Let them see us, Let them fear us, Our love is a rebellion they cannot crush” ของ ฆนาธร ขาวสนิท ที่เล่าเรื่องราวของสังคมไม่น่าพึงประสงค์แห่งหนึ่งที่ปกครองโดยชนเผ่าไร้หัวใจและกัดกินหัวใจของผู้คนจนทนทรมานกันถ้วนหน้า โดยที่ ‘ร่างกายอยากปะทะ เพราะรักมันปะทุ’ เป็นการแสดงทางภาพ (Visual Performance) ที่จับประเด็นการไม่สามารถแสดงออกถึงความรักในเรื่อง มาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์จริง ที่คู่เด็กหนุ่ม-สาวจากกลุ่มเคลื่อนไหว ‘ทะลุแก๊ซ’ ต้องฝ่าฟันยุคสมัยแห่งการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ โดยอาศัยความรักเป็นทั้งพลังให้ไฟในตัวยังคงลุกโชน โดยที่คดีความและข้อจำกัดต่าง ๆ สร้างระยะห่างระหว่างคนสองคน จนความรู้สึกคิดถึง ความโศกเศร้า หรือความโกรธแค้น อัดแน่นขึ้นจนปะทุออกมาทางภาพของคนสองคนที่หลอกหลอนเรามาจากคนละที่

ส่วน ‘สวนสิ่งไม่สำคัญ (Garden of Insignificant Things)’ เป็นบทประพันธ์ดนตรีและการจัดวางเสียง ที่มีองค์ประกอบหลักคือเสียงที่บันทึกในสถานที่ต่าง ๆ (field recording) อย่าง กิจวัตรต่าง ๆ ของผู้คน บทสนทนาระหว่างวัน หรือเสียงบรรยากาศโดยรวมของสภาพแวดล้อมภายในกรุงเทพ ฯ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เหมือนจะ “ไม่สำคัญ” เหมือนกับภาพที่อยู่นอกจุดโฟกัส ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง หรือไม่มีบท ในประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับ 2567 ซึ่งเราคิดว่า แค่การได้ยินสิ่งเหล่านี้ ก็เป็นการแสดงออกทางการเมืองด้วยตัวเองแล้ว แต่ว่ามันอาจจะยังไม่พอในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร

อย่างน้อยที่สุด เราคิดว่านิทรรศการนี้ก็จี้ถูกจุด โดนใจผู้คนที่กำลังเหนื่อยล้าและหมดหวัง จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยาวนาน แต่ดูเหมือนว่าแขนขาของโลกหม่นที่กัดกินคน จะกำลังทำงานอยู่ โดยนิทรรศการนี้ก็ชี้ให้เราเห็นว่า การจะหยุดความเคลื่อนไหวให้ได้ ก็ต้องหยุดหัวใจของมนุษย์เท่านั้น และเมื่อเรายังไม่หมดความสามารถที่จะรัก เราก็คงยังไม่หมดความสามารถที่จะหวัง และเมื่อเราไม่หยุดหวัง เราก็คงไม่หยุดการต่อสู้

นิทรรศการ Procession of Dystopia
โดยศิลปิน วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และ เขตสิน จูจันทร์
จากเรื่องสั้นโดย ฆนาธร ขาวสนิท
ภัณฑารักษ์โดย กัณหรัตน์ เลี่ยมทอง
จัดแสดงที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ตั้งแต่วันนี้ - 14 กรกฎาคม 2567